เจริญพรมายัง ลูก ๆ และขอต้อนรับพี่น้องชายหญิง! ขอบคุณทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน
พ่อขอขอบคุณในการทักทายและการเป็นประจักษ์พยานของพวกลูกขอต้อนรับพระคาร์ดินัลผู้ช่วย พวกลูกทุกคนและครอบครัวของลูก พ่อดีใจที่สังฆานุกรยุสตีโน (Giustino) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการคารีตัส เมื่อมองดูลูกชายของเธอ พ่อคิดว่าลูกจะต้องเติบโตขึ้นอีก ลูกคงจะเติบโตขึ้นสูงเป็นสองเท่าของผู้เป็นบิดา [เสียงหัวเราะและปรบมือ] พ่อยังรู้สึกดีใจเช่นเดียวกันที่สังฆมณฑลแห่งกรุงโรมหันกลับไปถือธรรมเนียมอันเก่าแก่ที่มอบพระศาสนจักรไว้ให้กับบรรดาสังฆานุกรเป็นผู้จัดการเรื่องงานกุศลเมตตากิจ เฉกเช่น สังฆานุกรอันเดรอา (Andrea) ซึ่งจะทำงานกับเพื่อนบ้านชนชั้นกรรมาชีพของกรุงโรม พ่อขอต้อนรับลูกและภรรยาของลูก เลาร่า (Laura) ด้วยความเสน่หาเป็นพิเศษ หวังว่าพวกคงจะไม่จบชีวิตลงเหมือนนักบุญลอร์เรนซ์ (Lawrence) แต่ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างผาสุก! [เสียงหัวเราะ]
เนื่องจากพวกลูกถามพ่อว่า พ่อคาดหวังสิ่งใดสังฆานุกรแห่งกรุงโรม พ่อจึงปรารถานาจะบอกบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งพ่อมักจะพูดบ่อยๆ เมื่อพบกับพวกลูก และขณะหยุดสนทนากับพวกลูกบางคน
ขอให้พวกเราเริ่มต้นกันโดยการรำพึงไตร่ตรองนิดหน่อยเกี่ยวกับพันธกิจของสังฆานุกรถาวร หนทางหลักที่ต้องเดินเป็นหนทางที่บ่งบอกไว้ในสภาสังคายนาวาติกัน ที่ 2 ที่เข้าใจฐานะของสังฆานุกรถาวรว่าเป็น “ตำแหน่งอันเหมาะสมและถาวรแห่งพระฐานานุกรม” สังฆธรรมนูญเกี่ยวกับพระศาสนจักร (Lumen Gentium) หลังจากอธิบายหน้าที่ของศาสนบริกรบาดหลวงแล้ว ในฐานะที่พวกลูกมีส่วนร่วมในหน้าที่แห่งสมณะในพระเยซูคริสต์ จากคำสอนก็แสดงให้เห็นถึงพันธกิจของสังฆานุกร ระบุว่า “เหนือศีรษะพวกเขา มือถูกปกไม่ใช่เพื่อให้เป็นบาดหลวง แต่เพื่อทำพันธกิจแห่งการรับใช้” (LG 29) ความแตกต่างนี้ไม่ใช่ว่าไม่มีความสำคัญ สังฆานุกรซึ่งตามความเข้าใจในอดีตถูกลดตำแหน่งลงเป็นแค่เส้นทางที่จะขึ้นเป็นบาดหลวงได้คืนมา ณ จุดยืนและความพิเศษของตนเอง เพียงแค่ความจริงที่เน้นถึงความแตกต่างนี้ก็ช่วยให้พวกเราเอาชนะต่อหายนะแห่งบรรพชิตนิยมที่ยกชนชั้นบาดหลวง “อยู่เหนือ” ประชากรของพระเจ้า นี่คือแก่นแท้ของบรรพชิตนิยม ชนชั้นสมณะ “อยู่เหนือ” ประชากรของพระเจ้า และหากไม่แก้ไขปัญหานี้บรรพชิตนิยมก็จะคงอยู่ในพระศาสนจักรต่อไป สังฆานุกรเป็นบุคคลที่อุทิศตนเองเพื่อรับใช้ประชากรพระเจ้า จึงเป็นผู้ที่สังกัดอยู่ในคณะฐานันดรของพระศาสนจักร ไม่ควรที่จะมีผู้ใดยกตนเองเหนือผู้อื่น
ในพระศาสนจักรต้องใช้ตรรกะตรงกันข้าม นั่นคือตรรกะแห่งการถ่อมตนเอง พวกเราทุกคนถูกเรียกร้องให้ต้องถ่อมตัวลงเพราะพระเยซูคริสต์ทรงถ่อมตัวพระองค์ลง พระองค์ทรงทำตนเองเป็นผู้รับใช้ของทุกคน หากมีใครคนหนึ่งที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในพระศาสนจักรก็คือผู้ที่ทำตนเองเป็นผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด และเป็นผู้รับใช้ของทุกคน และทุกสิ่งก็เริ่มต้นที่ตรงจุดนี้ ดังที่พวกเราได้รับการเตือนใจในความจริงที่ว่าสังฆานุการเป็นประตูที่จะเข้าสู่ฐานันดรการเป็นสมณะ ทว่าสังฆานุกรจะคงเป็นสังฆานุกรถาวรตลอดไป จึงขอให้พวกเราจำไว้ว่าสำหรับศิษย์ของพระเยซูคริสต์ความรักคือการรับใช้ และการรับใช้คือการเป็นผู้ปกครองที่ดี อำนาจแท้จริงอยู่ที่การรับใช้ไม่ใช่อยู่ที่ไหนอื่น และหากลูกสามารถจำสิ่งที่พ่อเคยพูดไว้ พวกลูกเป็นผู้พิทักษ์การรับใช้ของพระศาสนจักร ดังนั้นพวกเราจึงอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเป็นผู้พิทักษ์ “อำนาจ” ที่แท้จริงในพระศาสนจักรเพื่อที่จะไม่มีผู้ใดก้าวข้ามอำนาจแห่งการรับใช้ ขอให้คิดให้ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้
ในการเดินทางชีวิตของสังฆานุกรตามเส้นทางหลวงแห่งสภาสังคายนาฯ จึงนำไปสู่ศูนย์กลางพระธรรมล้ำลึกแห่งพระศาสนจักรเฉกเช่นที่พ่อกล่าวถึง “พระศาสนจักรในโครงสร้างที่เป็นธรรมทูต” และ “พระศาสนจักรที่มีโครงสร้างของการก้าวเดินไปด้วยกัน” พ่อจึงขอเพิ่มที่จะกล่าวอีกว่าเป็น “พระศาสนจักรที่มีโครงสร้างที่มีสังฆานุกรผู้รับใช้” อันที่จริงหากพวกเราไม่ดำเนินชีวิตในมิติแห่งการรับใช้ พันธกิจทุกอย่างจะกลายเป็นสิ่งที่ว่างเปล่าจากภายใน จะกลายเป้นสิ่งที่เหี่ยวแห้ง จะไม่บังเกิดผล และทีละเล็กละน้อยจะกลายเป็นโลกียวิสัยไป สังฆานุกรต้องเตือนใจพระศาสนจักรว่าสิ่งที่นักบุญเทเรซาค้นพบนั้นเป็นความจริง คือพระศาสนจักรมีหัวใจที่ลุกเป็นไฟด้วยความรักเฉกเช่นนักบุญสังฆานุกรฟรานซิส พวกเขานำความใกล้ชิดของพระเจ้าไปสู่ผู้อื่นโดยไม่บีบบังคับ รับใช้ด้วยความสุภาพและชื่นชมยินดี ความใจกว้างของสังฆานุกรที่อุทิศตนเองโดยไม่หวังหน้าตาชื่อเสียงจะมีกลิ่นน้ำหอมแห่งพระวรสารรอบตัว สังฆานุกรมักจะพูดถึงความยิ่งใหญ่แห่งความสุภาพของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นผู้เดินก้าวแรก พระเจ้าจะเป็นผู้ที่ทรงเดินก้าวแรกเสมอเพื่อที่จะไปพบผู้ซึ่งแม้จะหันหลังให้กับพระองค์
วันนี้พวกลูกต้องใส่ใจในอีกมิติหนึ่ง จำนวนบาดหลวงที่ลดลงนำไปสู่พันธกิจของสังฆานุกรที่ต้องชดเชยงานของบาดหลวง ซึ่งแม้จะมีความสำคัญก็ไม่ใช่ธรรมชาติพิเศษของสังฆานุกร เป็นงานช่วยเหลือ สภาสังคายนาวาติกัน ฯ หลังจากที่พูดถึงการรับใช้ประชากรของพระเจ้าแล้ว “ในการมีส่วนร่วมของสังฆานุกรในจารีตพิธี ในวจนพิธี และในงานเมตตากิจ” เน้นว่าเหนือสิ่งอื่นใดสังฆานุกรต้อง “อุทิศหน้าที่ให้กับงานเมตตากิจและงานบริหารจัดการ” (Luman Gentium, ข้อ 29) วลีนี้ทำให้ย้อนนึกถึงศตวรรษแรกๆ เมื่อสังฆานุกรดูแลความเดือดร้อนของประชาสัตบุรุษโดยเฉพาะคนยากจนและคนที่เจ็บป่วย ในนามและเพื่อเห็นแก่บิชอป พวกลูกสามารถที่จะเลียนแบบฉบับรากเหง้าแห่งพระศาสนจักร ณ กรุงโรม พ่อไม่เพียงแค่จะคิดถึงนักบุญลอร์เรนซ์ (Lawrence) แต่ยังคิดถึงการมอบชีวิตของตนให้กับการเป็นสังฆานุกร ในหัวเมืองใหญ่มีการจัด 7 สถานที่ต่างหากจากวัดเพื่อแจกจ่ายสิ่งต่างๆ ให้กับผู้ที่เดือดร้อนทั่วเมืองซึ่งสังฆานุกรเป็นคนจัดการเรื่องนี้ในระดับรากหญ้าแทนชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ยากจนที่สุด ดุจดังที่หนังสือกิจการอัครธรรมทูตกล่าวว่าไม่มีผู้ใดในพวกเขาเดือดร้อน (เทียบ 4: 34)
นี่คือเหตุผลที่เพราะเหตุใดพวกเราจึงรื้อฟื้นธรรมเนียมโบราณที่มีสังฆานุกรในวัดนักบุญสตานิสเลา (Stanislaus) พ่อทราบว่าพวกลูกสังกัดอยู่ในองค์กรคารีตัสด้วย และในองค์กรอื่นๆ ที่ใกล้ชิดกับคนยากจน ด้วยวิธีนี้พวกลูกจะไม่เสียศูนย์ลางชีวิต สังฆานุการไม่ใช่ “กึ่งบาดหลวง” หรือบาดหลวงชั้นสอง และหน้าที่สังฆานุกรก็ไม่ใช่ “ผู้ช่วยมิสซาพิเศษ” นั่นไม่ใช่หนทางของเขา พวกเขาเป็นผู้รับใช้ที่คอยเอาใจใส่ดูแลซึ่งพยายามอย่างที่สุดที่จะสร้างหลักประกันว่าไม่มีผู้ใดถูกทอดทิ้งและเพื่อความรักของพระเยซูคริสต์สัมผัสกับชีวิตของผู้คนในวิธีที่สัมผัสได้ พูดสั้นๆ ก็คือ พวกเราสามารถที่จะสรุปชีวิตจิตของสังฆานุกรได้เพียงไม่กี่คำ นั่นคือ ชีวิตจิตแห่งการรับใช้ เป็นความพร้อมภายในและความใจกว้างภายนอก เป็นความพร้อมภายในจากหัวใจพร้อมที่จะพูดได้ว่า อ่อนน้อม โดยไม่ใช้ชีวิตแบบหมุนเวียนอยู่รอบตัวเองแต่เปิดใจกว้างสู่ภายนอก มองหาทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่ไม่มีใครในสังคมยอมรับ
พ่ออ่านข้อความตอนหนึ่งจากดอน โอริโอเน (Don Orione) ซึ่งพูดถึงการให้การต้อนรับผู้ที่เดือดร้อน ท่านกล่าวว่า “ในบ้านของเรา” ท่านพูดถึงนักบวชในคณะของท่าน “ในบ้านของเราผู้ที่มีความต้องการอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด แม้กระทั่งผู้ที่มีความเจ็บปวดต้องได้รับการต้อนรับ” พ่อชอบคำพูดนี้ ไม่เพียงแต่ต้อนรับผู้ที่มีความเดือดร้อน แต่บุคคลที่มีความเจ็บปวดด้วย การช่วยเหลือคนเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญ พ่อขอมอบประเด็นนี้ไว้ให้พวกลูกพิจารณา
เกี่ยวกับสิ่งที่พ่อคาดหวังจากพวกลูก ฐานะสังฆานุกรแห่งกรุงโรม พ่อปรารถนาที่จะมอบความคิดสั้นๆ อีกสามความคิดด้วยกัน แต่ลูกไม่ต้องตกใจ พ่อพูดเกือบจะจบแล้วซึ่งไม่ค่อยจะเกี่ยวกับ “สิ่งที่ต้องทำ” แต่เป็นมิติที่ต้องสร้างขึ้นมา ประการแรกพ่อคาดหวังให้พวกลูกเป็นคนสุภาพถ่อมตน เป็นเรื่องน่าเศร้าจริง ๆ ที่เห็นบิชอปและบาดหลวงหลายท่านขอบอวดตัว ทว่าจะเป็นเรื่องน่าเศร้ามากกว่าที่เห็นสังฆานุกรต้องการที่จะตั้งตัวเป็นศูนย์กลางของโลก หรือเป็นศูนย์กลางของจารีตพิธีกรรม หรือศูนย์กลางของพระศาสนจักร ดังนั้นพวกลูกจงเป็นคนสุภาพถ่อมตน ขอให้ความดีทุกอย่างที่พวกลูกกระทำเป็นความลับระหว่างตัวลูกเองกับพระเจ้า ชีวิตจึงจะบังเกิดผล
ประการที่สองพ่อคาดหวังให้พวกลูกเป็นสามี เป็นบิดา และเป็นคุณตาที่ดี นี่จะเป็นการให้ความหวังและความบรรเทาใจให้กับคู่สามีภรรยาที่ต้องผ่านเวลาแห่งความยากลำบาก เป็นผู้ได้พบกับมือที่ยื่นออกไปหาพวกเขาด้วยความเรียบง่ายที่แท้จริง พวกเขาจะสามารถคิดว่า “ดูแบบอย่างสังฆานุกรของพวกเราซิ เขามีความสุขที่อยู่กับคนยากจน กับบาทหลวงเจ้าวัด และแม้กระทั่งกับลูกๆและภรรยาของเขาเอง” แม้กระทั่งกับแม่ยาย พ่อตา นี่เป็นเรื่องสำคัญ! การทำทุกสิ่งด้วยความชื่นชมยินดีโดยปราศจากซึ่งการบ่นจะกลายเป็นประจักษ์พยานที่มีคุณค่ามากกว่าการเทศน์หลายครั้ง ขอให้เลิกการบ่นเสียที “โอ ฉันมีงานเยอะแยะ…” อย่าบ่น เลิกบ่นเสียที จงยิ้มไว้ เปิดใจให้กับครอบครัว จงมีใจกว้างเสมอ…
สุดท้าย ประการที่สาม พ่อหวังให้พวกลูกเป็นผู้พิทักษ์ แบบ รปภ. ซึ่งไม่ใช่เพียงรู้ที่จะหาคนยากจนและคนที่อยู่ห่างไกลสังคมอย่างไร – นี่ไม่ใช่เรื่องยาก – แต่ขอให้ช่วยชุมชนคริสตชนให้รับรู้ถึงพระเยซูคริสต์ในคนยากจน และคนที่อยู่ห่างไกลจากพระเจ้าเพราะว่าพระองค์ทรงเคาะที่ประตูโดยอาศัยพวกเขา นี่ยังเป็นมิติแห่งการสอนคำสอนและการประกาศพระวรสารของผู้พิทักษ์ที่ประกาศพระวรสาร และสอนคำสอนที่เข้าใจได้ ขอให้มองข้ามออกไปไกลและช่วยเหลือผู้อื่นให้มองการณ์ไกล และให้มองคนยากจนที่อยู่ห่างไกลออกไป พวกลูกสามารถสร้างภาพตนเองได้อย่างสวยงามในช่วงสุดท้ายแห่งพระวรสารเมื่อพระเยซูคริสต์ทรงถามศิษย์ของพระองค์จากที่ไกลว่า “ท่านไม่มีอะไรรับประทานกันดอกหรือ?” แล้วศิษย์ก็จำพระองค์ได้พร้อมกับกล่าวว่า “พระองค์เป็นพระเยซูคริสต์!” (ยน. 21: 5-7) ไม่ว่าจะเป็นความเดือดร้อนเช่นใดในชีวิต จงเข้าไปหาพระเยซูคริสต์ ดังนั้นพวกลูกก็เช่นเดียวกันจะจดจำพระเยซูคริสต์ได้ในบรรดาเพื่อนพี่น้องชายหญิงมากมายที่ต่ำต้อยท่ามกลางพวกลูก พระองค์ทรงขอร้องให้พวกเราเลี้ยงดูพวกเขา ให้การต้อนรับพวกเขา และให้รักพวกเขา พ่ออยากให้สิ่งนี้เป็นชีวิตจริงของสังฆานุกรถาวรแห่งกรุงโรมและของทั้งโลก ขอให้พวกลูกพยายามทำเช่นนี้ พวกลูกเป็นบุคคลที่มีใจกว้าง จงไปทำงานพร้อมกับความใจกว้างนี้เถิด
พ่อขอบคุณสำหรับสิ่งที่พวกลูกทำไปและสิ่งที่พวกลูกท่านเป็น พ่อขอร้องให้พวกลูกโปรดภาวนาสำหรับพ่อด้วย ขอขอบคุณ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
__________________________
Bullettin of the Holy See Press Office, 19 June 2021