พระสมณสาส์น
ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า
(Laudato Si’)
ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส
เกี่ยวกับการดูแลรักษาโลก บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน
พระสมณสาส์นฉบับใหม่ “Laudato Si’ ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” เป็นพระสมณะสาส์นฉบับที่สองในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เป็นพระสมณสาส์นด้านสังคมสมัยใหม่ที่พระองค์ประสงค์เสวนากับทุกศาสนา เกี่ยวกับโลก-บ้านที่เราใช้ร่วมกัน บรรดาผู้นำประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างรอคอยและให้ความสนใจพระสมณสาส์นฉบับนี้ “พระวรสารแห่งสิ่งแวดล้อม”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเริ่มต้นพระสมณสาส์นด้วย บทเพลงแห่งสิ่งสร้างของนักบุญฟรังซิสแสดงให้เห็นสิ่งที่พระองค์ทรงประสงค์ที่จะตรัสในพระสมณสาส์นฉบับนี้
“Laudato si, mi’ Signore” “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า” คือคำที่นักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซีร้องสรรเสริญพระเจ้า ในบทเพลงอันไพเราะนี้ท่านเตือนเราว่า บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกันนี้ เป็นเสมือนพี่สาวคนหนึ่ง ซึ่งเราแบ่งปันชีวิตด้วยกัน และเป็นเสมือนมารดาผู้งดงาม ซึ่งต้อนรับเราด้วยอ้อมแขนที่โอบกอดเรา “ขอสรรเสริญพระเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า สำหรับผืนแผ่นดิน พี่สาวและมารดาของเรา ผู้ค้ำจุนปกป้องเราและผลิตพืชผลนานาชนิด พร้อมดอกไม้หลากสีสัน อีกทั้งผักหญ้านานาพันธ์” (LS 1)
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเชื้อเชิญให้เราทำงานร่วมกัน ทรงท้าทายเราให้มองภาพที่สะท้อนความสัมพันธ์ของเราที่มีต่อโลกใบนี้ และทรงเตือนใจเราว่าพระเจ้าได้ทรงสดับฟังเสียงคร่ำครวญของโลกและคนยากจน ต่อไปนี้เป็นแนวคิดหลัก 5 ประการที่พระองค์ประสงค์จะสื่อสารกับคริสตชนและทุกกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ ในบ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน
1. ให้เราร่วมกันดูแลบ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน-บ้านที่กำลังอยู่ในวิกฤติ
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงตรัสกับ “บุคคลทุกคนที่ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้” และทรงเชื้อเชิญพวกเขา “เข้าสู่การเสวนากับทุกคน ในหัวข้อเรื่อง บ้านที่เราอาศัยอยู่ร่วมกัน”(LS 3) พระสมณสาส์น Laudato Si’ สื่อสารถึงผู้ฟังทั่วโลกเกี่ยวกับสภาพวิกฤติทางนิเวศวิทยา และความเข้าใจในการสอนทางสังคมสำหรับคาทอลิก ซึ่งเราทุกคนเป็นครอบครัวเดียวกัน พระองค์ทรงเชื้อเชิญเราทุกคนให้มี ส่วนร่วมสร้างอนาคตของโลก “เราจำเป็นต้องมีการกลับใจ ซึ่งรวมเราทุกคนเป็นหนึ่งเดียว เพราะข้อท้าทายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังประสบ...เราทุกคนสามารถร่วมมือกัน เป็นเครื่องมือของพระเจ้า
ในการปกป้องดูแลสิ่งสร้าง ตามวัฒนธรรม ความคิดริเริ่ม และความสามารถของแต่ละคน” (LS 14) พระองค์ทรงเชิญชวนเราเข้าสู่สัมพันธภาพ ทรงเรียกร้องการกลับใจ และทรงวิงวอนให้เรายอมรับว่า “หัวข้อเหล่านี้จะต้องไม่ถูกพิจารณาเพียงครั้งเดียวเท่านั้น หรือถูกละเลย แต่ต้องนำกลับมาพิจารณา และทำให้เพิ่มพูนมากขึ้นอยู่เสมอ” (LS 16) สิ่งสำคัญสุดที่พระสมณสาส์นสื่อถึงเราในการใช้ชีวิตของพวกเราก็คือ “เมื่อเราพูดถึง ‘สิ่งแวดล้อม’ เราหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและสังคม ซึ่งป้องกันไม่ให้เราแยกธรรมชาติออกจากตัวเรา....ซึ่งตระหนักถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบธรรมชาติ และระบบทางสังคม ไม่มีการแยกออกเป็นสองวิกฤติ คือวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติด้านสังคม แต่เป็นวิกฤติเดียวกันที่ซับซ้อน...แนวทางการแก้ปัญหาจึงเป็นการทำความเข้าใจอย่างแท้จริงในการต่อสู้กับความยากจน เพื่อคืนศักดิ์ศรีให้แก่ผู้ถูกทอดทิ้ง และในเวลาเดียวกัน เพื่อธำรงรักษาธรรมชาติไว้” (LS 139)
2. ภูมิอากาศเป็นทรัพย์สินส่วนรวม
สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเน้นว่าไม่มีโลกที่เป็นของคนใดคนหนึ่ง “ภูมิอากาศเป็นทรัพย์สินส่วนรวมของทุกคนและเพื่อทุกคน” (LS 23) “มนุษยชาติได้รับการเรียกร้องให้ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต การผลิต และการบริโภค เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน...” (LS 23) สิ่งเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ความเสี่ยงของประชากรที่ปัจจุบันมีผู้อพยพตามภูมิอากาศ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาระดับโลก ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเป็นหนึ่งในข้อท้าทายหลักสำหรับมนุษยชาติ ผลกระทบที่ร้ายแรงอาจเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาในศตวรรษหน้า คนยากจนจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะโลกร้อน...และปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของบรรดาคนยากจนที่สุด ซึ่งถูกบังคับให้ต้องอพยพย้ายถิ่น ด้วยความไม่แน่ใจในอนาคตของตนและลูกหลาน...การไร้ซึ่งปฏิกิริยาตอบสนองต่อความทุกข์ของพี่น้องชายหญิงเหล่านี้ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการสูญเสียความรับผิดชอบต่อเพื่อนมนุษย์ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสังคมที่มีอารยธรรม” (LS 25) การสูญเสียความหลากหลายทางสายพันธ์เป็นเรื่องที่ถูกกล่าวขานมากที่สุด “การสูญพันธ์ส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นผู้ทำให้สายพันธ์ต่างๆ หลายพันชนิด ไม่สามารถถวายเกียรติแด่พระเจ้า ด้วยการดำรงอยู่ได้อีกต่อไป และไม่สามารถสื่อสารกับเราได้อีก เรามนุษย์ไม่มีสิทธิที่จะกระทำเช่นนี้” (LS 33) พวกเราลืมไปว่าภูมิอากาศเป็นทรัพย์สินส่วนรวม ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ระบบนิเวศน์ก็เช่นเดียวกันเป็นของส่วนรวม ไม่ใช่ของส่วนตัว ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องพิจารณาความรับผิดชอบของเราที่ต้องมีต่อระบบนิเวศน์และอนาคตรุ่นต่อไป แต่ดูเหมือนเราจะขาดการพิจารณา “เราเองอาจกลายเป็นพยานที่ไม่ปริปากพูดถึงความอยุติธรรมที่ร้ายแรงเช่นนี้ เมื่อเราคิดว่าเราได้รับผลประโยชน์ที่สำคัญ ในขณะที่มนุษยชาติส่วนที่เหลือทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต้องจ่ายมูลค่าความเสื่อมโทรมทางสิ่งแวดล้อมที่สูงมาก” (LS 36)
3. สิ่งสร้างเป็นของพระเจ้า ไม่ใช่ของพวกเรา
“เราไม่ใช่พระเจ้า แผ่นดินที่มีอยู่ก่อนหน้าเรา เราได้รับมอบหมายมา” (LS 67) ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องนอบน้อมและศักดิ์ศรีแห่งสิ่งสร้างเป็นแนวคิดที่ครอบคลุมพระสมณสาส์น Laudato Si’ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้ความหมายของหนังสือปฐมกาลว่า เป็นการเริ่มสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ “พระคัมภีร์มิได้ให้มนุษย์มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง โดยไม่ใส่ใจสิ่งสร้างอื่นๆ เลย” (LS 68) สัมพันธภาพที่เรามีต่อพระเจ้าไม่ใช่เพียงความสัมพันธ์ที่เราพึงมีต่อเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสัมพันธ์กับบรรดาสิ่งสร้างอื่นๆ ด้วย ไม่มีผู้ใดที่จะมีสัมพันธภาพกับพระเจ้าโดยปราศจากความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านและกับธรรมชาติ “ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กัน และการปกป้องดูแลชีวิตของเราอย่างแท้จริง รวมทั้งความสัมพันธ์ของเรากับธรรมชาตินั้นไม่สามารถแยกออกจากภราดรภาพ ความยุติธรรม และความซื่อสัตย์ต่อผู้อื่นได้” (LS 70) เรามีความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ที่เราต้องตระหนักเสมอว่าเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าที่เป็นปฐม ไม่ใช่มนุษย์ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงวิงวอนให้เราคำนึงถึงศักดิ์ศรีและความเปราะบางของธรรมชาติ “มนุษย์มีหน้าที่ต้องพัฒนาความสามารถพิเศษในการปกป้องโลก และพัฒนาศักยภาพต่างๆ หากเราตระหนักถึงคุณค่าและความอ่อนแอของธรรมชาติ และในเวลาเดียวกันตระหนักถึงความสามารถที่พระผู้สร้างทรงประทานให้เรา... โลกที่อ่อนแอซึ่งพระเจ้าทรงมอบหมายให้มนุษย์ดูแลนั้น ท้าทายสติปัญญาของเราที่ต้องตระหนักว่า เรามีแนวทางการพัฒนาและจำกัดอำนาจของเราอย่างไร” (LS 78) พระองค์ทรงให้เราตั้งอยู่บนความคิดพื้นฐานทางสังคมที่คาทอลิกสอน พระเจ้าทรงเป็นพระผู้สร้าง และสิ่งสร้างทั้งมวลเป็นของพระเจ้า สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงให้ความสนพระทัยในความยุติธรรมตามช่วงวัยการพัฒนาที่ไม่เสมอภาค และการเป็นหนี้ทางนิเวศวิทยา
4. สิทธิของการมีชีวิต
ชีวิตและศักดิ์ศรีถูกหล่อหลอมในทุกมิติของการสอนทางสังคมของคาทอลิกโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงแสดงความเห็นเกี่ยวกับผู้ที่มุ่งหาความถูกต้องให้กับการทำแท้ง โดยกล่าวอ้างการปกป้องธรรมชาติ “เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กัน การปกป้องธรรมชาติจึงมิอาจไปกันได้กับการส่งเสริมแก้ต่างในเรื่องการทำแท้ง แนวทางการศึกษาเพื่อต้อนรับบุคคลอ่อนแอที่แวดล้อมเรา ซึ่งบางครั้งเป็นเรื่องรบกวนและน่ารำคาญนั้น เป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่ได้หากเราไม่ปกป้องตัวอ่อนของมนุษย์ แม้ว่าการให้เด็กเกิดมานั้นจะเป็นเรื่องลำบากยุ่งยากใจและก่อให้เกิดปัญหาก็ตาม ‘หากบุคคลและสังคมสูญเสียความเอาใจใส่ที่จะต้อนรับชีวิตใหม่ การต้อนรับรูปแบบอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมก็สูญเสียไปด้วย’(97)” (LS 120) “เมื่อเราไม่ตระหนักถึงคุณค่าของคนยากจนในความเป็นจริง ไม่สนใจตัวอ่อนของมนุษย์ รวมทั้งบุคคลที่มีชีวิตในสภาพพิการ ก็เป็นเรื่องยากที่เราจะได้ยินเสียงร้องของธรรมชาติ” (LS117) เสียงร้องของคนยากจนกับเสียงร้องของธรรมชาติมีการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิด สิทธิการมีชีวิตยังมีอีกสองประเด็นที่สำคัญคือ น้ำและการบริโภค
น้ำเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับทุกชีวิต พระสันตะปาปาฟรังซิสทรงชี้ให้เห็นสภาวะการขาดแคลนโอกาสในการเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่แผ่ขยายวงกว้างออกไป ในช่วงต้นของพระสมณสาส์นพระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ว่า “โอกาสการมีน้ำที่ดื่มได้และปลอดภัยเป็นสิทธิพื้นฐานของมนุษย์และเป็นสิทธิสากล เพราะเป็นความอยู่รอดของบุคคล และเป็นเงื่อนไขการเคารพสิทธิของผู้อื่น โลกของเราเป็นหนี้ทางสังคมอย่างมากต่อคนยากจนที่ขาดแคลนน้ำดื่ม...เพราะยังขาดการตระหนักถึงความร้ายแรงของพฤติกรรมเช่นนี้ ในบริบทที่มีปัญหาเรื่องความอยุติธรรมที่รุนแรง” (LS 30)
การบริโภคก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง “แทนที่จะแก้ไขปัญหาของคนยากจนและคิดถึงโลกที่แตกต่างออกไป บางคนกลับพอใจเพียงแค่เสนอให้ลดอัตราการเกิดเท่านั้น...การกล่าวอ้างเรื่องจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยมิได้พูดถึงการบริโภคนิยมอย่างสุดโต่งและการเลือกบริโภคนั้น จึงกลายเป็นวิธีการปฏิเสธที่จะเผชิญปัญหา เป็นเพียงข้ออ้างที่สนับสนุนรูปแบบการกระจายทรัพยากรในปัจจุบัน ซึ่งคนจำนวนน้อยกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ตนมีสิทธิที่จะบริโภคส่วนที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถบริโภคได้...” (LS 50)
5. ศิลาของนักบุญฟรังซิส
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสทรงเริ่มพระสมณสาส์นด้วยคำกล่าวของนักบุญฟรังซิสแห่งอัสซีซี “ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพเจ้า” พระองค์ได้กล่าวอีกว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าท่านนักบุญฟรังซิสเป็นแบบอย่างอันยอดเยี่ยมของการปกป้องดูแลผู้อ่อนแอและสิ่งแวดล้อม...ในตัวท่าน เรามองเห็นได้ถึงความห่วงใยในธรรมชาติ ความยุติธรรมต่อคนยากจน การทำงานเพื่อสังคม และสันติภาพภายใน ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้” (LS 10) และพระองค์ทรงเริ่มด้วยคำว่า โลก-พี่สาว “บัดนี้ พี่สาวผู้นี้ส่งเสียงร้อง เพราะความเสียหายที่เราได้ก่อให้เกิดขึ้นกับเธอ ด้วยการใช้ทรัพย์สินที่พระเจ้าทรงมอบให้แก่เธออย่างไม่รับผิดชอบและฟุ่มเฟือย” (LS 2) บทเพลงแห่งสิ่งสร้างเป็นเสียงเพลงที่ก้องอยู่ในใจของเราเพื่อให้เราตระหนักว่า พระเจ้าทรงดำรงอยู่ในทุกสิ่ง “เมื่อเราตระหนักถึงภาพสะท้อนของพระเจ้าในทุกสิ่งที่ดำรงอยู่ จิตใจก็ปรารถนาถวายเกียรติแด่พระเจ้าสำหรับสิ่งสร้างและ พร้อมกับสิ่งสร้างทุกประการของพระองค์ ดังที่ปรากฏอยู่ในบทเพลงอันไพเราะของนักบุญฟรังซิสอัสซีซี” (LS 87) พระองค์ยังทรงกล่าวถึงภราดรภาพแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันระดับสากลที่ไม่มีบุคคลใดหรือสิ่งใดจะถูกกีดกัน “ทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันเช่นเดียวกับ มนุษย์เราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นพี่น้องชายหญิงในการจาริกที่น่าอัศจรรย์ เชื่อมสัมพันธ์กันด้วยความรักที่พระเจ้าทรงมีต่อสิ่งสร้างแต่ละชนิดของพระองค์ และรวมเราเป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความรักที่อ่อนโยน กับพี่ชายตะวัน พี่สาวจันทรา พี่สาวธารา และแม่ธรณี” (LS 92) ในช่วงท้ายของพระสมณสาส์นพระองค์ได้เชิญชวนเราให้ “กลับใจทางนิเวศวิทยา” โดยได้ทรงกล่าวว่า “คริสตชนบางคนที่ปฏิบัติศาสนกิจและภาวนา กลับเคยชินที่จะไม่สนใจห่วงใยสิ่งแวดล้อม โดยอ้าง สัจนิยม (realism) และปฏิบัตินิยม (pragmatism) ส่วนคนอื่นๆ ก็เพิกเฉย ไม่ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนความเคยชินของเขา และปฏิบัติตนไม่สอดคล้องกัน ดังนั้นเขาจึงต้องการ ‘การกลับใจทางนิเวศวิทยา’ ซึ่งเรียกร้องให้บังเกิดผลจากการได้พบพระเยซูคริสตเจ้าในความสัมพันธ์กับโลกที่ล้อมรอบตัวเขา...” (LS 217)
พระสมณสาส์น “Laudato Si’ ขอสรรเสริญองค์พระผู้เป็นเจ้า” แบ่งออกเป็น 6 บท แบบตรงไปตรงมาและเป็นตรรกต่อกัน รายละเอียดเนื้อหาในแต่ละบทสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสได้ทรงอ้างอิงข้อความทางเทววิทยาของนักบุญต่างๆ และนักเทววิทยาอื่นๆ และเป็นครั้งแรกที่พระสมณสาส์นมีการอ้างอิงถึงเอกสารจากการประชุมสมัชชาพระสังฆราชจากหลายภูมิภาคของโลก นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงการเสวนากับสาขาวิชาต่างๆ ด้วย
เนื้อหาสาระของพระสมณสาส์นทั้ง 6 บทนี้ อาจนำมาสรุปประเด็นที่น่าสนใจเป็นถ้อยคำจากบทแต่ละบทที่เป็นจุดหมาย และเนื้อสารของบทนั้นๆ ได้ดังนี้
บทที่ (Chapter) |
จุดมุ่งหมายของสาร (Goal) |
เนื้อสาร (Message) |
บทที่ 1 |
ข้อพิจารณาไตร่ตรองทางเทววิทยาและปรัชญา เกี่ยวกับสถานการณ์ของมนุษยชาติและของโลก อาจมองดูว่าเป็นเรื่องซ้ำซากน่าเบื่อและเป็นนามธรรม หากไม่ได้นำเสนอในลักษณะใหม่ให้เป็นการเผชิญหน้ากับบริบทปัจจุบัน ในสิ่งที่ยังไม่เคยพูดถึงมาก่อนในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่จะพิจารณาว่าความเชื่อได้นำแรงบันดาลใจและข้อเรียกร้องใหม่ๆมาให้โลกอย่างไร ข้าพเจ้าขอเสนอให้เราหยุดสักครู่ เพื่อมองดูสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในบ้านของเรา (LS 17) |
แน่นอนว่าเมื่อระบบของโลกตกอยู่ในสภาพวิกฤติ มนุษย์ก็ต้องเข้ามาแทรกแซง แต่ในปัจจุบัน มนุษย์เข้าไปแทรกแซงสิ่งที่ซับซ้อนอย่างเช่นธรรมชาตินี้ ในระดับที่ก่อให้เกิดหายนะอย่างต่อเนื่องจากน้ำมือมนุษย์ บ่อยครั้งมนุษย์เป็นผู้สร้างวงจรของปัญหาขึ้น เมื่อมนุษย์เข้ามาแก้ไขปัญหา แต่หลายครั้งกลับทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น เมื่อมองดูโลกของเรา จะเห็นว่าระดับการแทรกแซงของมนุษย์เช่นนี้ บ่อยครั้งเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อบริโภคนิยมและการลงทุน ซึ่งทำให้แผ่นดินที่เราอาศัยอยู่นี้สูญเสียความมั่งคั่งและความงดงาม เราคิดว่าเราสามารถทดแทนความงดงาม ซึ่งไม่อาจทดแทนและเรียกกลับ มาได้นั้น ด้วยสิ่งต่างๆ ที่เราสร้างขึ้นเอง (LS 34) |
บทที่ 2 |
เพราะเหตุใดเอกสารนี้จึงเขียนถึงทุกคนที่มีน้ำใจดี และมีบทหนึ่งที่อ้างถึงความมั่นใจในความเชื่อ ข้าพเจ้าตระหนักดีว่าในมิติทางการเมืองและความคิดเห็นนั้น บางคนปฏิเสธความคิดเรื่องพระผู้สร้างอย่างรุนแรง หรือเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีความสำคัญและคิดว่าการมีส่วนร่วมของศาสนาต่างๆ เพื่อมุ่งสู่นิเวศวิทยาเชิงบูรณาการ และเพื่อพัฒนามนุษยชาติที่สมบูรณ์นั้นเป็นเรื่องเหลวไหล บางครั้งผู้คนก็เห็นว่าศาสนาเป็นวัฒนธรรมรองที่ต้องทนรับเท่านั้น อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์และศาสนาซึ่งนำเสนอความเข้าใจที่แตกต่างในเรื่องของความจริง สามารถเข้าสู่การเสวนาได้อย่างเข้มข้นและบังเกิดผล (LS 62) | เรามิใช่พระเจ้า แผ่นดินที่มีอยู่ก่อนหน้าเรา เราได้รับมอบหมายมา เป็นความจริงที่บางครั้งเราคริสตชนตีความพระคัมภีร์อย่างผิดๆ แต่ในปัจจุบันเราต้องปฏิเสธอย่างแข็งขันว่า เรามีอำนาจเด็ดขาดเหนือสิ่งสร้างอื่นๆ เพราะเรามนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาตามภาพลักษณ์ของพระเจ้า ข้อความในพระคัมภีร์เชื้อเชิญเราให้ “ไถพรวนและรักษา” สวนของโลก (เทียบปฐก. 2:15) ในขณะที่การเพาะปลูกหมายถึงการไถเตรียมผืนดิน ส่วนการดูแลรักษา หมายถึงการปกป้อง การสงวนไว้ การเฝ้าระวัง รวมถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อกันอย่างรับผิดชอบระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ แต่ละชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากความดีของแผ่นดินในสิ่งที่จำเป็นเพื่อมีชีวิตรอด อย่างไรก็ตามชุมชนมนุษย์มีหน้าที่ต้องรักษาผืนดินไว้ และรับรองความต่อเนื่องของความอุดมสมบูรณ์สำหรับชนรุ่นต่อไป (LS 67) |
บทที่ 3 |
ไม่มีประโยชน์ใดที่จะบรรยายถึงอาการต่างๆของวิกฤติด้านนิเวศวิทยา หากเราไม่ตระหนักถึงสาเหตุจากน้ำมือของมนุษย์ ซึ่งเป็นวิธีการที่จะเข้าใจถึงชีวิตและกิจกรรมของมนุษย์ที่เบี่ยงเบน และเป็นปฏิปักษ์กับโลกหรือทำร้ายโลก เพราะเหตุใดเราจึงไม่หยุด เพื่อคิดถึงสิ่งเหล่านี้ ในการพิจารณาไตร่ตรองนี้ ข้าพเจ้าเสนอให้เรามุ่งความสนใจไปที่กระบวนทัศน์ที่ตัดสินด้วยวิทยาการซึ่งมีอิทธิพล รวมทั้งบทบาทและการกระทำของมนุษย์ในโลก (LS 101) |
เราจึงอาจกล่าวได้ว่า ต้นเหตุของปัญหาความยุ่งยากมากมายในโลกปัจจุบัน ก่อนอื่นใดคือแนวโน้มที่จะรับกระบวนวิธีการและจุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ให้กลายมาเป็นกระบวนทัศน์ความเข้าใจที่กำหนดชีวิตของบุคคล และกลไกของสังคม ผลของการใช้รูปแบบหล่อหลอมความเป็นจริงทั้งด้านมนุษย์และสังคมเช่นนี้ เห็นได้จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องตระหนักว่า วัตถุที่ผลิตขึ้นด้วยเทคโนโลยีนั้นมิได้มีความเป็นกลาง เพราะได้สร้างกรอบที่กำหนดวิถีชีวิต และชี้นำโอกาสทางสังคมไปในแนวทางผลประโยชน์ต่อกลุ่มอำนาจบางกลุ่ม การตัดสินใจในบางเรื่องจึงกลายเป็นเพียงเครื่องมือ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เป็นการตัดสินใจเลือกรูปแบบชีวิตทางสังคมที่พวกเขาต้องการสร้างขึ้น (LS 107) |
บทที่ 4 |
เนื่องจากทุกสิ่งทุกอย่างสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และปัญหาต่างๆ ในปัจจุบันเรียกร้องให้มองดูวิกฤติระดับโลกในทุกมิติ ข้าพเจ้าขอเสนอให้เราพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ ของนิเวศวิทยาเชิงบูรณาการ ซึ่งเคารพมิติด้านมนุษย์และสังคมอย่างชัดเจน (LS 137) |
นิเวศวิทยาทางเศรษฐกิจจึงมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงความเป็นจริงที่กว้างขึ้น “การปกป้องสิ่งแวดล้อมต้องเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการพัฒนา และต้องไม่ถูกแยกออกมาเพียงลำพัง” (114) ขณะเดียวกัน มนุษยนิยม (humanism) ก็มีความสำคัญ การวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากปัญหาการวิเคราะห์บริบทด้านมนุษย์ ครอบครัว การทำงาน สังคมเมือง และความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคลกับตนเอง ซึ่งสัมพันธ์เกี่ยวโยงกับบุคคลอื่นๆ และสิ่งแวดล้อม (LS 141) |
บทที่ 5 |
ข้าพเจ้าได้พยายามวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของมนุษยชาติ ทั้งจากความแตกแยกของโลกที่เราอาศัยอยู่ และจากสาเหตุที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ในความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การสังเกตความเป็นจริงนี้ แสดงให้เราเห็นแล้วถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง และเสนอกิจกรรมบางประการ บัดนี้ให้เราพยายามหาแนวทางสำคัญในการเสวนาที่จะช่วยเราให้หลุดพ้นจากวงจรการทำลายตนเอง ซึ่งเรากำลังจมอยู่ (LS 163) |
หลังจากได้เอาชนะอุปสรรคต่างๆ มากมาย เรามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นที่จะคิดว่าโลกเป็นแผ่นดินผืนเดียวกัน และมนุษยชาติเป็นประชากรที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน การที่โลกต้องพึ่งพาอาศัยกัน มิได้หมายความแต่เพียงตระหนักว่าผลร้ายที่มาจากวิถีการดำเนินชีวิต การผลิตและการบริโภคจะกระทบถึงทุกคนเท่านั้น แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาในมิติระดับโลก และมิใช่เพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบางประเทศเท่านั้น การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทำให้เราต้องคิดถึงโลกหนึ่งเดียว และโครงการที่วางแผนร่วมกัน จำเป็นที่จะต้องมีมติในระดับโลกที่จะนำไปสู่การวางแผน การเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและหลากหลาย การพัฒนารูปแบบพลังงานทดแทนที่ก่อมลพิษน้อย การสนับสนุนการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ และทรัพยากรทางทะเลที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และการให้ทุกคนมีน้ำที่ดื่มได้ (LS 164) |
บทที่ 6 |
มีสิ่งต่างๆ มากมายที่ต้องเปลี่ยนแปลง แต่ก่อนอื่นใด มนุษยชาติต้องการการเปลี่ยนแปลง การตระหนักถึงจุดกำเนิดเดียวกัน การเป็นเจ้าของร่วมกัน และการมีอนาคตร่วมกัน เป็นสิ่งสำคัญ การตระหนักถึงพื้นฐานนี้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาความเชื่อมั่น ทัศนคติ และรูปแบบชีวิตใหม่ๆ รวมทั้งเป็นความท้าทายด้านวัฒนธรรม จิตวิญญาณ และการศึกษา ซึ่งต้องใช้กระบวนการฟื้นฟูที่ยาวนาน (LS 202) | ในการนำเสนอความสัมพันธ์กับสิ่งสร้าง ในมิติแห่งหลับใจที่สมบูรณ์ของบุคคลให้เราคิดถึงแบบอย่างของนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ท่านยอมรับความผิดพลาดของท่าน ทั้งบาป ความชั่วร้าย หรือการละเลย ท่านเป็นทุกข์ถึงบาปสิ้นสุดจิตใจ และมีการเปลี่ยนแปลงภายในบรรดาพระสังฆราชแห่งออสเตรเลียได้แสดงออกถึงการกลับใจ โดยใช้คำว่าการคืนดีกับสิ่งสร้าง “ในการทำงานเพื่อการคืนดีสำเร็จเป็นจริง เราต้องตรวจสอบชีวิตของเรา และตระหนักว่าเราได้ทำผิดต่อสิ่งสร้างของพระเจ้าในลักษณะใด ทั้งด้วยการกระทำของเรา และความล้มเหลวในการกระทำ เราต้องมีประสบการณ์แห่งการ กลับใจหรือการเปลี่ยนแปลงจิตใจ” (153) (LS 218) |