สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
General Audience/การเข้าเฝ้าแบบทั่วไป
ณ หอประชุมใหญ่เปาโลที่หก นครรัฐวาติกัน
เมื่อวันพุธที่ 7 สิงหาคม 2024
การเรียนคำสอนต่อเนื่อง : พระจิตกับพระศาสนจักรผู้เป็นเจ้าสาว – พระจิตเจ้าทรงนำทางประชากรของพระเจ้าสู่พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็นความหวังของเรา (5) พระเยซูเจ้าทรงปฏิสนธิเดชะพระจิตเจ้า และทรงบังเกิดจากพระแม่มารีย์พรหมจารี : พวกเราจะเอาอย่างแม่พระได้อย่างไร
เจริญพรมายังพี่น้องที่รัก อรุณสวัสดิ์
หลังจากที่เราได้ไตร่ตรองเกี่ยวกับกิจการของพระจิตเจ้าในการเนรมิตสร้างไปแล้ว ในการเรียนคำสอนวันนี้และในอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ พวกเราจะพิจารณาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งความรอดในระยะที่สอง ซึ่งก็คือ เรื่องราวแห่งกิจการไถ่กู้ของพระเยซูคริสตเจ้า ดังนั้น ขอให้เราหันไปยังพันธสัญญาใหม่ เพื่อที่เราจะได้สังเกตเห็นถึงพระจิตเจ้าภายในพันธสัญญาใหม่นั้น
หัวข้อการเรียนคำสอนวันนี้ คือ เรื่องราวพระจิตเจ้าภายในการรับสภาพมนุษย์ของ[พระเยซูเจ้าผู้ทรงเป็น]พระวจนาตถ์ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญลูกามีถ้อยคำหนึ่งที่[ทูตสวรรค์]กล่าวกับพระแม่มารีย์ไว้ว่า “พระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน และพระอานุภาพของพระผู้สูงสุดจะแผ่เงาปกคลุมท่าน” (ลก. 1,35) ขณะที่พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิวก็ได้ยืนยันความจริงพื้นฐานเกี่ยวกับแม่พระและพระจิตเจ้า โดยกล่าวไว้ว่า “ปรากฏว่า[แม่พระ]ตั้งครรภ์แล้ว เดชะพระจิตเจ้า” (มธ. 1,18)
พระศาสนจักรได้ยกเอาความจริงเรื่องนี้ตามที่มีการเผยแสดง และได้นำไปรวมไว้เป็นหัวใจของสัญลักษณ์ข้อเชื่อ หรือ “บทข้าพเจ้าเชื่อ” ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก กล่าวคือ ภายในสภาสังคายนาคอนสแตนติโนเปิลเมื่อปี 381 ซึ่งได้กำหนดนิยามเรื่องเทวภาพของพระจิตเจ้า ดังนั้น เรื่องของพระจิตเจ้าจึงเป็นสัจธรรมแห่งความเชื่อที่ยอมรับกันเป็นสากล เหตุว่าคริสตชนทุกคนต่างประกาศยืนยันร่วมกันถึงความเชื่อของตนโดยใช้บทสัญลักษณ์ข้อเชื่ออันเดียวกันนี้ [และนอกจากนี้] คริสตชนคาทอลิกก็ยังได้รับเอาข้อความจริงอันนี้มาทำให้เป็นกิจศรัทธาแห่งการอธิษฐานภาวนาประจำวันรูปแบบหนึ่งที่มีมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งก็คือ การสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว
ข้อเชื่ออันนี้เป็นพื้นฐานที่ทำให้เราทั้งหลายสามารถกล่าวได้ว่า พระแม่มารีย์เป็นเจ้าสาวผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งยวด และเป็นภาพคล้ายพระศาสนจักร พระสันตะปาปานักบุญเลโอผู้ยิ่งใหญ่ได้เขียนเกี่ยวกับพระเยซูเจ้าเอาไว้ว่า “พระองค์ทรงบังเกิดจากมารดาผู้เป็นหญิงพรหมจารีเดชะพระจิตเจ้าแล้วฉันใด พระองค์ก็ย่อมทรงทำให้พระศาสนจักรได้เป็นเจ้าสาวของพระองค์ ทรงทำให้พระศาสนจักรปราศจากด่างพร้อยใด ๆ และทรงทำให้พระศาสนจักรบังเกิดผลอันอุดม โดยอาศัยลมหายใจอันประทานชีวิตของพระจิตเจ้าอันเดียวกันนี้ฉันนั้น” (บทเทศน์ที่ 12 ว่าด้วยพระมหาทรมาน, 3, 6, Patrologia Latina เล่ม 54, หน้า 336) การอุปมาแบบคู่ขนานนี้ได้ถูกนำมากล่าวในสมณธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักร (Lumen Gentium)[ของสภาสังคายนาวาติกันที่สอง]ในทำนองเดียวกันว่า “อาศัยความเชื่อและความนอบน้อมเชื่อฟังของท่าน [พระแม่มารีย์]จึงได้นำพาพระบุตรของพระบิดาให้เสด็จมายังโลกมนุษย์ ในการนี้ ท่านได้แสดงออกซึ่งความเชื่อที่ปราศจากด่างพร้อยใด ๆ กล่าวคือ ท่านมิได้เชื่อในถ้อยคำของอสรพิษแต่ก่อนเก่า หากแต่เชื่อในถ้อยคำของผู้นำสารจากพระเจ้า” (ข้อ 63) “จริงทีเดียวว่า พระศาสนจักรได้รำพึงไตร่ตรองถึงความเป็นผู้ศักดิ์สิทธ์ที่ซ่อนเร้นของแม่พระ รวมทั้งได้ถือเอาความรักของท่าน ตลอดจนการที่ท่านได้กระทำตามน้ำพระทัยของพระเจ้าพระบิดาอย่างซื่อสัตย์นั้น เป็นแบบอย่างของตน ในการนี้ พระศาสนจักรจึงน้อมรับพระวจนาตถ์ภายในความเชื่อ ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ทำให้พระศาสนจักรกลายเป็นมารดาด้วย พระศาสนจักรให้กำเนิดบรรดาบุตรชายหญิงผ่านการเทศน์สอน ทำให้พวกเขาเกิดมาเป็นบุตรของพระศาสนจักรภายในศีลล้างบาป ทำให้พวกเขาเป็นบุตรผู้ได้รับการปฏิสนธิในพระจิตเจ้าและบังเกิดจากพระเจ้า และทำให้พวกเขาได้มีชีวิตใหม่เป็นนิรันดร” (ข้อ 64)
พ่ออยากจะสรุปเรื่องนี้ด้วยการไตร่ตรองเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับชีวิตของพวกเราเอง ขอให้พวกเราสังเกตการที่พระคัมภีร์เน้นย้ำคำว่า “ตั้งครรภ์” และ “ให้กำเนิด” ในหนังสือประกาศกอิสยาห์มีถ้อยคำหนึ่งที่กล่าวว่า “หญิงสาวผู้หนึ่งจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชาย” (อสย. 7,14) ขณะที่ทูตสวรรค์ได้กล่าวกับพระเม่มารีย์ว่า “ดูเถิด ท่านจะตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง” (ลก. 1,31) ในอันดับแรก แม่พระได้ตั้งครรภ์ จากนั้นท่านจึงได้ให้กำเนิดพระเยซูเจ้า [กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า] เริ่มแรก แม่พระได้ต้อนรับพระเยซูเจ้าเข้ามายังภายในตัวตน จิตใจ และร่างกายของท่าน จากนั้นท่านจึงได้ให้กำเนิดพระองค์
เรื่องเดียวกันนี้ก็ใช้ได้กับพระศาสนจักรเช่นกัน เริ่มแรก พระศาสนจักรน้อมรับพระวาจาของพระเจ้าด้วยการรับฟังพระวาจาที่ตรัสกับพระศาสนจักร “อย่างอ่อนหวาน” (เทียบ ฮซย. 2,16) และทำให้พระศาสนจักรได้ “อิ่มท้อง” (เทียบ อสค. 3,3) อย่างที่พระคัมภีร์ได้ใช้ถ้อยคำเอาไว้ จากนั้น พระศาสนจักรจึงได้ทำให้พระวาจาบังเกิดขึ้นผ่านการเจริญชีวิตและการเทศน์สอน โดยหากไม่มีการกระทำอย่างแรก การกระทำอย่างหลังก็ย่อมจะเหี่ยวแห้งไร้ผล
เวลาที่พระศาสนจักรต้องเผชิญกับงานบางอย่างที่มากมายเกินกำลัง ก็อาจเกิดคำถามขึ้นมาโดยธรรมชาติว่า “เหตุการณ์นี้จะเป็นไปได้อย่างไร” (เทียบ ลก. 1,34) การนำเอาพระเยซูเจ้าและความรอดของพระองค์ไปประกาศให้แก่โลกนี้ที่ดูเหมือนจะเอาแต่แสวงหาแต่ความสุขสบาย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้จริงหรือ คำถามนี้มีคำตอบอยู่แล้วเช่นเดียวกับที่เคยมีมาแต่ก่อน กล่าวคือ “ท่านจะได้รับอานุภาพเมื่อพระจิตเจ้าจะเสด็จลงมาเหนือท่าน” (เทียบ กจ. 1,8) โดยหากปราศจากพระจิตเจ้า พระศาสนจักรก็ย่อมจะไม่อาจเดินหน้าไปได้ ไม่อาจเติบโตได้ และไม่อาจเทศน์สอนได้
สิ่งต่าง ๆ ที่มีกล่าวไว้เกี่ยวกับพระศาสนจักรโดยทั่วไป ล้วนเป็นสิ่งที่ใช้ได้สำหรับพวกเราแต่ละคนที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วเช่นกัน บางครั้งเมื่อพวกเราต้องพบเจอกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกินกำลังภายในชีวิตและสถานการณ์ต่าง ๆ เราก็อาจถามตัวเองว่า “แล้วเราจะรับมือกับเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร” เวลาที่เป็นแบบนี้ ย่อมเป็นการดีหากเราจะย้ำเตือนตนเองถึงสิ่งที่ทูตสวรรค์ได้กล่าวไว้กับแม่พระว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” (ลก. 1,37)
พี่น้องที่รัก ขอให้เราทั้งหลายกลับมาเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางของเรา โดยมีความเชื่อมั่นอยู่ในใจเสมอว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้” และหากว่าเราเชื่อเช่นนี้ เราทั้งหลายก็จะสามารถกระทำอัศจรรย์ได้ เพราะไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้ ขอขอบใจ
พระดำรัสทักทายพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปา
พ่อยังคงติดตามสถานการณ์ในตะวันออกกลางด้วยความกังวลอย่างยิ่ง และพ่อขอเรียกร้องอีกครั้งต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ขอให้พวกเขาอย่าทำให้ความขัดแย้งนี้ขยายวงกว้างออกไป และขอให้มีการหยุดยิงโดยทันทีในทุกสนามรบ โดยเริ่มจากที่กาซา ที่ซึ่งสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมกำลังเลวร้ายอย่างยิ่งจนไม่อาจทนรับต่อไปได้ พ่ออธิษฐานภาวนาขอให้การแสวงหาสันติภาพช่วยดับไฟแห่งความขัดแย้ง ขอให้ความรักเอาชนะความเกลียดชัง และขอให้การอภัยจงยุติการต่อสู้ล้างแค้น
พ่อขอให้ทุกคนร่วมใจกับพ่อในการอธิษฐานภาวนาเพื่อผู้คนที่ต่าง ๆ ที่กำลังทุกข์ทรมาน เช่น ยูเครน เมียนมา และซูดานด้วย ขอให้ผู้คนที่บอบช้ำจากสงครามได้มีสันติภาพโดยเร็วอย่างที่พวกเขาปรารถนา
ขอให้เราทั้งหลายจงร่วมใจภาวนาและร่วมมือกันพยายามเพื่อให้การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในภูมิภาคต่าง ๆ ของปากีสถานและอัฟกานิสถานจงหมดสิ้นไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง
พ่อขอต้อนรับอย่างอบอุ่นต่อบรรดาผู้แสวงบุญและผู้มาเยือนที่พูดภาษาอังกฤษซึ่งได้มาหาพ่อในวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มจากไอร์แลนด์ พ่อขอให้ลูกทุกคนตลอดจนครอบครัวของลูกได้รับความปีติยินดีและสันติสุขของพระเยซูคริสตเจ้า องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราทั้งหลาย ขอให้พระเจ้าทรงอวยพรลูกทุกคน
ท้ายสุด พ่อขอส่งความคิดถึงไปยังบรรดาเยาวชน บรรดาคนป่วย คนชรา และคนที่เพิ่งแต่งงาน เมื่อวานนี้พวกเราได้ฉลองการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงแสดงพระองค์อย่างรุ่งโรจน์ และยังเป็นวันสำหรับให้เราทั้งหลายระลึกถึงการจากไปของสมเด็จพระสันตะปาปานักบุญเปาโลที่หกด้วย ขอให้พระพักตร์อันส่องสว่างขององค์พระผู้เป็นเจ้าโปรดประทานความหวังและความบรรเทาใจให้แก่ลูกทุกคน
พ่อขออวยพรลูกทุกคน
สรุปการสอนคำสอนของพระสันตะปาปา
ในการเรียนคำสอนต่อจากนี้ พวกเราจะได้พิจารณาไตร่ตรองเกี่ยวกับบทบาทของพระจิตเจ้าในการไถ่กู้เราทั้งหลายให้รอด สภาสังคายนาในยุคแรก ๆ ได้ยืนยันถึงเทวภาพของพระจิตเจ้า และได้ยืนยันถึงกิจการของพระจิตเจ้าภายในการที่พระบุตรทรงรับสภาพมนุษย์ ตลอดจนได้รวบรวมสิ่งเหล่านี้ไว้ในบทสัญลักษณ์ข้อเชื่อ[จากสังคายนานิเชอา-คอนสแตนติโนเปิล] ซึ่งนอกจากสัญลักษณ์ข้อเชื่อนี้จะเป็นสิ่งที่คริสตชนทุกคนต่างประกาศยืนยันแล้ว คริสตชนคาทอลิกยังได้แสดงออกถึงความเชื่อในเรื่องนี้ผ่านการสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าว ซึ่งเป็นกิจศรัทธาแห่งการสวดภาวนาที่ได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างหนึ่งด้วย คำสอนเรื่องพระจิตเจ้าที่ได้รับการยึดมั่นรักษาไว้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันอันนี้ นอกจากจะสอนว่าพระแม่มารีย์เป็นเจ้าสาวของพระจิตเจ้าแล้ว ยังเป็นการสอนด้วยเช่นกันว่า แม่พระเป็นภาพที่สื่อล่วงหน้าถึงพระศาสนจักร ดังนั้น ถึงแม้ว่าคริสตชนจะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องท้าทายแบบใดในชีวิตก็ตาม แต่หากคริสตชนทุกคนน้อมรับและแบ่งปันพระวาจาของพระเจ้า เขาก็ย่อมจะสามารถสัมผัสถึงประสบการณ์อย่างเดียวกับแม่พระได้ว่า พระจิตเจ้าทรงกระทำกิจการเพื่อพระศาสนจักรทั้งมวล ดังที่ทูตสวรรค์ได้กล่าวไว้กับแม่พระว่า “ไม่มีสิ่งใดที่พระเจ้าจะทรงกระทำไม่ได้”
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และวรินทร เติมอริยบุตร แห่ง ม. จุฬาฯเก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปาฟราน