อรุณสวัสดิ์ ลูก ๆ และ พี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย
พระวรสารวันอาทิตย์ที่สองในเทศกาลธรรมดา (ดู ยน. 1: 35-42) เล่าเรื่องการพบปะระหว่างพระเยซูคริสต์กับศิษย์คนแรกของพระองค์ บริบทนี้เกิดขึ้น ณ ริมแม่น้ำจอร์แดน หลังการรับพิธีล้างของพระเยซูคริสต์ตามจารีตของจอห์น บัปตีสต์ และเป็นจอห์นบัปติสต์เองที่ชี้ไปยังพระผู้ไถ่ให้กับชายสองคนโดยกล่าวว่า “นี่ไง ลูกแกะของพระเจ้า” (ข้อ 36) และชายสองคนนั้นเชื่อในคำพูดของจอห์นจึงติดตามพระเยซูคริสต์ไป พระองค์เห็นเช่นนี้จึงถามว่า “ท่านแสวงหาอะไร?” พวกเขาจึงถามพระองค์ว่า “พระอาจารย์ ท่านพักอยู่ที่ไหน?” (ข้อ 38)
พระเยซูคริสต์ไม่ได้ตอบว่า “เราอยู่ที่เมืองกาฟาร์นาอุมหรือที่เมืองนาซาเเร็ธ” แต่กล่าวว่า “ตามมาสิและท่านจะเห็นเอง” (ข้อ 39) นี่ไม่ใช่นามบัตร ทว่าเป็นการเชิญให้ไปพบ ทั้งสองคนติดตามพระองค์ไปและอยู่กับพระองค์ตลอดบ่ายวันนั้น ไม่ยากนักที่จะจินตนาการว่าเขาสองคนคงนั่งลงถามพระองค์ร้อยแปดพันเรื่อง และที่สำคัญคือตั้งใจฟังพระองค์ รู้สึกหัวใจของตนร้อนเป็นเปลวไฟยิ่งที่ยิ่งมากขึ้น ในขณะที่ฟังพระอาจารย์พูด พวกเขาสัมผัสได้กับความงดงามแห่งพระวาจาที่ตอบสนองต่อความหวังอันยิ่งใหญ่ของพวกเขา แล้วทันทีทันใดนั้นพวกเขาก็พบว่าถึงแม้เป็นเวลาพลบค่ำแล้ว ในดวงใจของเขาเปี่ยมด้วยความสว่างไสว ซึ่งมีแต่พระเจ้าเท่านั้นที่จะประทานให้ได้ก็ปะทุขึ้นในภายในตัวเขา สิ่งหนึ่งที่สร้างความสนใจให้พวกเราคือ อีก 60 ปีต่อมา หรืออาจมากกว่านั้นหนึ่งในสองคนนั้นจะเป็นผู้นิพนธ์พระวรสาร “ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณสี่โมงเย็น” เขาบันทึกเวลาไว้ และนี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้พวกเราคิดไตร่ตรอง การพบปะกันที่แท้จริงกับกับพระเยซูคริสต์ทุกครั้งจะมีชีวิตชีวาอยู่ในความทรงจำที่พวกเราจะไม่มีวันลืม พวกเราอาจจะหลงลืมกับการพบปะมากมาย แต่การพบปะที่แท้จริงกับพระเยซูคริสต์จะเป็นความทรงจำตลอดไป อีกหลายปีต่อมาชายสองคนนั้นยังจำเวลาที่พบปะกับพระองค์ได้อย่างแม่นยำ พวกเขาไม่ลืมการพบปะที่ทำให้พวกเขามีความปีติสุขใจอย่างครบบริบูรณ์ ที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเขา จากนั้นเมื่อจบจากการพบปะนั้นแล้วพวกเขาก็กลับไปสู่พี่น้องพร้อมกับความชื่นชมยินดีที่เป็นความสว่างนั้นท่วมท้นหัวใจของเขาดุจสายน้ำที่ไหลเชี่ยว หนึ่งในสองคนนั้นอันดรูว์ได้พูดกับซีมอนพี่ชาย ซึ่งต่อมาพระเยซูคริสต์เปลี่ยนเป็นชื่อเขาเป็นเปโตร อันดรูว์เพียงบอกว่า “เราได้พบพระผู้ไถ่” (ข้อ 41) พวกเขามั่นใจว่าพระเยซูคริสต์คือพระผู้ไถ่อย่างแน่นอน
ขอให้พวกเราหยุดนิ่งไตร่ตรองสักครู่หนึ่งถึงประสบการณ์ที่พวกเราแต่ละบุคคลได้พบกับพระเยซูคริสต์ ผู้ทรงขอร้องให้พวกเราอยู่กับพระองค์ พระองค์ทรงเป็นผู้ที่คิดริเริ่มก่อนเสมอ พระองค์ทรงเรียกเรา พระเจ้าทรงเรียกพวกเราให้เข้าสู่การมีชีวิต พระองค์ทรงเรียกพวกเราให้มีความเชื่อ ขอให้พวกเรามีสถานภาพพิเศษในชีวิต “เราต้องการท่านเช่นนี้” การขอร้องประการแรกของพระเจ้าคือขอให้พวกเรามีชีวิต ซึ่งอาศัยการมีชีวิตพระองค์ทรงทำให้พวกเราเป็นบุคคล นี่เป็นกระแสเรียกส่วนบุคคลเพราะพระองค์ได้ทำให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นตามลำดับ แล้วพระเจ้าก็ทรงเรียกร้องให้พวกเรามีความเชื่อและเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวของพระองค์ดุจบุตรของพระเจ้า สุดท้ายพระเจ้าทรงเรียกให้พวกเรามีสภาพชีวิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ให้มอบตัวพวกเราในวิถีต่าง ๆ กันหนทางแห่งการแต่งงาน หรือให้เป็นศาสนบริกร หรือเป็นผู้ถวายตัว นักบวช/นักพรต พระญาณเอื้ออาทรของพระเจ้ามีหลากหลายวิธีที่พระองค์ทรงกำหนดให้พวกเรา ซึ่งเป็นการตัดสินพระทัยด้วยความรักเสมอ พระเจ้าจะทรงเรียกพวกเราเสมอ ความชื่นชมยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ที่มีความเชื่อทุกคนคือการตอบสนองต่อการเรียกนั้น มอบตัวเราทั้งสิ้นให้กับการบริการรับใช้พระเจ้าและเพื่อนพี่น้องชายหญิงของพวกเรา
ลูก ๆ และ พี่น้องชายหญิงที่รัก การเรียกของพระเจ้าที่มาถึงพวกเราในร้อยแปดหนทาง โดยอาศัยผู้อื่นทั้งในเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าดีและร้าย บางครั้งทัศนคติของพวกเราอาจจะปฏิเสธ ฉันไม่เอานะ… “ฉันกลัว” … พวกเราปฏิเสธเพราะดูเหมือนจะขัดแย้งกับความตั้งใจของพวกเรา แม้กระทั่งความกลัวเพราะพวกเราเชื่อว่านั่นเรียกร้องมากเกินและลำบาก “ไม่ละ.. ฉันคงทำไม่ได้ ฉันไม่เอาดีกว่า ชีวิตง่ายๆ อย่างนี้ดีกว่า… พระเจ้าอยู่ที่โน่น ฉันอยู่ที่นี่” ทว่า ขออย่าลืมว่าการเรียกของพระเจ้าเป็นความรักเสมอ พวกเราจำเป็นต้องค้นให้พบกับความรักที่อยู่เบื้องหลังในการเรียก และควรที่จะตอบสนองด้วยความรักเท่านั้น เริ่มแรกจะมีการพบกัน หรือมีการพบกับพระเยซูคริสต์ ซึ่งตรัสกับพวกเราถึงพระบิดาเจ้า พระองค์ทรงทำให้ความรักของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่พวกเรา แล้วความปรารถนาจะเกิดขึ้นทันทีทันใดในตัวเราที่จะสื่อสารต่อไปยังผู้คนที่เรารัก “ฉันได้พบกับความรัก” “ฉันได้พบกับพระผู้ไถ่” “ฉันได้พบกับพระเยซูคริสต์” “ฉันพบกับความหมายแห่งชีวิตของฉันแล้ว” พูดคำเดียวคือ “ฉันได้พบพระเจ้า”
ขอพระแม่มารีย์พรหมจารีโปรดช่วยพวกเราให้ทำชีวิตของพวกเราเป็นบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าด้วยการตอบสนองต่อการเรียกของพระองค์ และในการที่จะปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระองค์ด้วยความสุภาพและชื่นชมยินดี
ขอให้พวกเราจำสิ่งนี้ไว้ จะมีช่วงหนึ่งในชีวิตของพวกเราที่พระเจ้าทรงประทับใกล้ชิดกับพวกเราจนผิดปกติด้วยการเรียกร้องของพระองค์ ขอให้พวกเราจำประเด็นนี้ไว้ ขอให้พวกเราหวนกลับไปยังเวลานั้น เพื่อว่าความทรงจำของขณะนั้นจะได้รื้อฟื้นการที่พวกเราได้พบปะกับพระเยซูคริสต์
หลังจากสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวแล้ว พระสันตะปาปายังทรงมีพระดำรัสต่อไป
ลูก ๆ และ พี่น้องที่รัก
ขอแสดงความใกล้ชิดกับประชาชนแห่งเกาะสุลาเวสีในประเทศอินโดนีเซีย ที่เกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง พ่ออธิษฐานภาวนาสำหรับผู้ที่เสียชีวิต สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ และสำหรับทุกคนที่ต้องสูญเสียบ้านเรือนและการงาน ขอพระเจ้าทรงบรรเทาพวกเขาและช่วยทุกคนที่พยายามนำความช่วยเหลือมาสู่พวกเขา ขอให้พวกเราอธิษฐานภาวนาพร้อมกันเพื่อพี่น้องชายหญิงของพวกเราที่เกาะสุลาเวสี และสำหรับผู้ที่เป็นผู้เคราะห์ร้ายของอุบัติเหตุทางเครื่องบินที่เกิดขึ้นในประเทศอินโดนีเซียเช่นกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา(วันทามารีอา…)
วันนี้เป็นวันที่เพิ่มความสัมพันธ์ด้วยการเสวนาระหว่างชาวคาทอลิกและชาวยิวในประเทศอิตาลี พ่อรู้สึกดีใจที่ความคิดริเริ่มนี้มีการปฏิบัติติดต่อกันมากว่า 30 ปีแล้ว หวังว่าการพบปะกันจะก่อประโยชน์มหาศาลให้กับกัลยาณมิตรและความร่วมมือกัน
พรุ่งนี้จะเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่ง นั่นคือสัปดาห์แห่งการอธิษฐานภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน ปีนี้หัวข้อจะอ้างถึงคำเตือนใจของพระเยซูคริสต์ “จงประทับอยู่ในเรา แล้วท่านจะบังเกิดผลบริบูรณ์” และในวันจันทร์ที่ 25 มกราคม พวกเราจะทำวัตรเย็นที่มหาวิหารนักบุญเปาโลนอกกำแพง พร้อมกับผู้แทนของคริสตจักรและชุมชนคริสตชนนิกายต่างๆ ที่อยู่ในกรุงโรม ในวันเหล่านี้ขอให้พวกเราภาวนาพร้อมกันเพื่อความปรารถนาของพระเยซูคริสต์จะได้สำเร็จลุล่วงไป – เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันที่อยู่เหนือความขัดแย้งเสมอ
พ่อขอต้อนรับทุกคนที่เชื่อมสัมพันธ์กับเราทางสื่อสารสังคม ขอให้ทุกคนมีความสุขในวันอาทิตย์ โปรดอย่าลืมภาวนาสำหรับตัวพ่อเองด้วย ขอให้รับประทานอาหารกลางวันด้วยความสุข แล้วพบกันใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)