13 มิถุนายน ระลึกถึง นักบุญอันตน แห่งปาดัว พระสงฆ์ นักปราชญ์

13 มิถุนายน
ระลึกถึง นักบุญอันตน แห่งปาดัว พระสงฆ์ นักปราชญ์
(St. Anthony of Padua, Priest & Doctor, memorial)

นักบุญอันตนเกิดที่กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส เมื่อปี ค.ศ. 1195 ขณะรับศีลล้างบาปได้รับชื่อว่า Ferdinand Bouillon บิดามารดาของท่านเป็นเชื้อสายผู้ดีชาวโปรตุกีส บิดาของท่านได้เป็นอัศวินในราชสำนักของกษัตริย์อัลฟอนโซ ที่ 2 (King Alfonso II) การศึกษาขั้นเริ่มแรกที่ท่านได้รับเกิดขึ้นที่อาสนวิหารแห่งกรุงลิสบอนนั่นเอง เมื่ออายุ 15 ปี ได้เข้าคณะของนักบุญออกัสติน (The Regular Canons of St. Augustine) และได้ถูกย้ายให้ไปอยู่ในอารามที่เมืองโคอิมบรา (Coimbra) ในอีกสองปีต่อมา สาเหตุเพราะมีเพื่อนๆของท่านมาเยี่ยมมากไปทำให้เกิดความวอกแวก ที่อารามนี้ท่านได้อุทิศตนในการภาวนาและการศึกษาจนกลายเป็นผู้รอบรู้ในพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นอย่างดี

ในปี ค.ศ. 1220 ขณะที่ท่านมีอายุได้ 25 ปี คุณพ่อเปโดร แห่งโปรตุเกส (Don Pedro of Portugal) ได้นำพระธาตุของพวกนักบวชฟรังซิสกันรุ่นแรกที่ยอมตายเป็นมรณสักขีจากประเทศโมร็อกโก กลับมายังเมืองโคอิมบรา นักบุญอันตนได้รับแรงกระตุ้นให้อยากเป็นมรณสักขีเป็นอย่างมาก จึงไปขอเข้าคณะฟรังซิสกันในปี ค.ศ. 1221 และได้รับเข้าเป็นสมาชิก ที่นี่ท่านได้รับชื่อว่า “อันตน” (Anthony) และท่านก็ขอให้ส่งท่านไปประเทศโมร็อกโก เพื่อไปเทศน์สอนพระวรสารให้กับพวกแขกมัวส์ (Moors) แต่ขณะเดินทางไป ท่านป่วยหนักมาก จึงถูกบังคับให้กลับมา แต่เรือของท่านเจอพายุใหญ่ จนต้องไปขึ้นฝั่งที่เกาะซิซิลี ประเทศอิตาลี ต่อจากนั้นท่านได้ยินว่ามีการประชุมครั้งใหญ่ของคณะฟรังซิสกันที่เมืองอัสซีซี ในปี ค.ศ. 1221 ท่านจึงได้เข้าร่วมประชุมกับบรรดาภราดา 3,000 คนที่นั่น และได้เห็นนักบุญฟรังซิส อัสซีซี เป็นครั้งแรก หลังการประชุมนั้นท่านได้รับหน้าที่ทำงานรับใช้พื้นๆที่อารามใกล้เมืองฟอร์ลี เพราะความสุภาพของท่าน จึงไม่มีใครรู้ว่าท่านเป็นผู้มีความรู้ดีมากคนหนึ่ง จนกระทั่งต่อมาที่มีบางครั้งท่านถูกขอร้องให้พูดบ้างเล็กน้อยในพิธีบวช จึงได้ทำให้คนอื่นๆเพิ่งค้นพบว่าท่านมีพรสวรรค์ในการเทศน์อย่างน่าทึ่ง

นักบุญอันตนสามารถอธิบายพระคัมภีร์ให้เข้าใจง่ายๆ แต่ลึกซึ้ง และชัดแจ้ง จนกระทั่งนักบุญฟรังซิสเองเขียนจดหมายไปถึงท่านว่าดังนี้ “ฉันปรารถนาให้ท่านสอนเทววิทยาให้กับบรรดาภราดาของเรา แต่อย่างไรก็ตาม มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ทำให้จิตตารมณ์ของการภาวนา และความศรัทธาดับมอดไป” ดังนั้น ท่านก็ได้เริ่มสอนและเทศนาตลอดทั่วทั้งฝรั่งเศสตอนใต้ และอิตาลีทางตอนเหนือ ด้วยบุคลิกภาพที่น่าชื่นชมของท่าน ผนวกกับน้ำเสียงที่ชัดเจน มีอำนาจ และน่าฟัง ทำให้ท่านสามารถถ่ายทอดความรู้ของท่านไปยังคนอื่นๆได้เป็นอย่างดี และพระเจ้าได้ทรงมอบพระพรแก่ท่านในด้านการทำอัศจรรย์ (miracles) การใช้ลิ้น(tongues = ภาษาที่ชักจูง) และการทำนาย(prophecy) นอกจากนี้ท่านยังได้ต่อสู้อย่างเข้มแข็งกับพวกเฮเรติ๊ก Cathari และ Patarines ที่แพร่หลายมากในขณะนั้น พวกนี้สอนให้ดื้อดึงอยู่ในพยศชั่วของความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ความหยิ่งยโส การกดขี่ ความเกลียดชัง และความโลภ ซึ่งท่านก็ประสบความสำเร็จในการต่อสู้กับพวกนี้ด้วย

นักบุญอันตนเป็นคนที่สุภาพมาก ท่านเห็นว่าคำสอนของท่านก็ดี งานอภิบาลของท่านก็ดี ตลอดจนทั้งชีวิตของท่านเป็นการบริการรับใช้ เพื่อจะได้นำวิญญาณของคนจำนวนมากมายมาถวายแด่พระคริสต์ ท่านได้ทำให้คนที่เป็นศัตรูกันมานานคืนดีกัน บรรดาลูกหนี้ได้ออกจากคุก พวกโจรหันมาประกอบอาชีพสุจริต คนโกงเขามาก็ได้ชดใช้ให้คืนไป และผู้ปกครองบ้านเมืองได้ตรากฎหมายที่มีคุณประโยชน์เพื่อแก้ไขความผิดพลาดให้กลับสู่ความถูกต้อง

นักบุญอันตนสามารถดึงดูดผู้คนมากมายให้มาฟังคำเทศน์ของท่านไม่ว่าจะไปที่ไหนในอิตาลีก็ตาม และโดยเฉพาะท่านประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงที่เมืองปาดัว ที่นี่คนเกือบทั่วทั้งเมืองจะมาชุมนุมกันเนืองแน่นเพื่อฟังท่าน และให้การต้อนรับท่านเหมือนเป็นนักบุญฟรังซิส(อัสซีซี)อีกองค์หนึ่ง

ภายหลังนักบุญฟรังซิสสิ้นชีพแล้ว นักบุญอันตนได้ไปเป็นเจ้าคณะแขวงของแคว้นเอมิลิอา(Emilia) หรือ โรมาญา(Romagna) และในปี ค.ศ. 1226 ได้รับเลือกเป็นทูตพิเศษของคณะไปเฝ้าพระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 9 ไม่นานหลังจากนั้น ท่านพ้นจากหน้าที่นี้ แล้วกลับไปเทศน์สอนได้ใหม่ ท่านได้กลับไปที่เมืองปาดัว และเทศน์สอนที่นั่นจนถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ค.ศ. 1231 เมื่ออายุ 36 ปีเท่านั้น อีกหนึ่งปีต่อมาได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญ และจำเนียรกาลต่อมาจึงได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์ของพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1946 โดยพระสันตะปาปาปีโอที่ 12 ท่านเป็นนักบุญองค์อุปถัมภ์ของประเทศโปรตุเกส ของนักเดินทาง ของหญิงที่ตั้งครรภ์และหญิงที่มีลูกยาก ของคนยากคนจน (St. Anthony’s Bread) และพวกที่ทำของหายมักจะขอความช่วยเหลือจากท่านเป็นพิเศษ รวมทั้งพวกที่อยู่ในอันตรายในกรณีเรือจะอับปางด้วย

พระธาตุของนักบุญผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ ซึ่งชื่อภาษากรีกของท่านมีความหมายว่า “ประเมินค่ามิได้” (= priceless) ก็กลายเป็นสิ่งที่หาค่ามิได้ของท่านจริงๆ เช่น ลิ้นของท่าน ที่เทศน์ให้ชาวเมืองปาดัวและเมืองลิสบอนให้กลับใจมาสัมผัสความรักจากพระเจ้า ทุกวันนี้ยังคงความสดและมีสีแดงอยู่ท่ามกลางความเปื่อยสลายไปของพระธาตุส่วนอื่นๆของท่าน และลิ้นของท่านนี้ยังคงถูกเก็บไว้บูชาในบาสิลิกาที่สร้างให้เป็นเกียรติแก่ท่านในปี ค.ศ.1263

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ
จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe
และ The Book of Saints ; Text : Victor Hoagland, C.P., Illustrations : George Angelini ; The Regina Press, New York)