วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2567
  

สาส์นอภิบาล จุดยืนและแนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิกในการอภิบาลคู่สมรสที่มีเพศเดียวกันที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายบ้านเมือง

สาส์นอภิบาล

ที่ 086 /2024

จุดยืนและแนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิก

ในการอภิบาลคู่สมรสที่มีเพศเดียวกันที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายบ้านเมือง

ถึงบรรดา พระสงฆ์ นักบวชหญิงชาย และพี่น้องคริสตชนทุกคน

            พี่น้องที่รักในพระคริสตเจ้า สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยตระหนักดีถึงสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงออกทางอัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศ ความปรารถนาในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันและความประสงค์ที่จะได้รับสิทธิทางกฎหมายของคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งผลักดันให้มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ ปลายปี พ.ศ.2567 เป็นต้นไป กฎหมายฉบับนี้ เป็นการตรากฎหมายเพื่อรองรับสถานะและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของกลุ่มผู้มีอัตลักษณ์ และรสนิยมทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ได้รับสิทธิทางกฎหมายตามหลักความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งนอกจากเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถสมรสกันได้ตามกฎหมายแล้ว ยังมาพร้อมกับสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ จากภาครัฐเช่นเดียวกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง  

            สาส์นอภิบาลฉบับนี้ สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย ต้องการบอกจุดยืน และแนวทางของพระศาสนจักรคาทอลิกในการอภิบาลคู่สมรสเพศเดียวกันที่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติด้านการอภิบาลอย่างเหมาะสม 

  1. พระศาสนจักรยืนยันเสมอในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

            พระศาสนจักรคาทอลิกยึดมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นบุคคลของมนุษย์ที่มีรากฐานอยู่ในการที่พระเจ้าทรงเนรมิตสร้างเขาตามภาพลักษณ์ให้เหมือนพระองค์ (เทียบ CCC 1700) และสนับสนุนให้มีการปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีรสนิยม หรือ อัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างกัน และไม่ปฏิเสธว่าคู่รักเพศเดียวกันควรได้รับการคุ้มครอง และสวัสดิการตามกฎหมายของภาครัฐตามสิทธิที่พึงมีของตน “ทุกคนไม่ว่าจะมีรสนิยมทางเพศอย่างไร ก็ควรได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีและได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ  ในขณะที่ต้องหลีกเลี่ยง ทุกสัญญาณของการเลือกปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมที่แสดงออกมาในรูปแบบของความก้าวร้าว และความรุนแรงทุกประเภท” (Dignitas Infinita ข้อ 55)

            อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากทฤษฎีเพศสภาพ ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงเตือนเราว่า “เส้นทางสู่สันติภาพเรียกร้องให้เคารพสิทธิมนุษยชน ตามที่ระบุไว้อย่างชัดเจนในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราเพิ่งฉลองครบรอบ 75 ปี เป็นหลักการที่ประจักษ์และยอมรับกันโดยทั่วไป แต่น่าเสียดายที่ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะนำเสนอสิทธิมนุษยชนแนวใหม่  ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่กำหนดไว้เดิมหรือไม่สามารถยอมรับได้เสมอไป เป็นการล่าอาณานิคมทางอุดมการณ์ที่ทฤษฎีเพศสภาพมีบทบาทสำคัญ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะเป็นการลบความแตกต่างทางเพศ โดยการอ้างว่าทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน  และ “ความปรารถนาที่จะกำหนดตนเองตามที่ทฤษฎีเพศสภาพกำหนด โดยปราศจากความจริงพื้นฐานที่ว่าชีวิตมนุษย์เป็นของขวัญที่มาจากพระเจ้า เปรียบเสมือนการยอมให้กับการล่อลวงที่มีมาแต่ดั้งเดิมในการทำให้ตัวเองเป็นพระเจ้า (เทียบ Dignitas Infinita 55-56)

  • คำสอนเรื่องการสมรสที่ไม่เปลี่ยนแปลงของพระศาสนจักรคาทอลิก

            ความเชื่อของเราคริสตชน มีรากฐานมาจากพระคัมภีร์ พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ตามภาพลักษณ์ของพระองค์ พระองค์ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง ทรงอวยพรเขาทั้งสองคน และตรัสว่า จงมีลูกมากและทวีขึ้นจนเต็มแผ่นดิน..” (ปฐก.1:27-28)  พระศาสนจักรจึงยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของความงดงามและศักดิ์ศรีของศีลสมรสที่มาจากการเป็นหนึ่งเดียวกันของชายและหญิง ที่ผูกพันกันตลอดชีวิต และเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อการกำเนิดและเลี้ยงดูบุตร

            พระศาสนจักรคาทอลิกย้ำว่า คำสอนของพระศาสนจักรคาทอลิกเรื่องศีลสมรสของคริสตชน สงวนไว้เฉพาะระหว่างชายและหญิงเท่านั้น มีความมั่นคงถาวร และไม่สามารถหย่าร้างได้ ตลอดจนการให้กำเนิดและการอบรมบุตรธิดา (FS ๔) เพราะ พันธสัญญาการแต่งงาน คือ พันธสัญญาที่ชายและหญิง นำชีวิตทั้งครบของตน มาหลอมเข้าเป็นชีวิตหนึ่งเดียว ธรรมชาติของพันธสัญญานี้มุ่งสู่ความดีของคู่ชีวิต และการให้กำเนิดบุตรธิดา รวมทั้งให้การศึกษาอบรม การแต่งงานระหว่าง
ผู้ได้รับศีลล้างบาป ได้รับการยกขึ้นจากพระคริสตเจ้า ให้มีศักดิ์ศรีเป็นศีลศักดิ์สิทธิ์” (กฎหมายพระศาสนจักร มาตรา 1055 วรรค 1 เทียบ คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิก (CCC) 1601)

            ด้วยเหตุนี้ คู่สมรสที่มีเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แม้ได้รับการรับรองจากกฎหมาย แต่ไม่เป็นการแต่งงานกันในความหมายที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนจักรคาทอลิก และบุคคลที่มีเพศเดียวกันไม่สามารถเข้าพิธีแต่งงานตามจารีตพิธีกรรมของพระศาสนจักรคาทอลิกได้ เพราะไม่มีผู้มีอำนาจใด ไม่ว่าผู้มีอำนาจทางบ้านเมืองหรือพระศาสนจักร สามารถเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เป็นกฎเกณฑ์ของพระเจ้า (divine law) ได้

  • แนวทางอภิบาลสำหรับคู่สมรสที่มีเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย

            พระศาสนจักรคาทอลิกเป็นพระศาสนจักรที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงสถาปนาขึ้น สืบต่อจากบรรดาอัครสาวก
เป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน และเป็นพระศาสนจักรที่ไม่ละทิ้งใครเลย ดังนั้น พระศาสนจักรมุ่งมั่นในการยืนยันศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ใส่ใจในการอภิบาลและปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ ให้เกียรติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่เลือกปฏิบัติ และร่วมเดินเคียงข้างไปด้วยกันด้วยความรักในองค์พระเจ้า เพื่อบรรลุถึงพระอาณาจักรสวรรค์ ที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้สำหรับทุกคน

            สำหรับผู้อภิบาล จำเป็นต้องปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความรัก ให้เกียรติ เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเพื่อนพี่น้องของเราที่มีรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย โดยผู้อภิบาลมีหน้าที่ในการช่วยให้พวกเขาบรรลุถึงความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน เพราะ บุคคลที่มีความใคร่เพศเดียวกัน ก็ได้รับเรียกให้มีความบริสุทธิ์ด้วย บุคคลเหล่านี้ อาศัยคุณธรรมการควบคุมตนเองซึ่งสอนให้เขามีอิสรภาพภายใน และบางครั้งอาศัยความช่วยเหลือของมิตรภาพที่ไม่เห็นแก่ตัว อาศัยการอธิษฐานภาวนาและพระหรรษทานของศีลศักดิ์สิทธิ์ ก็อาจและต้องตั้งใจจริงค่อยๆ เข้ามาถึงความครบครันแบบคริสตชนได้ด้วย” (CCC 2359)  

            ผู้อภิบาลพึงปฏิบัติต่อพี่น้องของเราที่มีรสนิยมและอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลาย ด้วย 1) การอภิบาลโดยการประยุกต์ใช้วิธีการแบบค่อยเป็นค่อยไป หมายถึง การเป็นผู้ร่วมเดินทาง การพยายามเข้าใจความยากลำบาก สนับสนุนให้กำลังใจเพื่อจะได้สามารถพัฒนาก้าวหน้าเป็นขั้นเป็นตอน จนในที่สุดสามารถบรรลุถึงจุดมุ่งหมายได้  2) การแยกแยะระหว่างการกระทำและตัวบุคคล เป็นจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องในการอภิบาล ความโน้มเอียงหรือการดึงดูดในเพศเดียวกัน  แม้ว่าเป็นความโน้มเอียง แต่ก็ไม่เป็นบาป บุคคลที่มีความโน้มเอียงในเพศเดียวกัน ก็ไม่เป็นความผิด ส่วนพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศเดียวกัน แม้ว่าเป็นบาป แต่ก็ไม่ใช่อาชญากรรม และ 3) การตั้งใจรับฟังด้วยหัวใจ เพื่อจะเข้าใจสถานการณ์และสภาวะของบุคคล เป็นจุดเริ่มต้นของพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน

  • ความหมายเชิงอภิบาลและแนวทางภาคปฏิบัติของการอวยพร

            สมณกระทรวงพระสัจธรรมได้ออกปฏิญญาชื่อ Fiducia Supplicans เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ความหมายเชิงอภิบาลของการอวยพร ในความเป็นไปได้ในการอวยพรคู่รักที่มีเพศเดียวกัน ด้วยเหตุผลในเชิงอภิบาล ด้วยการแนะนำวิถีใหม่และเฉพาะเจาะจงต่อการอวยพรเชิงอภิบาล โดยการขยายความเข้าใจต่อความหมายของการอวยพรแบบดั้งเดิมที่ผูกมัดอยู่กับทัศนคติเชิงจารีตพิธีกรรมของพระศาสนจักร การไตร่ตรองเชิงเทววิทยาบนพื้นฐานวิสัยทัศน์เชิงอภิบาลของพระสันตะปาปา
ฟรานซิส บ่งบอกถึงการพัฒนาแนวทางอภิบาลของการอวยพร ที่แยกการอวยพรตามอำนาจคำสอนของพระศาสนจักรและบทอวยพรตามจารีตพิธีกรรม ออกจากการอวยพรแบบเรียบง่าย ซึ่งมีข้อควรคำนึง และแนวทางปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เอกสารนี้ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงคำสอนเรื่องการแต่งงานที่เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ของคริสตชนที่สงวนไว้เฉพาะระหว่างชายและหญิงเท่านั้น มีความมั่นคงถาวร ไม่สามารถหย่าร้างได้ และเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นเฉพาะในการสมรสระหว่างชายและหญิงเท่านั้น และยืนยันว่าไม่มีอำนาจใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เป็นสาระสำคัญนี้ได้   
  2. การอวยพรเชิงอภิบาลนี้ไม่ได้หมายถึงการรับรองสถานภาพของคู่รักเพศเดียวกันหรือคู่สมรสเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย โดยปฏิญญานี้ เน้นว่าการอวยพรไม่มีเจตนาที่จะรับรองการจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันหรือการอยู่ร่วมกันของบุคคลเพศเดียวกัน เพราะการจดทะเบียนหรือการอยู่ร่วมกันดังกล่าวไม่ใช่เป็นศีลสมรส และไม่ได้หมายถึงการรับรองสถานภาพหรือการอนุมัติให้กระทำเช่นนั้น
  3. การอวยพรเชิงอภิบาลเป็นการไม่ปิดกั้นชีวิตของพวกเขาต่อพระเมตตาของพระเจ้า ที่พวกเขาสามารถมาขอพระพร พระหรรษทาน เพื่อการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้น และวอนขอพระจิตเจ้าที่จะทำให้คุณค่าแห่งพระวรสารได้รับการนำเอาไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันจนบรรลุถึงความครบครัน ตัวอย่างคำอวยพรที่นำเสนอแบบเรียบง่าย เช่น ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงทอดพระเนตรมายังบุตรธิดาเหล่านี้ของพระองค์ โปรดประทานสุขภาพที่ดี หน้าที่การงาน สันติภาพ และการช่วยเหลือกันและกันของเขา ขอโปรดพิทักษ์คุ้มครองให้ชีวิตของเขาอยู่ในพระพรและพระประสงค์ของพระองค์ด้วยเทอญ อาแมน
  4. การอวยพรแบบเรียบง่ายและหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุด การอวยพรแบบเรียบง่าย สั้น กระทัดรัด ปราศจากรูปแบบในพิธีกรรมนี้ ศาสนบริกรที่ได้รับศีลบวชควรกระทำด้วยความรอบคอบ เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบทของแต่ละบุคคล และหลีกเลี่ยงการเป็นที่สะดุดต่อความเชื่อของผู้อื่น ถ้าพระสงฆ์หรือสังฆานุกรมั่นใจว่า คู่รักหรือคู่สมรสที่มีเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกำลังแสวงหาการรับรองพันธะหรือสถานภาพของตน  พระสงฆ์หรือสังฆานุกรควรปฏิเสธการ
    อวยพรดังกล่าว ซึ่งรวมไปถึงบุคคลที่อยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน และผู้ที่แต่งงานแล้วหย่าร้างแล้วไปแต่งงานใหม่ด้วย

            พี่น้องคริสตชนที่รัก พระศาสนจักรคาทอลิกก้าวเดินไปในโลกท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายต่อความเชื่อของเราในเรื่องทฤษฎีเพศสภาพ ได้กลายเป็นหัวข้อที่ทำให้ผู้คนมากมายได้โต้เถียง ขัดแย้ง และสับสน แต่ด้วยความไว้วางใจในการทรงนำของพระจิตเจ้า ด้วยการรับฟังด้วยหัวใจ  การสานเสวนา และการไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งของพระศาสนจักร นำไปสู่การเติบโตใหม่ในความเชื่อ เพราะเราคริสตชนในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพระกายทิพย์ของพระเยซูคริสตเจ้า ถูกท้าทายให้ยืนหยัดมั่นคงในความเชื่อที่มาจากพระเจ้า และพระศาสนจักรเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่มาจากพระเจ้าได้ ยิ่งในช่วงเวลาของความสับสน พระศาสนจักรยิ่งต้องประกาศความจริงแท้ แม้สิ่งที่ตนประกาศนั้น อาจจะไม่เป็นที่ดึงดูดใจของมวลชนก็ตาม

            เราวิงวอนขอพระเจ้า ผ่านทางพระแม่มารีย์ ผู้ทรงรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ด้วยความไว้วางใจต่อพระเยซูคริสตเจ้า และการทรงนำของพระจิตเจ้า เพื่อให้พระศาสนจักรสามารถก้าวเดินไปอย่างมั่นคง สามารถเป็นพยานยืนยันถึงความเชื่อ และความจริงแท้ ที่พระเยซูเจ้าทรงประกาศสำหรับทุกคน เป็นผู้สร้างคุณค่ามาตรฐานยั่งยืนท่ามกลางกระแสค่านิยมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และไว้วางใจในการทรงนำของพระจิตเจ้ามากกว่ากระแสสังคมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  

ขอพระเจ้าทรงอำนวยพรทุกท่าน

( บิชอป ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ )

ประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ประกาศ ณ วันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.2024

โอกาสฉลองนักบุญอัลฟองโซ เดลิกวอรี