วันเสาร์, 19 เมษายน 2568
  

การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาแบบทั่วไป (General Audience) วันพุธที่ 7 เมษายน 2021 ณ ห้องสมุดวาติกัน

คำสอนเรื่องการสวดภาวนา – 28 การภาวนาพร้อมกับสหพันธ์นักบุญ  

อรุณสวัสดิ์ ลูก ๆ และ พี่น้องชายหญิงที่รัก

        วันนี้พ่อปรารถนาที่จะไตร่ตรองถึงการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างการสวดภาวนากับสหพันธ์นักบุญ ความจริงเมื่อพวกเราสวดภาวนาพวกเราไม่เคยสวดตามลำพัง แม้พวกเราจะไม่คิดถึงเรื่องนี้มากนัก แต่พวกเราก็จุ่มตัวของเราเองลงไปในแม่น้ำที่ยิ่งใหญ่แห่งการอธิษฐานที่เกิดขึ้นก่อนที่พวกเราจะสวดและดำเนินไปพร้อมกันกับพวกเรา ซึ่งเป็นดุจแม่น้ำสายใหญ่

        สิ่งที่อยู่ในการสวดภาวนานั้น พวกเราพบได้ในพระคัมภีร์ที่บ่อย ๆ ครั้งสะท้อนให้เห็นในจารีตพิธีนั้น ล้วนเป็นเรื่องราวโบราณของการช่วยให้ประชากรเป็นไท ของการอพยพ และของการเนรเทศที่น่าเศร้าใจ ของความชื่นชมยินดีที่ได้กลับบ้านเกิดเมืองนอน ของการสรรเสริญที่ก้องกังวานต่อความอัศจรรย์แห่งการสร้างสรรพสิ่งสรรพสัตว์… ดังนั้นเสียงแห่งคำภาวนาเหล่านั้นจึงถูกส่งต่อจากชนรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่งในความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องระหว่างประสบการณ์ส่วนตัวและประสบการณ์ของประชากรรวมถึงมนุษยขาติ ซึ่งพวกเราก็เป็นสมาชิกด้วยคนหนึ่ง ไม่มีผู้ใดสามารถแยกตนเองออกจากประวัติศาสตร์ของตนได้เพราะนั่นเป็นประวัติศาสตร์แห่งประชากรของพวกเขา ทัศนคตินี้จะฝังรากอยูในมรดกตกทอดของพวกเราเสมอ แม้กระทั่งในวิธีที่พวกเราสวดภาวนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำภาวนาที่หลั่งไหลออกมาจากหัวใจของผู้ที่ต่ำต้อยและสุภาพถ่อมตน เป็นเสียงสะท้อนบางส่วนของบทเพลงมักญีฟิกัต (Magnificat) ที่พระแม่มารีย์ยกจิตใจขึ้นสู่พระเจ้าต่อหน้าเอลีซาเบ็ธ ผู้เป็นญาติ หรือการอุทานของผู้อาวุโสซีเมโอนซึ่งหลังจากนำพระกุมารมาอุ้มแล้วก็กล่าวว่า “บัดนี้พระองค์ทรงส่งผู้รับใช้ของพระองค์ไปในสันติสุขตามพระวาจาของพระองค์” (ลก. 2: 29)

        คำภาวนาที่ดีเหล่านั้นเป็น “สิ่งที่แพร่ขยายได้” ดุจทุกสิ่งที่ดีงาม เผยแพร่ตนเองอย่างต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องมีการประกาศในเครือข่ายสื่อสารมวลชน จากห้องผู้ป่วยภายในโรงพยาบาล จากช่วงที่มีการชุมนุมเฉลิมฉลองในโอกาสต่าง ๆ กับผู้ที่พวกเรารับฟังทุกข์อย่างเงียบๆ… ความเจ็บปวดของคน ๆ หนึ่งเป็นความเจ็บปวดของทุกคน และความสุขของคน ๆ หนึ่งจะถูกถ่ายทอดไปสู่ดวงวิญญาณของอีกใครบางคน ความเจ็บปวดความสุขและเรื่องราวทุกอย่างที่สร้างเป็นเหตุการณ์ขึ้นมาในชีวิตของพวกเรา เรื่องราวเหล่านี้จะถูกรื้อฟื้นด้วยการบอกเล่าของพวกเรา ประสบการณ์นั้นจะเป็นสิ่งเดียวกัน

        การสวดภาวนาจะทำให้พวกเราเกิดใหม่เสมอ แต่ละครั้งที่พวกเราพนมมือและเปิดใจสู่พระเจ้า พวกเราจะพบตัวเราอยู่ท่ามกลางบรรดานักบุญ ทั้งนักบุญที่เรารู้จักและไม่รู้จักซึ่งสวดภาวนาพร้อมกับพวกเราและอธิษฐานวิงวอนเพื่อพวกเรา ในฐานะที่บรรดานุกบุญเป็นพี่เป็นน้องกันซึ่งล่วงไปก่อนหน้าพวกเรา ในการประจญภัยของชีวิตมนุษย์แบบเดียวกัน ไม่มีความทุกข์โศกใด ๆ ในพระศาสนจักรที่ต้องทนตามลำพัง ไม่มีการหลั่งน้ำตาโดยที่ไม่มีผู้ใดเห็น  เพราะว่าทุกคนหายใจเข้าออกและมีส่วนร่วมในพระหรรษทานเดียวกัน นี่ไม่ใช่เป็นการบังเอิญที่ในพระศาสนจักรดั่งเดิมถูกฝังในสวนที่อยู่รอบอาคารศักดิ์สิทธิ์ ราวกับว่าเป็นการบอกกล่าวในวิธีใดวิธีหนึ่งเกี่ยวกับผู้ที่เดินทางชีวิตล่วงหน้าไปก่อนพวกเรานั้นต่างก็มีส่วนร่วมในศีลมหาสนิท พ่อแม่ปู่ยาตายายของพวกเราอยู่ที่นั้น พ่อแม่ทูนหัวของพวกเราก็อยู่ที่นั้น ครูคำสอนและอาจารย์ของพวกเราก็อยู่ที่นั้น… ความเชื่อที่ส่งต่อและถ่ายทอดกันมาที่พวกเราได้รับ พร้อมกับความเชื่อก็ยังมีวิธีการสวดภาวนาและคำภาวนาก็มีการถ่ายทอดติดต่อกันมาด้วย

        บรรดานักบุญยังอยู่ที่นี่ พวกท่านไม่ห่างไกลจากพวกเราและการเป็นผู้แทนของพวกเขาในพระศาสนจักรชี้ให้เห็นเสมอถึง “เมฆแห่งประจักษ์พยาน” ที่อยู่รอบตัวเรา (ดู ฮบ. 12: 1) เมื่อเริ่มต้นการสอนคำสอนวันนี้พวกเราได้ยินบทอ่านจากข้อความในจดหมายถึงชาวฮีบรู พวกเขาเป็นประจักษ์พยานที่พวกเราไม่ได้นมัสการดุจพระเจ้า – นั่นเป็นที่เข้าใจกันว่าพวกเราไม่นมัสการนักบุญเหล่านั้น – แต่ท่านนักบุญเป็นผู้ที่พวกเราให้ความเคารพ และด้วยวิธีการร้อยแปดบรรดานักบุญเป็นผู้ที่นำพวกเราไปพบปะพระเยซูคริสต์ ผู้เป็นพระเจ้าและเป็นสื่อกลางระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์ “นักบุญ” ที่ไม่นำพวกลูกไปพบปะพระเยซูคริสต์ นั่นไม่ใช่นักบุญ นักบุญเป็นผู้ที่ทำให้พวกลูกรำลึกถึงพระเยซูคริสต์ เพราะว่าบรรดานักบุญดำเนินชีวิตตามหนทางในฐานะที่เป็นคริสตชนคนหนึ่ง นักบุญเตือนใจพวกเราว่าแม้ในชีวิตของพวกเราถึงแม้ว่าพวกเรามีความอ่อนแอและเต็มไปด้วยบาป ทว่าความศักดิ์สิทธิ์ก็อาจที่จะตามมาได้ แม้กระทั่งเป็นช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต อันที่จริงพวกเราอ่านพบในพระวรสารว่า นักบุญองค์แรก ๆ ที่พระเยซูคริสต์ทรงสถาปนานั้นเป็นโจรด้วยซ้าไปไม่ใช่พระสันตะปาปา ความศักดิ์สิทธิ์เป็นการเดินทางแห่งชีวิต อาจจะยาวหรือสั้นหรือทันทีทันใดที่ได้พบกับพระเยซูคริสต์ แต่พวกเขาจะต้องเป็นประจักษ์พยานเสมอ นักบุญล้วนเป็นประจักษ์พยานเป็นผู้ที่พบกับพระเยซูคริสต์แล้วติดตามพระองค์ไป ในชีวิตไม่มีคำว่าสายเกินไปที่จะกลับใจหาพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงเป็นองค์แห่งความดีและความรักที่ยิ่งใหญ่ (ดู สดด. 103: 8)

        คำสอนของพระศาสนจักรอธิบายว่าบรรดานักบุญพิศเพ่งพระเจ้า สรรเสริญพระองค์ เอาใจใส่เสมอต่อผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลก […] การวิงวอนของบรรดานักบุญคือการรับใช้จนสุดความสามารถในแผนการของพระเจ้า พวกเราสามารถและควรขอร้องบรรดานักบุญให้ช่วยวิงวอนเพื่อชาวเราและเพื่อชาวโลก” (CCC, ข้อ 2683) อันเป็นความเอื้ออาทรอย่างเร้นลับในพระเยซูคริสต์ระหว่างผู้ที่ได้ผ่านเข้าไปสู่อีกชีวิตหนึ่งแล้วกับพวกเราผู้ทีกำลังเดินทางในโลกนี้ จากสรวงสวรรค์ผู้ที่จากไปแล้วยังคงดูแลพวกเราอยู่ บรรดานักบุญอธิษฐานภาวนาสำหรับพวกเรา และพวกเราก็ภาวนาผ่านทางบรรดานักบุญ และภาวนาสำหรับผู้ล่วงลับเช่นเดียวกัน

        การเชื่อมสัมพันธ์กันในคำภาวนาระหว่างพวกเรากับผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นทำไห้พวกเรามีประสบการณ์ในความสัมพันธ์แห่งการสวดภาวนาตั้งแต่ที่พวกเรายังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ พวกเราสวดภาวให้กันและกัน พวกเราทั้งขอและมอบคำภาวนาให้แก่กันและกัน… วิธีแรกที่จะสวดภาวนาสำหรับใครบางคนก็คือพูดกับพระเจ้าเกี่ยวกับผู้นั้น หากพวกเราเช่นนี้บ่อยๆทุกวัน พวกเราจะไม่ปิดหัวใจตนเอง แต่จะเปิดหัวใจสู่บรรดาพี่น้องของพวกเรา การสวดภาวนาสำหรับผู้อื่นเป็นก้าวแรกที่จะรักพวกเขา และจะผลักดันให้พวกเราเข้าใกล้พวกเขา แม้ในยามที่เกิดความขัดแย้งกันวิธีแก้ปัญหาหรือทำให้เบาลงคือการสวดภาวนาให้กับคนที่พวกเราเผชิญปัญหาขัดแย้ง การสวดภาวนาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งแรกที่จะเปลี่ยนแปลงคือหัวใจและทัศนคติของพวกเราเอง พระเจ้าจะทรงเปลี่ยนแปลงหัวใจเพื่อที่จะได้เปลี่ยนแปลงให้เป็นการพบปะกันแบบกัลบาณมิตร เป็นการพบปะกันแบบใหม่เพื่อว่าความขัดแย้งจะไม่กลายเป็นสงครามที่ไม่สิ้นสุด

        วิธีที่สองในการเผชิญกับเวลาที่พวกเรามีความเจ็บปวดคือขอบรรดาพี่น้องชายหญิงของพวกเรา และที่สำคัญคือบรรดานักบุญให้ช่วยภาวนาสำหรับพวกเรา ชื่อนักบุญที่มอบให้พวกเราแต่ละคนในวันรับศีลล้างบาปไม่ใช่เป็นยี่ห้อหรือเครื่องประดับ! ปกติแล้วจะเป็นชื่อนักบุญของแม่พระ หรือนักบุญผู้ซึ่งไม่ปรารถนาสิ่งใดนอกจากจะ “ช่วยเหลือ” ในชีวิตของพวกเรา เพื่อที่จะช่วยให้พวกเราได้รับพระหรรษทานจากพระเจ้าที่พวกเราต้องการ หากการทดลองแห่งชีวิตไม่ถึงจุดแตกหัก หากพวกเรายังสามารถที่จะยืนหยัดอยู่ได้ หากพวกเราดำเนินชีวิตท่ามกลางปัญหาทุกอย่างโดยไว้วางใจมากว่าบุญบารมีของพวกเราเอง บางทีพวกเราเป็นหนี้บุญคุณเหล่านี้เพราะการวอนขอของบรรดานักบุญ ซึ่งบางท่านก็อยู่ในสวรรค์ ส่วนอีกหลายคนก็ยังคงเป็นผู้เดินทางในโลกนี้เช่นเดียวกันกับพวกเรา บรรดาบุรุษและสตรีเหล่านั้นเป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตในความศักดิ์สิทธิ์  พวกเขาไม่ทราบเรื่องนี้และพวกเราก็ไม่ทราบเช่นเดียวกัน ทว่ามีนักบุญที่เป็นนักบุญทุกวันเป็นนักบุญที่ซ่อนเร้น หรืออย่างที่พ่อเองเคยพูด พวกเขา “เป็นนักบุญที่อยู่ข้างบ้าน” เป็นบุคคลเหล่านั้นที่แบ่งปันชีวิตกับพวกเราและดำเนินชีวิตในความศักดิ์สิทธิ์

        เพราะฉะนั้นพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่เพียงพระองค์เดียวของโลกพร้อมกับบรรดาชายหญิงที่เป็นนักบุญ ผู้ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีอยู่มากมายในโลก และเป็นผู้ที่สรรเสริญพระเจ้าด้วยชีวิตของพวกเขา – เฉกเช่นที่นักบุญบาซิล ได้ยืนยันว่า – “พระจิตเจ้าทรงเป็นผู้ดำรงอยู่อย่างแท้จริงในนักบุญเหล่านั้น เพราะว่าบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้อุทิศตนเองเป็นที่ประทับของพระเจ้าและถูกเรียกว่าเป็นวิหาร” (On the Holy Spirit, 26, 62: PG 32. 1844A; see CCC, ข้อ 2684)


การทักทายของพระสันตะปาปา

        ขอต้อนรับผู้จาริกแสวงบุญที่พูดภาษาอังกฤษ ในความชื่นชมยินดีแห่งพระเยซูคริสต์ ผู้เสด็จกลับคืนชีพ พ่อขอให้พระเมตตาของพระบิดาเจ้า จงประทับอยู่กับพวกลูกและครอบครัวของพวกลูก ขอพระเยซูคริสต์โปรดอวยพรทุกคน


คำอุทธรณ์จากพระสันตะปาปา

        พ่อระลึกถึงในคำภาวนาสำหรับผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายของอุทกภัยเมื่อไม่กี่วันมานี้ที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศติมอร์ตะวันออก ขอพระเจ้าโปรดต้อนรับผู้ที่ต้องสูญเสียชีวิตไป บรรเทาใจครอบครัวของพวกเขา และให้การสนับสนุนพวกเขาที่เสียบ้านเรือนไป

        เมื่อวานนี้เป็นวันกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติสากลที่สถาปนาขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ พ่อหวังว่าสิ่งนี้จะทำให้การกีฬาเป็นประสบการณ์แห่งเหตุการณ์ที่เป็นทีม เพื่อส่งเสริมการเสวนาอาศัยวัฒนธรรม และประชากรที่มีความแตกต่างกัน

        ในมุมมองนี้พ่อปรารถนาที่จะให้กำลังใจบรรดานักกีฬาของวาติกัน ขอให้ช่วยกันเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งความเป็นพี่น้องกันในโลกของการกีฬาโดยใส่ใจต่อผู้ที่มีความอ่อนแอมากที่สุด เพื่อที่จะเป็นประจักษ์พยานแห่งสันติสุข

สรุปพระดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปา

        ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก การเรียนคำสอนของพวกเราดำเนินต่อไปเกี่ยวกับการสวดภาวนา  วันนี้พวกเราจะพูดกันถึงสหพันธ์นักบุญ เมื่อใดที่พวกเราสวดภาวนา พวกเราจะพบว่าตัวเราเองจุ่มเข้าไปในสายน้ำที่ยิ่งใหญ่ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เป็นการวิงวอนขอสิ่งที่จำเป็นสำหรับปัจเจกบุคคลและของชาวโลก เพราะว่าพวกเราสวดพร้อมกันกับบรรดานักบุญในความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสต์ซึ่งได้แก่พระศาสนจักร  บรรดานักบุญซึ่งเป็น “เมฆแห่งประจักษ์พยาน” (ฮบ. 12: 1) ที่ทั้งที่พวกเรารู้จักและไม่รู้จัก ทุกท่านต่างอธิษฐานภาวนาอย่างไม่หยุดหย่อนกับพวกเราและสำหรับพวกเราเพื่อถวายพระสิริมงคลแด่พระเจ้า การเคารพนับถือนักบุญทำให้พวกเรามีความใกล้ชิดกับพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นคนกลางแต่เพียงผู้เดียวระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า ในพระเยซูคริสต์ก็เช่นเดียวกัน พวกเรามีจิตสำนึกในความเอื้ออาทรที่เร้นลับกับบุคคลที่พวกเรารักที่ตายปราศจากจากความรู้สึก ในความเอื้ออาทรพวกเรายังสวดภาวนาให้พวกเขาอยู่ พวกเรายังรู้สึกมีความเอื้ออาทรด้วยการสวดภาวนาสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ในขณะที่อธิษฐานภาวนาให้กันและกันสำหรับบรรดาพี่น้องชายหญิงของพวกเราที่ยากจน ที่เผชิญความทุกข์ และมีความเดือดร้อนมากที่สุด ในเวลาที่กำลังท้าทายพวกเราอยู่นี้ ขอให้พวกเราขอบคุณพระเจ้าสำหรับของขวัญอันยิ่งใหญ่ ซึ่งได้แก่บรรดานักบุญ และพวกเราขอมอบตนเองด้วยความไว้วางใจกับการวอนขอของบรรดานักบุญเพื่อการประกาศพระวรสารและเพื่อความรอดแห่งครอบครัวมนุษย์ของพวกเรา

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)