เจริญพร มายังลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รักทั้งหลาย
การเชื้อเชิญให้ “มาดูซิ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งแห่งการพบปะกันอย่างหน้าตื่นเต้นของพระเยซูคริสต์กับศิษย์ของพระองค์นั้นยังเป็นวิธีสำหรับการสื่อสารที่แท้จริงของมนุษย์ทุกคนด้วย เพื่อที่จะบอกความจริงแห่งชีวิตที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ (เทียบ สาส์นวันสื่อสารสากลโลกครั้งที่ 54 วันที่ 24 มกราคม 2020) จำเป็นที่พวกเราต้องก้าวข้ามทัศนคติพึงพอใจที่พวกเรา “ทราบแล้ว” ถึงบางสิ่งบางอย่าง ตรงกันข้ามพวกเราต้องมองไปยังสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวพวกเราเอง ต้องใช้เวลาอยู่กับชาวบ้านบ้างรับฟังเรื่องราวของพวกเขาแล้วเผชิญหน้ากับความเป็นจริงซึ่งโดยทางใดทางหนึ่งจะทำให้พวกเราประหลาดใจ “เปิดตาของท่านต่อสิ่งที่จะทำให้ประหลาดใจเมื่อท่านพบเห็น ให้มือของท่านได้สัมผัสกับสิ่งใหม่ๆ และมีชีวิตชีวาเมื่อผู้อื่นอ่านสิ่งที่ท่านเขียนเขาสามารถที่จะสัมผัสด้วยตัวตนเองถึงอัศจรรย์อันน่าพิศวงแห่งชีวิต” นี่คือคำแนะนำที่บุญราศีมานูเอล โลเรนโซ่ การ์ริโด (Manuel Lorenzo Garrido) [1] มอบให้กับเพื่อนนักข่าวของท่าน ปีนี้พ่อประสงค์ที่จะอุทิศสาส์นนี้ด้วยการเชื้อเชิญพวกเรา “มาดูซิ” ซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้สื่อสารสังคมพยายามที่จะโปร่งใส ซื่อสัตย์ ในสิ่งพิมพ์ ในอินเตอร์เน็ตทั้งในบทเทศน์ประจำวันของพระศาสนจักรและในการสื่อสารเรื่องการเมืองหรือสังคม “มาดูซิ” นี่เป็นวิธีเดียวกันเสมอที่ความเชื่อของคริสตชนถูกถ่ายทอดอออกมาตั้งแต่การพบปะกันครั้งแรกบนชายฝั่งแม่น้ำจอร์แดนและและทะเลสาบกาลีลี
“การลงถนน”
ก่อนอื่นให้พวกเราพิจารณากันถึงเรื่องใหญ่ของการรายงานข่าว มีเสียงบ่นจากปวงประชามาช้านานแล้วถึงความห่วงใยเกี่ยวกับการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ วิทยุ และทางเครื่องมือสื่อตามเว็บไซต์ต่างๆ ไปในทำนองเดียวกันของการเล่าข่าว วิธีนำเสนอดูยิ่งวันยิ่งจะไม่สามารถเข้าถึงความจริงและชีวิตที่เป็นรูปธรรมของประชาชน และที่ร้ายกว่านั้นก็คือเข้าไม่ถึงปรากฏการณ์ที่สำคัญด้านสังคมหรือกระบวนการขับเคลื่อนด้านบวกในระดับรากหญ้า วิกฤตของการสื่อที่นำมาเผยแพร่มักจะถูกสร้างขึ้นจากการนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ส่วนตัวหรือในสำนักงาน หรือนำมาจากเครือข่ายสื่อสารโดยที่ตนเองไม่ได้เข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์จริง ด้วยการพบกับประชาชนผู้รู้เหตุการณ์เพื่อแสวงหาความจริง หรือเพื่อหาข้อเท็จริงยืนยันด้วยตัวตนเอง นอกจากว่าพวกเราจะออกไปหาความจริงด้วยตนเองไม่เพียงแต่คอยฟังเหตุการณ์จากผู้อื่นโดยหาวิธีเทคนิคที่ทำให้พวกเราสามารถค้นหาความจริงโดยตรงในมุมกว้าง พวกเราต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างที่เป็นประโยชน์และมีคุณค่าที่สามรถทำให้พวกเราออกไปพบกับความจริงด้วยตาของพวกเราเอง ซึ่งหาไม่แล้วพวกเราจะไม่มีทางรู้ได้เพื่อที่พวกเราจะได้แถลงข่าวซึ่งต่างจากข่าวทางอินเตอร์เน็ตทั่วไปเพื่อที่ผู้ติดตามข่าวจะได้รับทราบซึ่งมิฉะนั้นแล้วความจริงจะไม่ปรากฏ
พระวรสารในฐานะที่เป็นเรื่องของข่าว
“มาดูซิ” ที่พระเยซูคริสต์ตรัสกับบรรดาศิษย์ผู้ที่อยากรู้จักพระองค์หลังที่พระองค์ได้รับพิธีล้างในแม่น้ำจอร์แดน (เทียบ ยน. 1:39) พระองค์ทรงเชื้อเชิญพวกเขาให้มีความสัมพันธ์กับพระองค์ กว่าครึ่งศตวรรษถัดมาเมื่อยอห์น ขณะที่ชรามากแล้วท่านได้นิพนธ์พระวรสาร ยอห์นเล่า “เรื่องน่าฟัง” หลายเรื่องที่เผยให้เห็นว่าท่านอยู่เป็นการส่วนตัวในเหตุการณ์ต่างๆ ที่ท่านรายงานพร้อมกับแสดงให้เห็นถึงผลกระทบแห่งประสบการณ์ในชีวิตของตนเอง “เป็นเวลาราวชั่วโมงที่สิบ” ท่านให้ข้อสังเกตหรือเป็นเวลาประมาณสี่โมงเย็น (เทียบ ข้อ 39) วันรุ่งขึ้นยอห์นยังบอกพวกเราว่า ฟีลิปสนทนากับนาธานาเอลเกี่ยวกับการที่เขาได้พบกับพระผู้ไถ่ เขาเป็นคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จึงถามว่า “จะมีอะไรที่ดีมาจากนาซาเร็ธได้หรือ?” ฟีลิปไม่ต้องการที่จะเอาชนะเขาด้วยเหตุผล เพียงแต่บอกเขาว่า “มาดูเองซิ” (เทียบ ข้อ 45-46) นาธานาเอลก็ไปพบเองจริง ๆ และแต่บัดนั้นเป็นต้นมาชีวิตของเขาก็เปลี่ยนไป นี่คือวิธีที่ความเชื่อคริสตชนเริ่มต้นและเป็นวิธีที่ถูกสื่อสารออกมาอย่างไร เป็นความรู้ตรงที่เกิดจากประสบการณ์และไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา “ไม่ใช่เพราะคำพูดของท่านที่พวกเราเชื่อ เพราะพวกเราได้ยินมาด้วยตัวของพวกเราเอง” ชาวเมืองได้บอกหญิงชาวสะมาเรียเช่นนั้นหลังจากที่พระเยซูคริสต์ประทับอยู่ในหมู่บ้านของพวกเขา (เทียบ ยน. 4: 39-42) “มาดูซิ” เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่จะทราบสถานการณ์ นี่เป็นวิธีทดสอบที่ตรงไปตรงมาที่สุดกับทุกข่าวสาร เพราะเพื่อที่จะรู้พวกเราต้องไปพบกับเหตุการณ์เพื่อให้คนที่อยู่ต่อหน้าฉันพูดออกมา เพื่อให้การเป็นประจักษ์พยานของเขาปรากฏแก่ฉัน
ขอบคุณสำหรับความกล้าหาญของนักข่าวหลายคน
นักข่าวก็เช่นเดียวกันเพื่อเห็นแก่ความจริงต้องสามารถที่จะเข้าไปยังสถานที่ซึ่งคนอื่น ๆ ไม่กล้าที่จะเข้าไป เป็นความพร้อมที่จะออกไปแสวงหาความจริง เป็นการอยากรู้อยากเห็น อยากเปิดใจกว้าง อยากที่จะไปพบกับความจริง พวกเราเป็นหนี้บุญคุณต่อความกล้าหาญและการรักหน้าที่ของพวกเขาที่เป็นนักข่าวมืออาชีพเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้รายงานข่าว ตากล้อง บรรณาธิการ หัวหน้านักข่าว ซึ่งบ่อยครั้งต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อที่จะทำหน้าที่ ต้องขอบคุณความพยายามของพวกเขา เช่นข่าวที่เกี่ยวกับชนกลุ่มน้อยที่ถูกเบียดเบียนรังแกในภูมิภาคต่างๆ ของโลก การกดขี่หลายรูปแบบและความอยุติธรรมที่กระทำต่อคนยากจนและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม รวมถึงสงครามต่างๆ ซึ่งหากไม่มีพวกเขาแล้วพวกเราคงจะไม่ทราบสิ่งใดเลย คงจะเป็นความสูญเสียไม่เพียงแต่สำหรับการรายงานข่าวแต่จะสำหรับสังคมและประชาธิปไตยโดยทั่วไปหากเสียงเหล่านั้นจะขาดหายไป ครอบครัวมนุษย์พวกเราคงจะย่ำแย่ลงไปอีก
หลายสถานการณ์ในโลกพวกเราโดยเฉพาะวิกฤตโรคระบาดช่วงเวลานี้ เชื้อเชิญสื่อให้ “มาดูซิ” พวกเราอาจเสี่ยงกับการรายงานเรื่องโรคระบาดได้ ซึ่งอันที่จริงแล้วมีแต่ผ่านเลนส์แห่งประเทศที่ร่ำรวยกว่าเท่านั้นที่ถือ “ตำราสองเล่ม” ตัวอย่าง เรื่องของวัคซีนและการรักษาโดยทั่วไป ที่เสี่ยงในการละเลยคนยากจน มีใครบ้างที่จะมาบอกพวกเราถึงการรอคอยยาวนานของพี่น้องผู้ยากจนในชนบทโดยเฉพาะในภาคพื้นเอเชีย ลาตินอเมริกาและแอฟริกาซี่งกำลังรอคอยการเยียวยารักษา? ความแตกต่างด้านสังคมและเศรษฐกิจในระดับโลกเสี่ยงต่อการแจกจ่ายวัคซีนต่อต้านเชื้อไวรัส ซึ่งสุดท้ายแล้วคนยากจนจะอยู่ที่หางแถวเสมอ สิทธิสากลการเข้าถึงการดูและรักษาสุขภาพมีการยืนยันด้วยหลักการ แต่ไร้ซึ่งประสิทธิภาพ แม้ในบางซีกโลกที่โชคดีกว่าหายนะทางสังคมของครอบครัวที่ถดถอยไปสู่ความยากจนมากมายนั้นไม่ค่อยจะเห็นมีรายงานกัน ผู้คนดังกล่าวไม่ละอายใจที่จะไปยืนรอเข้าแถวยาวเหยียดเพื่อรับถุงบริจาคขององค์กรมนุษยธรรม แต่กลับไม่มีข่าวรายงานเลย
โอกาสและอันตรายที่แฝงอยู่ในเว็บไซต์
เว็บไซต์ที่มีข่าวสังคมหลากหลายนับไม่ถ้วนสามารถเพิ่มความสามารถในการรายงานข่าวเพื่อที่จะแบ่งปันกันด้วยหลากหลายสายตาที่มองไปยังโลกซึ่งมีภาพและประจักษ์พยานมากมาย เทคโนโลยีดิจิตอลทำให้พวกเราสามารถแจ้งข่าวสารได้ทันท่วงทีซึ่งบ่อยครั้งจะเป็นประโยชน์มาก ลองนึกดูถึงเหตุการณ์ฉุกเฉินบางอย่างดูซึ่งอินเตอร์เน็ตเป็นผู้แรกที่จะแจ้งข่าวให้พวกเราทราบอย่างเป็นทางการ เป็นเครื่องมือทรงพลังซึ่งเรียกร้องให้พวกเราทุกคนมีความรับผิดชอบในฐานะผู้ส่งและผู้รับข่าว เป็นไปได้ที่พวกเราจะเป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์ซึ่งมิฉะนั้นแล้วอาจถูกมองข้ามไปโดยธรรมเนียมของสื่อ พวกเราสามารถที่จะมอบให้กับสังคมซึ่งเรื่องราวที่มีความสำคัญที่สื่อทั่วไปมองข้าม ต้องขอบคุณอินเตอร์เน็ตที่ทำให้พวกเรามีโอกาสรายงานสิ่งที่พวกเราเห็นว่าสิ่งใดกำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาพวกเราและพวกเราแบ่งปันให้ผู้อื่นทราบ
ในขณะเดียวกันทุกคนมองเห็นข่าวเท็จที่ปรากฏแพร่หลายอยู่ในสื่อต่างๆ พวกเราทราบประเด็นนี้มาตั้งนานแล้วว่าข่าวและภาพสามารถปั้นแต่งได้อย่างง่ายดายด้วยเหตุผลหลายประการ บางครั้งเพียงเพราะการหลงตัวเอง เรื่องของเรื่องในประเด็นนี้ไม่ใช่เพื่อที่จะทำให้อินเตอร์เน็ตขาดความน่าเชื่อถือ ตรงกันข้าม เพื่อที่จะให้พวกเราใช้ความพยายามเพิ่มขึ้นในการไตร่ตรองและมีความรับผิดชอบในเนื้อหาทั้งที่ส่งออกและรับเข้ามา พวกเราทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อข่าวที่พวกเราส่งออกไปและสำหรับข่าวสารที่มีพวกเราแบ่งปันกันเพื่อการควบคุมที่พวกเราสามารถดำเนินการด้วยการเปิดเผยและต่อต้านกับข่าวเท็จ พวกเราทุกคนต้องเป็นประจักษ์พยานต่อความจริง ต้องออกไป ต้องเห็น แล้วต้องแบ่งปันกัน
ไม่มีสิ่งใดที่จะมาทดแทนการเห็นสิ่งต่างๆด้วยสายตาของตนเอง
ในการสื่อสารไม่มีสิ่งใดที่จะมาทดแทนได้อย่างสิ้นเชิงกับการที่เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาของตนเอง บางสิ่งพวกเราอาจทราบด้วยประสบการณ์ของตนเอง พวกเราไม่ได้สื่อสารกันเพียงด้วยคำพูด แต่ด้วยสายตาของพวกเราด้วย ด้วยซุ่มเสียงและอิริยาบถของพวกเรา แรงดึงดูดของพระเยซูคริสต์ต่อผู้ที่พบพระองค์ขึ้นอยู่กับความจริงที่พระองค์เทศนา ทว่าประสิทธิภาพของสิ่งที่พระองค์ตรัสไม่สามารถแยกออกจากสายพระเนตรที่พระองค์มองไปยังผู้อื่น จากการที่พระองค์ทรงมีปฏิกิริยาต่อพวกเขา และแม้กระทั่งจากการที่พระองค์ทรงนิ่งเงียบ ศิษย์ไม่เพียงแต่จะฟังพระวาจาของพระองค์เท่านั้น พวกเขาเฝ้ามองพระองค์ตรัส อันที่จริงในพระองค์นั้น – พระวจนาตถ์ “Logos” ที่อวตาร – พระวจนาตถ์ทรงมีใบหน้า พระเจ้าที่พวกเรามองไม่เห็นทำให้พระองค์เป็นที่ประจักษ์กับสายตาพวกเรา ทำให้พวกเราได้ยินได้รับการสัมผัสดังที่ยอห์นเองบอกพวกเรา (เทียบ 1 ยน. 1-3) พระวาจาจะมีประสิทธิภาพดก็ต่อเมื่อพวกเรา “มองเห็น” เพื่อทำให้พวกเรามีประสบการณ์และในการเสวนา ด้วยเหตุนี้จึงมีการเชื้อเชิญ “มาดูซิ” ซึ่งยังคงมีความสำคัญอยู่เสมอ
พวกเราลองคิดดูซิว่าวาทศิลป์มีความว่างเปล่าสักเท่าใด แม้ในยุคสมัยของพวกเราในทุกมิติแห่งชีวิตสาธารณะ ในธุรกิจ และในเรื่องของการเมืองก็เช่นเดียวกัน หน่วยนี้หรือหน่วยนั้น “เจรจากันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง… เหตุผลของเขาเหมือนกับแกลบจากสองทะนาน ท่านจะค้นหาทั้งวันจนกกว่าท่านจะพบ และเมื่อท่านพบแล้ว ที่สุดก็ไม่คุ้มค่าที่จะไปค้นหาสิ่งนั้น [2] คำพูดที่เกินความจริงในละครอังกฤษยังหมายถึงนักสื่อสารของคาทอลิกด้วย ข่าวดีแห่งพระวรสารแพร่ไปทั่วโลกเป็นผลจากการสื่อสารระหว่างบุคคลต่อบุคคล เป็นการพบกันแบบใจต่อใจกับทุกคนที่ยอมรับการเชื้อเชิญให้มา “ดูเองซิ” และก็เกิดประทับใจที่อยู่ เป็นสิ่ง “เหนือธรรมชาติมนุษย์” ที่แสดงออกมาด้วยสายตา ด้วยการเทศน์ และด้วยอิริยาบถของผู้ที่เป็นประจักษ์พยานต่อพระเยซูคริสต์ เครื่องมือทุกชนิดนั้นมีค่า และนักบุญเปาโลแห่งทาร์ซัส คงจะใช้อีเมล์และสื่อสารสังคมอย่างแน่นอน ทว่าเป็นความเชื่อความไว้ใจและความรักของท่านที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนร่วมสมัยที่ได้ฟังการเทศนาของท่าน และผู้คนพบความโชคดีที่มีเวลาอยู่กับท่านนักบุญเพื่อที่จะเห็นท่านด้วยสายตาในที่ชุมนุมหรือในการสนทนาส่วนตัว เฝ้าดูการกระทำของท่านไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน พวกเขาเห็นด้วยตัวเองว่าสาส์นแห่งความรอดโดยอาศัยพระหรรษทานที่ท่านเทศนานั้นเป็นความจริงและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของพวกเขาเพียงใด แม้พวกเขาจะไม่สามารถพบกับผู้รับใช้พระเจ้าคนนี้เป็นการส่วนตัว บรรดาศิษย์ที่ท่านส่งออกไปก็เป็นประจักษ์พยานถึงวิถีแห่งชีวิตในพระเยซูคริสต์ (เทียบ 1 คร. 4: 17)
นักบุญออกัสตินกล่าว “พวกเรามีหนังสืออยู่ในมือของพวกเรา แต่ความจริงต้องอยู่ในสายตาของพวกเรา” [3] ในการพูดถึงความสำเร็จลุล่วงไปของคำพยากรณ์ที่พวกเราพบในพระคัมภีร์ พระวรสารจึงยังคงมีชีวิตชีวาอยู่ในยุคสมัยของพวกเรา เมื่อใดที่พวกเราพบกับการเป็นประจักษ์พยานแห่งประชากรที่ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปเพราะการที่ได้พบกับพระเยซูคริสต์ ตลอดสองพันปีที่ผ่านมาสายโซ่สัมพันธ์แห่งการพบปะกันดังกล่าวสื่อถึงแรงดึงดูดแห่งการก้าวเดินไปด้วยกันของคริสตชน การท้าทายที่กำลังรอพวกเราอยู่จึงเป็นการที่ต้องพบปะกับประชาชนไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใดและอย่างที่พวกเขาเป็นอยู่
ข้าแต่พระเยซูคริสต์ โปรดสอนให้พวกเราก้าวข้ามตัวพวกเราเอง
แล้วออกไปแสวงหาความจริง
โปรดสอนให้พวกเราออกไปแล้วเห็น
โปรดสอนพวกเราให้รู้จักฟัง
โปรดอย่าให้พวกเรามีความลำเอียง หรือสรุปเรื่องราวแบบง่ายๆ
โปรดสอนให้พวกเราไปยังสถานที่ซึ่งคนอื่นไม่ไป
เพื่อหาเวลาที่จำเป็นเพื่อที่จะเข้าใจ
เพื่อใส่ใจในสิ่งที่มีความสำคัญ
เพื่อมิให้ไขว้เขวไปด้วยเรื่องที่ฉาบฉวย
เพื่อที่จะสามารถแยกสิ่งที่ปรากฏแบบหลอกลวงภายนอกจากความจริง
โปรดประทานพระหรรษทานให้พวกเราตระหนักถึงสถานที่แห่งการประทับอยู่ของพระองค์ในโลก
และโปรดประทานความซื่อสัตย์ที่จำเป็นเพื่อที่จะบอกผู้อื่นทราบกับสิ่งที่พวกเราเห็นเทอญ
ให้ไว้ ณ มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน กรุงโรม วันที่ 23 มกราคม 2021 วันก่อนสมโภชนักบุญฟรันซิส เด ซาเลส
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสาส์นพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
—————–
เชิงอรรถ
[1] Spanish journalist (1920-1971), beatified in 2010.
[2] WILLIAM SHAKESPEARE, The Merchant of Venice, Act 1, Scene 1.
[3] Sermo 360/B, 20.