วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567
  

พระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศคาซัคสถาน (13-15 กันยายน ค.ศ. 2022) ศาสนาเป็น “กุญแจสำคัญในการสร้างสันติภาพและความเข้าใจของโลก”

ในการปราศรัยที่การประชุมผู้นำโลกและศาสนาดั้งเดิมครั้งที่ 7 ในเมืองนูร์-สุลต่าน ประเทศคาซัคสถาน พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นย้ำว่าศาสนาต่างๆ จำเป็นต้องเติบโตในมิตรภาพอย่างไร เพื่อตอบสนองต่อความกระหายในสันติภาพของโลกและเพื่อความไม่สิ้นสุดในความกระหายที่สถิตอยู่ในหัวใจของเราแต่ละคน

งานสำคัญครั้งแรกตามกำหนดการของพระสันตะปาปาในคาซัคสถานเกิดขึ้นในเช้าวันพุธที่ 14 กันยายน 2022 ณ เมืองนูร์-สุลต่าน เมืองหลวงของประเทศ เมื่อพระองค์กล่าวปราศรัยพร้อมกับผู้เข้าร่วมในการประชุมครั้งที่ 7 ของผู้นำโลกและศาสนาต่าง ๆ ตามธรรมประเพณีดั้งเดิม

การประชุมสองวันซึ่งจัดขึ้นทุกๆ สามปี ได้รวบรวมผู้นำทางศาสนาจากทั่วโลกมารวมตัวกันเพื่อเน้นย้ำว่าผู้นำศาสนาสามารถส่งเสริมการพัฒนาทางจิตวิญญาณและสังคมในโลกหลังเกิดโรคระบาดได้อย่างไร ผู้แทนกว่า 100 คนจาก 50 ประเทศเข้าร่วมการประชุม ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนทางศาสนา วัฒนธรรม พลเรือน รัฐบาล และองค์กรภาคเอกชน

พระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนประเทศคาซัคสถานเพื่อเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เป็นการส่วนพระองค์ตามคำเชิญของประธานาธิบดีคาสซิมขโจมาร์ต โตคาเยฟ (Kassym-Jomart Tokayev)

การหยั่งลึกในอนันตกาล

ในการกล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมคอนเกร็ส พระสันตะปาปาฟรานซิสเริ่มตรัสกับทุกคนว่าเป็น “พี่น้องกัน…ในนามของภราดรภาพที่รวมพวกเราเป็นบุตรครอบครัวเดียวกันในสรวงสวรรค์” พระองค์ตั้งข้อสังเกตว่า “ก่อนที่ความลึกลับแห่งอนันตกาลที่อยู่เหนือ และดึงดูดพวกเรา ศาสนาต่าง ๆ เตือนใจเราว่า พวกเราเป็นสิ่งมีชีวิต…ไม่ใช่ผู้มีอำนาจทุกอย่าง…การเดินทางไปยังเป้าหมาย ณ สวรรค์เดียวกัน”

พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า “ความผูกพันร่วมกัน นั่นเป็นภราดรภาพที่แท้จริง” ซึ่งทำให้เกิด “ความผูกพันร่วมกัน เป็นพี่น้องกันอย่างแท้จริง” โดยทรงระลึกถึงว่าประเทศในเอเชียกลางของคาซัคสถานตลอดประวัติศาสตร์เป็นดินแดนแห่งการพบปะกันที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความเชื่อ ศรัทธา และการค้าขาย เช่นเดียวกับเส้นทางสายไหมโบราณ

พระองค์แสดงความหวังว่าการพบปะกันของผู้นำศาสนาจะยึดตามความสัมพันธ์ของมนุษย์เสมอ โดยมี “ความเคารพ การเสวนาที่จริงใจ การเคารพในศักดิ์ศรีที่ไม่อาจฝืนได้ของมนุษย์แต่ละคน และความร่วมมือซึ่งกันและกัน”

ศาสนาที่แท้จริง

พระองค์อ้างคำพูดของกวีผู้โด่งดังที่สุดของประเทศคาซัคสถาน และเป็นบิดาแห่งวรรณกรรมสมัยใหม่นาม อาไบ/Abai (ค.ศ. 1845-1904) ซึ่งงานเขียนสะท้อนถึงการอุทิศตนทางศาสนาอย่างลึกซึ้งและ “จิตวิญญาณอันสูงส่งของชนชาตินี้”

พระองค์ทรงระลึกได้ว่า อาไบมักจะตอบคำถามสุดท้ายเกี่ยวกับชีวิตและความหมายเพื่อปลูกฝังจิตวิญญาณ และอ้างคำพูดของเขา พระสันตะปาปากล่าวว่า “สิ่งนี้ช่วยให้วิญญาณมีชีวิตและจิตใจแจ่มใส” รวมทั้งสะท้อนถึง “ลักษณะศาสนาที่แท้จริง”

พระสันตะปาปาทรงระลึกว่าลัทธิประเภทสุดโต่ง (fundamentalism) “ทำให้ศาสนาเป็นมลทินและทำลายทุกศาสนา” ดังนั้นพวกเราต้องมี “หัวใจที่เปิดกว้างและเห็นอกเห็นใจกัน”

“การแสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือความเข้าใจและคุณค่าอันศักดิ์สิทธิ์ของภราดรภาพสามารถสร้างแรงบันดาลใจและให้ความกระจ่างแก่การตัดสินใจที่ต้องกระทำท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ นิเวศวิทยา แต่โดยพื้นฐานทางชีวิตฝ่ายจิต ที่สถาบันสมัยใหม่หลายแห่ง รวมทั้งระบอบประชาธิปไตยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน ความเสียหายต่อความมั่นคงและความสามัคคีในหมู่ประชาชน พวกเราต้องการศาสนาเพื่อตอบสนองต่อความกระหาย เพื่อสันติภาพของโลกอันเป็นความกระหายที่ไม่มีความสิ้นสุดที่สถิตอยู่ในหัวใจของชายและหญิงแต่ละคน”

เสรีภาพในการนับถือศาสนา

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตั้งข้อสังเกตถึงความสำคัญของเสรีภาพทางศาสนาว่าเป็น “เงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการพัฒนามนุษย์อย่างแท้จริงและเป็นส่วนสำคัญ” ซึ่งสร้างขึ้นโดยเสรีภาพ  ทุกคนต้อง “มีสิทธิ์แสดงประจักษ์พยานต่อสาธารณะในการนับถือศาสนาตามความเชื่อของตนเอง โดยไม่ต้องมีการบังคับ”

พระสันตะปาปาทรงเน้นความท้าทาย 4 ประการที่พวกเราทุกคนเผชิญและกระตุ้นศาสนาให้ทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น

1) ความอ่อนแอเปราะบางของมนุษย์และความรับผิดชอบ

การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้พวกเราทุกคน “ลงเรือลำเดียวกัน” พระสันตะปาปาฟรานซิสตั้งข้อสังเกต โดยเสริมว่าสิ่งนี้เปิดโปงความอ่อนแอเปราะบางร่วมกันของพวกเรา และต้องการความช่วยเหลือได้อย่างไร?

พระองค์ทรงชมเชย “ความรู้สึกสามัคคีอันทรงพลัง” ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่โรคระบาด เตือนใจว่าพวกเราต้องไม่เป็นคนที่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ในที่นี้พระองค์กล่าวว่าศาสนาต่างๆ “ถูกเรียกให้เข้าร่วมในแนวหน้า ในฐานะผู้ส่งเสริมความสามัคคีท่ามกลางความท้าทายที่ร้ายแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการแบ่งแยกครอบครัวมนุษย์ของพวกเราให้ดียิ่งขึ้นไปอีก”

“ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพวกเราที่เชื่อในพระเจ้า ที่จะช่วยพี่น้องของพวกเรา ในเวลานี้ขอให้อย่าลืมจุดอ่อนอันเปราะบางของพวกเรา … กล่าวโดยย่อ ความรู้สึกในความเปราะบางที่ใช้ร่วมกันซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการระบาดใหญ่ควรกระตุ้นให้พวกเราขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ใช่อย่างที่พวกเราเคยกระทำ แต่ ณ เวลานี้พวกเราต้องมีความอ่อนน้อมถ่อมตนและการมองการณ์ไกลมากยิ่งขึ้น”

พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวเสริมว่า ผู้ที่มีความเชื่อ “ถูกเรียกให้ดูแล” เพื่อนมนุษยชาติ และกลายเป็น “ช่างฝีมือแห่งการมีส่วนร่วม เป็นพยานชีวิตถึงความร่วมมือที่ก้าวข้ามขอบเขตของชุมชนหมู่คณะ ชาติพันธุ์ ชาติ และศาสนา” พระองค์ตรัสว่าพวกเราเริ่มต้นด้วยการฟังคนยากจน คนที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ที่ต้อง “ทนทุกข์ในความเงียบและไม่มีใครสนใจโดยทั่วไป”

“สิ่งที่ข้าพเจ้าเสนอไม่ใช่แค่เส้นทางสู่ความเอาใจใส่และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันที่มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเส้นทางสู่การเยียวยาสังคมของพวกเราด้วย สำหรับความยากจนเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดและความชั่วร้ายอื่น ๆ ที่เจริญรุ่งเรืองบนภูมิประเทศของความยากจนและความไม่เท่าเทียมกัน”

2) ความท้าทายแห่งสันติภาพ

ความท้าทายระดับโลกประการที่สองที่พระสันตะปาปาฟรานซิสเน้นคือ การท้าทายสันติภาพ

แม้ว่าผู้นำทางศาสนาจะพูดคุยกันโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แต่การสู้รบกับสงครามและการเผชิญหน้ายังคงระบาดไปทั่วโลก พระองค์ตั้งข้อสังเกต พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวว่าสิ่งนี้ต้องการ “การก้าวไปข้างหน้า” โดยศาสนาที่ยิ่งใหญ่ในการรวมตัวกันอย่างแข็งขันและมุ่งมั่นเพื่อสันติภาพ หากผู้คนในสมัยของพวกเราได้รับแรงบันดาลใจให้มีส่วนร่วมในการเสวนาที่เคารพนับถือและมีความรับผิดชอบ

“พระเจ้าคือสันติสุข พระองค์ทรงนำพวกเราในทางแห่งสันติสุขเสมอ ไม่เคยเป็นพระเจ้าแห่งสงคราม ขอให้พวกเราผูกมัดตัวเองให้มากขึ้นเพื่อยืนหยัดในความจำเป็นในการแก้ไขข้อขัดแย้ง ไม่ใช่ด้วยอำนาจที่ไม่สามารถสรุปได้ ไม่ใช่ด้วยอาวุธและการคุกคาม แต่โดยวิธีเดียวที่ได้รับพรจากสวรรค์และมีค่าควรแก่มนุษย์ การพบปะกัน การเสวนา และการเจรจาอย่างอดทนอดกลั้น ซึ่งมีความก้าวหน้าโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงบรรดาเยาวชนและชนรุ่นต่อๆ ไป … ขอให้พวกเรากล้าลงทุนลงแรงในเรื่องนี้ ไม่ใช่การสะสมอาวุธเพิ่มเติม ทว่าลงทุนในด้านการศึกษา!”

3) การน้อมรับความเป็นภราดรภาพต่อกัน

ความท้าทายประการที่สามที่พวกเราต้องกล้าเผชิญคือ “การยอมรับความเป็นพี่น้องกัน” พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอธิบาย โดยตั้งข้อสังเกตว่า ปัญหาวันนี้เช่น “เด็ก ๆ ที่เกิดมา หรือยังไม่ทันเกิด แรงงานข้ามชาติ และผู้สูงอายุ ถูกละทิ้งทุกวัน… ขอให้คำนึงชีวิตมนุษย์ทุกคนมีความศักดิ์สิทธิ์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจของศาสนาต่างๆ ในการเตือนสติแก่ชาวโลก พระสันตะปาปากล่าว โดยทรงระลึกถึงการอพยพครั้งใหญ่ของผู้คนในปัจจุบันที่เกิดจากสงคราม ความยากจน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พระองค์ตรัสว่า “เป็นหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องระลึกว่าพระเจ้าผู้สร้างสรรพสิ่งสรรพสัตว์ ผู้ทรงดูแลพวกเรา ลูก ๆ ของพระองค์แต่ละบุคคล ทรงตักเตือนพวกเราให้เคารพผู้อื่นเหมือนกับพระองค์ และทรงเห็นใบหน้าในเพื่อนพี่น้องในหมู่พวกเขา”

“ขอให้พวกเราค้นพบศิลปะแห่งการต้อนรับผู้อื่นอย่างอบอุ่น การยอมรับผู้อื่น ความเมตตา และขอให้พวกเราเรียนรู้ที่จะละอายด้วย ใช่แล้ว ที่จะได้สัมผัสกับความพิการของเพื่อนมนุษย์ที่สุขภาพไม่ดี ความเห็นอกเห็นใจสำหรับผู้ที่ทนทุกข์ ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ และความห่วงใยต่อสถานภาพของพวกเขา และสำหรับชะตากรรมของพวกเขา ซึ่งพวกเรารับรู้อย่างดีว่าพวกเราก็มีส่วนเหมือนกันที่อาจะซ้ำเติมพวกเขา นี่คือหนทางแห่งความเมตตา ซึ่งทำให้พวกเราเป็นมนุษย์ที่ดีขึ้นและผู้ที่มีความเชื่อที่ดีขึ้น”

4) การดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเรา (โลกที่พวกเราอาศัยอยู่ด้วยกัน)

ความท้าทายสุดท้ายที่พวกเราทุกคนต้องเผชิญคือ “การดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเรา” ซึ่งพวกเราต้องปกป้องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติจากความเสียหายที่พวกเราก่อขึ้นจากมลภาวะ การเอารัดเอาเปรียบ และการทำลายล้าง

พระองค์ตั้งข้อสังเกตว่า “แนวความคิดของการแสวงประโยชน์ส่วนตน” กำลังทำลายบ้านของพวกเราและนำไปสู่ “การเปลี่ยนแปลงลักษณะอุปราคา ซึ่งเป็นนิมิตของบุคคลที่มีความเชื่อ ความศรัทธา ต่อพระเจ้าพระผู้สร้างสรรพสิ่งสรรพสัตว์และสิ่งใดคือพระประสงค์ของพระองค์”

การก้าวเดินไปด้วยกัน

โดยสรุป พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสนับสนุนให้ทุกคน “ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อการเดินทางของศาสนาจะเป็นเครื่องหมายแห่งกัลยาณมิตรมากขึ้น”

“ขอพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ…ทรงช่วยให้พวกเราปลูกฝังมิตรภาพที่เปิดกว้างและเป็นพี่น้องกันผ่านการเสวนาบ่อยครั้งยิ่งขึ้นและมีความจริงใจในจุดประสงค์ที่สดใส ขอให้พวกเราอย่ามุ่งเป้าไปที่รูปแบบการประนีประนอมลักษณะเทียม ๆ แต่จงรักษาอัตลักษณ์ของพวกเราเองอย่างมั่นคง เปิดหัวใจกว้างอย่างกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลงกระทำสิ่งใหม่อื่น ๆ และกล้าพบปะกันแบบหน้าต่อหน้าฉันภราดรภาพ ด้วยวิธีนี้เท่านั้นจะทำให้ในช่วงเวลาที่มืดมิดที่พวกเราอาศัยอยู่ในโลกขณะนี้ พวกเราจะสามารถฉายแสงแห่งพระเจ้า พระผู้สร้างสรรพสิ่งสรรพสัตว์ของพวกเราได้”

โดยนักข่าวเจ้าหน้าที่วาติกันนิวส์

วิษณุ ธัญญอนันต์ เก็บเรื่องราวข่าวนี้มาแบ่งปัน 14 ก.ย. 2022