พวกเราทุกคนต่างหน้าที่ที่ต้องช่วยกันสร้างโลกนี้แผ่นดินนี้ให้ดีกว่าเดิม
ในการประทานสมณสาส์นเวียนเรื่อง “พวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน” (Fratelli tutti sulla fraternita e l’amicizia sociale) แก่ชาวโลกในวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า “ข้าพเจ้าขอมอบสมณสาส์นเวียนฉบับนี้แด่พระเจ้า ณ หลุมศพของนักบุญฟรานซิสผู้ดลใจให้ข้าพเจ้าลิขิตเฉกเช่นในสมนณสาส์น “ขอพระเจ้าโปรดได้รับการสรรเสริญ” (Laudato Si) ฉบับที่แล้ว เกี่ยวกับการรักษาบ้านส่วนรวมของพวกเรา การดูแลรักษาระบบนิเวศ การพิทักษ์สภาพแวดล้อมสำหรับส่งต่อให้ชนรุ่นหลัง เครื่องหมายของกาลเวลาบ่งให้เห็นชัดเจนว่าภราดรภาพของมนุษย์และการเอาใจใส่ดูแลสรรพสิ่งสรรพสัตว์ นี่จะเป็นหนทางเดียวที่จะนำไปสู่การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม และนำมาซึ่งสันติสุข ดังที่พระสันตะปาปานักบุญจอห์นที่ 23, พอล ที่ 6, และจอห์น พอลที่ 2 ได้กล่าวไว้เช่นเดียวกัน”
สาระของสมณสาส์นเวียน “Fratelli Tutti” โดยสรุปสาระมีดังนี้
เงามืดปกคลุมเหนือโลกที่ปิด (บทที่ 1) กำลังแผ่คลุมทุกแห่งหน การละทิ้งคนที่บาดเจ็บไว้ข้างถนน ละทิ้งคนที่ไม่มีใครสนใจ เงามืดที่ทำให้มนุษย์สับสน เผชิญความโดดเดี่ยว สิ้นหวัง เมื่อพวกเราพบคนแปลกหน้าที่บาดเจ็บข้างถนน (บทที่ 2) พวกเราอาจพบหนึ่งในสองทัศนคติ กล่าวคือ พวกเราอาจมีท่าทีเดินผ่านไปหรือพวกเราอาจหยุดเข้าไปช่วยเหลือ พวกเราจะเป็นบุคคลประเภทใดและจะส่งเสริมระบบการเมืองประเภทใด จะอยู่ในสังคมหรือศาสนาใด ซึ่งถูกกำหนดด้วยการที่พวกเราจะมองดูคนแปลกหน้า ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในชีวิตหรือที่จะละเลยเพิกเฉยเขาเหล่านั้น
พระเจ้าเป็นองค์แห่งความรักสากลและตราบเท่าที่พวกเราเป็นส่วนหนึ่งแห่งความรักและแบ่งปันความรักนั้น พวกเราถูกเรียกร้องให้ต้องมีคุณลักษณะภราดรภาพสากลซึ่งได้แก่การเปิดหัวใจกว้างให้กับทุกคน จะต้องไม่มีคำว่า “ผู้อื่น” ต้องไม่มีคำว่า “พวกเขา – they” แต่จะมีเพียงแค่คำว่า “พวกเรา – we” พวกเราต้องการพร้อมกับและในพระเจ้าซึ่งโลกที่เปิดกว้าง (บทที่ 3) โลกที่ปราศจากกำแพง ไร้พรมแดน ไม่มีผู้ใดที่ถูกปฏิเสธ ไม่มีผู้ใดถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่มีคนแปลกหน้า เพื่อที่จะทำให้เกิดโลกประเภทนี้ได้นั้นพวกเราต้องเปิดหัวใจกว้าง (บทที่ 4) พวกเราต้องมีประสบการณ์กับมิตรภาพสังคม แสวงหาสิ่งที่ดีงามทางด้านจริยธรรมและปฏิบัติจรรยาบรรณสังคม เพราะพวกเราทราบดีว่าและรับรู้ว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งแห่งภราดรภาพสากล พวกเราจึงถูกเรียกร้องให้ต้องมีความเอื้ออาทร มีการพบปะกัน และมีการให้แบบเปล่า ๆ
เพื่อที่จะสร้างโลกที่เปิดกว้างด้วยหัวใจกว้างจำเป็นต้องมีการดำเนินการเรื่องการเมืองและต้องเป็นการเมืองประเภทที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ (บทที่ 5) ต้องเป็นการเมืองเพื่อความดีงามและคุณประโยชน์สุขส่วนรวมสากล เป็นการเมืองที่เป็น “ประชานิยม” เพราะนี่เป็นการเมืองเพื่อและพร้อมกับประชาชน นี่เป็นการเมืองที่มีความความรัก ความเมตตามอบให้กับสังคมที่ส่งเสริมศักดิ์ศรีมนุษย์ เป็นการเมืองของทั้งชายและหญิงที่ปฏิบัติความรักทางการเมืองด้วยการผนึกเศรษฐกิจเข้ากับสายใยแห่งสังคม และวัฒนธรรมอันเป็นโครงการที่มอบชีวิตให้กับเพื่อนมนุษย์อย่างสม่ำเสมอ
การรับรู้ว่าพวกเราจะต้องเสวนาอย่างไรคือวิธีการที่จะเปิดโลกให้กว้างขึ้นเพื่อสร้างมิตรภาพสังคม (บทที่ 6) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปิดหัวใจกว้างและเป็นพื้นฐานสำหรับการเมืองที่ดีกว่า การเสวนาทั้งแสวงหาและให้ความเคารพต่อความจริง การเสวนาก่อให้เกิดวัฒนธรรมแห่งการพบปะกันซึ่งกลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ เป็นแรงปรารถนาของมนุษย์ บุคคลใดที่เปิดใจในการเสวนาเป็นคนใจกว้างยอมรับและให้ความเคารพต่อผู้อื่น
ทว่าไม่เพียงพอแค่การพบปะกัน พวกเราจำเป็นต้องเผชิญกับความจริงของบาดแผลในการพบปะกันแบบผิดๆ ในอดีต ดังนั้นพวกเราจะต้องสร้างและก้าวเดินไปในเส้นทางที่จะพบกันใหม่ (บทที่ 7) พวกเราจำเป็นต้องเยียวยาบาดแผลซึ่งต้องการที่จะแสวงหาวิธีการเพื่อนำไปสู่การให้อภัย การให้อภัยไม่ใช่เป็นเพียงแค่การลืม พวกเราจำเป็นต้องกล้าหาญและเริ่มต้นจากความจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคู่กับความยุติธรรมและความเมตตา เหล่านี้เป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้บนเส้นทางแห่งสันติสุข ในการใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่สงครามเป็นวิธีที่ต้องปฏิเสธเด็ดขาดและต้องขจัดโทษประหารชีวิตให้สิ้นไป
ศาสนาสำคัญต่างๆ ของโลกต่างก็รับรู้อย่างดีดีว่ามนุษย์เป็นสิ่งสร้างของพระเจ้า ในฐานะที่เป็นสิ่งสร้าง พวกเราต่างอยู่ในความสัมพันธ์แห่งภราดรภาพ ศาสนาถูกเรียกร้องให้ต้องรับใช้ภราดรภาพในโลก (บทที่ 8) ในการเสวนาและในการเปิดใจให้กับโลก พวกเราสามารถสร้างมิตรภาพสังคมและภราดรภาพ ในการเปิดหัวใจกว้างสู่พระเจ้า ผู้ทรงสรรพานุภาพ ผู้เป็นบิดาของทุกคน พวกเรารับรู้อย่างดีถึงเงื่อนไขสากลของพวกเราในฐานะที่เป็นพี่เป็นน้องกัน สำหรับบรรดาคริสตชนบ่อน้ำพุแห่งศักดิ์ศรีมนุษย์และความเป็นพี่น้องกันคือพระวรสารของพระเยซูคริสต์ และนั้นคือข่าวดีอันเป็นสิ่งที่จะดลใจการกระทำและปฏิบัติหน้าที่ของพวกเราแต่ละบุคคล หนทางแห่งการเป็นพี่เป็นน้องกันนี้พวกเรายังมีพระแม่ที่มีพระนามว่า “มารีย์”
เมื่อเผชิญกับผู้ที่บาดเจ็บด้วยเมฆหมอกแห่งโลกและผู้บาดเจ็บยังนอนอยู่ข้างถนน พวกเราได้รับคำเชิญจากพระสันตะปาปาฟรานซิสที่จะทำให้ความปรารถนาของโลกที่ให้ทุกคนเป็นพี่น้องกันอันเป็นแรงปรารถนาของชาวเราโดยเริ่มจากการรับรู้ว่า พวกเราทุกคนล้วนเป็น “Fratelli tutti” กล่าวคือพวกเราเป็นพี่เป็นน้องกัน
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสรุปเนื้อหาสาระสมณสาส์นเวียน “Fratelli tutti” มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
ปล. สมณสาส์นเวียน “พวกเราเป็นพี่น้องกัน” ออกปี 2020 ฉบับแปลเป็นภาษาไทยมีจำหน่ายที่ฝ่ายสื่อสารสังคมคาทอลิกแห่งประเทศไทย อาคารสภาบิชอปคาทอลิกฯ ขั้น 8 ซอยนาคสุวรรณ เขตยานนาวา