เจริญพรมายังพี่น้องในสมณภาพที่รัก
พ่อปรารถนาจะส่งสารนี้มายังพวกท่าน พร้อมกับการเป็นมิตร และความคิดที่ว่าพ่อเดินไปกับพวกท่านด้วยกัน ซึ่งพ่อหวังว่าจะเป็นกำลังให้แก่พวกท่าน ซึ่งกำลังปฏิบัติศาสนกิจ อันเปี่ยมด้วยความสุขและความยากลำบาก ความหวังและความผิดหวัง เราจำเป็นต้องห่วงใยและความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยเรียนรู้จากพระเยซูคริสต์ที่ทรงมองบรรดาศิษย์อัครสาวกด้วยความเมตตาเห็นอกเห็นใจ พระองค์ไม่ได้ทรงเรียกร้องแผนการที่แสดงเกณฑ์ชี้วัดประสิทธิภาพ แต่ทว่าพระองค์ทรงมอบความห่วงใย และให้พักผ่อน ดังนั้น เมื่อเหล่าอัครสาวกกลับมาจากภารกิจประกาศข่าวดี ซึ่งกลับมาด้วยความรู้สึกดีใจ แต่ทว่าพวกเขาก็กลับมาด้วยความรู้สึกเหน็ดเหนื่อย พระอาจารย์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงออกไปในที่สงบตามลำพังและพักผ่อนบ้าง” (มก 6:31)
พ่อคิดถึงพวกท่าน ในช่วงเวลานี้ ที่มาพร้อมกับกิจกรรมภาคฤดูร้อน ซึ่งพ่อก็ได้พักผ่อนเล็กน้อย หลังจากที่ได้ปฏิบัติงานอภิบาลระหว่างหลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนอื่นพ่ออยากจะกล่าวขอบคุณอีกครั้ง : “ขอบคุณพวกท่านที่เป็นประจักษ์พยานและบริการรับใช้ ขอบคุณสำหรับความดีงามที่ท่านได้กระทำซึ่งไม่มีใครรับรู้ และพ่อขอขอบคุณพวกท่านที่ได้ให้อภัยและปลอบโยนผู้อื่นในนามของพระเจ้า … พ่อขอขอบคุณสำหรับพันธกิจที่พวกท่านได้รับมอบหมาย ซึ่งปกติการปฏิบัติศาสนบริการมักใช้ความมานะพากเพียรอย่างมาก อีกทั้งแทบไม่มีใครเข้าใจและเห็นคุณค่า” (บทเทศน์มิสซาเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์, วันพฤหัสฯ ที่ 6 เมษายน 2023)
นอกจากนี้ การปฏิบัติศาสนกิจของบรรดาสมณะไม่ได้วัดจากความสำเร็จในการอภิบาล (องค์พระเจ้าเองทรงประสบความสำเร็จในเรื่องนี้น้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป !) ศูนย์กลางของชีวิตเรานั้นไม่ใช่การคลั่งไคล้ที่จะทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่เป็นการอยู่ในพระเจ้าเพื่อให้บังเกิดผล (เทียบ ยอห์น 15) พระองค์ทรงเป็นที่ชื่นบานของเรา (เทียบ มธ. 11:28-29) และความอ่อนโยนที่ปลอบประโลมเราเกิดจากความเมตตาของพระองค์ จากการรับ “มากิส/magis” (ความยิ่งใหญ่กว่า) แห่งพระหรรษทานของพระองค์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเดินหน้าในงานประกาศข่าวดี แบกรับความล้มเหลวและความพ่ายแพ้ ชื่นชมยินดีด้วยใจที่เรียบง่าย อ่อนโยนและอดทน เพื่อสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อยู่เสมอและเพื่อสามารถยื่นมือช่วยเหลือผู้อื่น แท้จริงแล้ว “ช่วงเวลาเติมพลัง” ที่จำเป็นต่อพวกเราไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อเราพักผ่อนทางร่างกายและจิตวิญญาณเท่านั้น แต่รวมไปถึงเมื่อพวกเราเปิดใจของพวกเราเพื่อการพบปะฉันพี่น้องระหว่างพวกเราเอง : ความเป็นฉันพี่น้องช่วยให้ปลดความทุกข์ความไม่สบายใจ นอกจากนี้ความเป็นฉันพี่น้องนี้ยังมอบพื้นที่สำหรับเสรีภาพภายใน และป้องกันไม่ให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวเมื่อเผชิญกับความท้าทายของการปฏิบัติศาสนกิจ
ด้วยจิตวิญญาณนี้ที่พ่อเขียนถึงพวกท่านคุณ พ่อรู้สึกว่าพ่อกำลังเดินทางไปกับพวกท่าน และพ่ออยากให้พวกท่านรู้สึกว่าพ่ออยู่ใกล้พวกท่านทั้งในยามสุขและยามทุกข์ ในแผนงานต่าง ๆ และในความยากลำบาก ในความขมขื่นและในการปลอบประโลมใจที่มาจากงานอภิบาล เหนือสิ่งอื่นใด พ่อมีความปรารถนาที่จะเป็นหนึ่งเดียวกับท่าน ทั้งทางใจและทางกาย ในขณะที่พ่อสวดภาวนาอ้อนวอนทุกวันขอพระศาสนจักรแม่แห่งกรุงโรมของเรา ซึ่งได้รับเรียกให้เป็นต้นแบบในกิจแห่งความรักความเมตตา ได้เก็บเกี่ยวของขวัญแห่งการร่วมเป็นหนึ่งเดียวอันมีค่า กับพระศาสนจักรเป็นลำดับแรก ซึ่งทำให้พระศาสนจักรเจริญงอกงามขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ และลักษณะต่าง ๆ ซึ่งประกอบเป็นศาสนจักร ขอให้พระศาสนจักรแห่งกรุงโรมเป็นตัวอย่างแห่งความเมตตาและความหวังสำหรับทุกคน โดยมีผู้อภิบาลของชุมชนแห่งความเชื่อ ที่พร้อมและเต็มใจเสมอ ที่จะแผ่ขยายการให้อภัยจากพระเจ้า ในฐานะที่เป็นเครื่องมือแห่งความเมตตาซึ่งดับความกระหายของมนุษยชาติในปัจจุบัน
พี่น้องในสมณภาพที่รัก ณ ขณะนี้ พ่อแปลกใจว่าในยุคสมัยของเรานี้ พระเจ้าทรงขออะไรจากเรา พระจิตผู้ทรงเจิมเราและส่งเรามาในฐานะอัครสาวกแห่งพระวรสารนำเราไปที่ใด ในระหว่างพี่พ่อกำลังอธิษฐานภาวนา สิ่งนี้เข้ามาในความคิดของพ่อ : พระเจ้าทรงขอให้เราต่อสู้อย่างเต็มที่กับจิตวิญญาณแบบโลก คุณพ่ออองรี เดอ ลูบัค ได้เขียนหนังสือที่มีไม่กี่หน้า ซึ่งพ่ออยากเชิญให้พวกท่านอ่าน โดยหนังสือนี้ได้ให้นิยามจิตวิญญาณแบบโลกว่าเป็น “อันตรายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับพระศาสนจักร – สำหรับเราซึ่งเป็นพระศาสนจักร – (เป็น) การล่อลวงที่ร้ายกาจที่สุด การล่อลวงที่ปรากฏอยู่ อย่างรุนแรงหนักหน่วงอยู่เสมอ เมื่อคนอื่น ๆ พ่ายแพ้” และอองรี เดอ ลูบัค ยังพูดเสริมว่า ซึ่งพ่อรู้สึกว่าเหมือนเป็นการพูดแทงใจดำ : “หากจิตวิญญาณแบบโลกรุกรานพระศาสนจักรและทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อคุกคามพระศาสนจักร โดยอาศัยการบ่อนทำลายเสาหลักของพระศาสนจักร สิ่งนี้จะเป็นหายนะที่ร้ายแรงกว่าศีลธรรมแบบโลก” (บทรำพึงเกี่ยวกับพระศาสนจักร มิลาน 1965, 470)
นี่เป็นสิ่งที่พ่อเคยกล่าวแล้วในโอกาสต่าง ๆ แต่พ่อก็ยังอยากจะย้ำอีกครั้ง และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก ในความจริงแล้ว ชีวิตวิญญาณตามแบบชาวโลกเป็นสิ่งที่อันตรายเพราะเป็นวิถีชีวิตที่ลดทอนชีวิตฝ่ายวิญญาณ โดยให้เหลือเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น ซึ่งทำให้พวกเราเป็น “พ่อค้าแห่งวิญญาณ” เป็นมนุษย์ที่สวมรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ยังคงคิดและปฏิบัติตามกระแสโลก สิ่งนี้เกิดขึ้น เมื่อเราปล่อยให้ตัวเองหลงใหลไปกับความยั่วยวนจากความชั่วคราว ความธรรมดาสามัญและความเคยชิน หรือปล่อยตัวเองไปกับการล่อลวงของอำนาจและอิทธิพลทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีความเย่อหยิ่งและความหลงตัวเอง อันเนื่องมาจากการยึดแนวคิดด้านคำสอนโดยไม่ฟังเสียงคนอื่น ๆ และความงามของพิธีกรรม หรือรูปแบบและวิธีการต่าง ๆ ที่ความเป็นชาวโลกได้ “ซ่อนอยู่เบื้องหลังความศรัทธา และความรักที่มีต่อพระศาสนจักร” ทว่าในความเป็นจริง สิ่งเหล่านี้ “เป็นการแสวงหาเกียรติยศทางโลก และความอยู่ดีสำหรับตัวเอง หาใช่พระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าไม่” (สมณสาส์นเตือนใจ Evangelii gaudium, ข้อ 93) เป็นไปได้อย่างไรที่เราไม่เห็นลักษณะหน้าซื่อใจคด ซึ่งได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ อันเป็นลักษณะที่พระเยซูคริสต์เคยเห็นจากผู้มีอำนาจทางศาสนาบางคนในสมัยนั้น (เหล่าฟารีสี) และในระหว่างช่วงที่พระเยซูคริสต์ประกาศข่าวดี ลักษณะหน้าซื่อใจคดดังกล่าวได้ทำให้พระองค์ทรงทนทุกข์ทรมาน ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้พระองค์ทรมานมากกว่าสิ่งอื่นใด ?
ชีวิตฝ่ายวิญญาณตามประสาชาวโลกเป็นการล่อลวงที่ “อ่อนโยน” และด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งที่ร้ายกาจยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด แท้จริงแล้ว มันซึมซาบ และรู้วิธีซ่อนตัวอยู่ข้างหลังภาพลักษณ์ที่ดี ซึ่งรวมไปถึงแรงจูงใจ “ทางศาสนา” ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่าเราจะรู้จักมัน และขับไล่มันไป ไม่ช้าก็เร็ว มันก็จะแสดงตัวอีกครั้ง โดยปลอมตัวอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนไป ดังที่พระเยซูคริสต์ตรัสไว้ในพระวรสารว่า “เมื่อผีโสโครกออกจากร่างมนุษย์แล้ว มันก็ไปเที่ยวในที่ที่ไม่มีน้ำเพื่อหาที่พักผ่อน เมื่อมันหาไม่พบ มันจึงพูดว่า ‘ฉันจะกลับไปบ้านที่ฉันจากมา’ เมื่อกลับมาถึง มันก็พบว่าบ้านนั้นถูกเก็บกวาดและเป็นระเบียบเรียบร้อย มันจึงไปพาปีศาจอีกเจ็ดตนที่ชั่วร้ายกว่ามันเข้ามาอาศัยอยู่ที่นั่น สภาพสุดท้ายของมนุษย์นั้นก็เลวร้ายยิ่งกว่าตอนแรก” (ลก 11:24-26) เราจำเป็นต้องเฝ้าระวังภายใน เพื่อปกป้องจิตใจและหัวใจของเรา เพื่อให้เปลวไฟแห่งพระจิตยังคงลุกโชติช่วงอยู่ในตัวของเรา เนื่องจากการล่อลวงทางโลกต่าง ๆ กลับมาหาเรา และก็ “เคาะประตู” อย่างสุภาพ : “พวกมันคือ ‘ปีศาจที่สง่างาม’: พวกมันเข้ามาอย่างสะดวกสบาย โดยที่พวกเราไม่รู้ตัวเลยว่ามีปีศาจเข้ามา” (ปราศรัยต่อ Roman Curia , 22 ธันวาคม 2022)
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าอยากจะอาศัยแง่มุมหนึ่งของโลกธรรมนี้ เมื่อมันเข้าสู่หัวใจของผู้อภิบาล มันจะกลายเป็นรูปแบบเฉพาะของบรรพชิตนิยม โปรดให้อภัยในสิ่งที่พ่อเคยพูดไปแล้ว แต่ในฐานะสมณะ พ่อคิดว่าพวกท่านเข้าใจพ่อ เพราะพวกท่านก็แบ่งปันสิ่งที่พวกท่านเชื่อด้วยใจจริง ตามลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นลักษณะแบบโรมันทั่วไป (โรมาเนสก์ !) โดยความจริงใจจากริมฝีปากนั้น ออกมาจากใจ และมีรสชาติแบบใจถึงใจ ! ทั้งนี้ สำหรับพ่อนั้น ในฐานะที่เป็นผู้สูงอายุคนหนึ่ง พ่อขอบอกพวกท่านจากใจว่า พ่อกังวลใจเมื่อเราหลงเข้าไปอยู่ในบรรพชิตนิยม เมื่อเราปล่อยให้ผู้คนเห็นว่าเราอยู่เหนือกว่า ได้รับสิทธิพิเศษ จัดให้อยู่ในระดับ “สูงกว่า” และด้วยเหตุนี้ เราจึงถูกแยกออกจากประชากรอันศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า ดังสมณะที่ดีคนหนึ่งเคยเขียนถึงพ่อ “ลัทธิบรรพชิตนิยมเป็นอาการของสมณะและฆราวาสที่ถูกล่อลวงให้ดำเนินชีวิตตามบทบาท ไม่ใช่ความผูกพันที่แท้จริงกับพระเจ้าและกับพี่น้อง” หากพ่อจะกล่าวสั้น ๆ นี่หมายถึงโรคที่ทำให้เราสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับพิธีล้างบาปที่เราได้รับ โดยสละภูมิหลังของเราซึ่งเป็นของประชากรศักดิ์สิทธิ์ในพระเจ้าองค์เหมือนกัน และนำพวกเราไปสู่การใช้ชีวิตที่มีอำนาจ โดยไม่รับรู้ถึงลักษณะการตีสองหน้า ไร้ซึ่งความอ่อนน้อมถ่อมตน ทว่ามีแต่ท่าทีเย่อหยิ่งจองหองทรนงตนเอง
เพื่อช่วยให้เราเป็นอิสระจากการประจญนี้ เป็นการดีที่เราจะฟังสิ่งที่ประกาศกเอเสเคียลพูดกับคนเลี้ยงแกะว่า “เจ้ากินไขมัน เจ้าเอาขนแกะห่มตัว เจ้าฆ่าสัตว์อ้วนพี แต่ท่านไม่เลี้ยงแกะ คนอ่อนแอที่เจ้าไม่ช่วยให้เข้มแข็ง คนป่วยเจ้าไม่รักษาให้หาย คนง่อยที่เจ้าไม่ได้ให้พ้นพันธนาการ คนหลงทางที่เจ้าไม่ได้เรียกกลับมา คนหายไปที่เจ้าไม่ได้ตามหา และเจ้าปกครองพวกเขาด้วยกำลังและความรุนแรง” (อสค. 34: 3-4) ประกาศกพูดถึง “ไขมัน” และ “ขนสัตว์” ซึ่งหล่อเลี้ยงและให้ความอบอุ่น ความเสี่ยงเกี่ยวกับเรื่องที่พระวจนะมีความสำคัญมากกว่าพวกเรา เกี่ยวข้องกับการหล่อเลี้ยงตนเองและรักษาผลประโยชน์ส่วนตน ซึ่งมอบชีวิตที่สะดวกสบายแก่พวกเรา
แน่นอนว่าผู้อภิบาลต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยน้ำนมจากฝูงแกะของเขา แต่ทว่านักบุญออกัสติน บิชอปแห่งฮิปโปได้กล่าวไว้ว่า “ให้พวกเขารับน้ำนมจากแกะของพวกเขา ให้พวกเขาได้รับสิ่งที่จำเป็นสำหรับความต้องการของพวกเขา แต่อย่าละเลยความอ่อนแอของแกะ อย่าให้พวกเขาแสวงหาผลประโยชน์ใด ๆ สำหรับตนเอง เกรงว่าพวกเขาจะประกาศข่าวดีเพื่อสนองความต้องการและความขาดแคลนของตน แต่ให้พวกเขามอบแสงสว่างแห่งพระวจนะที่แท้จริงเพื่อประโยชน์ในการให้แสงสว่างแก่มนุษยชาติ” (บทเทศน์เรื่องผู้อภิบาล 46.5) ในทำนองเดียวกัน ออกัสตินพูดถึงขนแกะโดยโยงกับเรื่องเกียรติยศ: ขนแกะที่คลุมแกะสามารถทำให้เรานึกถึงทุกสิ่งที่เราสามารถประดับรูปลักษณ์ตัวเองภายนอก แสวงหาการสรรเสริญจากมนุษย์ ศักดิ์ศรี ชื่อเสียง ความมั่งคั่ง นักบุญออกัสติน ซึ่งเป็นบิดาชาวละตินผู้ยิ่งใหญ่เขียนว่า “ใครที่ให้ขนแกะย่อมให้เกียรติยศ สองสิ่งนี้คือสิ่งที่ผู้อภิบาลที่ไม่ได้เลี้ยงฝูงแกะ แต่เลี้ยงตัวเองนั้น มองหาจากผู้คน – ผลประโยชน์จากการได้รับสิ่งที่ตนต้องการรวมทั้งเกียรติยศและการสรรเสริญ” (ibid., 46.6) เมื่อเราสนใจแต่เรื่องนมแกะ เราก็นึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน เมื่อเราแสวงหาขนแกะอย่างหมกมุ่น เราจะนึกถึงแต่การปลูกฝังภาพลักษณ์และเพิ่มความสำเร็จ ด้วยวิธีนี้เราจึงสูญเสียจิตวิญญาณของการเป็นสมณะ ความกระตือรือร้นในการรับใช้ ความปรารถนาที่จะดูแลผู้คน และจบลงด้วยการให้เหตุผลตามความโง่เขลาทางโลกว่า “ฉันเกี่ยวอะไรด้วย ก็ให้แต่ละคนทำในสิ่งที่เขาต้องการ ปัจจัยยังชีพของฉันก็ปลอดภัย ซึ่งรวมไปถึงเกียรติยศของฉัน ฉันมีนมแกะและขนแกะเพียงพอแล้ว ดังนั้นก็ปล่อยให้แต่ละคนทำตามใจชอบ” (ibid., 46.7)
ดังนั้น ความกังวลจึงมุ่งเน้นไปที่ “ตัวฉัน”: การยังชีพของตนเอง, ความต้องการของตนเอง, การสรรเสริญที่ได้รับเป็นการสรรเสริญเพื่อตัวเอง แทนที่จะเป็นเพื่อพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้า สิ่งนี้เกิดขึ้นกับผู้ที่หลงเข้าไปอยู่ในลัทธิบรรพชิตนิยม : พวกเขาสูญเสียจิตวิญญาณแห่งการสรรเสริญ เนื่องจากพวกเขาสูญเสียสำนึกในพระหรรษทาน ความประหลาดใจในการกระทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ของพระเจ้า ผู้ทรงรักพวกเขา ความเรียบง่ายของหัวใจนั้น ทำให้เราเอื้อมมือไปหาพระเจ้า รอคอยอาหารจากพระองค์ในเวลาที่เหมาะสม (เทียบ สดุดี 104:27) โดยตระหนักว่าหากไม่มีพระองค์ เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ (เทียบ ยอห์น 15:5) การดำเนินชีวิตโดยไม่คิดถึงผลตอบแทนใด ๆ เท่านั้นที่ทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตในพันธกิจและความสัมพันธ์เชิงอภิบาลด้วยจิตวิญญาณแห่งการรับใช้ ตามพระวจนะของพระเยซูคริสต์ที่ว่า “ท่านได้รับมาโดยไม่เสียค่าตอบแทน ก็จงให้เขาโดยไม่รับค่าตอบแทน” (มธ 10:8)
เราต้องจ้องมองไปที่พระเยซูคริสต์ มองไปยังความเมตตาที่พระองค์ทรงเห็นมนุษยชาติที่ได้รับบาดเจ็บ มองการให้ที่ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ซึ่งทำให้พระองค์สละชีวิตเพื่อเราบนไม้กางเขน นี่คือยาถอนพิษประจำวันสำหรับความเป็นชาวโลกและลัทธิบรรพชิตนิยม : มองดูพระเยซูคริสต์ผู้ถูกตรึงกางเขน เราต้องเพ่งพิศในพระองค์ทุก ๆ วัน มองไปยังพระองค์ผู้ทรงสละพระองค์เอง และทรงถ่อมพระองค์ลงจนสิ้นพระชนม์ (เทียบ ฟป. 2:7-8) พระองค์ทรงยอมรับความอัปยศอดสูเพื่อยกเราขึ้นจากความต่ำต้อย และปลดปล่อยเราจากอำนาจแห่งความชั่วร้าย ด้วยวิธีนี้ การมองดูบาดแผลของพระเยซูคริสต์ การมองดูพระองค์อย่างถ่อมตน ช่วยให้เราเรียนรู้ว่าเราถูกเรียกให้ถวายตัว ถูกเรียกให้เป็นขนมปังที่หักออกเพื่อผู้หิวโหย เพื่อเดินทางร่วมกับคนที่เหน็ดเหนื่อยและถูกกดขี่ นี่คือจิตวิญญาณของบรรดาสมณะ ศาสนบริกร กล่าวคือทำตัวรับใช้ประชากรของพระเจ้า ไม่ใช่เจ้านาย ล้างเท้าพี่น้องของเรา ไม่ใช่เหยียบย่ำพวกเขา
เหตุฉะนั้น ขอให้เราระมัดระวังต่อลัทธิบรรพชิตนิยม ขอให้อัครสาวกเปโตรเตือนใจเรา ซึ่งใน ตามประเพณี แม้ท่านอยู่ในเวลาแห่งความตาย ก็ยังยอมถ่อมตนลงกลับไม้กางเขนเพื่อไม่ให้เท่าเทียมกับพระเจ้าของท่าน ให้ท่านช่วยเราให้ห่างไกลจากลัทธิบรรพชิตนิยม ขอให้อัครสาวกเปาโลผู้ซึ่งถือว่าพระเยซูคริสต์คือกำไรทั้งหมดของชีวิต และปฏิเสธโลก (เทียบ ฟป. 3:8) ปกป้องเราจากสิ่งนี้
เรารู้ดีแล้วว่าลัทธิบรรพชิตนิยมสามารถส่งผลกระทบต่อทุกคน แม้แต่ฆราวาสและผู้ทำงานอภิบาลต่าง ๆ : แท้จริงแล้ว เราสามารถถือได้ว่า “จิตวิญญาณของสมณะ” ในการทำพันธกิจและความสามารถพิเศษ โดยดำเนินชีวิตตามกระแสเรียกของตนในแบบชนชั้นสูง ห่อหุ้มตัวอยู่ในกลุ่มของตนและสร้างกำแพงกั้นจากสิ่งภายนอก พัฒนาความเป็นเจ้าของบทบาทในชุมชน (คริสตชน) เก็บเกี่ยวทัศนคติที่หยิ่งผยองและโอ้อวดต่อผู้อื่น โดยอาการที่เกิดขึ้นจริง ๆ ก็คือการสูญเสียจิตวิญญาณแห่งการสรรเสริญและการกระทำโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอย่างปีติยินดี ในขณะที่ปีศาจคืบคลานเข้ามาด้วยการบ่นพึมพำ ผ่านการปฏิเสธ ความรู้สึกไม่พอใจอย่างเรื้อรังในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การหรือการประชดประชันที่กลายเป็นการเยาะเย้ยถากถาง แต่ทว่าด้วยวิธีเหล่านี้ เราปล่อยให้ตัวเองหมกมุ่นอยู่กับบรรยากาศของการวิพากษ์วิจารณ์และความโกรธที่เราสูดหายใจ แทนที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือพี่น้องของเราให้รอดพ้นจากทรายดูดแห่งความใจร้อนกระวนกระวาย
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ในความอ่อนแอและความบกพร่องของเรา ตลอดจนวิกฤตในความเชื่อความศรัทธาในปัจจุบัน ขออย่าให้เราท้อใจ! เดอ ลูบัค เคยกล่าวสรุปว่า ว่าศาสนจักร “ทุกวันนี้ แม้ว่าเราจะมีความคลุมเครือ […] ก็เหมือนกับพระแม่มารีย์ และศีลศักดิ์สิทธิ์ของพระเยซูคริสต์ โดยความไม่ซื่อสัตย์ออกนอกลู่นอกทางของเรา ไม่สามารถขัดขวางพระศาสนจักรจากการเป็น ‘พระศาสนจักรของพระเจ้า’ หรือ ‘สาวผู้รับใช้ของพระเจ้า'” (Meditation on the Church, อ้าง, 472)
พี่น้องในสมณภาพทั้งหลาย นี่คือความหวังที่ค้ำจุนย่างก้าวของเรา แบ่งเบาภาระของเรา และให้แรงกระตุ้นใหม่แก่พันธกิจของเรา ให้เราพับแขนเสื้อขึ้นและย่อเข่า (ถ้าใครทำได้!) : ให้เราอธิษฐานต่อพระจิตเพื่อกันและกัน ขอให้เราวิงวอนพระองค์ช่วยไม่ให้เราตกต่ำ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและในการอภิบาล ไม่ให้เราตกอยู่ในสภาพที่ภายนอกเป็นคนเลื่อมใสศรัทธา ซึ่งเต็มไปด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ทว่าภายในกลับไร้พระเจ้า อย่าให้เราเป็นเพียงแค่ข้าราชการที่ปฏิบัติงานด้านความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นผู้ประกาศข่าวดีที่กระตือรือร้น ไม่ใช่ “สมณะของรัฐ” แต่เป็นผู้อภิบาลของประชากร พวกเราต้องการการเปลี่ยนแปลงส่วนบุคคลและการอภิบาล ดังที่คุณพ่อคองการ์กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องของการนำการปฏิบัติตามที่ดีกลับมาอีกครั้ง หรือการปฏิรูปพิธีการภายนอก แต่เป็นการกลับไปสู่แหล่งที่มาของพระวรสาร การค้นพบพลังใหม่เพื่อเอาชนะนิสัยเดิม การอัดฉีดจิตวิญญาณใหม่เข้าไปในสถาบันสมณะแบบเก่า ๆ เพื่อที่เราจะได้ไม่จบลงด้วยการเป็นพระศาสนจักรที่ “มั่งคั่งด้วยอำนาจและความปลอดภัย แต่เป็นพระศาสนจักรที่สืบเนื่องมาจากอัครสาวกเล็ก และประกาศข่าวดีในแบบปานกลาง” (Vera e falsa riforma della Chiesa, Milan 1972, 146)
ขอขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่พวกท่านมอบให้กับถ้อยคำเหล่านี้ของพ่อ โดยอาศัยการไตร่ตรองถ้อยคำเหล่านี้ในระหว่างการอธิษฐานภาวนาต่อพระพักตร์พระเยซูคริสต์ในการนมัสการสรรเสริญพระองค์ทุกวัน พ่อสามารถบอกพวกท่านได้ว่าทุกถ้อยคำมาจากใจ และมาจากความรักที่พ่อมีต่อพวกท่าน ให้เราก้าวไปข้างหน้าด้วยความกระตือรือร้นและความกล้าหาญ : ให้เราทำงานร่วมกันในหมู่สมณะและกับพี่น้องประชาสัตบุรุษของเรา เริ่มต้นรูปแบบและแนวทางของซีนอด ซึ่งจะช่วยให้เราปลดเปลื้องจากความแน่นอนทางประสาโลกและทาง “สมณเพศนิยม” เพื่อแสวงหาความถ่อมตน เส้นทางอภิบาลที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระจิต เพื่อให้การปลอบประโลมใจของพระเจ้าเข้าถึงทุกคนอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ต่อหน้าพระรูปของพระมารดา “Salus Populi Romani” พ่อได้อธิษฐานภาวนาเผื่อพวกท่าน พ่อขอให้พระแม่มารีย์คุ้มครองและปกป้องพวกท่าน ซับน้ำตาที่หลั่งออกมา ปลุกเร้าความปีติสุขในการปฏิบัติศาสนกิจของพวกท่านอีกครั้ง และทำให้พวกท่านเป็นผู้อภิบาลที่รักพระเยซูคริสต์ทุกวัน พร้อมสละชีวิตเพื่อความรักพระองค์ ขอบคุณสำหรับสิ่งที่พวกท่านกระทำและสิ่งที่พวกท่านเป็น พ่อขออวยพรพวกท่านและร่วมอธิษฐานภาวนากับพวกท่าน และโปรดอย่าลืมอธิษฐานภาวนาเผื่อพ่อด้วย
ในภราดรภาพ
กรุงลิสบอน, 5 สิงหาคม ค.ศ. 2023
วันฉลองการถวายพระมหาวิหารแด่พระแม่มารีย์ผู้ยิ่งใหญ่ (Saint Mary Major)
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย เก็บสมณลิขิตนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)