
- “เท้าของผู้นำข่าวดีมาประกาศบนภูเขาช่างงามยิ่งนัก” (อสย. 52:7)
คำพูดของประกาศกอิสยาห์กล่าวถึงความบรรเทา เป็นเสียงที่แสดงถึงเครื่องหมายของการบรรเทาใจให้กับผู้ที่อยู่ในดินแดนเนรเทศ ซึ่งพวกเขาตกอยู่ในฐานะผู้ที่ไร้เกียรติและเผชิญความตาย ประกาศกบารุคประหลาดใจได้อุทานออกมาเช่นกันว่า “อิสราเอลเอ๋ย ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ เหตุใดท่านจึงไปอยู่ในดินแดนของศัตรู เหตุใดท่านจึงอยู่ในดินแดนต่างด้าวจนแก่เฒ่า ทำไมท่านจึงต้องถูกรังแกจนถึงตาย ทำไมท่านจึงถูกจัดอยู่ในท่ามกลางผู้ที่นับถือพระเจ้าที่ไม่มีตัวตน?” (บรค. 3: 10-11) สำหรับชนชาติอิสราเอล การเสด็จมาของผู้ที่นำสันติสุขมาหมายถึงพันธสัญญาของการเกิดใหม่จากมูลขยะแห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นแห่งอนาคตที่สดใส
วันนี้หนทางแห่งสันติสุขที่นักบุญเปาโลที่ 6 พระสันตะปาปา เรียกชื่อใหม่ว่าเป็น การพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม [1] ซึ่งยังอยู่ห่างไกลจากชีวิตจริงของของผู้คนทั้งชายหญิงจำนวนมาก จึงเท่ากับเป็นการห่างไกลจากครอบครัวมนุษย์ของพวกเรา ซึ่งบัดนี้มีความสัมพันธ์โยงกันอย่างสิ้นเชิง แม้จะมีการใช้ความพยายามมากมายในการสร้างการเสวนาระหว่างนานาชาติ ทว่าเสียงสงครามและความขัดแย้งดูเหมือนจะหนักยิ่งขึ้น ในขณะที่โรคระบาดกำลังขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง ผลของการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศและความทรุดโทรมของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมระบบนิเวศก็น่าเป็นห่วงใยไม่น้อยกว่ากัน มนุษย์ที่หิวโหยเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน และรูปแบบเศรษฐกิจที่มีฐานอยู่บนปัจเจกบุคคลนิยมแทนที่จะมีพื้นฐานอยู่บนการแบ่งปันกันในสังคมกำลังผลักดันโลกอย่างสุดโต่งไม่รู้จักหยุดยั้ง เฉกเช่นในยุคสมัยของประกาศกโบราณกาล ยุคสมัยของพวกเราก็เช่นเดียวกัน เสียงร้องของประชากรและของโลก [2] ต่างส่งเสียงอย่างไม่หยุดยั้งที่เรียกร้องความยุติธรรมและสันติสุข
ในทุกยุคทุกสมัยสันติสุขเป็นของขวัญจากเบื้องบนและเป็นผลของการทำงานร่วมกัน อันที่จริงพวกเราเราอาจพูดได้ถึง “สถาปัตยกรรม” แห่งสันติสุขที่สถาบันต่างๆของสังคมช่วยกันสร้าง ซึ่งเป็น “ศิลปะ” แห่งสันติสุขที่รวมถึงพวกเราแต่ละคนด้วย [3] ทุกคนสามารถช่วยกันทำงานเพื่อสร้างโลกให้มีสันติสุขมากยิ่งขึ้นโดยเริ่มจากใจของแต่ละบุคคลซี่งรวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและระหว่างนานาชาติด้วย
ณ จุดนี้ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะขอเสนอเส้นทาง 3 ทางเพื่อการสร้างสันติภาพถาวร หนทางแรกคือการเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆ เพื่อเป็นฐานในการรับรู้ถึงโครงการร่วมกัน หนทางที่สองคือการศึกษาในฐานะที่เป็นปัจจัยแห่งเสรีภาพ ความรับผิดชอบ และการพัฒนา และหนทางสุดท้ายคือการทำงานในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะบรรลุถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หนทางทั้งสามทางนี้เป็นปัจจัยที่จะขาดเสียมิได้ในการ “ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะสร้างพันธสัญญาทางสังคม” [4] ซึ่งหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ทุกโครงการแห่งสันติสุขก็จะไร้ซึ่งความหมายทันที
2. การเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆ เพื่อการสร้างสันติสุข
ในโลกที่ยังถูกรุมล้อมด้วยโรคระบาดที่สร้างปัญหาไม่รู้จบ “บางคนพยายามที่จะหนีไปจากความจริง โดยหันไปพึ่งกับโลกใบน้อยๆ ของตนเอง ส่วนบางคนก็มีปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการใช้ความรุนแรง ทว่าระหว่างการเพิกเฉยที่เห็นแก่ตัว และการประท้วงที่ใช้ความรุนแรงจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่งเสมอ นั่นคือการเสวนา การเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆ” [5]
การเสวนาอย่างซื่อสัตย์ทุกประเภท นอกเหนือจากจะเปลี่ยนแปลงทัศนวิสัยให้ถูกต้องไปในเชิงบวกแล้ว นั่นยังเรียกร้องให้มีความไว้วางใจขั้นพื้นฐานระหว่างคู่เสวนาด้วย พวกเราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะมีความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน วิกฤตสุขภาพในปัจจุบันเข้ามาเพิ่มสภาพจิตในการอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับการคิดถึงเพียงแค่ตนเอง ความเหงาของผู้สูงวัยคู่ขนานกับเยาวชนด้วยสภาพจิตที่คิกว่านี่เป็นสิ่งที่ช่วยเหลือกันไม่ได้และไม่อาจก่อให้เกิดวิสัยทัศน์ร่วมกันเกี่ยวกับอนาคต อันที่จริงวิกฤตนี้เป็นสิ่งที่เจ็บปวด แต่ก็ช่วยนำให้สิ่งที่ดีที่สุดในตัวมนุษย์ออกมา เป็นความจริงในช่วงที่เกิดโรคระบาดพวกเราจะพบกับแบบฉบับแห่งความเมตตาและความใจกว้างมากมายที่มีการแบ่งปัน และมีความเอื้ออาทรในทุกภาคส่วนของโลก
การเสวนาหมายถึงการฟังซึ่งกันและกัน แบ่งปันกันซึ่งวิสัยทัศน์ที่แตกต่างกัน มีการเห็นพ้องต้องกันและมีการก้าวเดินไปด้วยกัน การส่งเสริมการเสวนาดังกล่าวระหว่างชนรุ่นต่างๆ หมายถึงพรวนดินที่แข็งและแห้งแล้งแห่งความขัดแย้ง และความเพิกเฉยเพื่อที่จะหว่างเมล็ดพันธุ์แห่งสันติสุขที่ถาวรร่วมกัน
แม้การพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดูเหมือนจะสร้างช่องว่างระหว่างชนรุนต่างๆ วิกฤตปัจจุบันของพวกเราแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างชนรุ่นต่างๆ เยาวชนต้องการปรีชาญาณและประสบการณ์ของผู้สูงอายุ ในขณะที่ผู้สูงอายุต้องการการสนับสนุน ความรัก ความคิดสร้างสรรค์ และพลวัตของเยาวชน
การท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของสังคมและกระบวนการสร้างสันติสุขเรียกร้องถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเสวนาระหว่างผู้ที่รักษาความทรงจำ – ผู้สูงอายุ – และผู้ที่จะต้องสร้างประวัติศาสตร์ต่อไป – เยาวชน แต่ละฝ่ายต้องพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้อื่นและไม่สงวนสิทธิที่จะรวบรวมภาพทั้งหมดไว้ตามลำพัง เพื่อที่จะเล็งเพียงแค่ผลประโยชน์ฝ่ายตนราวกับว่านั่นไม่มีอดีตหรืออนาคต วิกฤตโลกที่พวกเรากำลังประสบอยู่ทุกวันนี้ทำให้เห็นชัดเจนว่าเบื้องหลังการเมืองที่ดีที่ไม่เพียงแค่พึงพอใจอยู่กับการจัดการกับเรื่องปัจจุบัน “แบบไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรือแบบลวกๆ” [6] แต่จะต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงรูปแบบของความรักต่อผู้อื่น [7] ในการแสวงหาโครงการที่ยั่งยืนร่วมกันเพื่ออนาคตด้วย
ท่ามกลางการเผชิญความยุ่งยากลำบากเหล่านี้หากพวกเราสามารถปฏิบัติการเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆนี้ได้ “พวกเราก็จะมีรากฐานที่มั่นคงในปัจจุบัน และจากจุดนี้พวกเราก็อาจมองย้อนดูอดีตพร้อมกับมองไปยังอนาคตได้ด้วย การย้อนมองดูอดีตก็เพื่อที่จะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์และเยียวยาบาดแผลเก่าที่บางครั้งยังรบกวนพวกเราอยู่ การมองไปยังอนาคตก็เพื่อที่จะหล่อเลี้ยงความกระตือรือร้นของพวกเรา ทำให้เกิดความฝันที่เปี่ยมด้วยความหวังขึ้นมาใหม่ ที่จะหวนคิดถึงคำพยากรณ์ และทำให้ความหวังของพวกเราเจริญเบิกบานขึ้นมา ด้วยการพร้อมใจกันพวกเราสามารถเรียนรู้จากกันและกัน” [8] เพราะว่าหากปราศจากรากเหง้าแล้วต้นไม้จะเจริญเติบโตและบังเกิดผลได้อย่างไร?
พวกเราจำเป็นต้องคิดเสมอว่าพวกเราจะรักษาดูแลบ้านส่วนรวมของพวกเราอย่างไร ความจริงแล้วธรรมชาติสิ่งแวดล้อม “เป็นสิ่งที่ให้ชนแต่ละรุ่นยืมใช้ ซึ่งพวกเราต้องส่งต่อไปให้ชนรุ่นต่อไป” [9] พวกเราควรที่จะชื่นชมและให้กำลังใจกับเยาวชนเหล่านั้นที่ทำงานเพื่อโลกที่นำไปสู่ความชอบธรรมมากยิ่งขึ้น พวกเขาเอาใจใส่พิทักษ์รักษาสิ่งสร้างที่ถูกมอบให้พวกเขาเป็นผู้ดูแล พวกเขากระทำไปอย่างจริงจังด้วยความกระตือรือร้นและที่สำคัญที่สุดคือด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบต่อสิ่งที่กำลังเปลี่ยนทิศทางอย่างรวดเร็ว [10] ซึ่งการท้าทายเหล่านี้เกิดจากวิกฤตทางด้านจริยธรรม สังคม และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม [11]
ในอีกมุมมองหนึ่งโอกาสการสร้างหนทางแห่งสันติสุขด้วยกันไม่อาจที่จะมองข้ามการศึกษาและการทำงาน ซึ่งเป็นบริบทพิเศษสำหรับการเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆ การศึกษาจะเปิดประตูสู่การเสวนาระหว่างชนรุ่นที่แตกต่างกัน และในประสบการณ์จากการทำงานของมนุษย์ทั้งชายหญิงแห่งชนรุ่นต่างๆ จะพบตนเองว่าสามารถที่จะร่วมมือและแบ่งปันประสบการณ์ซึ่งกันและกันเพื่อเห็นแก่ความดีและประโยชน์สุขส่วนรวม
3. การสอนและการศึกษาในฐานะที่เป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่สันติสุข
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มีการลดงบประมาณลงไปอบ่างมากสำหรับการศึกษาและการอบรม พวกเขามองกันว่านี้เป็นรายจ่ายมากกว่าเป็นการลงทุน แต่ว่านั่นเป็นเครื่องมือแรกของการส่งเสริมการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม ทำให้ปัจเจกบุคคลเป็นไทและมีความรับผิดชอบมากขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อการพิทักษ์คุ้มครองและส่งเสริมสันติสุข พูดสั้นๆ คือ การอบรมและการศึกษาเป็นรากฐานที่จะให้สังคมเป็นปึกแผ่นสามารถที่จะก่อให้เกิดความหวัง การพัฒนา และความเจริญ
ในอีกมุมมองหนึ่งค่าใช้จ่ายทางการทหารได้เพิ่มขึ้นจนเกินเหตุหลังสงครามเย็น และดูเหมือนว่ายิ่งจะเพิ่มทวีมากขึ้นทุกที [12]
บัดนี้จึงถึงเวลาแล้วที่รัฐต่างๆ จะต้องพัฒนาโนโยบายด้านเศรษฐกิจที่มุ่งไปยังการจัดสัดส่วนงบประมาณสาธารณะอย่างสมดุลที่จะใช้สำหรับการศึกษาและการสร้างสะสมอาวุธ ความพยายามที่จะยุติทั้งการสร้างสะสมอาวุธระดับสากลสามารถที่จะเป็นประโยชน์ได้ให้กับการพัฒนามนุษย์และชาติบ้านเมือง จะทำให้งบประมาณมีเพิ่มขึ้นสำหรับเรื่องสุขภาพ สถาบันการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน การเอาใจใส่ดูแลธรรมชาติ ฯลฯ
ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการลงทุนในการศึกษาจะยังคงตามมาด้วยความพยายามเป็นอย่างมากที่จะส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการการเอาใจใส่ดูแล [13] ซึ่งท่ามกลางการแตกแยกทางสังคมและสถาบันที่ขาดความรับผิดชอบสามารถใช้ภาษาร่วมกันในการทำงานเพื่อที่จะทำลายเครื่องกีดขวางและสร้างสะพาน “นี่จะกลายเป็นประเทศที่เจริญรุ่งเรือง เมื่อมีการเสวนาที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นระหว่างองค์ประกอบเชิงวัฒนธรรมที่มั่งคั่ง กล่าวคือวัฒนธรรมประชานิยม วัฒนธรรมแห่งมหาวิทยาลัย วัฒนธรรมแห่งเยาวชน วัฒนธรรมแห่งศิลปกรรม วัฒนธรรมแห่งเศรษฐกิจ วัฒนธรรมแห่งครอบครัวและวัฒนธรรมของการสื่อสาร” [14] จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความจริงแห่งวัฒนธรรมใหม่โดยอาศัย “ความสัมพันธ์กันทั่วโลกเกี่ยวกับการศึกษาสำหรับและกับชนรุ่นหลัง เป็นวัฒนธรรมที่หมายถึงครอบครัว ชุมชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบัน ศาสนา รัฐ และครอบครัวมนุษย์ทั้งปวงที่จะส่งเสริมการศึกษาในเรื่องของระบบนิเวศที่เป็นองค์รวมตามรูปแบบวัฒนธรรมแห่งสันติสุข การพัฒนาทุกมิติ และความยั่งยืนที่มีศูนย์กลางอยู่ในความเป็นพี่น้องกันและในพันธสัญญาระหว่างมนุษย์และธรรมชาติสิ่งแวดล้อม [16]
โดยอาศัยการลงทุนในการศึกษาอบรมเยาวชนพวกเราสามารช่วยพวกเขาได้ – โดยอาศัยโปรแกรมการอบรมที่จัดขึ้นเป็นแบบเฉพาะ – เพื่อให้พวกเขาอยู่ในจุดยืนที่ถูกต้องเหมาะสมในตลาดแรงงาน [17]
4. การสร้างแรงงานที่เป็นประกันว่าจะสร้างสันติสุข
การทำงานเป็นปัจจัยที่จะขาดเสียมิได้ในการสร้างและรักษาสันติสุข เป็นการแสดงออกในตัวพวกเราและของขวัญของพวกเรา ซึ่งก็รวมถึงหน้าที่การงานของพวกเราด้วย เป็นการเอาตัวเราเองไปลงทุนและให้ความร่วมมือกับผู้อื่น เพราะว่าพวกเราต้องทำงานกับหรือสำหรับใครบางคนเสมอ เมื่อมองดูในมิติของสังคม สถานที่ทำงานจะสามารถทำให้พวกเราเรียนรู้ที่จะอุทิศแรงงานของพวกเราให้กับโลกโดยทำให้โลกนี้น่าอยู่และมีความสวยงามมากยิ่งขึ้น
โรคระบาดโควิดข19 ส่งผลกระทบทางลบให้กับตลาดแรงงาน ซึ่งประสบกับปัญหามากมายหลายอย่างอยู่แล้ว กิจกรรมการผลิตนับล้านๆ แห่งและเศรษฐกิจเกิดความล้มเหลว ลูกจ้างชั่วคราวยิ่งวันยิ่งจะได้รับผลกระทบ หลายคนที่ให้การบริการที่สำคัญมีประวัติที่ไม่น่าพอใจ และในหลายกรณีการเรียนการสอนระบบทางไกลทำให้การศึกษาไม่ครบถ้วน และทำให้ระยะเวลาการศึกษายาวขึ้น ยิ่งกว่านั้นอีกเยาวชนที่เพิ่งจะสมัครงานเข้าสู่ตลาดแรงงานและและผู้ใหญ่ที่ต้องตกงานในปัจจุบันต้องเผชิญกับอนาคตที่มืดมัว
สิ่งที่ร้ายแรงกว่านั้นอีกก็คือผลกระทบแห่งวิกฤตต่อเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งบ่อยครั้งหมายถึงคนงานอพยพเหล่านั้นช่างโชคร้ายเหลือเกิน หลายคนไม่มีบัตรประชาชน เหมือนกับว่าพวกเขาไม่มีตัวตน ทั้งตัวพวกเขาและครอบครัวในสภาพชีวิตที่น่าอันตรายเป็นที่สุด พวกเขาต้องตกเป็นเหยื่อของความเป็นทาสในรูปแบบต่างๆ และไม่มีระบบสงเคราะห์ใดๆ ที่จะมาคอยปกป้องพวกเขา ณ ปัจจุบันหนึ่งในสามส่วนของประชากรโลกที่อยู่ในวัยทำงานมีระบบสวัสดิการคุ้มครองและจำกัด การใช้ความรุนแรงและกลุ่มอาชญากรรมนับวันจะเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศทำให้กระทบกระเทือนเสรีภาพและศักดิ์ศรีของประชาชน เป็นพิษเป็นภัยต่อเศรษฐกิจและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเพื่อความดีประโยชน์สุขส่วนรวม คำตอบเพียงอย่างเดียวในประเด็นนี้ก็คือการขยายโอกาสการทำงานอย่างมีเกียรติ
ความจริงการทำงานคือรากฐานในการสร้างความยุติธรรมและความเอื้ออาทรในทุกชุมชน ด้วยเหตุนี้เป้าหมายของพวกเราจึงไม่ควรที่จะเป็น “การเอาความเจริญของเทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานมนุษย์ เพราะนี้จะสร้างความเสียหายให้กับมนุษยชาติ การทำงานเป็นสิ่งจำเป็น เป็นส่วนหนึ่งแห่งความหมายของชีวิตในโลกนี้ เป็นหนทางที่จะเจริญก้าวหน้า เป็นการพัฒนามนุษย์อย่างสมบูรณ์ และเป็นความสำเร็จส่วนบุคคล” [18] พวกเราจำเป็นต้องผนึกความคิดและความพยายามของพวกเราเพื่อที่จะสร้างการแก้ไขและเงื่อนไขที่สามารถทำให้ทุกคนมีโอกาสที่จะทำงาน และโดยอาศัยการทำงานพวกเขาจะได้สามารถเลี้ยงดูครอบครัวและช่วยสังคมได้
นี่เป็นการเร่งด่วนยิ่งกว่าสมัยใดที่จะส่งเสริมไปจนทั่วโลกเกี่ยวกับการทำงานที่เหมาะสมและอย่างมีเกียรติที่มุ่งไปสู่ความดีประโยชน์สุขส่วนรวมและเพื่อที่จะปกป้องสิ่งสร้างทั้งมวล เสรีภาพในความคิดริเริ่มจะต้องมีและควรที่จะได้รับการสนับสนุน ในขณะเดียวกันต้องพยายามที่จะส่งเสริมจิตสำนึกใหม่ในเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อที่ผลประโยชน์จะไม่เป็นมาตรการในการชี้นำแต่เพียงอย่างเดียว
ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องให้การส่งเสริม ให้การต้อนรับ และให้การสนับสนุนความคิดริเริ่มซี่งในทุกระดับเรียกร้องให้บริษัทต่างๆ เคารพสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ต้องสร้างการรับรู้ที่ไม่ใช่เพียงแค่สถาบันเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมไปถึงผู้บริโภคและสังคมด้วย เนื่องจากผู้ใช้แรงงานรับรู้อย่างดีถึงบทบาทของตนในสังคมมากขึ้น พวกเขาก็สมควรที่จะได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีเพิ่มขึ้น โดยอาศัยวิธีนี้พวกเขาจะช่วยกันสร้างสันติสุข ณ จุดนี้การเมืองถูกเรียกร้องให้ต้องมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมความสมดุลระหว่างเสรีภาพเชิงเศรษฐกิจ และความยุติธรรมทางสังคม ทุกคนที่ทำงานในบริบทนี้เริ่มจากคนงานที่เป็นคาทอลิกและผู้ฝึกงานสามารถที่จะพบกับการชี้นำได้ในคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
พี่น้องชายหญิงที่รัก ในขณะที่พวกเรากำลังผนึกกำลังของพวกเราเพื่อที่จะหลุดพ้นจากโรคระบาด ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกคนอีกครั้งหนึ่งที่ยังคงทำงานต่อไปด้วยใจกว้างและด้วยความรับผิดชอบในการเอื้ออาทรให้มีการพบปะกันระหว่างสมาชิกของครอบครัวและผู้ป่วยและในการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่ผู้ที่เดือดร้อนและผู้ที่ตกงาน ข้าพเจ้าจะรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นผู้เคราะห์ร้ายและครอบครัวของพวกเขาในคำภาวนาเสมอ
ข้าพเจ้าขอวิงวอนไปยังผู้นำภาครัฐและทุกคนที่รับผิดชอบต่อสังคมและการเมือง ศาสนบริกร บาทหลวง ดีเคิล นักบวชชายหญิง และผู้ที่ทำงานด้านการอภิบาล รวมถึงฆราวาสชายหญิงทุกคนผู้มีน้ำใจดี ขอให้พวกเราก้าวเดินไปด้วยกันด้วยความกล้าหาญและด้วยความคิดสร้างสรรค์ในหนทางแห่งการเสวนาระหว่างชนรุ่นต่างๆ ในการศึกษา และในการทำงาน ขอให้พี่น้องทั้งชายและหญิงเพิ่มจำนวนมากขึ้นที่พร้อมกับความสุภาพถ่อมตนและความกล้าหาญอย่างเงียบๆ เป็นช่างผู้สร้างสันติสุข และขอให้พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจพร้อมกับพระพรของพระเจ้าแห่งสันติสุขด้วยเทอญ
ให้ไว้ ณ วาติกัน วันที่ 8 ธันวาคม 2021
สันตะปาปาฟรานซิส
วิษณุ ธัญญอนันต์ เก็นสาส์นครบรอบปีที่ 55 วันสันติภาพสากล 2022 มาแบ่งปันและไตร่ตรอง
—————————————————————————–
[1] Cf. Encyclical Letter Populorum Progressio (26 March 1967), 76ff.
[2] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 49.
[3] Cf. Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 231.
[8] Post-Synodal Apostolic Exhortation Christus Vivit (25 March 2019), 199.
[9] Encyclical Letter Laudato Si’, 159.
[10] Cf. ibid., 163; 202.
[11] Cf. ibid., 139.
[12] Cf. Message to the Participants in the 4th Paris Peace Forum, 11-13 November 2021.
[13] Cf. Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 231; Message for the 2021 World Day of Peace: A Culture of Care as a Path to Peace (8 December 2020).
[14] Encyclical Letter Fratelli Tutti (3 October 2020), 199.
[15] Cf. Video Message for the Global Compact on Education: Together to Look Beyond (15 October 2020).
[16] Cf. Video Message for the High Level Virtual Climate Ambition Summit (13 December 2020).
[17] Cf. JOHN PAUL II, Encyclical Letter Laborem Exercens (14 September 1981), 18.
[18] Encyclical Letter Laudato Si’ (24 May 2015), 128.