ในฐานะผู้พิทักษ์ธรรมประเพณี คณะบิชอปในความเป็นหนึ่งเดียวร่วมกับบิชอปแห่งกรุงโรม อันเป็นหลักการที่สามารถมองเห็นได้และเป็นพื้นฐานแห่งความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรส่วนต่างๆ [1] ภายใต้การชี้นำของพระจิตโดยอาศัยการประกาศพระวรสารและโดยอาศัยการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท ท่านเหล่านั้นปกครองพระศาสนจักรต่างๆ ที่ได้รับการมอบหมายให้ท่านเหล่านั้นดูแล [2]
เพื่อที่จะส่งเสริมความสมานฉันและเอกภาพของพระศาสนจักรด้วยความเอื้ออาทรเยี่ยงบิดาไปยังผู้ที่ไม่ว่าจะอยู่ในภูมิภาคใด ๆ ที่ยึดมั่นอยู่กับรูปแบบแห่งจารีตพิธีกรรมซึ่งมีอยู่ก่อนการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 สมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์น ปอลที่ 2 และเบเนดิกต์ที่ 16 ได้ทรงโปรดอนุญาตให้ใช้บทบูชาขอบพระคุณโรมัน ที่ได้ออกประกาศใช้มาแล้วโดยสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญยอห์นที่ 23 เมื่อปี 1962 [3] ด้วยวิธีนี้พระสันตะปาปาพระองค์ก่อนทรงมีพระประสงค์ที่จะ “เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรสำหรับชาวคาทอลิกผู้ที่รู้สึกนิยมชื่นชอบกับรูปแบบจารีตพิธีกรรมโบราณบางอย่าง” ทว่าไม่ใช่สำหรับผู้อื่น [4]
เพื่อให้สอดคล้องกับความคิดริเริ่มของสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ในการเชื้อเชิญบรรดาบิชอปให้ประเมินการนำสมณอัตตาณัติ “Summorum Pontificum” มาใช้หลังจากที่ได้พิมพ์ประกาศมา 3 ปี สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมได้ทำการปรึกษาหารือกับบรรดาบิชอปอย่างละเอียดในปี 2020 และได้มีการพิจารณาถึงผลของการปรึกษาหารือโดยละเอียดด้วยแสงสว่างแห่งประสบการณ์ที่บรรลุวุฒิภาวะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ณ เวลานี้หลังจากที่ได้พิจารณาถึงความปรารถนาที่แสดงออกโดยคณะบิชอปและหลังจากที่ได้รับทราบถึงความคิดเห็นของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ดังนั้นด้วยสมณอัตตาณัติฉบับนี้ ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะขอให้เร่งการค้นคว้าอย่างถี่ถ้วนจริงจังต่อไปเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักร เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงเห็นว่าสมควรที่จะออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้:
มาตรา 1 คู่มือจารีตพิธีกรรมที่ส่งเสริมโดยนักบุญเปาโลที่ 6 และนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 สอดคล้องกับกฤษฎีกาของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 เป็นการแสดงออกถึงลักษณะเฉพาะของ “lex orandi” (ระเบียบของการสวดภาวนา) แห่งจารีตกรรมโรมัน
มาตรา 2 ขึ้นอยู่กับบิชอปแห่งเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) เป็นผู้ดูแล ส่งเสริม คุ้มครองชีวิตแห่งจารีตพิธีกรรมทั้งมวลในเขตศาสนปกครองของตนเอง [5] และเพื่อที่จะออกกฎเกณฑ์การเฉลิมฉลองพิธีกรรมในเขตศาสนปกครองของท่าน [6] ดังนั้นจึงเป็นอำนาจอย่างเด็ดขาดของบิชอปที่จะอนุญาตให้ใช้คู่มือพิธีบูชาขอบพระคุณของปี 1962 ในเขตศาสนปกครองของตนตามคำแนะนำของสันตะสำนัก
มาตรา 3 บิชอปแห่งเขตศาสนปกครอง ที่ในเขตศาสนปกครองของตนจนถึงขณะนี้ ยังมีหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่าหนึ่งกลุ่มที่ยังคงเฉลิมฉลองบูชาขอบพระคุณด้วยจารีตพิธีกรรมก่อนการปฏิรูปในปี 1970
§ 1. ต้องกำหนดว่ากลุ่มเหล่านี้ไม่ปฏิเสธความถูกต้องและความชอบด้วยกฎหมายแห่งการปฏิรูปจารีตพิธีกรรมที่กำหนดโดยสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 และอำนาจในการสั่งสอนของสมเด็จพระสันตะปาปา
§ 2. เพื่อที่จะกำหนดหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่าหนึ่งกลุ่ม ที่สัตบุรุษสังกัดอยู่ในกลุ่มเหล่านั้นสามารถไปร่วมพิธีศีลมหาสนิทได้ (แต่ไม่ใช่ตามวัดต่างๆ และโดยที่จะต้องไม่อนุญาตให้สร้างวัดส่วนตัวของตนขึ้นมาใหม่)
§ 3. เพื่อกำหนด ณ สถานที่ที่ระบุไว้ วันที่อนุญาตให้มีการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิทโดยใช้พิธีบูชาขอบพระคุณของนักบุญยอห์นที่ 23 ซึ่งได้ประกาศใช้ในปี 1962 [7] ในการฉลองพิธีกรรมเหล่านี้บทอ่านจะต้องเป็นภาษาท้องถิ่น โดยใช้พระคัมภีร์ฉบับแปลที่ได้รับอนุญาตแล้วจากสภาบิชอปคาทอลิกฯ เพื่อใช้ในจารีตพิธีกรรม
§ 4. เพื่อแต่งตั้งบาดหลวงศาสนบริกรในฐานะผู้แทนของบิชอปซึ่งได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเหล่านี้ โดยทำหน้าที่อภิบาลสัตบุรุษเฉพาะกลุ่มเหล่านี้ด้วย บาดหลวงดังกล่าวควรเป็นผู้ที่เหมาะสมสำหรับความรับผิดชอบเรื่องนี้ มีความชำนาญในการใช้ “Missale Romanum” ฉบับก่อนการปฏิรูปในปี 1970 มีความรู้ภาษาลาตินเพียงพอที่จะเข้าใจกฎเกณฑ์ประเพณี และข้อความของจารีตพิธีกรรมพร้อมกับมีแรงจูงใจในความรักต่องานอภิบาลและมีเจตนารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวกับพระศาสนจักร บาดหลวงดังกล่าวไม่เพียงแค่จะต้องมีหัวใจที่จะทำพิธีเฉลิมฉลองอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่จะต้องใส่ใจในงานอภิบาลจิตวิญญาณของสัตบุรุษด้วย
§ 5. ต้องดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อสร้างหลักประกันว่าวัดเหล่านั้นตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมายของพระศาสนจักรเพื่อประโยชน์สำหรับสัตบุรุษเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับการเจริญเติบโตฝ่ายจิตวิญญาณของพวกเขา และเพื่อที่จะตัดสินใจด้วยว่าควรที่จะรักษาธรรมประเพณีดั่งเดิมไว้หรือไม่
§ 6. พึงระมัดระวังมิให้มีการอนุญาตให้สร้างกลุ่มใหม่ขึ้นมา
มาตรา 4 บาดหลวงที่รับศีลบวชหลังการพิมพ์สมณอัตตาณัติฉบับนี้ที่ปรารถนาจะถวายบูชาขอบพระคุณโดยใช้ “Missale Romanum” ของปี 1962 ควรขออนุญาตอย่างเป็นทางการจากบิชอปท้องถิ่น ซึ่งจะต้องปรึกษากับสันตะสำนักก่อนที่จะอนุญาต
มาตรา 5 บาดหลวงที่ประกอบพิธีตาม “Missale Romanum” ของปี 1962 ควรที่จะขออนุญาตจากบิชอปท้องถิ่นเพื่อที่จะใช้อภิสิทธิ์เดิมต่อไป
มาตรา 6 สถาบันชีวิตผู้ถวายตัวและสมาคมเพื่อชีวิตการแพร่ธรรม ที่สถาปนาขึ้นโดยคณะกรรมการแห่งพระสันตะปาปา “Ecclesia Dei” ที่ขึ้นอยู่กับสมณกระทรวงเพื่อสถาบันชีวิตผู้ถวายตัวและสมาคมเพื่อชีวิตการแพร่ธรรม
มาตรา 7 สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้า และสมณกระทรวงเพื่อสถาบันชีวิตผู้ถวายตัวฯ ในเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจของตนสำหรับกระทำหน้าที่ของสันตะสำนักในการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านั้น
มาตรา 8 แนวการปฏิบัติ คำแนะนำ การอนุญาต และธรรมประเพณีในอดีตที่ไม่สอดคล้องกับสมณอัตตาณัติฉบับปัจจุบันขอให้ยกเลิกทั้งสิ้น
ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้าประกาศด้วยสมณลิขิตในรูปแบบของสมณอัตตาณัติ ข้าพเจ้ามีบัญชาให้ปฏิบัติตามทุกข้อโดยมิต้องคำนึงถึงสิ่งใดที่ขัดแย้งแม้สมควรที่จะเอ่ยถึง และข้าพเจ้ามีบัญชาให้ส่งเสริมการประกาศฉบับนี้ด้วยการพิมพ์ลงใน “ลอส แซร์วาตอเร โรมาโน – L’Osservatore Romano” โดยมีผลบังคับใช้ได้ทันที และให้มีการพิมพ์ลงในหนังสือสมณกิจจานุเบกษาแห่งสันตะสำนักด้วย
ให้ไว้ ณ กรุงโรม มหาวิหารนักบุญยอห์นลาเตรัน วันที่ 16 กรกฎาคม 2021 วันสมโภชแม่พระแห่งภูเขาคาร์แมล เป็นปีที่เก้าแห่งสมณสมัยของข้าพเจ้า
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสมณอัตตาณัติ Traditionis Custodes ภาคภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการมาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
เชิงอรรถ
[1] Cfr Second Vatican Ecumenical Council, Dogmatic Constitution on the Church “Lumen Gentium”, 21 november 1964, n. 23 AAS 57 (1965) 27.
[2] Cfr Second Vatican Ecumenical Council, Dogmatic Constitution on the Church “Lumen Gentium”, 21 november 1964, n. 27: AAS 57 (1965) 32; Second Vatican Ecumenical Council, Decree concerning the pastoral office of bishops in the Church “Christus Dominus”, 28 october 1965, n. 11: AAS 58 (1966) 677-678; Catechism of the Catholic Church, n. 833.
[3] Cfr John Paul II, Apostolic Letter given Motu proprio “ Ecclesia Dei”, 2 july 1988: AAS 80 (1988) 1495-1498; Benedict XVI, Apostolic Letter given Motu proprio “ Summorum Pontificum”, 7 july 2007: AAS 99 (2007) 777-781; Apostolic Letter given Motu proprio “Ecclesiae unitatem”, 2 july 2009: AAS 101 (2009) 710-711.
[4] John Paul II, Apostolic Letter given Motu proprio “ Ecclesia Dei”, 2 july 1988, n. 5: AAS 80 (1988) 1498.
[5] Cfr Second Vatican Ecumenical Council, Costitution on the sacred liturgy “Sacrosanctum Concilium”, 4 december 1963, n. 41: AAS 56 (1964) 111; Caeremoniale Episcoporum, n. 9; Congregation for Divine Worship and the Discipline of the Sacrament, Instruction on certain matters to be observed or to be avoided regarding the Most Holy Eucharist “ Redemptionis Sacramentum”, 25 march 2004, nn. 19-25: AAS 96 (2004) 555-557.
[6] Cfr CIC, can. 375, § 1; can. 392.
[7] Cfr Congregation for the Doctrine of the Faith, Decree “ Quo magis” approving seven Eucharistic Prefaces for the forma extraordinaria of the Roman Rite, 22 february 2020, and Decree “ Cum sanctissima” on the liturgical celebration in honour of Saints in the forma extraordinaria of the Roman Rite, 22 february 2020: L’Osservatore Romano, 26 march 2020, p. 6.
Copyright © Dicastero per la Comunicazione – Libreria Editrice Vaticana