พระสมณดำรัสของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประทานแก่คณะพระภิกษุและฆราวาสพุทธศาสนิกชนผู้แทนจากราชอาณาจักรไทย

            ข้าพเจ้ามีความปลาบปลื้มยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้แทนคณะพระภิกษุทั้งนิกายเถรวาท และนิกายมหายาน (ฝ่ายจีน) และบรรดาศิษยานุศิษย์จำนวน ๑๐๐ ท่าน ที่ร่วมเดินทางพร้อมกับผู้แทนบางท่านจากพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย 

            การเยือนในครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อรำลึกถึงวาระครบรอบ ๕๐ ปี แห่งการพบปะครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ซึ่งต่อมาได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๗  และสมเด็จพระสันตะปาปาพอลที่ ๖ เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ / ค.ศ. ๑๙๗๒ ข้าพเจ้าขอแสดงความขอบคุณอย่างซาบซึ้งด้วยใจจริงแก่เจ้าประคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๒๐ (อัมพรมหาเถร) และประธานกรรมการมหาเถรสมาคมที่ได้ทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (ปสฤทธ์ เขมงฺกโร) พร้อมกับคณะผู้แทนชาวไทยเดินทางมายังนครรัฐวาติกัน เพื่อเสริมสร้างมิตรภาพ และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน

            ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าขอรื้อฟื้นความรู้สึก ซึ่งพระสันตะปาปาพอลที่ ๖ ได้เคยถ่ายถอดไว้ เมื่อครั้งที่พระองค์ได้พบกับคณะผู้แทนชาวไทยเมื่อ ๕๐ ปีที่แล้ว ความว่า “เราขอแสดงความเคารพอย่างลึกซึ้งต่อขุมทรัพย์ทางชีวิตฝ่ายจิต ศีลธรรม สังคม และวัฒนธรรมซึ่งพวกท่านได้รับมาผ่านทางธรรมประเพณีอันล้ำค่า เรายอมรับค่านิยมต่าง ๆ ที่งดงาม ดังที่ท่านได้เป็นผู้พิทักษ์รักษา อีกทั้งเราเห็นว่าค่านิยมเหล่านี้ควรได้รับการอนุรักษ์ส่งเสริม เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเสวนาฉันกัลยาณมิตร และการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างศาสนาที่ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้แทน พร้อมกับพระศาสนจักรคาทอลิกจะมีมากยิ่ง ๆ ขึ้น” (Insegnamenti, ๑๙๗๒, X, ๖๐๔-๖๐๕)

            ตลอดระยะเวลา ๕๐ ปี ที่ผ่านมานี้ พวกเราได้เห็น “การเสวนาฉันกัลยาณมิตร และการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด” ระหว่างสองศาสนาอันเก่าแก่ดั้งเดิม ที่ได้พัฒนาเจริญเติบโตทีละเล็กทีละน้อยอย่างมั่นคง ข้าพเจ้ายังคงจดจำการเยือนของคณะผู้แทนจากประเทศไทยเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑/ค.ศ. ๒๐๑๘ พวกท่านได้ส่งมอบคัมภีร์โบราณทางพระพุทธศาสนา(คัมภีร์พระมาลัย) ภาษาบาลี ฉบับที่ได้ปริวรรตแล้วเสร็จเป็นภาษาร่วมสมัย ซึ่ง ณ ปัจจุบันคัมภีร์ดังกล่าวถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วาติกัน นอกจากนี้ข้าพเจ้ายังจำได้ถึงการเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอันเป็นผืนแผ่นดินที่รักของพวกท่านระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒/ค.ศ. ๒๐๑๙ ความประทับใจในการต้อนรับอย่างอบอุ่นอันแสนงดงามที่ข้าพเจ้าได้รับ เช่นเดียวกันข้าพเจ้าขอชื่นชมการเป็นกัลยาณมิตรและการเสวนาฉันพี่น้องที่พวกท่านมอบให้แก่สมาชิกของสมณกระทรวงเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนาแห่งสันตะสำนัก และแก่ชุมชนชาวคาทอลิกในประเทศไทย

            ในขณะที่ครอบครัวแห่งมนุษยชาติและโลกของพวกเรากำลังเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย การเสวนาฉันมิตรและการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งยวด ทว่า ณ วันนี้น่าเสียใจที่พวกเราทุกคนต่างก็ได้ยินเสียงร้องคร่ำครวญของมนุษยชาติที่ได้รับบาดแผลในความเจ็บปวด และโลกที่แตกแยกเป็นเสี่ยงจากทุกรอบด้าน อย่างไรก็ดี องค์พระศาสดาทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระเยซูคริสต์ต่างเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่จะต้องเอาชนะความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุอันก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าได้สรุปไว้ในธรรมบท ดังนี้  “ละเว้นความชั่ว กระทำความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย” (Dph, ๑๘๓) พระเยซูคริสต์กล่าวแก่บรรดาศิษย์ว่า “เราขอมอบบทบัญญัติใหม่แก่ท่านทั้งหลาย ขอให้พวกท่านรักกันและกัน เรารักท่านทั้งหลายอย่างไร ท่านก็จงรักกันอย่างนั้นเถิด” (จอห์น ๑๓:๓๔) หน้าที่ของพวกเราในวันนี้คือการเป็นผู้ชี้หนทางแก่บรรดาศิษย์และผู้ศรัทธาของพวกเรา เพื่อนำไปสู่ความจริงที่ชัดแจ้งยิ่งขึ้น นั่นก็คือพวกเราทุกคนต่างก็เป็นพี่น้องกัน ด้วยเหตุนี้พวกเราควรทำงานร่วมกัน เพื่อปลูกฝังความมีจิตเมตตากรุณา และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ยากไร้ และผู้ที่ถูกทอดทิ้งในสังคม

            ภายใต้เจตนารมณ์นี้ ข้าพเจ้าขอสนับสนุนความพยายามของท่านทั้งหลายในการเชื่อมโยงความสัมพันธ์เพื่อการขยายขอบเขตการเสวนาและการร่วมมือกับพระศาสนจักรคาทอลิก ข้าพเจ้าขอขอบคุณพวกท่านสำหรับการมาเยือนนครรัฐวาติกันในวาระครบรอบการพบปะระหว่างผู้นำยิ่งใหญ่พระองค์ก่อนของพวกเรา 

            ขอให้ท่านทั้งหลายมั่นใจได้ว่าการพักพำนักของพวกท่าน ณ กรุงโรมจะดำเนินไปอย่างมีความสุขสวัสดิ์  ข้าพเจ้าขอมอบคำอวยพรและความปรารถนาดีสำหรับการสัมมนาที่จะมีขึ้นในภาคบ่ายวันนี้ ภายใต้หัวข้อเรื่อง “กัลยาณมิตร ระหว่างชาวพุทธและชาวคริสต์ วัฒนธรรมแห่งการพบปะกัน” ที่ท่านทั้งหลายร่วมมือกันจัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยแห่งสันตะสำนัก “อูร์บานีอานา” จะบังเกิดผลอันงดงามเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมในสังคมอย่างแน่นอน

            ข้าพเจ้าวิงวอนขอพระพรจากพระเจ้า ณ สรวงสวรรค์จงได้หลั่งไหลมาสู่ท่านทั้งหลาย และทุก ๆ คนในประเทศไทยของพวกท่านด้วยเทอญ


(ภาคภาษาไทยโดย มงซินญอร์ ดร. วิษณุ ธัญญอนันต์ และคุณธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย)