วันอาทิตย์, 20 เมษายน 2568
  

การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป (General Audience)วันพุธที่ 19 พฤษภาคม 2021

การสอนคำสอนเกี่ยวกับการสวดภาวนา: 34 ความวักแวก ความอ้างว้าง และความเฉื่อยชา

อรุณสวัสดิ์ ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก

        ในการเรียนคำสอนของพวกเราในวันนี้ เราจะพูดกันถึงประสบการณ์จริงของการสวดภาวนาโดยพยายามที่จะชี้ให้เห็นถึงความยากลำบากทั่วไปบางประการที่พวกเราต้องค้นให้พบและสามารถชนะอุปสรรคต่าง ๆ ให้ได้ การสวดภาวนาไม่ใช่เรื่องง่าย ในการภาวนาต้องเผชิญความลำบากอยู่หลายประการ พวกเราจำเป็นต้องทราบว่าสิ่งใดคืออุปสรรคในการภาวนา และพวกเราจะเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างไร?

        ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นกับผู้ที่สวดภาวนาคือ การวักแวก (ดู CCC. 2729) เมื่อพวกลูกเริ่มสวดภาวนา ความคิดของลูกก็มักระเหระหนไปไหนต่อไหนทั่วไปหมด จิตใจของลูกอยู่ที่นี่ก็จริง ทว่าความคิดของลูกอยู่ที่โน่น… นี่เรียกว่าการวักแวกจากการสวดภาวนา บ่อยครั้งการสวดภาวนาจะเกิดขึ้นพร้อมกับการวักแวก ความจริงแล้วจิตใจมนุษย์นั้นยากนักที่จะอยู่กับความคิดอย่างเดียวนานๆ พวกเราทุกคนต่างมีประสบการณ์กับประเด็นนี้เสมอ ซึ่งจะติดตามตัวเราไปแม้กระทั่งเวลาที่พวกเรานอนหลับ และพวกเราก็ทราบกันว่านี่ไม่ใช่เรื่องดีที่จะปล่อยให้นิสัยเช่นนี้คงอยู่ต่อไป

        การต่อสู้เพื่อที่จะบรรลุและดำรงไว้ซึ่งความตั้งอกตั้งใจไม่ใช่เพียงแค่จะเกี่ยวกับการสวดภาวนาเท่านั้น  หากพวกเราไม่สามารถควบคุมความตั้งอกตั้งใจได้อย่างเพียงพอ พวกเราก็จะไม่สามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี และเราก็ใม่อาจที่จะทำงานได้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน นักกีฬาย่อมรับรู้กันดีว่าเราจะไม่ชนะการแข่งขันกันได้ด้วยเพียงการฝึกกายภาพ แต่ต้องมีวินัยทางปัญญาด้วย ที่สำคัญก็คือความสามารถที่จะตั้งสมาธิตั้งโฟกัสอยู่แต่ในสิ่งที่กำลังทำอยู่

        การวักแวกไม่เป็นความผิด ทว่าพวกเราต้องแก้ไข ในมรดกทางความเชื่อของพวกเรา ซึ่งมีคุณธรรมชั้นสูงอยู่ประการหนึ่งที่พวกเรามักจะลืม  แต่มีกล่าวไว้ในพระวรสารที่เรียกกันว่า “การเฝ้าระวัง” พระเยซูคริสต์ตรัสว่า “จงเฝ้าระวังและสวดภาวนา” คำสอนของพระศาสนจักรพูดอย่างชัดเจนในคำแนะนำเกี่ยวกันสวดภาวนา (เทียบ ข้อ 2730) บ่อยครั้งพระเยซูคริสต์เรียกร้องศิษย์ของพระองค์โดยขอให้ดำเนินชีวิตอย่างสุขุมด้วยการคิดว่าในไม่ช้าพระองค์ก็จะทรงเสด็จกลับมาดุจเจ้าบ่าวที่กลับมาจากงานมงคลสมรส หรือดุจเจ้านายที่กลับมาจากการเดินทางไกล แต่เนื่องจากพวกเราไม่ทราบวันเวลาว่าพระองค์จะกลับมาเมื่อใด ทุกนาทีแห่งชีวิตของพวกเราควรมีค่าและไม่ควรที่จะเสียเวลาไปกับความวักแวก ในช่วงเวลาที่พวกเราไม่ทราบเสียงของพระเจ้าจะก้องกังวานออกมา ในวันนั้นผู้รับใช้เหล่านั้นจะเป็นผู้มีบุญ เพราะผู้ที่พระเจ้าพบว่าเป็นผู้ที่ขยันขันแข็งที่มุ่งโฟกัสอยู่กับสิ่งที่มีความสำคัญอย่างแท้จริง พวกเขาไม่หลงทางที่จะตามสิ่งต่าง ๆ ที่มายั่วยวนใจ แต่พยายามที่จะเดินในหนทางที่ถูกต้อง ทำความดีและปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง นี่แหละคือความวักแวก จินตนาการที่ระเหระหนไปทั่ว… ดังที่นักบุญเทเรซามักจะเรียกจินตนาการแบบนี้ว่าเป็นการวักแวกในการสวดภาวนา “เป็นหญิงที่สติไม่ดีในบ้าน” เป็นดุจสตรีที่พาพวกลูกไปที่นี่ไปที่โน่น… พวกเราต้องยับยั้งการยั่วยวนแล้วจับความฟุ้งซ่านขังใส่กรงไว้

        เวลาแห่งความแห้งแล้งชี้ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่ง คำสอนของพระศาสนจักรอธิบายในทำนองนี้ว่า “หัวใจถูกแยกออกจากพระเจ้าเมื่อเผชิญกับความแห้งแล้ง ซึ่งจะปราศจากรสชาดในความคิด ความจำ และความรู้สึกแม้กระทั่งความรู้สึกฝ่ายจิต นี่เป็นเวลาแห่งความเชื่อล้วนๆ ที่จะต้องยึดมั่นอยู่กับพระเยซูคริสต์ในขณะเข้าตรีทูตและในคูหาศพของพระองค์” (ข้อ 2731) ความแห้งแล้งทำให้พวกเราคิดถึงวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ เวลากลางคืน และวันเสาร์ศักดิ์สิทธิ์ตลอดวัน ดูเหมือนพระเยซูคริสต์ไม่ได้อยู่ที่นั่น พระองค์อยู่ในคูหาศพ พระเยซูคริสต์สิ้นพระชนม์แล้ว พวกเราอยู่กันตามลำพัง  และนี่คือความคิดที่ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง บ่อยครั้งพวกเราไม่ทราบจริง ๆ ว่าสิ่งใดคือเหตุผลที่ทำให้พวกเราแห้งแล้ง ซึ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวของพวกเรา แต่ก็ขึ้นอยู่กับพระเจ้าด้วยผู้ทรงอนุญาตให้เกิดสถานการณ์กับชีวิตทั้งภายนอกและภายใน หรือบางครั้งอาจทำให้พวกเราปวดศีรษะหรือมีปัญหาทีตับ อาหารไม่ย่อย ซึ่งทำให้พวกเราเลิกสวดภาวนา บ่อยครั้งพวกเราไม่ทราบสาเหตุ อาจารย์ฝ่ายชีวิตจิตอธิบายว่านี่เป็นประสบการณ์แห่งความเชื่อในขณะที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ เวลาของความบรรเทา และการสิ้นหวัง บางเวลาทุกสิ่งดูเหมือนจะเป็นของง่าย ในขณะที่อีกช่วงหนึ่งมีแต่ความหนักใจ บ่อยครั้งเมื่อพวกเราพบเพื่อน พวกเรามักทักว่า “เป็นอย่างไรบ้าง?” – “วันนี้ฉันรู้สึกแย่” บ่อยครั้งเรารู้สึก “แย่” หรือเราไม่มีความรู้สึกอะไร เซงมาก เฉย ๆ หดหู่ พวกเราไม่มีความสบายใจ เราไม่มีความสามารถ  วันเหล่านั้นเป็นวันที่พวกเรารู้สึกหม่นหมอง เผชิญเรื่องราวมากมายในชีวิต ทว่าอันตรายคือรู้สึกหม่นหมองที่ใจ เมื่อความหม่นหมองนี้เจาะเข้าไปถึงใจ จะส่งผลกระทบทำให้ตัวของเราป่วย… ยังมีหลายบุคคลที่มีชีวิตอยู่แบบจมปลักในความหม่นหมอง นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัว พวกเราจะไม่สามารถสวดภาวนา พวกเรารู้สึกไม่สบายใจพร้อมกับหัวใจที่หม่นหมอง  หัวใจของพวกเราต้องเปิดออกและยินดีร่าเริง เพื่อที่แสงสว่างของพระเจ้าจะส่องผ่านเล็ดรอดเข้าไปในหัวใจได้ และหากแสงสว่างนี้ไม่สามารถเข้าไป ขอให้รอคอยด้วยความหวัง แต่อย่าปิดกั้นตัวเองด้วยความหม่นหมอง

        สิ่งเลวร้ายอีกประการหนึ่งคือ ความเฉื่อยชาซึ่งเป็นความบกพร่องอีกประการหนึ่ง เป็นความชั่วร้ายอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการล่อลวงที่แท้จริงกับการสวดภาวนาอันเป็นสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิตคริสตนโดยทั่วไป แต่ก็เป็นความแตกต่างไปอีกชนิดหนึ่ง ความเฉื่อยชาเป็น “รูปแบบหนึ่งของโรคซึมเศร้าเพราะขาดการปฏิบัติชีวิตจิต ขาดการเฝ้าระวัง ขาดการเอาใจใส่ของหัวใจ” (ข้อ 2733) นี่เป็นหนึ่งในบาปรากเง้า 7 ประการ เพราะว่าบาปนี้เกิดจากความคิดคด อันสามารถนำไปสู่ความตายแห่งดวงวิญญาณได้

        ดังนั้นพวกเราต้องทำอย่างไรดี เพราะชีวิตเกว่งไกวเดี๋ยวกระตือรือร้นเดี๋ยวสิ้นหวัง? พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะก้าวไปข้างหน้าเสมอ การก้าวหน้าที่แท้จริงชีวิตฝ่ายจิตไม่ได้อยู่ที่การเข้าฌานบ่อยๆ แต่อยู่ที่ความสามารถในการยืนหยัดในขณะที่เผชิญการตกทุกข์ได้ยาก จงเดิน เดิน และเดินต่อไป… หากพวกลูกเหนื่อยก็ให้หยุดสักครู่หนึ่งแล้วเริ่มเดินต่อไปใหม่ แต่ต้องยืนหยัดมั่นคงไว้  ขอให้พวกเราจำคำเปรียบเทียบของนักบุญฟรานซิสเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องของความยินดีที่ครบครันสมบูรณ์ ซึ่งไม่ได้อยู่ที่โชคลาภอย่างไม่รู้จบที่หลั่งไหลมาจากสวรรค์ที่พวกเราวัดความสามารถของฤษีนักพรต แต่อยู่ในการที่เดินไปอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่เป็นที่รับรู้ของผู้ใดหรือแม้กระทั่งตนได้รับการปฏิบัติที่มิชอบ หรือแม้กระทั่งทุกสิ่งดูเหมือนสูญเสียรสชาดครั้งแรกไปหมดแล้ว  นักบุญทุกองค์ล้วนแต่ได้ผ่าน “หุบเหวเงามืด” นี้ และพวกเราอย่าได้ถือเป็นที่สะดุดหากเมื่ออ่านสมุดบันทึกประจำวันของพวกเขา  พวกเราจะเห็นยามเย็นแห่งการสวดภาวนาแบบไร้ชีวิตและการเจริญชีวิตแบบขอไปที พวกเราต้องเรียนรู้ที่จะกล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้า แม้พระองค์ดูเหมือนจะกระทำทุกสิ่งเพื่อทำให้ลูกหยุดที่จะเชื่อในพระองค์ ลูกก็ยังจะสวดภาวนาต่อพระองค์ต่อไป” บุคคลที่มีความเชื่อไม่เคยที่จะหยุดสวดภาวนา บางครั้งดูจะเหมือนกับการสวดภาวนาของมหาบุรุษโยบ ที่ไม่ยอมให้พระเจ้าปฏิบัติต่อตนอย่างไม่ชอบธรรม จึงคัดค้านพระองค์ให้พระองค์มีความยุติธรรม แต่บ่อยครั้งกระทั่งคัดค้านพระเจ้าก็เป็นวิธีหนึ่งของการสวดภาวนา เฉกเช่นสตรีชราผู้นั้นกล่าว “การโกรธต่อพระเจ้าก็เป็นวิธีหนึ่งของการสวดภาวนาด้วย” เพราะบ่อยครั้งลูกชายโกรธบิดา นี่ก็เป็นวิธีหนึ่งในความสัมพันธ์กับบิดา เพราะลูกรับรู้อย่างดีว่า ผู้นั้นคือ “บิดา” เขาจึงกล้าโกรธ…

        พวกเราก็เช่นเดียวกัน พวกเรามีความศักดิ์สิทธิ์และมีความอดทนน้อยกว่ามหาบุรุษโยบ พวกเราทราบดีว่าในที่สุดเมื่อความว้าเหว่หายไปแล้วซึ่งในช่วงนั้นพวกเราส่งเสียงเงียบขึ้นสู่สวรรค์พร้อมกับถามว่า “เพราะเหตุใด?” นี่เป็นคำภาวนาของเด็กเมื่อเขาไม่เข้าใจ  นักจิตวิทยาเรียกว่า “”ขั้นตอนเพราะเหตุใด”  เพราะเด็กจะถามบิดาของตนว่า “พ่อ ทำไม? พ่อ ทำไม? พ่อ ทำไม?  แต่ขอให้ระวัง เขาไม่ฟังคำตอบของบิดา บิดาเริ่มตอบแต่เขาจะขัดจังหวะว่า “ทำไม?” อีก เขาเพียงแต่อยากจะดึงดูดให้บิดาหันมาสนใจในตัวเขา  และเมื่อพวกเราโกรธพระเจ้านิดหน่อยแล้วเริ่มถาม “ทำไม?” พวกเรากำลังดึงดูดความสนใจของพระเจ้ามาสู่ความน่าสงสารของพวกเรา สู่ความยากลำบากของพวกเรา สู่ชีวิตของพวกเรา แต่ใช่แล้ว จงกล้าที่จะพูดกับพระเจ้าว่า “ทำไม ล่ะพระเจ้าข้า?” เพราะในบางครั้งการโกรธนิดหน่อยเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพวกลูก เพราะนั่นแหละไปปลุกความสัมพันธ์แห่งการเป็นพ่อลูกกันซึ่งพวกเราต้องมีกับพระเจ้า  และพระองค์จะยอมรับแม้การแสดงออกที่ขมขื่นรุนแรงของพวกเรา ด้วยความรักของบิดาและจะทรงพิจารณาสิ่งเหล่านี้ดุจการกระทำของบิดา  ขอบคุณทุกคน


การกล่าวต้อนรับ

        พ่อขอต้อนรับผู้จาริกแสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษในขณะที่พวกเรากำลังเตรียมสมโภชพระจิต พ่อวิงวอนพระพรของพระจิตได้โปรดหลั่งไหลพระพรมายังพวกลูกและครอบครัวของลูก ขอพระเจ้าโปรดอวยพรลูก ๆ ทุกคน


สรุปคำปราศรัย-การสอนคำสอนของพระสันตะปาปา

        ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก ในการเรียนคำสอนของพวกเราต่อไปเกี่ยวกับการสวดภาวนา บัดนี้พวกเราจะพิจารราไตร่ตรองกันถึงความยากลำบากบางประการ ซึ่งพวกเราพบกับการสวดภาวนา ประการแรกคือความวักแวก  การสวดภาวนาเช่นเดียวกับการเรียนและการทำงาน เรียกร้องให้พวกเราต้องตั้งอกตั้งใจ และตั้งสมาธิทางจิต ซึ่งเรียกร้องให้พวกเราต้องสร้างคุณธรรมชั้นสูงแห่งการเฝ้าระวัง ซึ่งพวกเราโฟกัสชีวิตของพวกเราทำตามพระประสงค์ประจำวันของพระเจ้าโดยคาดหวังถึงการกลับมาใหม่ของพระองค์ ความยากบำบากประการที่สองคือประสบการณ์กับความแห้งแล้งฝ่ายจิต อันเป็นเวลาแห่งความแห้งแล้งเมื่อหัวใจของพวกเรา – ดังที่คำสอนพระศาสนจักรว่าไว้ – คือ ไม่มี “รสชาดแห่งความคิด ความจำ และความรู้สึก แม้กระทั่งความรู้สึกฝ่ายจิต”  (ข้อ 2731) อาจารย์ฝ่ายจิตยอมรับว่าชีวิตแห่งความเชื่อจะเข้ามาเกี่ยวข้องในยามที่พวกเราได้รับความบรรเทาและในยามที่พวกเราสิ้นหวัง เมื่อพวกเรามีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมานของพระเยซูคริสต์ ความยากลำบากประการที่สามคือความเฉื่อยชา ความเซง นี่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเหนื่อยล้าฝ่ายจิต ที่นำไปสู่การล่อลวงให้พวกเราทอดทิ้งการสวดภาวนาอย่างสินเชิง บรรดานักบุญต่างมีประสบการณ์กับความยากลำบากนี้ในการสวดภาวนาของพวกเขา และพวกเขาสอนพวกเราว่าความเจริญก้าวหน้าที่แท้จริงในชีวิตจิตจะเกิดขึ้นได้จากการยืนหยัดมั่นคงประจำวันเฉกเช่นมหาบุรุษโยบ ผู้ยืนหยัดอย่างคงเส้นคงวาแม้ท่ามกลางความทุกข์ยากมากมาย ในขณะที่พวกเราพยายามที่จะเจริญเติบในชีวิตแห่งการสวดภาวนาให้พวกเราวิวอนขอพระหรรษทานแห่งความยืนหยัดมั่นคงโดยวางใจในพระบิดาว่าจะทรงประทานให้พวกเราโดยอาศัยพระบุตรของพระองค์ในพระจิตสำหรับทุกสิ่งที่พวกเราต้องการเพื่อที่จะทำให้พวกเราเข้าใกล้ชิดกับพระองค์

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำสอนเรื่องการสวดภาวนามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)