วันศุกร์, 10 มกราคม 2568
  

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา ปี B

ข้อคิดข้อรำพึง

อาทิตย์ที่ 25 เทศกาลธรรมดา ปี B

จงต้อนรับเด็กเล็กๆ (Welcoming the little ones)

กษัตริย์ออสการ์ ที่ 2  เป็นเจ้าผู้ครองประเทศสวีเดนและนอร์เวย์  ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ  พระองค์โปรดการไปเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ  และทรงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับเด็กนักเรียนเหล่านั้น  วันหนึ่งเสด็จไปเยี่ยมโรงเรียนหนึ่งซึ่งอยู่ในหมู่บ้านชนบท  กษัตริย์ได้ตรัสถามเด็กๆ ว่าใครคือกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสวีเดน  คำตอบของเด็กๆออกมาไม่เหมือนกัน  เช่น  พระเจ้ากุสตาฟ วาซา  พระเจ้ากุสตาฟ อโดลฟุส  และพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 12  คุณครูที่อยู่ที่นั่นรู้สึกขายหน้าต่อคำตอบเหล่านั้น  จึงไปยืนใกล้ๆ เด็กผู้ชายเล็กๆ คนหนึ่ง  และกระซิบที่หูของเขา  เขาจึงประกาศเสริมขึ้นมาว่า  “และพระเจ้าออสการ์ด้วย”  กษัตริย์ทรงได้ยินเช่นนั้นก็แปลกพระทัย  “จริงหรือ….แล้วกษัตริย์ออสการ์ได้ทรงทำอะไรที่น่าจดจำได้บ้าง”  “คือผม – ผม – ผมไม่รู้ครับ”  เด็กนั้นตอบอย่างตะกุกตะกักและรู้สึกสับสน  แต่กษัตริย์ทรงตอบเด็กนั้นว่า  “เด็กน้อยเอ๋ย  เจ้าตอบถูกต้องแล้ว  เพราะฉันก็ไม่รู้เหมือนหนูว่าทรงทำอะไรที่โดดเด่นบ้าง”

จะเห็นได้ว่ากษัตริย์ทรงพร้อมจะยอมรับในสิ่งที่เด็กน้อยได้กล่าวออกมา  และทรงเห็นด้วยกับความจริงที่พูดแบบติดอ่างออกมาของเด็กน้อยด้วย  เด็กๆ มีวิธีแสดงออกมาตามความรู้ที่มีขีดจำกัดของตัวเอง  ไม่ตกแต่งคำพูดด้วยความหลากหลายทางภาษาแบบที่ผู้ใหญ่ใช้เพื่อแสดงความคิดของตนออกมา  พวกเด็กๆ มีความจริงใจในการแสดงออกมาถึงความต้องการของตัวเอง  ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องทำเพื่อเด็กๆให้มากๆ  และต้องแบ่งปันให้กับพวกเขามากๆด้วย  เพราะพวกเขาต้องพึ่งพาผู้อื่นโดยสิ้นเชิงในการที่จะเติบโตต่อไป  ท่าทีและทัศนคติที่ไว้วางใจโดยสิ้นเชิงเป็นสิ่งที่จำเป็นของพวกเขาที่จะมีชีวิตรอดต่อไป

ในพระวรสารของวันนี้  พระเยซูเจ้าทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนท่ามกลางบรรดาศิษย์  และตรัสสอนพวกเขาว่า  “ผู้ใดที่ต้อนรับเด็กเล็กๆ เช่นนี้ในนามของเรา  ก็ต้อนรับเรา  และผู้ใดที่ต้อนรับเรา  ก็มิใช่ต้อนรับเพียงเราเท่านั้น  แต่ต้อนรับผู้ที่ทรงส่งเรามาด้วย”  ในประโยคที่ว่านี้  พระเยซูเจ้ามิได้ตรัสให้บรรดาศิษย์ทำตนเป็นเหมือนเด็กๆ  ทำให้น่าคิดว่า  บรรดาศิษย์มีปัญหาเกี่ยวกับการต้อนรับคนเล็กคนน้อยหรือ (having a problem about welcoming littleness?)

การไร้อำนาจ (Powerlessness)

ถ้ายังจำได้ในพระวรสารของอาทิตย์ที่แล้ว  พระเยซูเจ้าได้ตรัสถึงพระองค์เองในฐานะเป็นบุตรแห่งมนุษย์ที่จะต้องทนทุกข์  และถูกปฏิเสธ  และจะถูกฆ่าตาย  เมื่อทรงทำนายล่วงหน้าถึงพระทรมานแล้ว  ทรงเชื้อเชิญให้ผู้ที่ติดตามพระองค์แบกไม้กางเขนของตน  และในพระวรสารของอาทิตย์นี้  พระเยซูเจ้ากำลังเสด็จผ่านแคว้นกาลิลีอย่างลับๆ  พลางใช้เวลานี้เพื่อสั่งสอนบรรดาศิษย์กว่าบุตรแห่งมนุษย์จะถูกประหารชีวิตอย่างไร  ภารกิจในแคว้นกาลิลีจบสิ้นลงแล้ว  ถนนที่มุ่งไปสู่กรุงเยรูซาเล็มกำลังกวักมือเรียก  ดูเหมือนว่าพระองค์ทรงอยากทราบว่าบรรดาศิษย์ของพระองค์จะเข้าใจความหมายหรือไม่ว่าอะไรที่รอคอยอยู่ข้างหน้า

นักบุญมาระโกเล่าว่าบรรดาศิษย์ตอบสนองเรื่องคำทำนายครั้งที่สองของพระเยซูเจ้าเกี่ยวกับพระทรมานของพระองค์ว่าเป็นเช่นไร  “บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจพระวาจานี้  แต่ก็ไม่กล้าทูลถาม”  บรรดาศิษย์ไม่เข้าใจอนาคตที่ไร้อำนาจที่พระเยซูเจ้าทรงวาดภาพถึงพระองค์เอง  พวกเขาไม่กล้าทูลถามพระองค์  อาจเป็นเพราะ  กลัวว่าสิ่งที่พวกเขาสงสัยว่าจะเกิดเหตุการณ์เลวร้ายนั้นจะได้รับคำยืนยันว่าเป็นจริง  หรืออาจเป็นได้ว่าพระองค์มิได้ทรงหมายความว่าอย่างนั้นจริงๆ  หรือว่าพระองค์จะทรงเผชิญกับความเลวร้ายโดยไม่ต้องใช้กลอุบายของอำนาจแต่อย่างไร  บรรดาศิษย์ไม่สามารถเผชิญหน้ากับภาพที่จะเกิดขึ้นเช่นนั้น  ดังนั้น พวกเขาจึงถกเถียงกันเองว่าผู้ใดจะยิ่งใหญ่กว่ากัน  และเมื่อมาอยู่กันตามลำพังในบ้าน  พวกเยซูเจ้าตรัสถามว่า  “ท่านถกเถียงกันเรื่องอะไรขณะที่เดินทาง”  พวกเขานิ่ง  เต็มไปด้วยความอับอาย  ในท่ามกลางความเงียบงันนั้น  พระเยซูเจ้าทรงจูงเด็กเล็กๆ คนหนึ่งมายืนท่ามกลางพวกเขา  ทรงโอบเด็กนั้นไว้  และทรงท้าทายบรรดาศิษย์ให้ยอมรับผู้ที่เล็กน้อยที่สุดให้ได้  เมื่อไรก็ตามที่พวกเขาสามารถต้อนรับเด็กเล็กคนนั้นได้  พวกเขาก็จะสามารถต้อนรับพระเยซูเจ้าองค์ที่แท้จริง (the real Jesus) ได้

วิถีทางของพระเยซูเจ้า (The way of Jesus)

พระเยซูเจ้าทรงเปรียบพระองค์เองกับเด็กเล็กๆ  ที่ไม่พึ่งพิงกับขุมกำลังอำนาจทางฝ่ายโลกเมื่อทรงถูกคุกคาม และถูกทำร้าย  ผู้ที่จะทรงปกป้องพระองค์คือพระบิดาเท่านั้น  ทรงมอบความไว้วางใจอย่างหมดสิ้นในองค์พระผู้เป็นเจ้า  เมื่อความทุกข์ทรมานเกิดขึ้นกับพระองค์  พระองค์จะไม่ทรงละทิ้งความไว้วางใจที่ได้มอบไว้ให้กับพระบิดาอย่างเด็ดขาด  แม้จากความไว้วางใจนั้น  พระองค์จะต้องทรงรับความเจ็บปวดทรมาน  เหมือนเป็นเด็กเล็กๆ ที่ช่วยอะไรตัวเองไม่ได้  ดังนั้น จนกว่าบรรดาศิษย์จะต้องรับเอาความเจ็บปวดทรมานที่พวกเขาไม่เข้าใจได้  พวกเขาถึงจะเข้าใจวิถีทางของพระเยซูเจ้า 

กล่าวคือพระเยซูเจ้าเสนอข้อท้าทายให้บรรดาศิษย์ต้อนรับสภาวะที่ไร้อำนาจ  มอบหัวใจให้กับสมาชิกที่อ่อนแอที่สุดในกลุ่ม  ควรมีน้ำใจเป็นพิเศษต่อผู้เล็กน้อยที่สุดที่ไม่สามารถตอบแทนอะไรเราได้เลย  ความเจ็บปวดทรมานของพวกเขาเหล่านั้นมิใช่เป็นเพียงสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงนำมาแบ่งปันเท่านั้น  แต่ยังทรงให้คุณค่าด้วย

ดังนั้น  บนหนทางที่มุ่งสู่กรุงเยรูซาเล็ม  พระเยซูเจ้าทรงสอนบรรดาศิษย์ให้อยู่ห่างไกลจากการแสวงหาอำนาจและเกียรติยศ  เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่รูปแบบของการเป็นศิษย์ของพระองค์  ทรงเชื้อเชิญให้พวกเขาเปิดใจครั้งใหม่แด่พระบิดา  ไม่มีอำนาจใดฝ่ายโลกนี้จะช่วยให้พระองค์ทรงรอดพ้นจากความตายที่กรุงเยรูซาเล็ม  มีเพียงพระบิดาของพระองค์ผู้เดียวที่สามารถช่วยพระองค์ให้พ้นจากการถูกทอดทิ้งให้จมอยู่กับความตาย  นั่นคือสิ่งที่พระบิดาจะทรงกระทำ  และนั่นคือการที่พระบิดาทรงต้อนรับความไว้วางใจของผู้ที่เล็กน้อยที่สุด

(คุณพ่อวิชา  หิรัญญการ  เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2021

Based on : Seasons of the Word ;  by : Denis McBride, C.SS.R.)