วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567
  

จดหมายจากพระสันตะปาปาฟรานซิสถึงผู้เข้าประชุมกลุ่มธนาคารและกองทุนโลกปี ค.ศ. 2021

เจริญพรมายังผู้เข้าร่วมประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

        ข้าพเจ้าต้องขอขอบคุณที่ได้รับเชิญให้มาปราศรัยต่อผู้เข้าร่วมประชุมของสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำปี 2021 ในฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งข้าพเจ้าได้มอบให้พระคาร์ดินัลปีเตอร์ เตอร์กสัน (Peter Turkson) สมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงเพื่อการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวมมาแทนข้าพเจ้า

        ในปีที่ผ่านมานี้ เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 โลกของพวกเราถูกผลักดันให้ต้องเผชิญกับวิกฤตสังคม เศรษฐกิจ ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และการเมือง ที่ภัยนานัปการเข้ามาเป็นระรอก ข้าพเจ้าหวังว่าการอภิปรายกันของพวกท่านจะสร้างรูปแบบแห่ง “การฟื้นตัว” ที่สามารถก่อให้เกิดการแก้ปัญหาใหม่ที่ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ การช่วยเหลือปัจเจกบุคคลและชุมชนเพื่อให้บรรลุถึงแรงปรารถนาและความดีคุณประโยชน์สากลทั่วไป การฟื้นฟูไม่อาจหยุดอยู่ที่ความพึงพอใจอยู่กับการกลับไปสู่ระบบเศรษฐกิจในสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันและไม่ยั่งยืน ซึ่งผู้คนเพียงกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของความมั่งมีของครึ่งโลก

        เนื่องจากพวกเราทุกคนเชื่อมั่นว่ามนุษย์ชายหญิงทุกคนถูกสร้างขึ้นมาเท่าเทียมกันในศักดิ์ศรี พี่น้องชายหญิงของพวกเราล้วนสังกัดในครอบครัวมนุษยชาติเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ตามชายขอบสังคมที่ถูกตัดขาดออกจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ขณะที่โรคระบาดเตือนใจพวกเราอีกครั้งหนึ่งว่าไม่มีผู้ใดจะเอาตัวรอดได้ตามลำพัง พวกเราสามารถหลุดพ้นจากสถานการณ์นี้ด้วยการที่โลกของพวกเรา ถ้าหากพวกเรามีความเป็นมนุษย์และความเอื้ออาทรมากกว่าเดิม รูปแบบที่สร้างสรรค์ใหม่ของการมีส่วนร่วมในสังคม การเมือง และเศรษฐกิจต้องมีการรื้อฟื้นกันขึ้นมาใหม่ ต้องมีความรู้สึกละเอียดอ่อนต่อเสียงของคนยากจน และมีการปวารณาที่จะรวมพวกเขาเข้ามาในการสร้างอนาคตร่วมกันกับพวกเรา (เทียบ Fratelli tutti, ข้อ 169) ในฐานะที่พวกท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจ พวกท่านทราบดีว่าความไว้วางใจกันที่เกิดจากความสัมพันธ์กันระหว่างประชากร อันเป็นเสาหลักของความสัมพันธ์กันทุกประเภทรวมทั้งความสัมพันธ์ทางการเงินด้วย ความสัมพันธ์เหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยการพัฒนา “วัฒนธรรมแห่งการพบปะกัน” ซึ่งทุกเสียงร้องจะต้องได้รับการฟังและทุกฝ่ายพยายามที่จะแสวงหาความสัมพันธ์กันในการสร้างสะพาน และมองการณ์ไกลถึงโครงการที่ครอบคลุมทุกคนในระยะยาว (เทียบ Ibid., ข้อ 216)

        บัดนี้ ณ ที่นี่ ในขณะที่หลายประเทศกำลังพิจารณากันเกี่ยวกับการฟื้นฟูวิกฤต ก็ยังมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับโครงการสากลที่สามารถสร้างและเปลี่ยนแปลงสถาบันที่มีอยู่แล้วขึ้นในรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันที่มีอิทธิพลควบคุมโลก และช่วยสร้างเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์ระดับสากลเพื่อการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวมที่ครอบคลุมถึงทุกคน นี่จำเป็นต้องหมายถึงประเทศที่ยากจนและประเทศด้อยพัฒนาเพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและเอื้อให้พวกเขาเข้าถึงตลาดโลก เจตนารมณ์ในความเอื้ออาทรระดับสากลยังเรียกร้องให้มีการลดหนี้สินที่เป็นภาระของประเทสที่ยากจน ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่สาหัสเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากโรคระบาด การบรรเทาภาระหนี้สินของหลายประเทศและชุมชนในทุกวันนี้เป็นทีท่าอันล้ำลึกของความเป็นมนุษย์ซึ่งสามารถช่วยประชากรให้มีการพัฒนาได้ ทุกคนต้องสามารถไดรับวัคซีน การประกันด้านสุขภาพ การศึกษา และการทำงาน

        และ พวกเราก็ไม่สามารถมองข้ามหนี้อีกประเภทหนึ่ง นั่นคือ “หนี้ในระบบนิเวศ” ที่ยังคงปรากฏอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างขั้วโลกเหนือขั้วโลกใต้ ความจริงแล้วพวกเราเป็นหนี้ต่อธรรมชาติเอง รวมถึงประชากรและประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและความหลากหลายแห่งชีวภาพด้วยฝีมือของมนุษย์ ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าเชื่อว่าอุตสาหกรรม การเงิน ซึ่งมีความแตกต่างกันในความคิดสร้างสรรค์ของตนจะพิสูจน์ได้ว่าสามารถที่จะพัฒนาเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อคำนวณการเป็นหนี้ต่อระบบนิเวศ เพื่อประเทศที่พัฒนาแล้วจะเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่เพียงแค่ลดการบริโภคพลังงานที่หมุนเวียนไม่ได้ หรือด้วยการช่วยเหลือประเทศที่ยากจนในการสร้างนโยบายและโครงการที่ยั่งยืนเท่านั้น แต่จะต้องอุดหนุนงบประมาณที่จำเป็นสำหรับเป้าหมายนี้ด้วย (เทียบ Laudato Si”, ข้อ 51-52)

        หัวใจของการพัฒนาที่ชอบธรรม และเป็นองค์รวมเป็นความนิยมอย่างล้ำลึกถึงเป้าหมายสุดท้ายแห่งชีวิตเศรษฐกิจทุกประเภท กล่าวคือเพื่อความดีและคุณประโยชน์สากลส่วนรวม จึงเป็นเหตุผลว่าการเงินแบบสาธารณะจะไม่ต้องมีการแยกออกจากความดีคุณประโยชน์ส่วนรวม และตลาดการเงินควรที่จะถูกกำหนดด้วยกฎหมายและระเบียบที่มีเป้าหมายเพื่อที่จะสร้างหลักประกันว่าระบบการตวาดและการเงินถูกนำมาใช้เพื่อความดีคุณประโยชน์ส่วนรวม ดังนั้นการทำหน้าที่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเงิน และสังคมจึงหมายถึงสิ่งที่มากไปกว่าการแสดงความใจดีเป็นครั้งคราวเท่านั้น “นี่หมายถึงการคิดและการกระทำในรูปแบบของชุมชน นี่หมายความว่าชีวิตของทุกคนมีคุณค่า และมีความสำคัญมากว่าการร่ำรวยของเพียงบางคน บางกลุ่ม นี่ยังหมายถึงการต่อสู้กับโครงสร้างที่ก่อให้เกิดความยากจน ความไม่เท่าเทียมกัน การตกงาน การไม่มีที่ดินและไม่มีบ้าน การถูกปฏิเสธสิทธิทางสังคมและการทำงาน… ความเอื้ออาทรที่เข้าใจในความหมายนล้ำลึก  คือหนทางที่จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ (Fratelli Tutti, ข้อ 116)

        นี่ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่าระบบการตลาด – โดยเฉพาะระบบการเงิน – ไม่ได้มีอำนาจปกครองตัวเอง การตลาดต้องมีการควบคุมด้วยกฎหมายและระเบียบที่สร้างหลักประกันว่าทั้งระบบต้องทำงานเพื่อความดีและคุณประโยชน์ส่วนรวม โดยให้หลักประกันว่า – แทนที่จะพะวงอยู่กับการทำงานในวงแคบๆ หรือแสวงหางบประมาณให้กับตนเอง – ควรทำเพื่อเป้าหมายทางสังคมที่มีความต้องการเป็นอย่างยิ่งในบริบทของความเร่งด่วนกับปัญหาสุขภาพในโลกปัจจุบัน ในประเด็นนี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะขอให้พิจารณาช่วยสนับสนุนวัคซีนเป็นพิเศษ เพราะพวกเราไม่อาจที่จะปล่อยให้กฎแห่งการตลาดมาก่อนบัญญัติแห่งความรักและสุขภาพของทุกคน ณ จุดนี้ข้าพเจ้าขอเรียกร้องไปยังผู้นำประเทศ นักธุรกิจ และองค์กรสากลให้ทำงานด้วยกันในการจัดหาวัคซีนสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้คนที่มีความอ่อนแอเปราะบางมากที่สุด และเผชิญความทุกข์ร้อนมากที่สุด (เทียบ Urbi et Orbi สาส์นวันคริสต์มาส ปี 2020)

        ข้าพเจ้าหวังว่าในวันที่พวกท่านประชุมเหล่านี้ การตัดสินใจอย่างเป็นทางการของพวกท่านและพรรคพวกเพื่อนพ้องของท่านจะก่อให้เกิดคุณประโยชน์มากมายในการไตร่ตรองหาทางแก้ปัญหาอย่างชาญฉลาดเพื่ออนาคตที่ครอบคลุมและยั่งยืน    

        นี่เป็นอนาคตที่ระบบการเงินสามารถบริการรับใช้ความดีและคุณประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งผู้ที่อ่อนแอเปราะบาง และผู้ที่อยู่ตามชายขอบสังคมจะถูกนำมาไว้เป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นที่ซึ่งโลกนี้อันเป็นบ้านส่วนรวมของพวกเราได้รับการเอาใส่ดูแลเป็นอย่างดี

        ในการแสดงความปรารถนาดีอย่างจริงใจจากข้าพเจ้า เพื่อการประชุมนี้จะได้บังเกิดผลอย่างเต็มที่  ข้าพเจ้าวิงวอนพระพรพระเจ้าแห่งปรีชาญาณและความเข้าใจ การปรึกษาหารืออย่างดี พละกำลัง และสันติสุขจงสถิตอยู่กับท่านทุกคน

จากนครรัฐวาติกัน วันที่ 4 เมษายน 2021
ฟรานซิส

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเนื้อหาสาระในจดหมายของพระสันตะปาปาถึงสมาชิก IMF มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)