วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2567
  

สาส์นอภิบาลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย เรื่อง ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 “บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง”

สาส์นอภิบาลของสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ที่ สสท. 102/2024

เรื่อง ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 “บรรดาผู้จาริกแห่งความหวัง

24 ธันวาคม 2024 – 28 ธันวาคม 2025

ขอพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเรา  และจากพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราสถิตอยู่กับท่านทั้งหลาย

            พระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงออกประกาศสมณโองการให้ปี 2025 เป็นปีศักดิ์สิทธิ์  “ความหวังนี้ไม่ทำให้เราผิดหวัง” (SPES NON CONFUNDIT) (รม 5:5) เพื่อให้ ความหวัง เป็นสาระสำคัญของการเฉลิมฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 ที่จะมาถึงนี้
ที่จะไม่เพียงแค่การจาริกแสวงบุญไปยังกรุงโรมเพื่อรับประสบการณ์ปีศักดิ์สิทธิ์เท่านั้น แต่เป็นการเฉลิมฉลองในพระศาสนจักรท้องถิ่นของคริสตชน และให้ปีศักดิ์สิทธิ์เป็นช่วงเวลาแห่งการพบองค์พระเยซูเจ้าเป็นส่วนตัวอย่างแท้จริงสำหรับทุกคน เพราะพระองค์ทรงเป็น “ประตู”  แห่งความรอดพ้นของเรา (เทียบ ยน 10:7,9) และพระศาสนจักรมีพันธกิจต้องประกาศในทุกหนแห่ง และแก่ทุกคนเสมอว่า พระเยซูเจ้าทรงเป็นองค์ “ความหวังของเรา” (1 ทธ 1:1) (เทียบ Spes non confundit, 1) ซึ่งจะเป็นการนำทางเราก้าวสู่การเฉลิมฉลองครั้งสำคัญ คือในปี 2033 จะเป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบสองพันปีแห่งการไถ่บาป ซึ่งสำเร็จสมบูรณ์ด้วยพระมหาทรมาน การสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้า เพื่อเป็นโอกาสให้คริสตชนมุ่งหน้าก้าวเดินไปอย่างมั่นคงด้วยความเชื่อ กระตือรือร้น และมั่นคงในความหวัง (เทียบ 1 ธส 1:3) (ข้อ 6)

            ในปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 นี้ พระศาสนจักรจึงต้องเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังที่จับต้องได้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนยากจน  สำหรับผู้ที่ประสบความยากลำบากทุกรูปแบบ และการปกป้องสิทธิสำหรับผู้ที่อ่อนแอที่สุดเสมอ อาทิ ผู้ถูกคุมขัง ผู้ป่วย ผู้อพยพ  (ดูข้อ 10-15) นอกจากนี้ปีศักดิ์สิทธิ์เตือนเราให้เป็นผู้แบ่งปันตามความยุติธรรม เพราะทรัพยากรบนโลกนี้ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้สำหรับอภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่คน แต่สำหรับทุกคน (ดู ข้อ 16-17)

            ดังนั้นสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย จึงเสนอแนวทางอภิบาล เพื่อให้คริสตชนคาทอลิกในประเทศไทย ร่วมก้าวเดินไปด้วยกัน ในปีศักดิ์สิทธิ์ 2025  ให้ตระหนักว่าชีวิตคือการเดินทาง ที่เรียกร้องให้มีช่วงเวลาเข้มข้นมากขึ้นในการส่งเสริม รักษาความหวัง (ข้อ 5) และหยั่งรากลึกในความหวังในพระเมตตาอันไร้ขอบเขตของพระเจ้า ผ่านทาง “พระคุณการุณย์” และศีลแห่งการคืนดี ซึ่งเป็นของประทานฝ่ายวิญญาณอันงดงาม เพื่อลิ้มรสการให้อภัยของพระองค์ ยอมให้พระเจ้าทรงรักษาใจเรา เลี้ยงดูเรา และโอบกอดเรา (ข้อ 22-23)


            สภาพระสังฆราชฯ จึงเห็นควรให้มีการดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ให้มีคณะกรรมการดำเนินงาน ใน 2 ระดับ

            โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการระดับส่วนกลาง (ระดับสภาพระสังฆราช) เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้อง นำเสนอแนวทางการทำงานร่วมกับสังฆมณฑลต่าง ๆ อย่างเป็นเอกภาพ และให้มีคณะกรรมการดำเนินงานในระดับสังฆมณฑล เพื่อให้มีการดำเนินการสอดประสานกับแนวทางของคณะกรรมการอำนวยการส่วนกลาง และนำแนวทางการปฏิบัติในปีศักดิ์สิทธิ์ไปทำให้เกิดผลในระดับพระศาสนจักรท้องถิ่นอย่างแท้จริง

  • การเตรียมจิตใจสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ 

            เป็นโอกาสที่พระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศไทย เฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี แห่งการถวายมิสซังไทยแด่แม่พระ เป็นการอธิษฐานภาวนาและเตรียมจิตใจเป็นพิเศษสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้คริสตชนศึกษาเอกสารของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ได้แก่ 1. สังฆธรรมนูญว่าด้วยพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ (Sacrosanctum Concilium)  2. พระธรรมนูญด้านพระธรรม กล่าวถึงพระศาสนจักร (Lumen Gentium)  3. สังฆธรรมนูญว่าด้วยการเผยความจริงของพระเจ้า (Dei Verbum) และ
4. สังฆธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Gaudium Et Spes) ทั้งระดับส่วนตัว และระดับหน่วยงานและองค์กร 

  • กิจกรรมสำคัญต่าง ๆ  ที่พระศาสนจักรท้องถิ่นต้องมีส่วนร่วมอย่างมีชีวิตชีวา   

            3.1 พิธีเปิดปีศักดิ์สิทธิ์ พิธีเปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปา
ฟรานซิส ทรงกำหนดไว้ในสมณโองการปีศักดิ์สิทธิ์ (Spes non confundit) ว่าปีศักดิ์สิทธิ์จะเปิดในวันที่ 24 ธันวาคม 2024 เป็นวันสมโภชพระคริสตสมภพ ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน และ พิธีเปิดโอกาสฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ ในระดับสังฆมณฑล ให้กระทำใน วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2024 โอกาสฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ โดยจัดพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างสง่างามในอาสนวิหาร โดยมีพระสังฆราชเป็นประธาน ในรูปแบบของ Stational Mass  และพยายามให้สัตบุรุษทุกคนในสังฆมณฑลสามารถมาร่วมในพิธีด้วย  

            3.2 พิธีปิดปีศักดิ์สิทธิ์  ปีศักดิ์สิทธิ์ จะสิ้นสุดลงด้วยการปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ ในระดับพระศาสนจักรสากลจะปิดประตูศักดิ์สิทธิ์ ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน ในวันที่ 6 มกราคม 2026 ซึ่งเป็นวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ส่วนพิธีปิดปีศักดิ์สิทธิ์ ในพระศาสนจักรท้องถิ่น ให้กระทำใน วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม 2025  โอกาสฉลองครอบครัวศักดิ์สิทธิ์ โดยจัดพิธีบูชาขอบพระคุณอย่างสง่างามในอาสนวิหาร พระสังฆราชเป็นประธาน ในรูปแบบของ Stational Mass และพยายามให้สัตบุรุษทุกคนในสังฆมณฑลสามารถที่จะร่วมด้วย เพื่อเป็นโอกาสที่จะขอบพระคุณองค์พระผู้เป็นเจ้าสำหรับทุกสิ่งที่ได้ทรงกระทำในปีพิเศษนี้  

            (โปรดดูรายละเอียดพิธีกรรมใน คู่มือพิธีกรรมสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์)

  • สถานที่เพื่อการแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ในสังฆมณฑล

            พระสังฆราชท้องถิ่นเป็นผู้ประกาศให้อาสนวิหาร เป็นสถานที่เพื่อการแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์ และกำหนดให้วัด สักการสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังฆมณฑล เป็นสถานที่เพื่อการแสวงบุญอันศักดิ์สิทธิ์

  • การมอบพระคุณการุณย์ในปีศักดิ์สิทธิ์ 2025

            ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระสันตะปาปา โดยสำนักงานศาลพระศาสนจักรว่าด้วยชีวิตภายใน ออกระเบียบ 
ว่าด้วยการมอบพระคุณการุณย์ระหว่างปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เพื่อให้บรรดาสัตบุรุษสามารถใช้ประโยชน์จาก กฎเกณฑ์และแนวทางในการรับพระคุณการุณย์ และทำให้การรับพระคุณการุณย์ในปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 นี้ เกิดผลฝ่ายวิญญาณมากที่สุด (Spes non confundit ข้อ 23) โดยพระสังฆราชประจำสังฆมณฑลทุกองค์ และบรรดาผู้มีสิทธิเทียบเท่า สามารถมอบพระพรของสมเด็จพระสันตะปาปา (Papal Blessing) พร้อมกับพระคุณการุณย์ครบบริบูรณ์ที่ผนวกอยู่ ซึ่งสัตบุรุษทุกคนที่ได้รับพระพรดังกล่าวนี้จะสามารถรับได้ภายใต้เงื่อนไขปกติ ในวันที่เหมาะสมของช่วงเวลาปีศักดิ์สิทธิ์ ในโอกาสของการเฉลิมฉลองใหญ่ในอาสนวิหารและในแต่ละวัดที่กำหนดไว้สำหรับปีศักดิ์สิทธิ์

            นอกนั้น สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเชิญชวนบรรดาพระสังฆราชประมุขท้องถิ่น ได้มอบให้บรรดาพระสงฆ์อาวุโสประจำอาสนวิหาร บรรดาพระสงฆ์ในอาสนวิหาร ในวัด และธรรมทูตแห่งพระเมตตา ฟังการสารภาพบาปของบรรดาสัตบุรุษมีอำนาจปฏิบัติปกติโดยหน้าที่ในการให้อภัย  ในขอบเขตภายในของศีลศักดิ์สิทธิ์  แก่ผู้ที่ต้องโทษทันทีตามกฎหมายที่มิได้ประกาศและที่มิได้สงวนไว้แก่สันตะสำนัก (internal forum) ตามอำนาจที่กำหนดไว้ในมาตรา 508 §1 ของประมวลกฎหมายพระศาสนจักร  เพื่อให้การเข้าถึงศีลอภัยบาป และการรับศีลอภัยบาปจากพระเจ้า โดยผ่านทางอำนาจอาชญาสิทธิ์ (Power of Keys) เป็นไปได้โดยง่าย

            สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเตือนบรรดาพระสงฆ์ทุกองค์ให้มีใจกว้างและเสียสละในการเปิดโอกาสให้กว้างขวางแก่บรรดาสัตบุรุษ เมื่อใดก็ตามที่คนบาปมาหาด้วยใจที่เปิดกว้างและด้วยใจสำนึกผิด (ดู Spes non confundit ข้อ 23)  ให้ได้รับประโยชน์จากเครื่องมือของความรอดพ้น โดยกำหนดและประกาศตารางเวลาสำหรับการฟังแก้บาป โดยจัดให้มีการประกอบพิธีศีลอภัยบาปเป็นระยะตามกำหนดเวลาหรือบ่อยๆ และขอเชิญชวนบรรดาพระสังฆราช ได้เอาใจใส่ที่จะอธิบายอย่างชัดเจนเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและหลักการที่เสนอไว้ เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของบรรดาสัตบุรุษ โดยคำนึงเป็นพิเศษถึงสภาวะการณ์ด้านสถานที่  ด้านวัฒนธรรม และด้านขนบประเพณี

            (โปรดศึกษารายละเอียด ในเอกสารแนบ ระเบียบว่าด้วยการมอบพระคุณการุณย์ระหว่างปีศักดิ์สิทธิ์ 2025)

            โดยผ่านทาง พระมารดามารีย์ ผู้ทรงรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ทั้งกายและวิญญาณ ผู้ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศไทย เราได้พบประจักษ์พยานสูงสุดแห่งความหวังของเรา พระนางทรงกลายเป็นมารดาแห่งความหวังของเรา โปรดทรงช่วยเสนอวิงวอนแทนเรา ทรงค้ำจุนเรา และกระตุ้นให้เราพากเพียรด้วยความหวังและความไว้วางใจ (ข้อ 24) เพื่อทำให้ปีศักดิ์สิทธิ์ที่จะมาถึงนี้ เป็นปีศักดิ์สิทธิ์ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง และเพื่อเราทุกคนได้จะเป็นเครื่องมือแห่งความหวัง เป็นเชื้อแป้งแห่งความหวังที่แท้จริงสำหรับโลกของเรา ในการส่งเสริมศักดิ์ศรีของทุกคน เคารพต่อสิ่งสร้าง ซึ่งเป็นของขวัญจากพระเจ้า (ดู Spes non confundit ข้อ 25)

ขอพระเจ้าทรงอำนวยพระพรทุกท่าน

( บิชอป ยอแซฟ ชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ )

ประธานสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย

ประกาศ ณ วันที่ 8 กันยายน 2024

โอกาสฉลองแม่พระบังเกิด

เอกสารประกอบ

  1. สมณโองการปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 “ความหวังนี้ ไม่ทำให้เราผิดหวัง” (Spes non confundit)
    1. คู่มือพิธีกรรมสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ 2025
    1. ระเบียบการว่าด้วยการมอบพระคุณการุณย์ ระหว่างปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 โดยพระสันตะปาปาฟรานซิส

Download PDF