วันเสาร์ที่ 25 กันยายน 2021 พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสนับสนุนบรรดาบิชอปที่เป็นกัลยาณมิตรกับคณะโฟโกลาเร ขอให้ช่วยกันทำให้ความฝันของพระเจ้าในการช่วยให้มีการคืนดีกันและมีความสมานฉันกันกับทุกสิ่งและกับทุกคนในพระเยซูคริสต์ได้กลายเป็นความจริงโดย “การเปิดใจกว้างให้ทุกคนไม่ละเว้นผู้ใดเลย” และ “นี่ยังเป็น ‘ความฝัน’ ของความเป็นพี่น้องกันดังที่พ่อได้กล่าวไว้ในสมณสาส์นเวียนพวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน (Fratelli Tutti)” พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสในการเข้าเฝ้าทางกายภาพกับบิชอป 15 ท่านผู้ที่เป็นกัลยาณมิตรกับคณะโฟโกลาเร ขณะที่บิชอปอีกประมาณ 170 องค์จาก 44 ประเทศทั่วโลกของเขตศาสนปกครองต่าง ๆ (สังฆมณฑล) และชุมชนพระศาสนจักรพากันมาประชุมกันที่ศูนย์กลางมารีอาโปลีสสากล ของคณะโฟโกลาเรที่คาสเตล กัลดอลโฟ (Castel Gandolfo) ในวันที่ 24-25 กันยายน 2021 ในหัวข้อ “จงกล้าที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกที่มีการแบ่งแยก”
คณะโฟโกลาเรซึ่งทราบกันดีว่าเป็นงานของแม่พระได้รับการสถาปนาขึ้นโดยเคียร่า ลูบิค (Chiara Lubich) สตรีชาวอิตาเลียนในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1943 ณ เมืองเตร็นท์ (Trent)
พระศาสนจักรได้ให้การรับรองคณะกิจการของแม่พระในปี ค.ศ. 1962 ซึ่งคณะ ฯ มีเป้าหมายที่จะเผยแพร่สาส์นแห่งความเป็นเอกภาพทั่วโลกโดยได้รับแรงบันดาลใจจากการอธิษฐานของพระเยซูคริสต์ต่อพระบิดา “เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” (ยน. 17: 21) จุดประสงค์ก็เพื่อที่จะสงเสริมความเป็นพี่น้องกันเพื่อที่โลกจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งประชาชนจะได้ให้ความเคารพต่อคุณค่าในความหลากหลาย
การรับใช้ของบรรดาบิชอปเพื่อความเป็นเอกภาพ
ในการต้อนรับบรรดาบิชอป ณ นครรัฐวาติกัน พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแบ่งปันการไตร่ตรองในหัวข้อที่ใช้ในการประชุมของบรรดาสมาชิกคณะโฟโกลาเร “จงกล้าหาญที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกที่แบ่งแยก” พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่าในเจตนารมณ์แห่งพระพรของผู้ก่อตั้งคณะฯ เคียร่า ลูบิค (Chiara Lubich) และสมาชิกคณะฯ จะมีการฝึกอบรม “ความเป็นเอกภาพในผู้ที่มีความเชื่อ ความเป็นเอกภาพในโลก ในแวดวงของผู้คนมารวมตัวกัน” พระองค์ตรัสว่า นี่สะท้อนให้เห็นถึงคำจำกัดความของพระศาสนจักรจากสภาสังคายนาวาติกันที่ 2 ว่า “เป็นศีลศักดิ์สิทธิ์ กล่าวคือเป็นเครื่องหมายและเครื่องมือแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้าและกับความเป็นหนึ่งเดียวกันของมนุษยชาติ” (ธรรมนูญ Lumen Gentium, ข้อ 1) ท่ามกลาง “ความเสียหายและการทำลาย” ที่เกิดจากภาวะสงครามโลกครั้งที่สอง พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า พระจิตทรง “หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นพี่น้องกัน ของความเป็นหนึ่งเดียวกันในหัวใจหญิงสาวชื่อเคียร่า ลูบิค ณ เมืองเตร็นท์ ซึ่งหัวใจของเธอพัฒนาเจริญเติบโตขึ้น “ดึงดูดชายหญิงทุกชาติภาษาด้วยอำนาจแห่งความรักของพระเจ้าซึ่งสร้างความเป็นเอกภาพโดยไม่ไปทำลายความหลากหลาย ตรงกันข้ามกลับช่วยเสริมสร้างความสมานฉันให้อีกด้วย”
พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า “ความเป็นญาติพี่น้องกัน” ระหว่างพระพรและพันธกิจของบรรดาบิชอปซึ่งถูกเรียกให้สร้างประชากรของพระเจ้าในความเป็นหนึ่งเดียวของความเชื่อ ความไว้วางใจ และความรัก เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจของคณะโฟโกลาเร “เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นหนึ่งเดียวกัน” พระสันตะปาปากล่าวว่า พระสันตะปาปาและบรรดาบิชอปควรรับใช้ไม่เพียงแค่ความเป็นหนึ่งเดียวกันภายนอกหรือ “ความพร้อมเพรียงกัน” แต่จะต้องในพระธรรมล้ำลึกแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งเป็นพระศาสนจักรในพระเยซูคริสต์และในพระจิต และเป็นพระศาสนจักรในพระวรกายที่มีชีวิต “ในฐานะที่เป็นประชากรที่เดินทางในประวัติศาสตร์และในขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางที่อยู่เหนือประวัติศาสตร์”
“ความฝัน” ความสมานฉันของพระเจ้า
การเป็นประจักษ์พยานต่อพระเยซูคริสต์ผู้เป็นแสงสว่างแห่งนานาชาติเพื่อที่พระองค์จะสามารถดึงดูดทุกคนให้เข้ามาหาพระองค์ พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า เป็น “ความฝัน” และแผนการของพระเจ้าที่จะสร้างการคืนดีกัน และความสมานฉันให้กับทุกสิ่งและทุกคนในพระเยซูคริสต์
นี่ยังเป็น “ความฝัน” แห่งการเป็นพี่น้องกัน พระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่าพระองค์ทรงตั้งพระทัยการลิขิตสมณสาส์นเวียน “พวกเราต่างเป็นพี่น้องกัน – Fraelli tutti” ท่ามกลางร่มเงาของโลกที่ปิดกั้นตัวเอง ณ ที่ความฝันแห่งความเป็นเอกภาพต้อง “แตกกระจาย” และ ณ ที่นั้น “โครงการในความเป็นเอกภาพสำหรับทุกคน” ขาดหายไป และโลกาภิวัตน์เปลี่ยนทิศทางเดิน “โดยไร้จุดหมาย” ณ ที่ซึ่งโรคระบาดส่งผลกระทบอันรุนแรงและก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันอย่างน่าใจหาย พระสันตะปาปาตรัสเสริมว่า พระจิตทรงเรียกร้องให้พวกเราต้อง “กล้าหาญที่จะเป็นหนึ่งเดียวกันในโลกที่แบ่งแยก”
การเป็นประจักษ์พยาน
ในมิตินี้พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงคิดถึงการเป็นประจักษ์พยานมากมายหลากหลายรูปแบบในยุคสมัยของพวกเรา ทั้งผู้นำพระศาสนจักรในฐานะผู้เลี้ยงดูฝูงแกะและฆราวาสที่ “กล้าหาญที่จะเป็นหนึ่งเดียวกัน” โดยที่พวกเขาต้องจ่ายราคาแพง ความเป็นเอกภาพของพระศาสนจักรทำให้พวกเราต้องน้อมรับใน “มาตรการพื้นฐานที่ให้ความเคารพต่อบุคคลอื่น ต่อใบหน้าของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากจน คนต่ำต้อย คนที่ไม่มีผู้ใดให้ความสนใจ” คณะโฟโกลาเร ปฏิบัติการอยู่ใน 182 ประเทศและมีประชาชนกว่า 2 ล้านคนที่มีการแบ่งปันชีวิตและทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด สมาชิกของคณะรวมถึงคริสตชนนิกายต่าง ๆ และสมาชิกของชุมชนคริสตชนหลากหลาย สมาชิกของศาสนาสำคัญ ๆ ในโลก และประชาชนที่ไม่นับถือศาสนาใดเป็นพิเศษ
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บข่าวคราวนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)
Cr Robin Gomes