คณะทูตานุทูตประจำปี ค.ศ. 2021 พระกระแสดำรัสของพระสันตะปาปาฟรานซิสประทานกับคณะทูตานุทูตซึ่งสังกัดอยู่ในสันตะสำนัก (Holy See) ณ ห้องโถงเบเนดิกตุม (Benedictum) นครรัฐวาติกัน วันจันทร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021

สุภาพสตรีและสุภาพบุรุษผู้ทรงเกียรติ

        ขอขอบคุณนายจอร์ช โปลูลิเดส (Mr. George Polulides) เอกอัครราชทูตแห่งประเทศไซปรัสสำหรับความปรารถนาดีและมธุรสวาจาที่กล่าวในนามของพวกท่าน และข้าพเจ้าขออภัยในความไม่สะดวกที่ต้องเลื่อนการประชุมที่ไดเตรียมการณ์ไว้เมื่อวันที่ 25 มกราคม ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าเป็นหนี้บุญคุณต่อความอดทน และความเข้าใจของพวกท่านที่ตอบรับการเชิญให้มาร่วมประชุมในเช้าวันนี้ เพื่อพบปะกันตามธรรมเนียมปฏิบัติแม้ว่าจะสร้างความลำบากให้กับท่าน

การพบปะกันของพวกเราเช้านี้เกิดขึ้นภายในห้องโถงใหญ่แห่งพระพร (Hall of Benedictum) เพื่อรักษาระยะห่างเนื่องจากโรคระบาด แต่การรักษาระยะห่างนี้เป็นเพียงด้านกายภาพ การประชุมในวันนี้บ่งบอกถึงอะไรบางสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อันเป็นเครื่องหมายแห่งความใกล้ชิด และการสนับสนุนซึ่งกันและกันซึ่งครอบครัวมนุษย์ควรที่จะต้องพยายามต่อกันและกัน ในช่วงเวลาของโรคระบาดนี้ความจำเป็นแห่งความใกล้ชิดดังกล่าวมีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะวิกฤติชัดเจนว่าเชื้อไวรัสมันไร้ขอบเขตและพวกเราไม่อาจที่จะอยู่ตามลำพังได้ ดังนั้นการเอาชนะวิกฤตจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราแต่ละบุคคลรวมถึงประเทศต่างๆ ของพวกเราด้วย

ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งในความพยายามประจำวันของท่านที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือองค์กรสากลต่างๆ ซึ่งท่านเป็นผู้แทนประจำสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน พวกเราสามารถเปลี่ยนเครื่องหมายหลายอย่างในความใกล้ชิดของพวกเราในช่วงของหลายเดือนที่ผ่านมา พวกเราต้องขอบคุณสำหรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งทำให้พวกเราสามารถฟันฝ่าข้อจำกัดที่โรคระบาดรุกเข้ามาสู่พวกเรา

        แน่นอนว่าพวกเราทุกคนต่างมองไปข้างหน้าที่จะรักษาความสัมพันธ์กันอย่างสภาวะปกติให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ และการชุมนุมที่นี่ในวันนี้ขอให้พวกเรามีเป้าหมายที่จะเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังในบริบทนี้ ข้าพเจ้าเองก็ปรารถนาที่จะเดินทางไปเยี่ยมประชาชนอีกครั้ง โดยกำหนดที่จะไปเยือนประเทศอิรัคในเดือนมีนาคมนี้ การเยือนประเทศเหล่านี้เป็นเครื่องหมายสำคัญแห่งความเอื้ออาทรของผู้แทนอัครสาวกเปโตรต่อประชากรของพระเจ้าที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก และพวกเราจะมีการเสวนาระหว่างสันตะสำนักกับภาครัฐ บ่อยครั้งนี่เป็นโอกาสที่จะส่งเสริมด้วยเจตนารมณ์แห่งการแบ่งปันและการเสวนาให้มีความสัมพันธ์อย่างดีฉันกัลยาณมิตรระหว่างศาสนาต่างๆ ในยุคสมัยของพวกเราการเสวนาระหว่างศาสนาเป็นปัจจัยสำคัญแห่งการพบปะกันระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมต่าง ๆ เมื่อมองในมุมของการออมชอมอัตลักษณ์ของตัวเรา แต่ในเจตนารมณ์แห่งการเข้าใจและสร้างความมั่งคั่งสมบูรณ์ให้แก่กันและกัน การเสวนาสามารถเป็นโอกาสให้ผู้นำศาสนาและบรรดาศาสนิก ผู้ติดตามในศาสนาต่างๆรวมถึงความพยายามที่รับผิดชอบของนักการเมืองในการส่งเสริมความดี คุณประโยชน์ส่วนรวม

สิ่งสำคัญที่ไม่แพ้กันคือคือข้อตกลงสากล ซึ่งส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และทำให้พระศาสนจักรสามารถร่วมมือกันได้อย่างมีประสิทธิภาพในมิติทางด้านจิตวิญญาณ และสังคมของประเทศต่างๆ ในมิตินี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกล่าวถึงการแลกเปลี่ยนเครื่องมือแห่งสัตยาบันแห่งข้อตกลงร่วมกันระหว่างสันตะสำนักและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และข้อตกลงเชิงกฎหมายของพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศบูร์กีนา ฟาโซ  (Burkina Faso) รวมถึงอนุสัญญาที่ลงนามเพิ่มเติมครั้งที่เจ็ดในวันที่ 23 มิถุนายน 1960 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสันตะสำนักและสาธารณรัฐออสเตรีย นอกจากนี้แล้วในวันที่ 22 ตุลาคม 2020 สันตะสำนักและสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังได้ตกลงที่จะต่อสัญญาออกไปอีก สองปีในข้อตกลงเกี่ยวกับการแต่งตั้งบิชอปในประเทศจีน ซึ่งได้มีการลงนามในสัญญาร่วมกัน ณ กรุงปักกิ่งในปี ค.ศ. 2018 ข้อตกลงกันนี้เป็นเรื่องของการอภิบาลประชาสัตบุรุษล้วนๆ  สันตะสำนักเชื่อว่ากระบวนการที่เริ่มต้นนี้จะมีการติดตามกันต่อไปในเจตนารมณ์แห่งการให้ความเคารพ และความไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเอื้อต่อการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ร่วมกัน


ท่านเอกอัครราชทูตที่เคารพ

        ปีที่เพิ่งผ่านไปนี้ทำให้พวกเรามีความหวาดกลัว รู้สึกไม่สบายใจ และสิ้นหวัง รวมถึงความทุกข์เสียใจที่ชีวิตจำนวนมากต้องสูญเสียไป ทำให้เกิดความรู้สึกที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว และมีความระแวงกันซึ่งทำให้รัฐต่างๆ สร้างกำแพงปิดกั้นตัวเอง โลกที่เคยเชื่อมโยงกัน ซึ่งพวกเราเคยชินกลายเป็นโลกที่แตกหักและแตกแยกกันอีกครั้งหนึ่ง มิหนำซ้ำโรคระบาดโควิด19 ยังส่งผลซ้ำเติมไปทั่วโลกอีก ซึ่งสร้างผลร้ายให้กับประเทศและประชาชนในแทบจะทุกมิติแห่งชีวิตได้โหมกระหน่ำ “วิกฤตที่เชื่อมสัมพันธ์กัน เช่น สภาวะอุณหภูมิอากาศ อาหาร เศรษฐกิจ และการอพยพผู้คน” [1] เพราะความจริงเหล่านี้ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นการเหมาะสนมที่จะสถาปนาคณะกรรมการโควิด-19 แห่งวาติกันขึ้น เพื่อประสานงานและเป็นการตอบสนองจากสันตะสำนักและพระศาสนจักรทั่วโลกสำหรับการขอร้องที่มาจากเขตศาสนปกครองทั่วโลกเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพ และความต้องการที่จำเป็นซึ่งโรคระบาดก่อให้เกิดขึ้น

        ตั้งแต่แรกเริ่มดูเหมือนจะชัดเจนว่าโรคระบาดจะมีผลกระทบที่รุนแรงมากต่อวิถีการดำเนินชีวิตที่พวกเราคุ้นเคยกับความสะดวกสบายรวมถึงความมั่นใจ แน่นอนที่พวกเราถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่นั่นนำพวกเราไปสู่วิกฤตเพราะแสดงให้พวกเราเห็นถึงโฉมหน้าของโลกที่มีอาการป่วยหนัก ซึ่งไม่ใช่เพราะผลที่เกิดจากเชื้อไวรัสเท่านั้น แต่ยังเชื่อมสัมพันธ์ไปถึงธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ การเมือง และแม้กระทั่งความสัมพันธ์ของมนุษยชาติ โรคระบาดทำให้พวกเราเห็นวิบัติและผลร้ายที่แฝงอยู่กับการดำรงชีวิตที่มีแต่การเห็นแก่ตัว การเอารัดเอาเปรียบ และยังมีวัฒนธรรมแห่งการกินทิ้งกินขว้าง ซึ่งทำให้พวกเราต้องตัดสินใจว่าพวกเราจะดำเนินชีวิตอย่างที่เคยหรือว่าพวกเราจะต้องเลือกเส้นทางใหม่

        ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะกล่าวอย่างย่อๆ ถึงวิกฤตบางประการที่เกิดขึ้นเพราะโรคระบาด ขณะเดียวกันก็จะกล่าวถึงโอกาสที่ทำให้พวกเราต้องสร้างโลกที่มีความเป็นมนุษย์ ที่มีความยุติธรรม ที่ให้ความช่วยเหลือกันและกัน และโลกที่มีสันติสุขทวีมากขึ้น

วิกฤตเกี่ยวกับสุขภาพ

        โรคระบาดทำให้พวกเราต้องเผชิญหน้ากับมิติสองด้านที่หลีกเลียงไม่ได้ในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ ความเจ็บป่วยและความตาย เหตุการณ์ดังกล่าวเตือนใจพวกเราถึงคุณค่าแห่งชีวิต คุณค่าของปัจเจกชนทุกชีวิตและศักดิ์ศรีของเขาในทุกวินาทีแห่งการเดินทางในโลกนี้ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไปตามธรรมชาติ แม้จะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นว่าภายใต้การรับรองถึงสิทธิของบุคคล ระบบกฎหมายที่กำลังเพิ่มขึ้นในโลกของพวกเราดูเหมือนยิ่งวันยิ่งจะถอยห่างไปจากหน้าที่อันจะละเว้นเสียมิได้ในการปกป้องชีวิตมนุษย์ในทุกขั้นตอน

        โรคระบาดยังเตือนใจเราให้คำนึงถึงสิทธิของมนุษย์แต่ละคนที่ต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างเหมาะสมดังที่ข้าพเจ้าเน้นในสาส์นของข้าพเจ้าในวันสันติภาพสากลที่พวกเรารำลึกถึงในวันที่ 1 มกราคม ปีนี้ เพราะว่า “แต่ละบุคคลล้วนเป็นเป้าหมายในตัวตนเอง และไม่ใช่เป็นเครื่องมือที่จะตีราคาค่างวดกันด้วยการที่เขามีประโยชน์มากน้อยเพียงใด ทุกคนถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะเจริญชีวิตด้วยกันในครอบครัว ในชุมชน และในสังคม ซึ่งทุกคนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน สิทธิมนุษยชนเกิดจากศักดิ์ศรีนี้เช่นเดียวกันกับหน้าที่ที่ให้การต้อนรับและช่วยเหลือคนยากจน คนป่วย คนที่ถูกทอดทิ้ง” [2] หากพวกเราปฏิเสธสิทธิในการมีชีวิตของผู้ที่อ่อนแอที่สุด และพวกเราจะรับรองสิทธิอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร?

        ดังนั้นข้าพเจ้าจึงขออุทธรณ์อีกครั้งหนึ่งว่า ทุกคนต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่และความช่วยเหลือที่เขาผู้นั้นต้องการ เพื่อให้สิ่งนี้เป็นไปได้อันจะขาดเสียมิได้ที่ผู้นำการเมืองและรัฐจะต้องสร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน ควรอย่างยิ่งในการสร้างคลีนิคและโครงสร้างรักษาสุขภาพอนามัยในท้องถิ่นเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชน และต้องมีการเยียวยาและเวชภัณฑ์ที่เพียงพอ การแสวงหาผลกำไรไม่ควรเป็นหลักการสำหรับกรณีของการดูแลสุขภาพของประชาชน

        ยังมีมีความสำคัญเช่นเดียวกันที่การพัฒนาอันน่าทึ่งทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมาในสองสามปีที่แล้วที่สามารถค้นพบวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว ที่ดูจะเป็นผลดีในการต่อต้านเชื้อไวรัส อันจะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ทั้งมวล ข้าพเจ้าขอสนับสนุนทุกรัฐให้ช่วยกันอย่างแข็งขันต่อความพยายามสากลที่กำลังดำเนินอยู่เพื่อสร้างหลักประกันว่าวัคซีนจะมีการแจกจ่ายกันอย่างทั่วถึงถ้วนหน้าโดยเท่าเทียมกันโดยไม่ถือเอามาตรฐานทางเศรษฐกิจมาเป็นเกณฑ์ แต่ขอให้เล็งเห็นความต้องการของทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่มีความต้องการมากที่สุด

        ถึงกระนั้น ศัตรูตัวร้ายโควิด-19 ที่ขยายตัวอย่างรุนแรงและไม่อาจคาดเดาได้ การเข้าถึงวัคซีนจะต้องมาพร้อมกันกับพฤติกรรมส่วนตัวที่มีความรับผิดชอบที่มุ่งเป้าไปยังการระงับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโดยใช้มาตรการต่างๆ ที่จำเป็นที่พวกเรามักคุ้นกันอยู่หลายเดือนที่ผ่านมานี้คงจะเป็นหายนะที่จะไว้ใจในวัคซีนแต่เพียงลำพังราวกับว่าวัคซีนนี้เป็นยาครอบจักรวาลที่จะทำให้ทุกคนหมดความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและของผู้อื่น โรคระบาดแสดงให้พวกเราเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า การแสดงออกของกวีชาวอังกฤษจอห์น โดนน์ (John Donne) “ไม่มีมนุษย์ผู้ใดเป็นเกาะ” และ “ไม่ว่าความตายของผู้ใดก็มีผลกระทบต่อตัวฉัน เพราะตัวฉันมีส่วนสัมพันธ์กับมนุษยชาติ” [3]

วิกฤตธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

        ไม่ใช่แต่มนุษย์เท่านั้นที่เจ็บป่วย โรคระบาดแสดงให้พวกเราเห็นอีกครั้งหนึ่งว่าสภาวะของโลกเองก็มีความเปราะบางและจำเป็นต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแล

        แน่นอนว่ามีความแตกต่างกันอย่างล้ำลึกระหว่างวิกฤตสุขภาพ ซึ่งเป็นผลจากโรคระบาดและวิกฤตธรรมชาติสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่ลืมหูลืมตาต่อทรัพยากรธรรมชาติ ประเด็นหลังนี้มีความสลับซับซ้อนและเป็นมานานแล้ว ซึ่งเรียกร้องให้มีการแก้ไขกันระยะยาว ผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาวะอุณหภูมิไม่ว่าจะเป็นโดยตรงเช่นอุทกภัย หรือทางอ้อมเช่นโรคขาดอาหาร โรคที่เกี่ยวกับระบบการหายใจ ซึ่งเป็นผลร้ายที่ติดต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน

        การเอาชนะวิกฤตเหล่านี้เรียกร้องความร่วมมือกันในระดับสากลในการเอาใจใส่ดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเรา นี่จึงเป็นความหวังของข้าพเจ้าว่าการประชุมเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ (COP26) ซึ่งจะเกิดขึ้นที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศอังกฤษ (Glasgow) ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้จะนำไปสู่ข้อตกลงอันมีประสิทธิภาพในการจัดการกับผลร้ายแห่งการเปลี่ยนแปลงสภาวะอุณหภูมิ บัดนี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องลงมือกระทำ เพราะพวกเรากำลังได้รับผลกระทบของการยืดเยื้อมานานโดยไม่มีการกระทำใดๆ

        ข้าพเจ้าคิดถึงผลร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอุณหภูมิในหมู่เกาะบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิคที่กำลังตกอยู่ในอันตรายของการหายสาบสูญไปที่ละเล็กทีละน้อย ภัยพิบัตินี้ไม่ใช่สาเหตุเพียงแค่ทำลายหมู่บ้านทั้งปวงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบบีบคั้นชุมชนท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องย้ายถิ่นกันอยู่เสมอโดยต้องสูญเสียอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของตนไป ข้าพเจ้ายังคิดถึงอุทกภัยในภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามและประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งก่อให้เกิดความตายมากมายและทิ้งให้ครอบครัวจำนวนมากปราศจากเครื่องมือที่จะประทังชีวิต และข้าพเจ้าก็อดไม่ได้ที่จะคิดถึงโลกของพวกเราที่กำลังร้อนขึ้นทุกวัน ซึ่งทำให้เกิดไฟป่าในประเทศออสเตรเลียและรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

        ในทวีปแอฟริกาก็เช่นกันการเปลี่ยนแปลงสภาวะอุณหภูมิผสมผสานกับการกระทำที่ไม่รู้จักรับผิดชอบของมนุษย์ทำให้สถานการณ์สาหัสยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผชิญโรคระบาด เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าคิดถึงเป็นพิเศษในความไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารซึ่งในปีที่แล้วมีผลกระทบอย่างรุนแรงในประเทศบูร์กีนา ฟาโซ ประเทศมาลี และประเทศไนเจอร์ ซึ่งประชาชนนับล้านๆคนต้องทนทุกข์เพราะความหิวโหย ที่ประเทศซูดานใต้ก็เช่นเดียวกันมีความเสี่ยงที่จะเกิดข้าวยากหมากแพงซึ่งเป็นเรื่องใหญ่สำหรับองค์กรมนุษยธรรม เด็ก ๆ กว่าล้านคนเป็นโรคขาดอาหารในขณะที่องค์กรมนุษยธรรมถูกปิดกั้นโดยมีการห้ามโดยไม่อนุญาตให้องค์กรดังกล่าวตั้งสำนักงานในประเทศของตน ที่สำคัญไม่น้อยกว่าคือการจัดการกับสถานการณ์ เจ้าหน้าที่ประเทศซูดานใต้จำเป็นต้องยุติความเข้าใจผิดโดยทันทีพร้อมกับใช้การเสวนาด้านการเมือง เพื่อเห็นแก่การคืนดีกันอย่างสมบูรณ์ในระดับชาติ

วิกฤตด้านเศรษฐกิจและสังคม

        ความจำเป็นในการสกัดกั้นไวรัสโคโรนาทำให้หลายรัฐหันไปใช้วิธีจำกัดเสรีภาพในการเดินทางไปไหนมาไหน ตลอดเวลาหลายเดือน มาตรการเหล่านี้นำไปสู่การปิดการประกอบธุรกิจและลดการผลิต ซึ่งเป็นผลร้ายต่อบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก เกี่ยวกับการจ้างแรงงาน และผลที่ตามมาต่อชีวิตของครอบครัวและทุกภาคส่วนของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมที่มีความเปราะบาง

        ผลที่ตามมาของวิกฤตเศรษฐกิจสร้างบาดแผลอีกประการหนึ่งให้กับยุคสมัยของพวกเรา นั่นคือเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานอยู่ในการเอารัดเอาเปรียบอันก่อผลร้ายให้กับทั้งบุคคลและทรัพยากรธรรมชาติ บ่อยครั้งพวกเราละเลยเรื่องของความเอื้ออาทรและคุณค่าอื่นๆ ซึ่งทำให้เป็นไปได้สำหรับเศรษฐกิจที่จะรับใช้การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวมแทนที่จะเพื่อผลประโยชน์บางอย่างของตน พวกเรายังหลงทางในความสำคัญด้านสังคมแห่งพฤติกรรมเศรษฐกิจ และเป้าหมายสากลแห่งวัตถุและทรัพยากร

        วิกฤตในยุคปัจจุบันจึงเป็นโอกาสช่วยให้พวกเราคิดใหม่ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมี “ความตั้งใจจริงที่จะร่วมมือกันใหม่” ที่สามารถทำให้เศรษฐกิจเป็นการบริการรับใช้มนุษย์ ไม่ใช่ตรงกันข้าม พูดง่ายๆคือ “ต้องเป็นเศรษฐกิจที่แตกต่าง เป็นเศรษฐกิจทีนำมาซึ่งชีวิตมิใช่ความตาย เป็นเศรษฐกิจที่รวมทุกคนไม่ใช่ตัดผู้ใดออกไป เป็นเศรษฐกิจที่มีความเป็นมนุษย์ไม่ใช่ตรงกันข้าม เป็นเศรษฐกิจที่เอาใจใส่ดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและไม่ทำลายระบบนิเวศน์” [4]

        เพื่อต่อสู้กับผลลบของวิกฤตนี้หลายรัฐมีความคิดคิดริเริ่มหลายประการพร้อมกับจัดงบประมาณไว้อย่างพอเพียง ทว่าบ่อยครั้งความพยายามนั้นเป็นเพียงแค่ความพยายามแก้ไขปัญหาเฉพาะท้องถิ่น ซึ่งความจริงนี่เป็นปัญหาระดับสากล วันนี้ยิ่งกว่าสมัยใด ๆ พวกเราไม่อาจคิดที่จะกระทำการใดๆ แต่เพียงลำพัง ความคิดริเริ่มและการแบ่งปันกันยังจำเป็นในระดับสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อที่จะสนับสนุนการจ้างงาน และปกป้องประชาชนภาคส่วนที่ยากจน ข้าพเจ้าถือว่าประเด็นนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของสหภาพยุโรป และบรรดากัลยาณมิตรผู้เป็นสมาชิก แม้จะมีความยุ่งยากพวกเขาก็ยังสามารถแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำงานด้วยความขยันขันแข็งเพื่อคุณประโยชน์สุขแห่งประชากรทุกคน การจัดสรรค์งบประมาณสำหรับแผนการการฟื้นฟูเพื่อชนรุ่นหลังมีความหมายยิ่งถึงความร่วมมือกัน และแบ่งปันทรัพยากรกันในเจตนารมณ์แห่งความเอื้ออาทรล้วนเป็นสิ่งที่น่าชมเชยและเป็นเป้าหมายที่จะสำเร็จได้

        ในหลายภูมิภาคโลก วิกฤตจะมีผลกระทบแรงมากต่อผู้ที่ทำงานแบบอิสระซึ่งเป็นกลุ่มแรกที่เห็นว่าการครองชีพของเขามลายหายสาบสูญไป การดำเนินชีวิตนอกเศรษฐกิจพวกเขาจะขาดซึ่งการเข้าถึงเครือข่ายสวัสดิการ รวมถึงการประกันการตกงานและสวัสดิการรักษาพยาบาล เพราะความสิ้นหวังหลายคนจำเป็นต้องแสวงหาหนทางสำหรับหารายได้ทางอื่นพร้อมกับเสี่ยงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบโดยแรงงานที่ถูกบังคับหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย การค้าประเวณี และพฤติกรรมที่เป็นอาชญากรรมต่างๆรวมทั้งการค้ามนุษย์ด้วย

        ในอีกมุมมองหนึ่งมนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีความชื่นชมกับ “วิธีจำเป็นสำหรับการพัฒนาชีวิตที่เหมาะสม” และต้องได้รับสิทธิที่จะกระทำเช่นนั้น [5] ความจริงความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องเป็นหลักประกันสำหรับทุกคนเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเอารัดเอาเปรียบกัน และเพื่อที่จะต่อต้านการชุบมือเปิดและการคอรับชั่นที่มีผลกระทบต่อหลายประเทศในโลกพร้อมกับความอยุติธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นประจำวันภายใต้การเฝ้ามองที่อ่อนล้าและไม่สนใจในสังคมร่วมสมัยของพวกเรา

        ระยะเวลามากขึ้นที่ต้องอยู่ติดบ้านยังนำไปสู่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวเพิ่มขึ้นด้วยการใช้เวลามากขึ้นหน้าจอคอมพิวเตอร์และสื่ออื่นๆ พร้อมกับผลที่สร้างความเปราะบางเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิงต่อคนยากจนและคนที่ตกงาน พวกเขาตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายอย่างง่ายดายต่ออาชญากรรมทางสื่อในแง่ที่ขาดความเป็นมนุษย์มากที่สุดรวมทั้งการฉ้อโกง การค้ามนุษย์ การเอารัดเอาเปรียบ โสเภณี โสเภณีเด็ก และภาพอนาจารลามกในผู้เยาว์

        การปิดชายแดนเพราะโรคระบาดผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจสร้างภาระอันหนักหน่วงยิ่งทวีมากขึ้นให้กับองค์กรมนุษยธรรมทั้งในเขตที่มีความขัดแย้ง เขตที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความแห้งแล้ง รวมถึงผู้ลี้ภัยและค่ายผู้อพยพ ข้าพเจ้าคิดถึงประเทศซูดานเป็นพิเศษที่ประชาชนนับพันๆคนต้องหนีจากภูมิภาคติเกรย์ (Tigray) เพื่อหาที่หลบภัยรวมถึงประเทศต่างๆ บริเวณภาคใต้ของทะเลทรายซาฮาราแอฟริกา หรือในแถบคาโบ เดลกาโด (Cabo Delgado) ในประเทศโมซัมบิค (Mozambique) ซึ่งประชาชนจำนวนมากถูกบังคับให้ต้องทิ้งบ้านเรือนซึ่งบัดนี้พบว่าตนเองตกอยู่ในสภาพที่พูดไม่ออกบอกไม่ถูก ความคิดของข้าพเจ้ายังหวนไปยังประเทศเยเมนและประเทศซีเรีย ซึ่งนอกเหนือจากภาวะฉุกเฉินที่รุนแรงแล้วประชาชนส่วนใหญ่ยังขาดอาหาร และเด็กๆ ต้องเผชิญกับโรคขาดอาหาร

        ในกรณีต่างๆดังกล่าววิกฤตมนุษยธรรมยังถูกซ้ำเติมด้วยการลงโทษด้านเศรษฐกิจซึ่งบ่อยครั้งส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคส่วนที่เปราะบาง แต่ไม่มีผลกระทบต่อผู้นำทางการเมือง ในขณะที่พวกเราเข้าใจถึงเหตุผลของการลงโทษด้านเศรษฐกิจ ทางสันตะสำนัก นครรัฐวาติกันมองว่านี่ไม่เป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพและหวังว่าจะมีการผ่อนปรนอย่างน้อยก็เพื่อการไหลเวียนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในยามที่เผชิญกับโรคระบาด

        ขอให้สถานการณ์ปัจจุบันเป็นตัวเร่งให้มีการอภัยกัน หรืออย่างน้อยก็ลดหนี้ที่เป็นภาระของประเทศที่ยากจนพร้อมกับช่วยให้เกิดการฟื้นฟูการพัฒนาได้อย่างเต็มที่

        เมื่อปีที่แล้วพวกเราเห็นว่ามีผู้อพยพเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการปิดพรมแดนพวกเขาต้องหันไปใช้เส้นการเดินทางที่มีอันตรายมาก การหลั่งไหลของผู้อพยพมากมายนี้ยังต้องเผชิญกับการถูกปฏิเสธห้ามเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งบ่อยครั้งถูกนำมาอ้างเพื่อไม่ยอมให้ผู้อพยพมาแสวงหาที่พักพิงซึ่งขัดต่อหลักการแห่งการไม่ปฏิเสธ (non-refoulement) หลายคนที่รอดตายจากการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลหรือข้ามพรมแดนต่างถูกกักขังไว้ในค่ายผู้อพยพซึ่งพวกเขาต้องถูกทรมานและถูกละเมิดสิทธิ

        ช่องทางมนุษยธรรมที่มีการช่วยเหลือกันในปีที่แล้วแน่นอนว่าได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้บางประการและช่วยได้หลายชีวิต แต่วิกฤตอันหนักหน่วงทำให้เป็นเรื่องด่วนที่จะต้องจัดการกับรากเหง้าเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำให้พวกเขาต้องอพยพ ยังเรียกร้องให้พวกเราใช้ความพยายามร่วมกันในการสนับสนุนประเทศที่ให้การต้อนรับเพื่อเห็นแก่คุณธรรมจึงช่วยชีวิตพวกเขาไว้ ในมิตินี้พวกเรามองไปยังการเจรจาของสหภาพยุโรปเรื่องผู้อพยพและสถานที่พักพิงที่ต้องคำนึงถึงนโยบายที่เป็นรูปธรรมและกลไกซึ่งจะไม่เป็นผลนอกจากพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากการเมืองพร้อมและการพร้อมใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงสังคมพลเรือนและผู้อพยพเองด้วย

        สันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน ชื่นชมความพยายามทุกอย่างที่จะช่วยเหลือผู้อพยพพร้อมกับสนับสนุนการทำงานขององค์กรผู้อพยพสากล (IOM) ซึ่งขณะนี้ทำการเฉลิมฉลองครบ 70 ปีแห่งการสถาปนาองค์กร พวกเราเคารพในคุณค่าที่แสดงออกในธรรมนูญและวัฒนธรรมของบรรดาประเทศสมาชิกที่ทำงานร่วมกับองค์กร IOM เช่นเดียวกันสันตะสำนักในฐานะสมาชิกบริหารของ UNHCR ก็จะซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ระบุไว้ในอนุสัญญาเจนีวาในปี ค.ศ. 1951 เรื่องสถานภาพของผู้อพยพ และในมาตรการของปี ค.ศ. 1967 ซึ่งทั้งสองที่ว่ามานี้ให้คำจำกัดความผู้อพยพ สิทธิของพวกเขา และหน้าที่ของรัฐที่จะต้องปกป้องคุ้มครองพวกเขา

        ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองโลกของพวกเราไม่ได้มีประสบการณ์กับการอพยพใหญ่โตอย่างเช่นปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นความเร่งด่วนที่จะต้องรื้อฟื้นหน้าที่ที่จะปกป้องพวกเขารวมถึงผู้พลัดถิ่นในประเทศด้วย และยังมีผู้คนที่เปราะบางจำนวนมากที่ถูกบังคับให้ต้องหนีการถูกเบียดเบียน การใช้ความรุนแรง ความขัดแย้ง และสงคราม สำหรับมิตินี้แม้องค์การสหประชาชาติจะใช้ความพยายามมากเพียงใดเพื่อแก้ไขด้วยข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเพื่อจัดการกับปัญหาการอพยพที่ถูกบังคับ ด้านสันตะสำนักก็ยังอดห่วงไม่ได้กับสถานการณ์ของบุคคลพลัดถิ่นในภูมิภาคต่างๆของโลก ความคิดแรกของข้าพเจ้ามุ่งไปยังภาคกลางของซาเฮล (Sahel) ซึ่งเพียงไม่ถึง 2 ปีจำนวนผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า

วิกฤตด้านการเมือง

        ประเด็นสำคัญที่ข้าพเจ้าเพิ่งได้กล่าวไปนั้นแสดงให้เห็นถึงวิกฤตที่รุนแรงกว่าซึ่งในทางใดทางหนึ่งมีรากเหง้ามาจากที่อื่นซึ่งพลังอันน่ากลัวมีจุดสุดยอดที่โรคระบาด ข้าพเจ้ากล่าวถึงวิกฤตการเมืองที่มีผลกระทบต่อสังคมมากมายเป็นระยะเวลาหนึ่งมาแล้ว ซึ่งผลอันน่าเจ็บปวดเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เกิดโรคระบาด

        จุดที่น่าสนใจของวิกฤตนี้คือการเพิ่มความขัดแย้งทางการเมือง และเพิ่มความยากลำบากซับซ้อน นั่นเป็นเพราะการไร้ความสามารถในการหาหนทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างต่อเรื่องที่มีผลกระทบต่อโลก นี่เป็นแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เป็นเรื่องที่ยิ่งวันยิ่งจะแพร่ขยายออกไปในประเทศต่างๆ ที่มีระบบประชาธิปไตยมายาวนาน การฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยเป็นความท้าทายในประวัติศาสตร์ในขณะนี้ [6] อันเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศไม่ว่าประเทศเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจดีหรือเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา ในวันเหล่านี้ความคิดของข้าพเจ้าหวนกลับไปคิดถึงประชาชนในประเทศเมียนมาร์เป็นพิเศษ ซึ่งข้าพเจ้าขอแสดงความรักและความห่วงใยใกล้ชิด หนทางสู่ประชาธิปไตยที่พยายามสร้างกันมาตลอดหลายปีที่ผ่านมาถูกขัดจังหวะอย่างกระทันหันด้วยรัฐประหารเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำไปสู่การจับกุมของผู้นำประเทศหลายคน ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่าจะมีการปล่อยตัวในไม่ช้าดุจเครื่องหมายแห่งการสนับสนุนให้มีการเสวนากันอย่างจริงใจเพื่อความดีส่วนรวมและคุณประโยชน์ของประเทศ

        สำหรับมิตินี้ดังที่พระสันตะปาปาปีโอที่ 12 แถลงทางวิทยุในสาส์นโอกาสคริสต์มาสปี ค.ศ. 1944 ว่า “เพื่อแสดงถึงทัศนวิสัยแห่งหน้าที่และการเสียสละของตนที่ถูกใช้บังคับและไม่ถูกบังคับให้ต้องนบนอบโดยที่ไม่ได้รับฟังคำชี้แจง – เหล่านี้เป็นสิทธิสองประการของประชาชน ซึ่งมีอยู่ในระบบประชาธิปไตยดังที่คำว่าประชาธิปไตยบ่งถึงพวกเขามีสิทธิที่จะแสดงสิทธิออกมา” [7] ประชาธิปไตยมีพื้นฐานอยู่ในการให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ในการที่แต่ละบุคคลสามารถที่จะช่วยกันทำความดีเพื่อคุณประโยชน์ในสังคม และในการพิจารณาว่าความคิดเห็นที่แตกต่างไม่ได้เป็นพิษเป็นภัยต่ออำนาจ และความปลอดภัยมั่นคงของประเทศ แต่ด้วยการเสวนาที่ซื่อตรงสร้างความมั่งคั่งให้แก่กันและกัน และทำให้พวกเขาสามารถหาทางแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อที่จะขจัดปัญหาที่กำลังเร่งเร้า กระบวนการประชาธิปไตยเรียกร้องให้เดินตามเส้นทางแห่งการเสวนาที่มีสันติสุข สร้างสรรค์ และมีความเคารพต่อกันระหว่างส่วนประกอบต่างๆแห่งสังคมพลเรือนในทุกเมืองและทุกประเทศ  เหตุการณ์ต่างๆ ในประเทศจากตะวันออกจรดตะวันตกในวิธีการและบริบทต่างๆ เป็นปรากฏการณ์ในปีที่แล้วซึ่งข้าพเจ้าเอ่ยถึงซึ่งประเทศที่มีระบบประชาธิปไตยมาเป็นเวลาช้านานต่างก็แสดงออกมาอย่างชัดเจนว่าจะขาดเสียมิได้ในการท้าทายนี้ และพวกเราก็ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงหน้าที่ในเชิงจริยธรรมและสังคมที่ต้องจัดการกับประเด็นนี้อย่างจริงจัง การพัฒนาเพื่อการรับรู้ถึงประชาธิปไตยเรียกร้องให้แต่ละบุคคลต้องเคารพต่อกฎหมาย อันที่จริงกฎหมายเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้ในการใช้อำนาจ และต้องได้รับการประกันจากคณะผู้ปกครองที่มีความรับผิดชอบโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางการเมือง

        นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่จะกล่าวว่าวิกฤตด้านการเมืองและคุณค่าประชาธิปไตยยังสะท้อนให้เห็นในระดับสากลด้วย ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบต่างๆ รวมถึงองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสันติสุขและการพัฒนาด้วย – บนพื้นฐานของกฎหมายมิใช่บนพื้นฐานของ “กฎของผู้ที่แข็งแรงที่สุด” – ซึ่งจะมีการออมชอมกับประสิทธิภาพของตน แน่นอนว่าพวกเราไม่อาจที่จะละเลยว่าในหลายปีที่ผ่านมาระบบของหลายฝ่ายได้แสดงถึงขีดจำกัดของตน โรคระบาดเป็นโอกาสล้ำค่าที่จะปรับและปฏิรูปโครงสร้างเพื่อว่าองค์กรระหว่างประเทศจะสามารถพบกับกระแสเรียกที่สำคัญของตนในการบริการรับใช้ครอบครัวมนุษย์ด้วยการปกป้องชีวิตของผู้คนและสร้างสันติสุข

        เครื่องหมายประการหนึ่งแห่งวิกฤตด้านการเมืองคือการรีรอที่จะเดินตามเส้นทางแห่งการปฏิรูป พวกเราต้องไม่กลัวที่จะทำการปฏิรูปแม้ว่าต้องการการเสียสละและบ่อยครั้งพวกเราต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ทุกชีวิตจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเสมอ และการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในสันตะสำนัก และในโรมันคูเรียก็เป็นการเหมาะสมแล้วในมุมมองนี้

        ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดมักมีเครื่องหมายที่น่าพอใจอยู่หลายประการ เช่น การมีผลบังคับเมื่อไม่กี่วันมานี้ในสนธิสัญญาการใช้อาวุธนิวเคลียร์ และการต่ออายุออกไปอีกห้าปีของการลดอาวุธยุทธวิธีใหม่ (New START) ระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศสหรัฐอเมริกา ดังที่ข้าพเจ้าตั้งข้อสังเกตไว้ในสมณสาส์น “เราต่างเป็นพี่น้องกัน” (Fratelli Tutti) “หากพวกเราพิจารณากันถึงการคุกคามหลักต่อสันติภาพและความปลอดภัยในหลากหลายมิติในโลกที่มีหลายขั้วอำนาจแห่งคริสตศตวรรษที่ 21 … พวกเราจะมีข้อสงสัยอยู่หลายประการเกี่ยวกับยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ว่าเป็นการตอบสนองต่อการท้าทายหรือไม่” [8] ความจริง “ความมั่นคงแบบยั่งยืนที่มีพื้นฐานอยู่ในความกลัว เมื่อความกลัวเพิ่มขึ้นและทำลายความสัมพันธ์แห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประชาชน” [9] ย่อมจะเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน

        ความพยายามในเรื่องปลดอาวุธและการเลิกใช้อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งถึงแม้จะเป็นเรื่องยากลำบากและมีการลังเลจะต้องทำให้สำเร็จ และต้องรวมไปถึงอาวุธเคมีด้วย โลกของพวกเราสะสมอาวุธมากเกินไป ดังที่พระสันตะปาปานักบุญจอห์นที่ 23 ตั้งข้อสังเกตไว้ในปี ค.ศ. 1963 ว่า “ความยุติธรรม เหตุผลที่ชอบธรรม และการรับรู้ถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ ส่งเสียงร้องออกมาอย่างไม่หยุดหย่อนให้หยุดการแข่งขันอาวุธกัน การสั่งสมอาวุธที่ผลิตขึ้นในประเทศต่างๆ ต้องลดลงพร้อมกันทั้งหมดจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” [10] เนื่องจากการใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกระดับด้วยการกระจายอาวุธ และพวกเราต่างก็มองเห็นรอบตัวเราว่าโลกถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ ด้วยสงครามและการแตกแยก พวกเราจึงรู้สึกว่าจำเป็นที่พวกเราจะต้องมีสันติสุข สันติสุขที่ “ไม่ใช่เพียงเพราะไม่มีสงคราม แต่เป็นชีวิตที่มั่งคั่งสมบูรณ์ด้วยความหมายที่มีรากเหง้าอยู่ และมีการดำเนินชีวิตในความสำเร็จส่วนตัว และมีการแบ่งปันกันกับผู้อื่น” [11]

        ข้าพเจ้าปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้ปี ค.ศ. 2021 เป็นปีที่ความขัดแย้งในประเทศซีเรีย ซึ่งได้เริ่มเมื่อสิบปีที่แล้วสามารถสิ้นสุดลง เพื่อให้สิ่งนี้เป็นไปได้จำเป็นต้องมีการรื้อฟื้นความตั้งใจกันใหม่ในส่วนของชุมชนสากลที่ต้องจัดการกับต้นเหตุของความขัดแย้งด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ความกล้าหาญ เพื่อหาทางแก้ไขโดยมิต้องคำนึงถึงชาติ ศาสนา วัฒนธรรม เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศชาติ

        แน่นอนว่าความปรารถนาเพื่อสันติสุขของข้าพเจ้าแผ่ไปถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์ด้วย ความไว้วางใจกันระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ต้องเป็นพื้นฐานสำหรับการรื้อฟื้นการเสวนาขึ้นมาใหม่ระหว่างสองฝ่ายในการแก้ไขปัญหาที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาช้านาน ข้าพเจ้าวอนขอให้ชุมชนนานาชาติสนับสนุนและเอื้อให้มีการเสวนากันโดยตรง โดยไม่เป็นผู้กำหนดวิธีแก้ปัญหาซึ่งมิได้เป็นไปเพื่อความดีคุณประโยชน์สุขของทุกคน ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าทั้งประเทศอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็อยากที่จะดำเนินชีวิตในสันติสุขกันทั้งสองฝ่าย

        ข้าพเจ้ายังหวังด้วยว่าจะมีการรื้อฟื้นกันใหม่ถึงหน้าที่ทั้งในระดับชาติและระดับสากลที่จะส่งเสริมความสงบสุขในประเทศเลบานอน ซึ่งประสบกับวิกฤตภายในประเทศโดยเสี่ยงที่จะสูญเสียความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองพร้อมกับพบตนเองติดกับดักยิ่งหนักขึ้นกว่าเดิมเกี่ยวกับความตึงเครียดในภูมิภาค จำเป็นที่สุดที่ประเทศจะต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองโดยยินยอมให้มีความหลากหลาย มีความอดกลั้น และมีความแตกต่างในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งชุมชนคริสตชนสามารถมีส่วนร่วมได้โดยมิถูกจำกัดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต้องการการปกป้องคุ้มครอง คริสตชนซึ่งมีผลงานด้านการศึกษา สุขภาพอนามัย และสังคมสงเคราะห์มากมายเป็นส่วนหนึ่งแห่งประวัติศาสตร์และสังคมของประเทศเลบานอน พวกเขาควรได้รับหลักประกันถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้ความพยายามต่อไปเพื่อความดีคุณประโยชน์ของประเทศ ซึ่งพวกเขาเป็นผู้ก่อร่างสร้างขึ้นมา การทำให้พวกเขาอ่อนแอลงเสี่ยงที่จะไปทำลายความสมดุลภายใน และความจริงแห่งประเทศเลบานอน  ในมิตินี้ต้องมีการจัดการเรื่องผู้อพยพชาวซีเรียและชาวเลบานอนด้วย จำเป็นต้องดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นแล้วประเทศก็เสี่ยงที่จะล้มละลายที่อาจเป็นผลร้ายหวนกลับไปสู่ระบบลงรากลึกแบบสุดขั้ว (fundamentalism) เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นที่ทั้งผู้นำการเมืองและศาสนาจะต้องลืมผลประโยชน์ฝ่ายตนและปวารณาที่จะยึดถือความยุติธรรมและทำการปฏิรูปกันอย่างจริงจังเพื่อความดีของมวลประชาโดยกระทำการอย่างโปร่งใสและมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตน

        เช่นเดียวกันข้าพเจ้าหวังที่จะเห็นสันติสุขในประเทศลิเบีย ซึ่ง ณ วันนี้ต้องพังพินาศจากความขัดแย้งที่ยาวนาน ข้าพเจ้าหวังว่า “เวทีการเสวนาการเมืองแห่งลิเบีย” ซึ่งเกิดขึ้นที่ประเทศตูนีเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาภายใต้การควบคุมขององค์การสหประชาชาติจะมีผลในการเริ่มกระบวนการในการคืนดีกันใหม่

        ข้าพเจ้ายังมีความเป็นห่วงกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลกด้วย ประการแรกคือความตึงเครียดทางการเมืองและสังคมในแอฟริกากลางและประเทศอื่นๆ แถบประเทศลาตินอเมริกาซึ่งมีรากเหง้าอยู่ที่ความไม่เท่าเทียมกัน ความอยุติธรรม และความยากจนที่ขัดแย้งต่อศักดิ์ศรีของบุคคล ข้าพเจ้าติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด และเห็นความเสื่อมของความสัมพันธ์ระหว่างกันในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งไปลามไปถึงการทำลายอาคารแห่งความสัมพันธ์ ที่เมืองแคซอง (Kaesong) และ สถานการณ์ที่บริเวณคอเคซัสภาคใต้ (South Caucasus) ซึ่งความขัดแย้งกันในหลายแห่งระอุขึ้น บางแห่งก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วจนสร้างความไม่สงบและความไม่ปลอดภัยให้กับทั้งภูมิภาค

        สุดท้าย ข้าพเจ้าอดไม่ได้ที่จะต้องเอ่ยถึงอันตรายอันใหญ่หลวงอีกประการหนึ่งในยุคของพวกเรา นั่นคือการก่อการร้ายซึ่งในแต่ละปีสังหารผู้ที่ตกเป็นเหยื่อไปจำนวนมากซึ่งเป็นประชาชนทั่วโลกที่ไม่มีทางปกป้องตนเอง  การก่อการร้ายเป็นความชั่วร้ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 แห่งคริสตศตวรรษที่แล้ว เริ่มต้นในประเทศสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 ซึ่งสังหารปราชนไปราว 3.000 คน การโจมตีของผู้ก่อการร้ายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ในทุกทวีป ความคิดของข้าพเจ้าหวนกลับไปคิดอันดับแรกถึงประเทศในทวีปแอฟริกาแถวภาคใต้ของทะเลทรายซาฮารา รวมถึงในภาคพื้นเอเชียและยุโรปด้วย ข้าพเจ้าคิดถึงผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวของพวกเขาที่ต้องสูญเสียบุคคลที่พวกเขารักไปโดยน้ำมือจากพวกตาบอดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอุดมการณ์ทางศาสนาที่บิดเบี้ยวผิดเพี้ยน เพราะเหตุนี้เป้าหมายของการโจมตีบ่อยครั้งจะเป็นสถานที่นมัสการ สักการะสถานต่าง ๆ ซึ่งผู้ทีมีความเชื่อมารวมตัวเพื่ออธิษฐานภาวนากัน

        ในมุมมองนี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะย้ำว่าการปกป้องสักการะสถานเป็นผลโดยตรงของการปกป้องเสรีภาพแห่งความคิด มโนธรรม และศาสนา และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่ว่าพวกเขาจะสังกัดพรรคการเมืองใดหรือนับถือศาสนาใด

ท่านสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษที่เคารพ

        ก่อนจะสิ้นสุดการไตร่ตรองในวันนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะโฟกัสถึงวิกฤตสุดท้ายซึ่งอาจจะสาหัสกว่าวิกฤตใด ๆ กล่าวคือ วิกฤตด้านความสัมพันธ์ของมนุษย์ในฐานะที่เป็นการแสดงออกถึงวิกฤตด้านมานุษยวิทยาที่เกี่ยวกับการเข้าใจบุคคลและศักดิ์ศรีเหนือธรรมชาติของพวกเขา

        โรคระบาดที่บีบคั้นให้พวกเราต้องอยู่กันอย่างโดดเดี่ยวตลอดเวลา หลายเดือนทำให้พวกเราเห็นถึงความจำเป็นของทุกคนเกี่ยวกับความสัมพันธ์กันซึ่งกันและกัน ก่อนอื่นข้าพเจ้าคิดถึงบรรดานักเรียน นักศึกษา ที่ไม่สามารถไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอย่างสม่ำเสมอ “ทุกแห่งมีความพยายามที่จะตอบสนองอย่างรวดเร็วอาศัยการศึกษาออนไลน์ นี่ก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในการศึกษาและเทคโนโลยี แต่ก็ทำให้พวกเรารับรู้ว่าเพราะการปิดบ้านปิดเมือง และความจำเป็นอื่น ๆ เด็กและเยาวชนจำนวนมากต้องอยู่ในสภาพล้าหลังในกระบวนการตามธรรมชาติแห่งการเล่าเรียน” [12] ยิ่งไปกว่านั้นการเรียนทางไกลที่เพิ่มขึ้นยังนำเด็กและเยาวนไปสู่อินเตอร์เน็ตในรูปแบบของการสื่อโดยทั่วไป ซึ่งทำให้พวกเขาตกอยู่ในอันตรายและเสี่ยงสูงที่เห็นอาชญากรรมมากมายบนสื่อออนไลน์

        พวกเราประสบกับ “การพังพินาศของระบบการศึกษา” ในระดับหนึ่ง ขอย้ำอีกครั้งว่า นั่นเป็นความพังพินาศของการศึกษาประเภทหนึ่ง ซึ่งพวกเราต้องตอบสนองเพื่อเห็นแก่ชนรุ่นหลังและเพื่อสังคมโดยรวม “ทุกวันนี้มีความจำเป้นที่ต้องปฏิรูปฟื้นฟูการศึกษาที่เกี่ยวโยงกับสังคมในทุกระดับ” [13] ความจริงแล้วการศึกษาเป็น “ยาต้านตามธรรมชาติต่อวัฒนธรรมที่เห็นแก่ตัวที่บางครั้งเสื่อมโทรมลงจนเป็นลัทธิที่เห็นแก่ตัวและมองไม่เห็นผู้อื่น อนาคตของพวกเราไม่อาจทีจะแตกแยกกัน นี่อาจจะเป็นเพียงความคิดพื้นฐานที่ต้องใส่ใจคนยากจน ต้องมีจินตนาการ มีทัศนวิสัย มีการเอาใจใส่ดูแลกัน มีการเสวนา และมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน” [14]

        ในขณะเดียวกันการปิดบ้านปิดเมืองในระยะยาวทำให้ครอบครัวต้องใช้เวลาอยู่รวมกันมากขึ้น สำหรับพวกเขาหลายคนคือโอกาสสำคัญที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การแต่งงานและครอบครัว “สร้างคุณค่ามากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์” [25] และนี่เป็นพื้นฐานแห่งสังคมพลเรือน พระสันตะปาปานักบุญจอห์น พอล ที่ 2 ในโอกาสวันครบรอบวันประสูติ 100 ปี ที่พวกเราทำการเฉลิมฉลองให้พระองค์เมื่อปีที่แล้ว ตั้งข้อสังเกตในคำสอนที่เห็นการณ์ไกลของพระองค์เกี่ยวกับครอบครัวว่า “สมัยนี้ เมื่อพวกเรามองโลกในมิติสากลที่มีปัญหาสังคมร้อยแปด ครอบครัวจะมีบทบาทในการพัฒนาสังคมที่แพร่ขยายออกไปในรูปแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง… ด้วยการมอบแบบฉบับให้กับลูกหลานที่มีพื้นฐานอยู่ในคุณค่าแห่งความจริง เสรีภาพ ความยุติธรรม และความรัก” [16] แม้จะเป็นเช่นนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะดำเนินชีวิตในความสงบในบ้านของตน บางรูปแบบของการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันเกิดเสื่อมโทรมลงจนนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในครอบครัว ข้าพเจ้าขอส่งเสริมให้ทุกคนทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนให้ช่วยกันสนับสนุนผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะร้ายของการใช้ความรุนแรงในบ้าน ซึ่งก็โชคร้ายเหลือเกินอย่างที่พวกเราทราบกันบรรดาสตรี โดยเฉพาะเด็กเป็นผู้ที่ต้องรับทุกข์และจ่ายราคาชีวิตแพงที่สุด

        ความจำเป็นที่ต้องยุติการระบาดของเชื้อไวรัสยังหมายถึงเสรีภาพพื้นฐานบางประการรวมถึงเสรีภาพในการนับถือศาสนาด้วย เช่นจำกัดการนมัสการในที่สาธารณะ กิจกรรมการเรียนการสอนและเมตตากิจของชุมชนผู้มีความเชื่อ แต่พวกเราต้องทราบว่าศาสนาเป็นมิติพื้นฐานของมนุษย์และสังคม ฉะนั้นจึงไม่สมารถที่จะทอดทิ้งมิติเหล่านี้ได้ แม้พวกเราจะพยายามปกป้องชีวิตมนุษย์จากการแพร่ของเชื้อไวรัส พวกเราก็ไม่อาจที่จะมองมิติชีวิตฝ่ายจิตและจริยธรรมของบุคคลว่ามีความสำคัญน้อยกว่าสุขภาพกาย

        ยิ่งกว่านั้นเสรีภาพในการนมัสการไม่ใช่เป็นสิ่งคู่ขนานกับเสรีภาพของการชุมนุม โดยเนื้อแท้แล้วเกิดจากสิทธิของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ซึ่งเป็นสิทธิแรกเบื้องต้นขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ดังนั้นสิทธินี้จึงควรได้รับการเคารพ พิทักษ์คุ้มครอง และปกป้องจากเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเฉกเช่นสิทธิฝ่ายกายและสุขภาพ ดังนั้นการเอาใจใส่ดูแลด้านกายเป็นอย่างดีจะต้องไม่มองข้ามการเอาใจใส่ดูแลด้านวิญญาณด้วย

        ในสมณสาส์นเตือนใจชีวิตครอบครัวของพระสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 ประพันธ์ อ้างถึง Congrande della Scala, Dante Alighieri ยืนยันว่าเป้าหมายแห่ง “Comedy” เพื่อที่จะ “เปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตนี้จากสภาพของความอนิจจังและนำไปสู่สภาพแห่งความสุข” [17] นี่ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศาสนาและบ้านเมืองด้วยในบริบทและหน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ วิกฤตในความสัมพันธ์ของมนุษย์และผลที่ตามมาในวิกฤตอื่นๆที่ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วนั้นจะไม่สามารถที่จะเอาชนะได้นอกจากว่าพวกเราปกป้องศักดิ์ศรีเหนือธรรมชาติของแต่ละบุคคลที่ถูกสร้างขึ้นตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า

        เมื่อพูดถึงนักกวีฟลอเรนติเน (Florentine) ผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งเสียชีวิตไปในวันนี้เมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะมอบความคิดพิเศษให้กับประชากนในประเทศอิตาลีซึ่งเป็นประเทศแรกในยุโรปที่เผชิญกับผลร้ายของโรคระบาด ข้าพเจ้าขอร้องไม่ให้พวกเขาเสียกำลังใจท่ามกลางความทุกข์ยากในปัจจุบัน แต่ให้ร่วมมือกันในการสร้างสังคมซึ่งไม่ทอดทิ้งหรือลืมผู้ใดไว้ข้างหลัง

ท่านทูตานุทูตที่เคารพ

        ปี ค.ศ. 2021 ต้องไม่เป็นปีที่พวกเราเสียเวลาไปเปล่าๆ และจะไม่เป็นการเสียเวลาอย่างแน่นอนหากเราสามารถทำงานร่วมกันด้วยใจกว้างและอย่างจริงจัง สำหรับประเด็นนี้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าภราดรภาพเป็นแก่นที่แท้จริงที่จะสู้กับโรคระบาดได้ รวมถึงความชั่วร้ายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อพวกเราด้วย พร้อมกับการใช้วัคซีนแห่งภราดรภาพและความหวังคือตัวยาที่พวกเราต้องการมากที่สุดในโลกของพวกเราทุกวันนี้

        ข้าพเจ้าขอพระพรจากสวรรค์จงได้หลั่งไหลมาสู่ท่านและประเทศของท่าน ขอให้ปีนี้เป็นปีที่บังเกิดผลในการสร้างความสัมพันธ์แห่งภราดรภาพที่รวบรวมมนุษยชาติให้เป็นครอบครัวหนึ่งเดียวกัน

ขอขอบคุณทุกท่าน

เชิงอรรถ



[1] Message for the 2021 World Day of Peace, 8 December 2020, 1.

[2] Ibid. 6.

[3] Devotions upon Emergent Occasions (1623), Meditation XVII.

[4] Letter for the “Economy of Francesco” Initiative (1 May 2019).

[5] SAINT JOHN XXIII, Encyclical Letter Pacem in Terris (11 April 1963), ed. Carlen, 11.

[6] Cf. Address to the European Parliament, Strasburg (25 November 2014).

[7] Radio Message to the People of the Entire World, 24 December 1944.

[8] Message to the United Nations Conference to Negotiate a Legally Binding Instrument to Prohibit Nuclear Weapons (23 March 2017): AAS 109 (2017), 394-396; Encyclical Letter Fratelli Tutti, 262.

[9] Ibid.

[10] Encyclical Letter Pacem in Terris (11 April 1963), ed. Carlen, 112.

[11] Angelus, 1 January 2021.

[12] Video Message for the Meeting “Global Compact on Education. Together to Look Beyond” (15 October 2020).

[13] Ibid.

[14] Ibid.

[15] SAINT JOHN PAUL II, Apostolic Exhortation Familiaris Consortio (22 December 1981), 1.

[16] Ibid, 48.

[17] Epistola XIII, 39.

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)