วันศุกร์, 10 มกราคม 2568
  

วันที่ 11 ตุลาคม นักบุญ ยอห์น ที่ 23, พระสันตะปาปา ( St John XXIII, Pope )

วันที่ 11 ตุลาคม
นักบุญ ยอห์น ที่ 23, พระสันตะปาปา
( St John XXIII, Pope )

“ขอให้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงพัดเข้ามาในพระศาสนจักร” เป็นคำตรัสของพระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ซึ่งใช้สัญลักษณ์ของการเปิดหน้าต่างออกมา ในการประกาศเริ่มต้นสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1962 และตั้งแต่นั้นมาลมแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ไม่เคยหยุดพัดเลย และไม่มีผู้สืบตำแหน่งจากพระสันตะปาปายอห์นที่ 23 องค์ใดเลย ที่จะไปปิดหน้าต่างที่ลมแห่งความเปลี่ยนแปลงจะพัดเข้ามาในพระศาสนจักร แท้จริงแล้วพระศาสนจักรสากลยังคงตรวจสอบตนเองอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเรื่องการประกาศพระวรสารและการถือปฏิบัติด้วย

นักบุญยอห์น ที่ 23 ทรงเป็นบุคคลที่มีความเฉียบแหลมมากในด้านต่างๆ การหยั่งรู้ล่วงหน้าอย่างคมชัดนำพาให้พระองค์ทรงเรียกประชุมสังคายนา ซึ่งนำไปสู่การปรึกษาหารือ การตัดสินใจและชี้นำแนวทางปฏิบัติต่างๆ ไปอย่างกว้างไกล ทรงชี้แจ้งให้เห็นชัดถึงแต่ละสถานะของบุคคลที่จะทำต้องทำหน้าที่ด้วยความเอาใจใส่และบังเกิดผล ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือพระสังฆราช หรือพระอัครสังฆราช หรือพระคาร์ดินัล หรือพระสันตะปาปาก็ตาม พระองค์ทรงมีความเฉียบคมในการตัดสินซึ่งช่วยรักษาพระศาสนจักรในฝรั่งเศสให้รอดพ้นได้ คือเรื่องที่ขัดแย้งอย่างรุนแรงในระหว่างพระสงฆ์ – กรรมกร (the priest – workers) ที่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้อย่างมาก ทรงมีความเฉียบคมในด้านมนุษยธรรมที่ได้ทรงช่วยชาวยิวประมาณ 24,000 คนจากการจะถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ทรงเฉียบคมในอารมณ์ขันที่ทรงหาหนทางหลีกเลี่ยงวิกฤติมากมายที่อาจเกิดขึ้นได้ ทรงเฉียบคมในพระญาณสอดส่องของพระที่ทรงทำให้พระองค์เป็นบุคคลตัวอย่างในการส่งเสริมให้มีการเสวนาใหม่ทางศาสนากับพวกโปรเตสตันท์ พวกออร์โธด๊อกซ์ พวกยิว และพวกมุสลิมด้วย และเหนืออื่นใด ทรงเฉียบคมในเรื่องเอกภาพของคริสตชน ซึ่งทำให้พระองค์ทรงสวดบทภาวนาของพระเยซูเจ้าเพื่อพระสงฆ์ “เพื่อให้เขาเป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน 17:22) มาภาวนาเพื่อให้คริสตชนเป็นหนึ่งเดียวกันด้วย

นักบุญยอห์น ที่ 23 พระสันตะปาปาทรงถือกำเนิดมาจากครอบครัวชาวไร่ชาวนาซื่อๆ ของหมู่บ้าน Sotto il Monte ใกล้กับเมืองแบร์กาโม ทางตอนเหนือของอิตาลี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1881 มีชื่อเดิมว่า อันเจโล จูเซปเป รอนคาลลี (Angelo Giuseppe Roncalli) ได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ในปี ค.ศ. 1904 ได้ถูกเกณฑ์ไปอยู่ในกองทัพในฐานะเด็กหามเตียงคนไข้ในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 1 ต่อมาในปี ค.ศ.1921 ได้รับแต่งตั้งเป็น national director ของสมาคมเพื่อการเผยแผ่ความเชื่อ ได้รับอภิเษกเป็นพระสังฆราชในปี ค.ศ.1925 ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระอัครสังฆราชและไปเป็นทูตของพระสันตะปาปา ประจำประเทศบุลกาเรีย เป็นที่แรก ต่อมาเป็นประเทศตุรกี และสุดท้ายประจำประเทศฝรั่งเศส ในปี ค.ศ.1944 – 1953 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรงสนิทสนมกับบรรดาผู้นำพระศาสนจักรออร์โธด๊อกซ์หลายคน ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างศาสนจักรทั้งสอง ซึ่งยังคงเจริญเติบโตมาถึงทุกวันนี้

ในปี ค.ศ. 1953 ทรงได้รับแต่งตั้งเป็นพระคาร์ดินัล และได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆอัยกาของเวนิส (Patriarch of Venice) และสืบเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ในเดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1958 พระองค์ทรงได้รับเลือกเป็นพระสันตะปาปาสืบแทน ในขณะที่มีพระชนมายุ 76 ปี ทรงเลือกชื่อยอห์นตามชื่อบิดาของท่าน และตามชื่อองค์อุปถัมภ์ทั้งสองของอาสนวิหารแห่งกรุงโรม กล่าวคือ นักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร และนักบุญยอห์น ผู้ทำพิธีล้าง นั่นเอง

พระสันตะปาปายอห์น ที่ 23 ทรงเปี่ยมด้วยคุณลักษณะดีงามมากมายหลายด้านด้วยกัน ทรงเป็นบุคคลที่นุ่มนวลอ่อนหวาน สุภาพอย่างยิ่ง ซื่อๆ และมีพระทัยเปิดกว้าง ซึ่งทรงเผยให้เห็นลักษณะที่งดงามที่สุดเช่นนี้ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ สอดคล้องกับคติพจน์ของพระองค์เมื่อทรงรับตำแหน่งพระสังฆราชว่า “นอบน้อมเชื่อฟัง และ สันติสุข” ( “Obedientia et Pax” ) และในความเป็นจริงพระองค์ทรงเป็นผู้ที่นอบน้อมเชื่อฟังตลอดชีวิตสงฆ์ของพระองค์ – ทรงนอบน้อมต่อพระประสงค์ของพระเจ้าในทุกสิ่ง – ทรงเป็นบุคคลแห่งความสันติสุข เป็นสันติสุขที่ถ่ายทอดจากพระองค์ไปยังผู้อื่นๆ นักหนังสือพิมพ์คนหนึ่งที่ชื่อ โจวานนา กล่าวว่า “ในการพูดคุยกับพระองค์ ประสบการณ์หนึ่งที่คุณจะได้รับ คือ ความรู้สึกผ่อนคลาย”

“พระสันตะปาปาแห่งสภาสังคายนา” ผู้สุภาพพระองค์นี้ ได้รับการเทิดเกียรติให้นำพระศพขึ้นมาไว้ที่พระแท่นหนึ่งภายในมหาวิหารนักบุญเปโตร เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.2000 โดยนักบุญ ยอห์นปอล ที่ 2 พระสันตะปาปา และทรงกำหนดวันฉลองของท่านให้เป็นวันที่ 11 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)