วันอังคาร, 21 มกราคม 2568
  

28 มิถุนายน ระลึกถึง นักบุญ อีเรเนโอ พระสังฆราช และมรณสักขี (St. Irenaeus, Bishop & Martyr, memorial)

28 มิถุนายน
ระลึกถึง นักบุญ อีเรเนโอ พระสังฆราช และมรณสักขี
(St. Irenaeus, Bishop & Martyr, memorial)

นักบุญอีเรเนโอ มีชีวิตอยู่ในช่วงราวปี ค.ศ. 130 – ค.ศ. 200 ท่านได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งเทววิทยาคาทอลิก” (Father of Catholic Theology) มาจากครอบครัวคริสตชนที่อาศัยอยู่ในแถบเอเซียน้อย (Asia Minor) คือประเทศตุรกีในปัจจุบัน ในช่วงวัยรุ่น ท่านได้เคยเห็นและเคยได้ยินคำเทศน์สอนของนักบุญโปลีการ์ป พระสังฆราชแห่งเมืองสมีร์นา ซึ่งเป็นศิษย์ของนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร หลังจากได้รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ได้ไม่นาน ท่านได้ถูกส่งไปที่เมืองลีอองส์ (Lyons) ที่ขณะนั้นเป็นเมืองสำคัญที่สุดของแคว้นโกล (Gaul) เพื่อเป็นผู้ช่วยนักบุญโปธินุส (Pothinus) พระสังฆราช ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกัน

ประมาณปี ค.ศ. 177 มาร์คุส เอาเรลิอุส (Marcus Aurelius) ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิ ก็มีการเบียดเบียนเกิดขึ้นที่เมืองลีอองส์อย่างรุนแรงมากที่สุด ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานเช่นนี้บรรดาพระสงฆ์ที่ถูกจับคุมขังได้จัดการให้สงฆ์หนุ่มอีเรเนโอ ซึ่งยังไม่ถูกจับ ให้นำข่าวสารไปถึง Pope St. Eleutherius ให้ทรงรับรู้ข่าวของการแพร่สะพัดของเฮเรติ๊ก (heresy = ถือนอกรีต, มิจฉาทิฐิ) มอนตานิสต์ (Montanist) ที่สอนว่า เวลาสิ้นโลกกำลังมาถึงเร็วๆนี้ ดังนั้น การเตรียมตัวก็คือ ต้องอดอาหารอย่างเคร่งครัด ไม่ควรให้มีการแต่งงาน และห้ามแต่งงานใหม่ และให้คำพยากรณ์ที่ได้รับพระพรพิเศษ (Charismatic prophecy) มีบทบาทเข้ามาแทนที่ฐานันดร (hierarchy) เมื่อท่านเดินทางกลับมาจากโรม ปรากฏว่าพระสังฆราช โปธินุส และบรรดาพระสงฆ์ของท่านได้หลั่งเลือดเพื่อยืนยันความเชื่อแล้ว อีเรเนโอจึงได้เป็นพระสังฆราชให้กับฝูงแกะที่จำนวนมากถูกทำลายล้างไปอย่างน่าเศร้า

ท่านได้เป็นพระสังฆราชที่เมืองลีอองส์ (ในประเทศฝรั่งเศส) เป็นเวลา 24 ปีโดยประมาณ และในห้วงเวลานั้นได้ทำให้มีคนกลับใจมาสู่ความเชื่อมากมาย และได้สร้างวัดต่างๆ ในแคว้นโกลขึ้นมาใหม่ แต่ที่ท่านมีชื่อเสียงมากก็คือผลงานเขียนที่โดดเด่นของท่าน จากการที่ท่านได้ศึกษาพระคัมภีร์อย่างทุ่มเทและมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษากรีกและแนวปรัชญาตะวันออกต่างๆ ซึ่งพวกเฮเรติ๊ก Gnostic มักอ้างถึง (เฮเรติ๊กพวกนี้สอนว่าความรอดพ้นมาจากความรู้ที่อยู่ในวงจำกัดของคนกลุ่มเล็กกลุ่มหนึ่งเท่านั้น) ท่านสามารถชี้ให้เห็นถึงความไร้สาระของพวกเขา และปฏิเสธต่อการอ้างสิทธิ์ของพวกเขาที่ว่ามาจากธรรมประเพณีคาทอลิก และมาจากพระคัมภีร์ ผลงานอมตะของท่านคือ “Against Heresies” (= การต่อต้านพวกถือนอกรีตต่างๆ) ได้ถูกเขียนเป็นภาษากรีก ซึ่งเป็นภาษาบ้านเกิดของท่าน แต่ที่ตกทอดมาถึงเรากลับเป็นภาษาลาติน ซึ่งคงจะแปลในสมัยนั้น ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือการที่ท่านยืนยันถึงธรรมประเพณีของบรรดาอัครสาวก ซึ่งได้รับการปกปักรักษาอย่างดีที่สุดโดยพระศาสนจักรของกรุงโรม ซึ่งเป็นที่น่าเคารพมากกว่าที่ใดๆ ซึ่งนับว่าท่านอ้างได้ถูกต้องอย่างยิ่ง

นักบุญอีเรเนโอ อาจถูกเรียกว่าเป็นผู้เขียนคำสอนคริสตชนที่เป็นที่รู้จักแต่แรกอีกด้วย ในหนังสือของท่านที่ชื่อว่า “Proof of the Apostolic Preaching” (=ข้อพิสูจน์ในเรื่องคำเทศน์สอนของอัครสาวก) เป็นการนำเสนอข้อความเชื่อต่างๆ เพื่อการปฏิบัติของบรรดาฆราวาส โดยเขียนในรูปแบบสนทนาโต้ตอบ และเน้นไปที่การสรุปประเด็นสำคัญของทุกสิ่งในพระคริสต์, ผู้ทรงเป็นอาดัมคนใหม่ และที่ว่า พระนางมารีย์ พระมารดาของพระเจ้า (= Theotokos) ผู้ทรงเป็นเอวาคนใหม่ ศีลมหาสนิทที่เป็นทั้งศีลศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบไปด้วยการประทับอยู่อย่างแท้จริง และเป็นทั้งการถวายบูชาที่แท้จริงในธรรมบัญญัติใหม่ และเรื่องที่ร่างกายจะกลับเป็นขึ้นมาอีก

ประมาณปี ค.ศ.190 นักบุญอีเรเนโอ ซึ่งชื่อของท่านมีความหมายว่า “lover of peace” (ผู้รักสันติ) ได้เป็นคนกลางทำให้เกิดสันติภาพขึ้นระหว่างพระสันตะปาปาวิคเตอร์ที่ 1 (Pope Victor I) และพระศาสนจักรตะวันออกต่างๆ ในเรื่องข้อขัดแย้งที่พวกตะวันออกไม่เห็นพ้องด้วยกับพระศาสนจักรของโรมในเรื่องกำหนดวันปัสกา นักบุญอีเรเนโอ ได้ตายเป็นมรณสักขีในสมัยของจักรพรรดิ Septimius Severus ตามที่นักบุญเยโรมได้บอกกล่าวไว้

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)