วันเสาร์, 11 มกราคม 2568
  

คำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสประทานแก่ผู้แทนของคณะสมเด็จอัยกาแห่งคอนสตันติโนเปิ้ล (อีสตันบุล)

        ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีที่มีโอกาสพบปะคณะของท่านและขอต้อนรับพวกท่านด้วยความรักสู่กรุงโรมเพื่อร่วมสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลผู้ศักดิ์สิทธิ์  ขอขอบคุณพระอัยกาแห่งเขตศาสนปกครองมหานคร สาธุคุณเอมมานูแอล (Metropolitan Emmanuel) สำหรับมธุรพจน์ฉันพี่น้องของท่าน การแลกเปลี่ยนผู้แทนประจำปีระหว่างพระศาสนจักรกรุงโรมและพระศาสนจักรแห่งนครคอนสตันติโนเปิ้ล ในโอกาสสมโภชนักบุญทั้งสองของพวกเราเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน – อันที่เป็นจริงแม้จะยังไม่สมบูรณ์ – ซึ่งพวกเรามีร่วมกัน ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นหนี้บุญคุณต่อสมเด็จพระอัยกาบาร์โธโลมิว (Bartholomew) เป็นอย่างสูงและต่อสภาซีนอดศักดิ์สิทธิ์ที่พระองค์ทรงส่งคณะท่านมาอยู่ร่วมกับพวกเรา และข้าพเจ้าขอต้อนรับการมาเยือนของพวกท่านด้วยความยินดียิ่ง

        ปีนี้พวกเราจะสมโภชนักบุญเปโตรและเปาโลในโลกที่กำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะหลุดพ้นจากวิกฤติที่เกิดจากการแพร่ของโรคระบาด ภัยพิบัติได้มาคุกคามทุกคนและทุกสิ่ง ทว่ามีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นที่หนักหนาสาหัสกว่าวิกฤตินี้ นั่นคือความเสี่ยงที่พวกเราจะพลาดโอกาสและไม่ยอมเรียนรู้บทเรียนที่โรคระบาดสอน อันเป็นบทเรียนแห่งความสุภาพ การแสดงว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเจริญชีวิตอย่างเป็นสุขในโลกที่สวยสดงดงาม หรือดำเนินชีวิตต่อไปอย่างที่พวกเราเคยเป็นโดยไม่เข้าใจว่าสิ่งใดเกิดขึ้น แม้กระทั่งบัดนี้ความปรารถนาที่จะหวนกลับไปสู่ชีวิตตามปกติแบบเดิมสามารถทำให้พวกเราไร้จิตสำนึกว่าพวกเราสามารถที่จะพึ่งได้กับความปลอดภัยแบบเทียม ๆ อุปนิสัยและโครงการต่าง ๆ ที่มุ่งเพียงแค่แสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยและผลประโยชน์ส่วนตัว ในขณะเดียวกันก็ไม่สนใจที่จะตอบสนองต่อความอยุติธรรมระดับสากล เสียงร้องของคนยากจน และสุขภาพอนามัยที่ถดถอยในโลกของเรา

        สิ่งเหล่านี้มีอะไรบางสิ่งบางอย่างที่จะบอกกับพวกเราในฐานะที่เป็นคริสตชนบ้าง? พวกเราถูกขอร้องเช่นเดียวกันให้ต้องไตร่ตรองอย่างจริงจัง พวกเราจะย้อนกลับไปทำสิ่งที่พวกเราเคยกระทำมาก่อนราวกับว่าไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น หรือตรงกันข้ามพวกเราจะต่อสู้กับการท้าทายแห่งวิกฤตินี้ คำว่าวิกฤติอย่างที่ความหมายดั้งเดิมแสดงจะหมายถึงการตัดสินใจเสมอ เป็นความแตกต่างระหว่างความดีกับความชั่ว  ในสมัยโบราณชาวนามักจะใช้คำนี้เพื่อที่จะแยกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดีออกจากฟางที่จะเอาไปทิ้ง ในทำนองที่คล้ายกันวิกฤติในปัจจุบันเรียกร้องให้พวกเราต้องแยกแยะ ต้องไตร่ตรอง และฝัดทุกสิ่งที่พวกเราทำ ระหว่างสิ่งที่จะคงอยู่ถาวรและสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

        ดังที่นักบุญเปาโลสอนไว้ พวกเราต้องเชื่อว่าสิ่งที่จะคงอยู่ถาวรคือความรัก เพราะในขณะที่ทุกสิ่งจะผ่านพ้นไป “ความรักไม่มีวันที่สิ้นสุด” (1 คร. 13: 8) ซึ่งห่างไกลจากความรักแบบโรแมนติก เป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับความรู้สึกส่วนตัว ความปรารถนา และอารมณ์ของพวกเรา ความรักนี้เป็นรูปธรรมตามแบบฉบับของพระเยซูคริสต์ เป็นความรักของเมล็ดพันธุ์ที่มอบชีวิตด้วยการตกลงไปในดินแล้วตายไป เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ให้ชีวิตด้วยการตาย เป็นความรักที่ “ไม่ฝืนที่จะทำตามใจตนเอง” ที่ “ให้กำเนิดกับทุกสิ่ง เชื่อในทุกสิ่ง หวังในทุกสิ่ง และอดทนในทุกสิ่ง” (ข้อ 5-7) สุดท้ายพระวรสารสัญญาที่จะมอบผลที่บริบูรณ์ ไม่ใช่ให้กับผู้ที่แสวงหาความมั่งคั่งให้กับตนเอง หรือผู้ที่แสวงหาผลประโยชน์ของตนเอง แต่จะให้กับผู้ที่แบ่งปันกับผู้อื่นด้วยใจกว้าง หว่านเมล็ดพันธุ์อย่างเต็มที่และอย่างเสรีในเจตนารมณ์ที่สุภาพของการบริการรับใช้

        สำหรับพวกเราคริสตชนในหนทางแห่งความเป็นหนึ่งเดี่ยวกันที่บริบูรณ์ในการจริงจังกับการเผชิญกับวิกฤติปัจจุบันนี้หมายถึงการที่พวกเราต้องถามตัวของพวกเราเองว่าพวกเราต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างไร วิกฤติทุกชนิดหมายถึงทางแยกสี่แพ่ง พวกเราสามารถที่จะหลบซ่อนอยู่กับตนเอง แสวงหาความปลอดภัยและความสะดวกสบายของเรา หรือพวกเราสามารถที่จะเปิดใจให้กับผู้อื่นซึ่งก็หมายถึงต้องมีความเสี่ยง ทว่าพวกเรายังมีผลแห่งพระหรรษทานที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้  พี่น้องที่รัก เวลายังมาไม่ถึงอีกหรือที่พวกเราจะต้องกระตุ้นเพิ่มความพยายามของพวกเราด้วยความช่วยเหลือของพระจิตที่จะทำลายความลำเอียงแบบเก่าๆ และเอาชนะต่อความเป็นอริต่อกันที่ไม่เกิดผลดีเลย? โดยมิเพิกเฉยกับความแตกต่างที่จำเป็นซึ่งต้องมีการแก้ไขโดยอาศัยการเสวนาที่เปี่ยมด้วยความรักและความจริง พวกเราจะไม่สามารถที่จะเริ่มความสัมพันธ์กันใหม่ระหว่างพระศาสนจักรของพวกเราที่พวกเราจะเดินอย่างใกล้ชิดไปด้วยกัน โดยปรารถนาที่จะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน ด้วยการเต็มใจที่จะรับผิดชอบต่อกันและกันกระนั้นหรือ?  หากพวกเราเป็นคนที่ว่านอนสอนง่ายอ่อนน้อมในความรักต่อพระจิต ผู้ทรงเป็นองค์แห่งความรักที่สร้างสรรค์ของพระเจ้าและเป็นผู้ที่นำเอาความสมานฉันมาสู่ความแตกต่างหลากหลาย พระองค์จะทรงเปิดหนทางให้กับภราดรภาพที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่

        การเป็นประจักษ์พยานต่อความเป็นหนึ่งเดียวกันที่กำลังพัฒนาขึ้นระหว่างพวกเราคริสตชนยังจะเป็นเครื่องหมายแห่งความหวังสำหรับพี่น้องชายหญิงจำนวนมาก ซึ่งรู้สึกมีกำลังใจที่จะส่งเสริมภราดรภาพสากลให้มากยิ่งขึ้น และการคืนดีกันที่สามารถเยียวยาความเข้าใจผิดกันในอดีตได้ นี่เป็นหนทางเดียวที่พวกเราจะพบกับรุ่งอรุณแห่งอนาคตที่มีสันติสุข เครื่องหมายแห่งการประกาศพระวรสารที่ดีน่าจะเป็นความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างชาวออร์ธอด็อกซ์กับชาวคาทอลิกในการเสวนากับบรรดาศาสนิกของศาสนาอื่นๆ อันเป็นเวทีที่ข้าพเจ้าทราบว่าท่านสาธุคุณทั้งหลายต่างก็มีส่วนร่วมอยู่แล้ว

        กัลยาณมิตรที่รัก ขอขอบคุณอีกครั้งหนึ่งสำหรับการมาเยือนของพวกท่าน ข้าพเจ้าประสงค์ขอร้องให้ท่านทูลเรียนสมเด็จพระอัยกาบาร์โธโลมิว (Bartholomew) ซึ่งข้าพเจ้าเคารพนับถือดุจพี่น้องของข้าพเจ้า ขอฝากความระลึกถึงจากข้าพเจ้า กรุณาทูลเรียนพระองค์ด้วยว่าข้าพเจ้ากำลังรอคอยการเสด็จมาเยือนกรุงโรมของพระองค์ในเดือนตุลาคมในโอกาสขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับครบรอบปีที่สามสิบแห่งการสถาปนาสมณศักดิ์ของพระองค์ โดยอาศัยการวิงวอนของนักบุญเปโตรและเปาโลเจ้าชายแห่งอัครธรรมทูต และนักบุญอันดรูว์ผู้ที่ได้รับกระแสเรียกเป็นบุคคลแรก ขอพระเจ้าในความเมตตาของพระองค์ทรงอวยพรพวกเราและดึงดูดให้พวกเรามีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในความเป็นหนึ่งเดียวในพระองค์  สุดท้าย พี่น้องและกัลยาณมิตรที่รัก ขอพื้นที่สักนิดหนึ่งในการอธิษฐานภาวนาของพวกท่านสำหรับตัวข้าพเจ้าด้วย  ขอขอบคุณ

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บคำปราศรัยนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรองเพื่อเอกภาพ)