วันเสาร์, 11 มกราคม 2568
  

แนวปฏิบัติการจัดพิธีภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับและพิธีปลงศพสำหรับคริสตชนคาทอลิกในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

          พระศาสนจักรคาทอลิกเฉลิมฉลองพระธรรมล้ำลึกปัสกาของพระคริสตเจ้า ด้วยความเชื่อในพิธีปลงศพบรรดาบุตรของตน เพื่อว่าเขาทั้งหลายที่เมื่อรับศีลล้างบาปได้รวมเป็นกายเดียวกันกับพระคริสตเจ้าผู้ได้สิ้นพระชนม์ และทรงกลับคืนพระชนมชีพ จะได้ผ่านจากความตายไปรับชีวิตพร้อมกับพระองค์ โดยวิญญาณต้องรับการชำระบริสุทธิ์และถูกนำไปอยู่กับบรรดานักบุญในสวรรค์ ส่วนด้านร่างกายก็มีความหวังน่ายินดีที่จะรับเสด็จพระคริสตเจ้าและรอคอยการกลับคืนชีพของบรรดาผู้ตาย เพราะฉะนั้น พระศาสนจักรจึงถวายบูชาขอบพระคุณเฉลิมฉลองปัสกาของพระคริสตเจ้าสำหรับผู้ล่วงลับ และยังอธิษฐานภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับเหล่านั้น เพื่อเขาจะได้มีความสัมพันธ์กับทุกคนที่เป็นส่วนพระวรกายของพระคริสตเจ้า นำความช่วยเหลือฝ่ายจิตมาให้บางคน หรือนำความหวังมาบรรเทาใจให้อีกบางคนด้วย (OE 1)

          เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้น และมีผู้เสียชีวิตด้วยเหตุติดเชื้อโควิด-19 พระศาสนจักรคาทอลิกจึงกำหนดแนวปฏิบัติการจัดพิธีภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และพิธีปลงศพสำหรับคริสตชนคาทอลิก

1. กรณีผู้ล่วงลับเสียชีวิตด้วยเหตุปกติ

        1.1 พิธีภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ

ก) ขอให้คุณพ่อผู้ประกอบพิธีให้ความสำคัญ และบรรเทาใจต่อการสูญเสียของบรรดาญาติมิตร สัตบุรุษในชุมชนวัดของท่านมากที่สุด รวมทั้งให้คำแนะนำในการจัดพิธีในช่วงสถานการณ์ที่อาจจะมีข้อจำกัด เช่น ระยะเวลาการตั้งศพ การเชิญผู้มาร่วมพิธีด้วยจำนวนจำกัดตามประกาศของ ศบค. หรือหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้

ข) ลงทะเบียน และให้วัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้าร่วมพิธี และไม่อนุญาตให้ผู้มีความเสี่ยงที่ติดต่อสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการป่วย และผู้มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาฯ เข้าร่วมพิธี

ค) การเคารพศพขอให้งดใช้น้ำเสก

ง) จัดสถานที่ภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับให้ที่นั่งมีระยะห่าง 1.5-2 เมตร  และผู้ร่วมพิธีสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธีกรรม รวมทั้งจัดเตรียมหน้ากากอนามัยให้คนที่ไม่ได้นำมา และงดการถ่ายภาพหมู่

จ) งดการเลี้ยงรับรอง อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ณ บริเวณที่จัดพิธีภาวนาแก่ผู้ล่วงลับ อาจมีการจัดในรูปอาหารกล่อง และให้มีการแจกด้วยวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ฉ) ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่ประกอบพิธี ห้องศาสนภัณฑ์รวมทั้งสถานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ห้องสุขา ฯลฯ ก่อน และภายหลังการประกอบศาสนพิธีทุกครั้ง

          1.2 พิธีปลงศพ

ก) ผู้มาร่วมพิธีเน้นเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิด เช่น บุคคลในครอบครัวและญาติ โดยถือตามประกาศของ สบค. หรือหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้

ข) ลงทะเบียน และให้วัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้าร่วมพิธี และไม่อนุญาตให้ผู้มีความเสี่ยงที่ติดต่อสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการป่วย และผู้มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาฯ เข้าร่วมพิธี

ค) เพื่อให้ระยะเวลาของการประกอบพิธีมิสซาปลงศพเหมาะสมกับสถานการณ์ อาจงดขับร้องเพลงบางบท จัดบริเวณประกอบพิธีให้โล่ง โปร่ง (เช่น ไม่จัดดอกไม้มากเกินไป) และงดพิธีที่เป็นธรรมเนียมเสริมอื่นๆ

ง) จัดสถานที่ให้ที่นั่งมีระยะห่าง 1.5-2 เมตร และผู้ร่วมพิธีสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธีกรรม รวมทั้งจัดเตรียมหน้ากากอนามัยให้คนที่ไม่ได้นำมา และงดการถ่ายภาพหมู่

จ) งดการเลี้ยงรับรอง อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ณ บริเวณที่จัดพิธีปลงศพ อาจมีการจัดในรูปอาหารกล่อง และให้มีการแจกด้วยวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ฉ) ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่ประกอบพิธี ห้องศาสนภัณฑ์รวมทั้งสถานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ห้องสุขา ฯลฯ ก่อน และภายหลังการประกอบศาสนพิธีทุกครั้ง

2. กรณีผู้ล่วงลับเสียชีวิตด้วยเหตุติดเชื้อโควิด-19

        1.1 พิธีปลงศพ

ก) ขอให้คุณพ่อผู้ประกอบพิธีให้ความสำคัญ และบรรเทาใจต่อการสูญเสียของบรรดาญาติมิตรของผู้ล่วงลับที่เสียชีวิตด้วยเหตุติดเชื้อโควิด-19 และจัดพิธีปลงศพให้แก่ผู้ล่วงลับอย่างเหมาะสม และคงคุณค่าแห่งการเป็นบุตร ธิดา ของพระเจ้า สำหรับผู้มาร่วมพิธีเน้นเฉพาะบุคคลที่ใกล้ชิด เช่น บุคคลในครอบครัวและญาติ โดยถือตามประกาศของ สบค. หรือหน่วยงานของรัฐที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องนี้

ข) เจ้าภาพต้องประสานงานกับทางโรงพยาบาลในการบรรจุศพ พร้อมกับการฆ่าเชื้อให้เรียบร้อยก่อนออกจากโรงพยาบาล

ค) ลงทะเบียน และให้วัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้าร่วมพิธี และไม่อนุญาตให้ผู้มีความเสี่ยงที่ติดต่อสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการป่วย และผู้มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาฯ เข้าร่วมพิธี

ง) จะประกอบพิธีปลงศพเฉพาะที่สุสาน โดยทำพิธีในหนังสือพิธีปลงศพสำหรับคริสตชน หน้า 108-113 “สถานที่พักศพแห่งที่สาม-ที่หลุมศพ” และงดการถ่ายภาพหมู่

จ) หลังจากนั้นให้กำหนดวันที่เหมาะสมกับญาติของผู้ล่วงลับ เพื่อจัดพิธีมิสซาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ และเพื่อให้ระยะเวลาของการประกอบพิธีมิสซาเหมาะสมกับสถานการณ์ อาจงดขับร้องเพลงบางบท และงดพิธีที่เป็นธรรมเนียมเสริมอื่นๆ

ฉ) หากญาติของผู้ล่วงลับที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต้องกักตัวตามกำหนดของ ศคบ. สามารถกำหนดวันจัดมิสซาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับหลังจากพ้นเวลาการกักตัวของญาติของผู้ล่วงลับที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

        1.2 พิธีภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับ

ก) สามารถจัดพิธีภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงที่ลับเสียชีวิตด้วยเหตุติดเชื้อโควิด-19 หลังจากพิธีปลงศพได้ โดยตั้งรูปของผู้ตายไว้ในบริเวณพิธี

ข) ลงทะเบียน และให้วัดอุณหภูมิร่างกายของทุกคนที่เข้าร่วมพิธี และไม่อนุญาตให้ผู้มีความเสี่ยงที่ติดต่อสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ ผู้มีอาการป่วย และผู้มีอุณหภูมิสูงกว่า 37.5 องศาฯ เข้าร่วมพิธี

ค) จัดสถานที่ภาวนาอุทิศแก่ผู้ล่วงลับให้ที่นั่งมีระยะห่าง 1.5-2 เมตร และผู้ร่วมพิธีสวมหน้ากากอนามัยตลอดพิธีกรรม รวมทั้งจัดเตรียมหน้ากากอนามัยให้คนที่ไม่ได้นำมา และงดการถ่ายภาพหมู่

ง) งดการเลี้ยงรับรอง อาหาร เครื่องดื่มต่างๆ ณ บริเวณที่จัดพิธีภาวนาแก่ผู้ล่วงลับ อาจมีการจัดในรูปอาหารกล่อง และให้มีการแจกด้วยวิธีที่เหมาะสมกับสถานการณ์

จ) ทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ สถานที่ประกอบพิธี ห้องศาสนภัณฑ์รวมทั้งสถานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น ห้องสุขา ฯลฯ ก่อน และภายหลังการประกอบศาสนพิธีทุกครั้ง

ฉ)  ทั้งนี้ขอให้ญาติของผู้ล่วงลับได้เตรียมเอกสารราชการเกี่ยวกับการจัดการศพ เช่น ใบมรณบัตร ฯลฯ เพื่อมอบให้กับทางวัดด้วย

                                (พระคาร์ดินัลฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช)

                                  ประธานสภาประมุขบาดหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

        (บิชอปฟรังซิสเซเวียร์ วีระ อาภรณ์รัตน์)

             ประมุขแห่งเขตศาสนปกครองเชียงใหม่

เลขาธิการสภาประมุขบาดหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย