“พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาอย่างร้อนรนต่อพระเจ้า” (กจ. 12: 5)
สักการะสถานทั่วโลกเชิญชวนประชาสัตบุรุษในช่วงเดือนพฤษภาคมร่วมใจกันสวดสายประคำ วิงวอนพระแม่เมตตาหยุดยั้งโรคระบาด เพื่อที่พวกลูกจะสามารถดำเนินชีวิตตามปกติ
แถลงการณ์จากนครรัฐวาติกัน
เพื่อตอบสนองต่อความปรารถนาอันร้อนรนของพระสันตะปาปาฟรานซิสที่ทรงปรารถนาจัดให้เดือนพฤษภาคม เป็นเดือนแห่งการอธิษฐานภาวนาแบบ “มาราธอน” เพื่อวิงวอนพระเจ้าผ่านทางพระแม่มารีย์ ขอให้โรคระบาดสิ้นสุดลง ซึ่งโควิด19 ได้ก่อผลกระทบอย่างรุนแรงให้กับมนุษยชาติเกินกว่าปีแล้ว พร้อมกับขอให้พวกเราสามารถดำเนินชีวิตได้ตามวิถีปกติ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงปรารถนาที่จะประสานกับสักการะสถานทุกแห่งทั่วโลก โดยมีส่วนร่วมในความคิดริเริ่มนี้เพื่อที่จะสามารถเป็นเครื่องมือแห่งการอธิษฐานภาวนาของพระศาสนจักรทั้งมวล ความคิดริเริ่มนี้ได้มาจากข้อความในพระคัมภีร์ที่ว่า “พระศาสนจักรอธิษฐานภาวนาด้วยใจร้อนรนต่อพระเจ้า” (กจ. 12: 5)
สมณสภาเพื่อส่งเสริมการประกาศพระวรสารในยุคใหม่ ที่ได้รับมอบหมายจากพระสันตะปาปาฟรานซิสให้ทำหน้าที่ประสานและดำเนินการในเรื่องนี้ โดยเชื้อเชิญไปยังทุกการะสถานทั่วโลกเพื่อส่งเสริมเผยแพร่ความคิดริเริ่มนี้ในภูมิภาคของตนเอง เพื่อเข้าถึงบรรดาศาสนบริกรบาดหลวง นักบวชชายหญิง ผู้ฝึกหัด ครอบครัวและประชาสัตบุรุษเพื่อชักชวนบรรดาลูก ๆ เยาวชนให้ร่วมใจกันสวดภาวนาวิงวอน และมอบความหวัง ความไว้วางใจไว้กับพระแม่มารีย์พรหมจารี การสวดสายประคำประจำทุกวันตลอดเดือนพฤษภาคม มีจุดประสงค์แต่ละวันแตกต่างกัน เช่นสำหรับสัตบุรุษที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกล่าวอำลากับคนที่ตนรัก สำหรับผู้ที่รักษาพยาบาลผู้ป่วย สำหรับคนยากจน คนที่ไม่มีบ้าน คนที่ประสบกับความยุ่งยากในเรื่องของเศรษฐกิจ และคนที่ตายไปแล้ว นี่คือความตั้งใจบางประการที่จะเป็นเป้าหมายการภาวนาของพวกเราต่อพระแม่มารีย์
สักการะสถานแต่ละแห่งทั่วโลกได้รับการเชิญให้สวดภาวนาในภาษาและวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันในท้องถิ่นโดยวิงวอนให้ชีวิตสังคม การทำงาน และกิจกรรมอื่นๆที่ถูกระงับไปในช่วงที่เกิดโรคระบาดจะได้กลับเข้าสู่สภาพเดิม การอุทธรณ์นี้ต้องการสร้างบรรยากาศการวิงวอนที่ไม่ขาดสาย ซึ่งกระจายไปทั่วทุกมุมโลกที่เกิดจากพระศาสนจักรทั้งมวลกับพระบิดา โดยอาศัยการวิงวอนของพระแม่มารีย์พรหมจารี ด้วยเหตุนี้สักการะสถานต่างๆ จึงถูกขอร้องให้ช่วยกันส่งเสริมและรณรงค์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยให้ประชาสัตบุรุษมีส่วนร่วมเพื่อทุกคนจะได้อุทิศเวลาให้กับการสวดภาวนาประจำวันไม่ว่าจะเป็นในรถหรือบนท้องถนน และพวกเราต้องขอบคุณเทคโนโลยีของการสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟนที่ช่วยกันรณรงค์ยุติโรคระบาด เพื่อที่จะมีวิถีชีวิตสังคมและการงานเหมือนเดิม
พระสันตะปาปาฟรานซิสจะเป็นผู้เปิดและปิดการสวดภาวนาพร้อมกับประชาสัตบุรุษทั่วโลกจากสถานที่สำคัญสองแห่งในนครรัฐวาติกัน กล่าวคือ วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม 2021 พระองค์จะทรงอธิษฐาน ณ วัดแม่พระเป็นที่พึ่ง ซึ่งมีภาพ “ไอคอน”ที่ได้รับการเคารพนับถือมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งประดิษฐานอยู่เหนือพระแท่นนักบุญเลโอ ซึ่งอยู่ใกล้กับมุขตอนใต้ของมหาวิหารวาติกันเดิม ต่อมาได้มีการย้ายพระรูปไอคอนดังกล่าวมาไว้ในพระวิหารนักบุญเปโตรที่สร้างโดยพระสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ XIII ในปี 1578 ณ วัดน้อยเกรโกเรี่ยนซึ่งพระธาตุของนักบุญเกรโกรี่แห่งนาซีอานซุส นักปราชญ์และปิตาจารย์แห่งพระศาสนจักรถูกบรรจุไว้ที่นั้น ในปี 2013 ช่วงเปิดปีแห่งความเชื่อรูปไอคอนมีการบูรณะขึ้นใหม่ ตั้งแต่มีการบูรณะฟื้นฟูครั้งแรกโดยพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งในขณะนั้นพระองค์เพิ่งได้รับการสถปานาเป็นพระสันตะปาปาใหม่ๆ คำว่า “SVCCVRRE NOS และ FRANCISCVS PP. A. I.” ถูกสลักไว้ใต้รูปไอคอนนี้ จึงเท่ากับเป็นการมอบพระสันตะปาปาให้แด่แม่พระเป็นที่พึ่งพิง
พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงถวายพระเกียรติแด่แม่พระเป็นที่พึ่งพิง
ในโอกาสนี้พระสันตะปาปาจะทรงอวยพรเสกสายประคำพิเศษเพื่อใช้ในเหตุการณ์นี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะส่งไปยังสักการะสถานที่เกี่ยวข้อง 30 แห่ง หลายครอบครัวจากวัดในกรุงโรมและเขตจังหวัดลาซีโอจะมีส่วนร่วมในการอ่านและการนำการสวดสายประคำพร้อมกับเยาวชนที่เป็นตัวแทนของกระบวนการประกาศพระวรสารยุคใหม่ และในวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม 2021 พระสันตะปาปาฟรานซิสจะทรงปิดการสวดภาวนาแบบ “มาราธอน” จากสวนพฤกษชาติวาติกัน ซึ่งจะมีการแถลงข่าวรายละเอียดต่อไป บุคคลพิการหูหนวกและเป็นใบ้จะเข้าร่วมถึงทั้งสองเหตุการณ์นี้ได้โดยอาศัยการแปลด้วยภาษามือ
สักการะสถานจะมีดังนี้
วันที่ | ขื่อ สักการะสถาน/ประเทศ | จุดประสงค์การภาวนาแต่ะวัน |
---|---|---|
วันเปิด 1 พ.ค. | มหาวิหารนักบุญเปโตร นครรัฐวาติกัน | สำหรับมนุษยชาติทั้งโลกที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด |
1 | พระมารดาแห่งวาลซิงแฮม (อังกฤษ) | สำหรับทุกคนที่ล่วงลับจากติดเชื้อโรค |
2 | พระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่ และ พระมารดา มารีย์ (ไนจีเรีย) | สำหรับบุคคลที่ไม่มีโอกาสกล่าวคำอำลากับผู้ที่ล่วงลับและบุคคลที่ตนรัก |
3 | พระมารดาแห่งเชสโตโชวา (โปแลนด์) | สำหรับบุคคลที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัส และผู้ป่วยทุกคน |
4 | อาสนวิหารทูตสวรรค์แจ้งข่าว (อิสราแอล) | สำหรับสุภาพสตรีที่ตั้งครรภ์ และเด็กน้อยในครรภ์ |
5 | พระมารดาพรหมจารีแห่งสายประคำ (เกาหลีใต้) | สำหรับเด็ก ๆ และ บรรดาเยาวชน |
6 | พระมารดาแห่งอาปาเรชิดา( บราซิล) | สำหรับบรรดาหนุ่มสาว |
7 | พระมารดาแห่งสันติสุขและการเดินทางอย่างดี (ฟิลิปปินส์) | สำหรับทุก ๆ ครอบครัว |
8 | พระมารดาแห่งลูจาน อาร์เจนตินา | สำหรับบุคคลที่ทำงานด้านสื่อสังคม |
9 | บ้านศักดิ์สิทธ์ของแม่พระ โลเรโต (อิตาลี) | สำหรับบรรดาผู้อาวุโส ผู้สูงวัย |
10 | พระมารดาแห่งเมืองน็อค ไอร์แลนด์ | สำหรับบุคคลพิการทุกคน |
11 | พระมารดาพรหมจารีแห่งคนยากจน (เบลเยี่ยม) | สำหรับคนยากจน คนไร้ที่พึ่ง ไร้ที่อยูอาศัย และบุคคลเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ |
12 | พระมารดาแห่งอาฟริกา (อัลจีเรีย) | สำหรับบุคคลที่ถูกทอดทิ้งอยู่คนเดียวและบุคคลที่สิ้นความหวัง |
13 | พระมารดาพรหมจารีแห่งสายประคำ (ปอร์ตุเกส) | สำหรับบรรดาผู้ต้องกัก ณ เรือนจำต่างๆ |
14 | พระมารดาแห่งสุขภาพพลานามัย (อินเดีย) | สำหรับบรรดานักวิทยาศาสตร์ และผู้ทำงานสถาบันวิจัยทางการแพทย์ |
15 | พระมารดาราชินีแห่งสันติสุข (บอสเนีย) | สำหรับบรรดาผู้อพยพลี้ภัย |
16 | อาสนวิหารพระแม่มารีย์ (ออสเตรเลีย) | สำหรับผู้เคราะห์ร้ายจากการใช้ความรุนแรง และจากการค้ามนุษย์ |
17 | พระมารดาผู้ปฏิสนธินิรมล (สหรัฐอเมริกา) | สำหรับผู้นำประเทศต่าง ๆ และ บรรดาหัวหน้าองค์กรระหว่างประเทศ |
18 | พระมารดาแห่งเมืองลูร์ดส์ (ฝรั่งเศส) | สำหรับคณะแพทย์และพยาบาล |
19 | บ้านของแม่พระ (ตุรกี) | สำหรับประชาชนที่ผจญกับภัยสงคราม และเพื่อสันติภาพในโลก |
20 | พระมารดาแห่งความรัก ณ เมืองคอปเปอร์ (คิวบา) | สำหรับบรรดาเภสัชกร และคณะเวชบุคคล |
21 | พระมารดาแห่งเมืองนางาซากิ (ญี่ปุ่น) | สำหรับผู้ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ |
22 | พระมารดาแห่งมอนท์เซรัท (สเปน) | สำหรับบรรดาจิตอาสา |
23 | พระมารดาแห่งเมืองแคป (แคนาดา) | สำหรับบุคลากรด้านกฎหมายแห่งสภาพแวดล้อมและทางด้านกทารทหาร และ ผู้ต่อต้านอัคคีภัย |
24 | (สักการะสถานยังไม่ได้ยืนยัน) | สำหรับบุคคลผู้ช่วยจัดเตรียมสิ่งจำเป็นในการบริการสังคม |
25 | อาสนวิหารพระมารดาพรหมจารีแห่งตาปินู (มอลต้า) | สำหรับคณะครู คณาจารย์ นักเรียน นักศึกษาและผู้ประสาทความรู้ |
26 | พระมารดาแห่งกวาดาลูเป้ (เม็กซิโก) | บรรดาผู้ใช้แรงงานและนักธุรกิจลงทุน |
27 | พระมารดาพระเจ้า (ยูเครน) | สำหรับผู้ที่ตกงาน |
28 | พระมารดาพระองค์ดำแห่งอัลต็อตติ่ง (เยอรมานี) | สำหรับพระสันตะปาปา คณะบิชอป บรรดาศาสนบริกรบาดหลวง สังฆานุกร |
29 | พระมารดาแห่งเลบานอน (เลบานอน) | สำหรับผู้ถวายตัวทั้งชายและหญิง |
30 | พระมารดาพรหมจารีแห่งสายประคำศักดิ์สิทธิ์ แห่งเมืองปอมเปอี (อิตาลี) | สำหรับพระศาสนจักร |
31 | ณ บริเวณสวนของวาติกัน | สำหรับการสิ้นสุดของโรคระบาด และเพื่อการกลับมาดำเนินชีวิตในสังคมตามวิถีชีวิตปกติ |
สักการะสถานทั้ง 30 แห่งที่กระจายอยู่ทั่วโลก ได้ถูกเลือกให้เป็นผู้แทนในการสวดภาวนาสายประคำต่อแม่พระวันละแห่งตลอดเวลา 30 วัน
สถานีโทรทัศน์แห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกันจะถ่ายทอดการสวดภาวนาในแต่ละวัน ในสักการระสถานทั้ง 30 แห่งเวลา 6.00 โมงเย็นตามเวลาแห่งกรุงโรม (หรือเวลา 23.00 น. เวลาในประเทศไทย) ซึ่งจะมีการเตรียมวจนพิธีกรรมสั้นๆ เป็นข้อเสนอที่เป็นประโยชน์สำหรับการแบ่งปันกันในแต่ละชุมชน คำแนะนำจะมีทั้งภาษาอิตาเลียน ภาษาอังกฤษ และภาษาสเปนิช ซึ่งสามารถดาวน์โลดได้จากเว็บไซต์ของสมณสภาเพื่อส่งเสริมการประกาศพระวรสารยุคใหม่
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บข่าวคราวการสวดสายประคำในเดือนพฤษภาคมมาแบ่งปันและร่วมใจปฏิบัติ)