วันเสาร์, 11 มกราคม 2568
  

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสกับผู้สูงอายุ “พระเจ้าทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาบรรเทาความเหงาของลูก”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสให้ความมั่นใจกับผู้สูงอายุว่าพระเจ้าประทับอยู่กับพวกเขาเสมอ ในสาส์นของพระองค์สำหรับวันผู้สูงอายุสากลครั้งที่หนึ่ง พระองค์ทรงเตือนใจถึงกระแสเรียกของพวกเขาที่ต้องดำรงไว้ซึ่งรากเหง้าของพวกเราและส่งมอบความเชื่อสู่ลูกหลานต่อไป

        วันที่ 22 มิถุนายน 2021 พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงออกสาส์นวันผู้สูงอายุสากลครั้งแรก ซึ่งจะรำลึกถึงเป็นพิเศษในวันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม 2021หัวข้อที่พระสันตะปาปาทรงเลือกเป็นคำขวัญคือ “เราจะอยู่กับท่านเสมอ” (มธ. 28: 30)

        พระสันตะปาปาฟรานซิสเลือกหัวข้อนี้จากพระวรสารโดยนักบุญมัทธิวถึงบรรดาปู่ย่าตายายและผู้สูงอายุโดยเตือนใจเขาเหล่านั้นว่า นี่คือคำสัญญาของพระเยซูคริสต์ที่ให้ไว้กับบรรดาศิษย์ของพระองค์ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสวรรค์

        “พระศาสนจักรทั้งมวลอยู่ใกล้ชิดกับพวกลูก – กับพวกเราทุกคน – เอาใจใส่พวกลูก รักพวกลูก และไม่ปล่อยพวกลูกไว้ให้อยู่ตามลำพัง” สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสเช่นนี้โดยถือว่าพระองค์เองก็เป็นผู้สูงอายุคนหนึ่งในหมู่พวกเขา

ความบรรเทาใจท่ามกลางโรคระบาด

        สาส์นของพระสันตะปาปาฟรานซิสออกมาในช่วงที่มีการท้าทายจากการแพร่โรคระบาดโควิด19 ที่ส่งผลกระทบกับทุกคน พระองค์ตรัสว่าหลายคน “ล้มป่วย หลายคนสูญเสียชีวิต หรือมีประสบการณ์กับความตายของคู่ชีวิตหรือคนที่ตนรัก ส่วนคนอื่นๆ ก็พบว่าตนเองถูกทอดทิ้งเป็นเวลานาน”

        สมเด็จพระสันตะปาปาตรัสว่า “พระเยซูคริสต์ทรงรับรู้อย่างดีถึงทุกสิ่งที่พวกเราต้องเผชิญในช่วงนี้ที่เกิดการแพร่โรคระบาด พระองค์ทรงประทับอยู่อย่างใกล้ชิดกับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองอยู่โดดเดี่ยวตามลำพัง ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ยิ่งวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงที่เกิดการติดเชื้อโรค” เมื่อกล่าวถึงประเด็นนี้พระองค์ทรงเตือนใจให้พวกเราคิดถึงเรื่องของนักบุญโยอากิมคุณปู่ของพระเยซูคริสต์ ซึ่งตามกิตติศัพท์ที่เล่าสืบต่อกันมาท่านได้รับความบรรเทาจากทูตสวรรค์ของพระเจ้าเมื่อท่านถูกทอดทิ้งจากผู้ที่อยู่รอบตัวท่าน

พระเยซูคริสต์ทรงส่งทูตสวรรค์เป็นทูตผู้บรรเทาโดยอาศัยพระวาจาของพระองค์

        แม้ในยามที่มืดมนที่สุดพระเยซูคริสต์ทรงส่งทูตสวรรค์ของพระองค์มาบรรเทาความเหงาของพวกเราและทรงเตือนใจพวกเราว่าพระองค์ประทับอยู่กับพวกเราเสมอ

        พระองค์ตรัสต่อไปว่าทูตสวรรค์เหล่านี้ในทุก ๆ ขณะจะมีลักษณะโฉมหน้าของลูกหลานของพวกเราและในบางครั้งเป็น “ใบหน้าของสมาชิกในครอบครัว เพื่อนคู่หู หรือบุคคลที่พวกเรารู้จักมักคุ้น ในช่วงเวลานี้เมื่อพวกเราเรียนรู้ว่าการสวมกอด และการเยี่ยมเยียนกันนั้นมีสำคัญสักเพียงใดสำหรับพวกเราแต่ละคน”

        ในขณะเดียวกัน พระเยซูคริสต์ยัง “ส่งทูตสวรรค์มายังพวกเราโดยอาศัยพระวาจาของพระองค์ซึ่งจะอยู่ใกล้ตัวพวกเราเสมอ” ซึ่งเชื้อเชิญผู้สูงอายุให้ “พยายามอ่านพระวรสารทุกวัน ให้สวดภาวนาจากบทเพลงสดุดี หรืออ่านข้อเขียนของบรรดาประกาศก” พระสันตะปาปาตรัสเพิ่มเติมว่า “พระคัมภีร์จะช่วยให้พวกเราเข้าใจสิ่งที่พระเยซูคริสต์ทรงขอร้องสิ่งใดจากชีวิตของพวกเราในวันนี้ เพราะในทุกชั่วโมงของวันและในช่วงทุกเทศกาลของชีวิตพระองค์ยังคงส่งคนงานมาในไร่องุ่นของพระองค์”

กระแสเรียกของผู้สูงอายุ

        พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงอ้างถึงพระดำรัสของพระเยซูคริสต์กับบรรดาศิษย์เมื่อพระองค์ทรงขอร้องให้พวกเขา “เพราะฉะนั้นท่านจงไปทำให้ทุกชาติทุกภาษาเป็นศิษย์ของเรา จงล้างบาปพวกเขาในพระนามพระบิดาพระบุตรและพระจิต จงสอนพวกเขาให้ปฏิบัติตามทุกสิ่งที่เราสอนท่าน” (มธ 28: 19-20)

        เมื่อกล่าวคำปราศรัยเหล่านี้กับผู้สูงอายุแล้วพระองค์จึงชี้ให้พวกเขาเห็นว่าสิ่งนี้จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่าพวกเขาก็มีกระแสเรียก “ที่จะรักษารากเหง้าของพวกเราไว้ แล้วส่งความเชื่อต่อไปยังยังลูกหลานและเอาใจใส่ดูแลเด็ก ๆ” โดยไม่ต้องคำนึงถึงอายุอานามของพวกเขาว่าจะอยู่ตามลำพังหรือมีครอบครัว พวกเขามีงานทำหรือไม่มีงานทำ พวกเขาเป็นคณตาคุณยายหรือไม่เป็น  สมเด็จพระสันตะปาปาทรงให้ความสำคัญว่าทุกคนไม่มีอายุเกษียณจากการประกาศพระวรสารและการถ่ายทอดธรรมประเพณีต่อไปยังลูกหลาน

        พระสันตะปาปาตรัสว่า นอกเหนือจากสนับสนุนผู้สูงอายุ “ให้ออกไปทำบางสิ่งบางอย่างที่ใหม่” แม้ท่ามกลางความสงสัยและคำถามที่พวกเขาอาจมีก็ได้ พระองค์ก็ยังทรงเตือนใจพวกเขาว่าพระเยซูคริสต์ทรงได้ฟังคำถามทำนองนี้มาก่อนเมื่อนิโคเดมัสถามพระองค์ว่า “คนเราจะเกิดใหม่ได้อย่างไรเมื่อเขาชราแล้ว” (ยน 3: 4) นี่อาจเป็นไปได้ “หากพวกเราเปิดใจสู่การกระทำของพระจิตผู้ทรงพลัดพระพายไปในที่ซึ่งพระองค์ทรงมีพระประสงค์”

การออกจากวิกฤติ

        การไตร่ตรองถึงความพยายามร่วมมือกันที่จะยุติโรคระบาด สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงย้ำว่าพวกเราจะไม่หลุดพ้นจากวิกฤติปัจจุบัน แล้วกลับไปเป็นเหมือนเดิมอย่างที่พวกเราเคยเป็น ซึ่งมีเพียงสองหนทางคืออาจจะจะดีขึ้นหรืออาจจะย่ำแย่ลง พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตว่า “ไม่มีผู้ใดสามารถเอาตัวรอดได้เพียงตามลำพังคนเดียว” เราทุกคนต่างเป็นหนี้ซึ่งกันและกันเพราะว่า “พวกเราทุกคนต่างก็เป็นพี่เป็นน้องกัน”

        พระองค์ทรงกล่าวต่อไปในประเด็นนี้โดยยืนยันว่าสำหรับผู้สูงอายุ “จะต้องสร้างมิตรภาพสังคมที่เป็นพี่น้องกันและสร้างโลกสำหรับอนาคต พร้อมกับบรรดาลูกหลานและปู่ย่าตายาย ที่จำเป็นต้องดำเนินชีวิตต่อไปเมื่อพายุแห่งชีวิตสงบลง”

        พระสันตะปาปาทรงกล่าวย้ำว่าพวกเราทุกคนต้อง “มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการฟื้นฟูสนับสนุนสังคมที่มีปัญหาของพวกเรา” รวมทั้งผู้สูงอายุให้ดีกว่าผู้อื่น นี่จะเป็นการช่วยสร้างเสาหลักสามต้นที่ค้ำยัน “อาคารหลังใหม่นี้” นั่นคือความฝัน ความทรงจำ และการสวดภาวนา

ความฝัน ความทรงจำ และการสวดภาวนา

        เมื่อคิดถึงคำพูดของประกาศกโจเอล “คนชราของท่านจะมีความฝัน และคนหนุ่มสาวของท่านจะมีวิสัยทัศน์” (จอล. 3: 1) พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่าอนาคตของโลกขึ้นกับพันธสัญญาระหว่างคนหนุ่มสาวกับผู้สูงอายุ เพราะว่า “ใครล่ะ ถ้าหากไม่ใช่คนหนุ่มสาวที่สามารถสานฝันของผู้สูงอายุให้กลายเป็นของจริง?”

        เพื่อให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้ “จำเป็นที่พวกเราต้องสานความฝันกันต่อไป” พระสันตะปาปาตรัสเสริมอีกว่า “ฝันถึงความยุติธรรม สันติสุข ความเอื้ออาทร สามารถทำให้ทุกสิ่งเป็นไปได้สำหรับคนหนุ่มสาวเพื่อที่จะมีวิสัยทัศน์ใหม่ โดยอาศัยการทำเช่นนี้ด้วยกัน พวกเราจึงสามารถที่จะสร้างอนาคตใหม่ร่วมกันได้”

        พระสันตะปาปาทรงอธิบายต่อไปว่า “ความฝันนั้นควบคู่กับความทรงจำ” แล้วพระองค์ก็หวนความคิดไปยังความทรงจำที่เจ็บปวดของสงครามและความสำคัญที่ต้องช่วยคนหนุ่มสาวให้เรียนรู้ถึงคุณค่าของสันติภาพ พระองค์เน้นว่าผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์กับความทุกข์ที่เกิดจากสงครามต้องเล่าเรื่องเหล่านี้ให้ลูกหลานฟัง เพราะการรักษาความทรงจำไว้และนำมาแบ่งปันกันกับผู้อื่นนั้นเป็นพันธกิจที่แท้จริงสำหรับผู้สูงอายุทุกคน

        พระสันตะปาปายังเตือนสติอีกว่า “แต่หากปราศจากซึ่งความทรงจำพวกเราจะไม่สามารถสรรสร้าง หากปราศจากซึ่งเสาเข็มพวกเราจะไม่มีวันสามารถสร้างบ้านได้ และเสาเข็มของชีวิตก็คือความทรงจำ”

        สุดท้ายพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสเกี่ยวกับการสวดภาวนาโดยนำพระกระแสดำรัสของพระสันตะปาปาเนเนดิกต์ที่ 16 ว่า “การสวดภาวนาของผู้สูงอายุสามารถคุ้มครองโลกได้ บางทีอาจช่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่งของคนอื่นหลายคน”

        พระองค์ทรงเตือนผู้สูงอายุว่าการสวดภาวนาของพวกเขา “เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่า ซึ่งเป็นการหายใจลึก ๆ ที่พระศาสนจักรและโลกต้องการอย่างเร่งด่วน” อัน “สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนมีความไว้วางใจอย่างสงบที่ในไม่ช้าพวกเราจะขึ้นฝั่งได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ณ เวลา “ที่พวกเรากำลังแล่นเรืออยู่ต่อไปในเรือลำเดียวกันเพื่อข้ามทะเลที่กำลังเผชิญพายุของโรคระบาด”

        สรุป พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยกแบบฉบับของบุญราศีชาร์ลส์ เดอ ฟูโกลด์ (Charles de Foucauld) ให้กับผู้สูงอายุโดยอธิบายว่าเรื่องราวชีวิตของท่านบุญราศี “แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้แม้ในความสันโดษ ขณะที่ตนเองเจริญชีวิตอยู่ในทะเลทรายก็ยังสามารถภาวนาวิงวอนเพื่อคนยากจนทั้งโลกในความจริงและในความเป็นสากลแห่งการเป็นพี่น้องกัน” ดังนั้นพระสันตะปาปาจึงวิงวอนพระเจ้าโดยอาศัยแบบฉบับบุญราศี “เพื่อพวกเราทุกคนจะได้เปิดใจของพวกเราให้มีความรู้สึกละเอียดอ่อนกับคนยากจนและวอนขอเพื่อความต้องการของพวกเขา”

        พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสอีกว่า “ขอให้พวกเราแต่ละคนเรียนรู้ที่จะกล่าวกับทุกคนโดยเฉพาะกับบรรดาคนหนุ่มสาวด้วยคำพูดที่สร้างความบรรเทาดังที่พวกเราได้ยินกันในวันนี้ “เราจะประทับอยู่กับท่านเสมอ” ขอให้ก้าวเดินต่อไป ขอให้พระเยซูคริสต์ประทานพระพรของพระองค์แก่ลูก ๆ ทุกคน

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและเพื่การไตร่ตรอง)

Cr. Fr. Benedict Mayaki, SJ