วันอาทิตย์, 20 เมษายน 2568
  

ข้อคิดข้อรำพึง อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ปี C

ข้อคิดข้อรำพึง
อาทิตย์ที่ 2 เทศกาลเตรียมรับเสด็จฯ ปี C

“พระวาจาของพระเจ้ามาถึงยอห์นบุตรของเศคาริยาห์ในถิ่นทุรกันดาร”

พระวรสารของนักบุญลูกาอาทิตย์นี้เล่าย้อนเพื่อให้เราเห็นภาพและวันเวลาทางประวัติศาสตร์ ในปีที่สิบห้าแห่งรัชกาลพระจักรพรรดิทิเบรีอัส คือประมาณปี ค.ศ. 28 หรือ 29 ปอนทิอัส ปิลาต เป็นผู้ว่าราชการแคว้นยูเดีย (เขาทำหน้าที่เป็นผู้แทนของกรุงโรมประจำกรุงเยรูซาเล็ม ระหว่าง ค.ศ. 26-30) และยังเอ่ยชื่อบุคคลอื่นๆ ที่มีอำนาจทางการเมือง หรือไม่ก็เป็นเพียงแค่หุ่นเชิดของอำนาจที่แท้จริงที่มีศูนย์กลางที่กรุงโรม จากนั้นก็เอ่ยถึงอำนาจสูงสุดทางศาสนาของชาวยิว ว่าอยู่ในมือของอันนาสและคายาฟาส ซึ่งเป็นหัวหน้าสมณะ ว่าช่วงเวลานี้แหละเป็นช่วงเวลาที่พระเยซูเจ้ากำลังจะทรงเริ่มพระภารกิจในการประกาศข่าวดี

น่าแปลกที่พระวจนะของพระเจ้ามิได้มาถึงผู้มีอำนาจที่ยิ่งใหญ่ทางฝ่ายบ้านเมืองในเวลานั้น และไม่ได้มาถึงผู้มีอำนาจทางศาสนายิวในเวลานั้นด้วยเช่นกัน แต่กลับมาถึงยอห์นบุตรของเศคาริยาห์ ซึ่งไม่ค่อยมีใครรู้จักเท่าไรนัก ไม่ได้มาที่กรุงโรมที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจทางการเมือง และไม่ได้มาที่กรุงเยรูซาเล็มที่เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจทางศาสนา แต่ลงมาที่ถิ่นทุรกันดารที่ยอห์นอาศัยอยู่ ยอห์นจึงเดินทางไปยังแม่น้ำจอร์แดน เทศน์สอนเรื่องพิธีล้าง ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจเพื่อจะได้รับการอภัยบาป ซึ่งเรื่องนี้มีคนอธิบายว่า ท่านยอห์นเทศน์สอน (ร้องตะโกน)เรื่องพิธีล้าง (การดำลงสู่)ซึ่งแสดงการเป็นทุกข์กลับใจ (ความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง)ถ้ามาเรียงประโยคใหม่ตามที่ตีความคือ “ยอห์นร้องตะโกนให้ดำลงสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง” (เทียบบาทหลวงเอกรัตน์ หอมประทุม, พระวาจากับชีวิตปี C เล่ม 1 /, หน้า 20-24)

นอกจากนี้ ยังเขียนย้อนระลึกไปถึงถ้อยคำของประกาศกอิสยาห์ “….จงเตรียมทางขององค์พระผู้เป็นเจ้า…….” ดังนั้น จึงคิดว่าการเตรียมตัวเป็นสิ่งสำคัญมากในเทศกาลนี้ เราต้องเตรียมตัวให้ดีที่สุดเพื่อจะพร้อมน้อมรับองค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา พูดถึงเรื่องการเตรียมตัว ขอยกตัวอย่างที่แสนเศร้าเรื่องหนึ่ง เรื่องนี้ปรากฏใน “This Week magazine” (ผู้นำมาเล่าคือ Mark Link, SJ. , Illustrated Sunday Homilies –Year C –p.17) ดังนี้ :

เป็นเรื่องของเด็กหนุ่มชาวดัตช์ (ฮอลแลนด์) อายุ 17 ปี ผู้ที่พยายามจะหนีออกจากคุกของพวกนาซีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ถูกจับได้เสียก่อน ถูกนำตัวขึ้นศาล และถูกตัดสินประหารชีวิต ก่อนถูกประหาร เด็กหนุ่มนั้นได้เขียนจดหมายถึงพ่อของเขา ความว่า

“พ่อที่รัก การที่ผมเขียนจดหมายนี้ถึงพ่อเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ผมต้องบอกความจริงกับพ่อว่า ศาลทหารได้ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงที่สุดกับผม ขอพ่อจงอ่านจดหมายนี้คนเดียว แล้วค่อยๆ บอกแม่อย่างระมัดระวัง….อีกประเดี๋ยว ก็จะถึงเวลาประหารชีวิตแล้ว ณ เวลานั้น ผมจะได้ไปอยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า….แม้ว่า….จริงๆ แล้ว…ช่างเป็นการข้ามผ่านที่น่าสะพรึงกลัวเสียนี่กระไร….

      ผมรู้สึกจริงๆ ว่าอยู่ใกล้องค์พระผู้เป็นเจ้าจริงๆ ผมได้เตรียมตัวเต็มที่แล้วที่จะตาย….

ผมคิดว่าพ่อจะรู้สึกแย่มากกว่าผม เพราะผมได้สารภาพบาปทั้งหมดที่ได้ทำไปแล้ว…และพบกับความสงบอย่างยิ่ง” แล้วลงชื่อของเขาในตอนสุดท้ายว่า “Klees”

น่าสรรเสริญจริงๆ สำหรับคนที่อยู่ในเวลาใกล้จะตาย ยังสามารถกล่าวได้เช่นเด็กหนุ่มคนนี้ คนที่ได้เตรียมตัวอย่างดี เตรียมตัวเต็มที่ เขารู้สึกได้ถึงความใกล้ที่จะได้อยู่กับองค์พระผู้เป็นเจ้า จิตตารมณ์และท่าทีเช่นนี้ เราน่าจะรับเอาไว้เต็มๆ ในเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้านี้ เพราะในความเหงาว้าเหว่แห่งชีวิต (เหมือนแผ่นดินที่เป็นถิ่นทุรกันดาร) ในความต่ำต้อยของการเป็นมนุษย์ผู้อ่อนแอ (เหมือนยอห์นผู้ไม่มีอำนาจทั้งฝ่ายการเมืองและศาสนา)พระวจนะของพระเจ้าจะมาถึงเรา เพื่อให้เราเตรียมตัว ให้เราตายต่อคนเก่าแล้วเปลี่ยนแปลงกลับใจโดยสิ้นเชิง เราลองถามและตอบคำถามด้วยตัวเองต่อไปนี้

เราจะเตรียมตัวอย่างไร เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเราในเวลาที่เรากำลังจะตาย

เราจะเตรียมตัวอย่างไร เมื่อพระเยซูเจ้าเสด็จมาหาเราในเวลาสิ้นสุดโลกนี้

เราเตรียมตัวอย่างไรถ้าเราพบพระเยซูเจ้าเดี๋ยวนี้

เราจะพูดได้เช่นเดียวกับเด็กหนุ่มชาวดัตช์ผู้นั้นหรือไม่ว่าได้เตรียมตัวเต็มที่แล้ว ได้สารภาพบาปทั้งหมดแล้ว และรู้สึกสงบอย่างยิ่ง

ถ้าเราคิดว่าขณะนี้ยังพูดเช่นนั้นไม่ได้ และถ้าถึงเวลาจบเทศกาลเตรียมรับเสด็จพระคริสตเจ้าล่ะ จะพูดได้ไหม

(คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ เขียนลงสารวัดนักบุญยอแซฟ อยุธยา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2012)