วันที่ 2 กุมภาพันธ์
ฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหาร
(The Presentation of the Lord, feast)
ภายใต้กฎหมายของโมเสส หญิงที่คลอดบุตรจะถือว่า “มีมลทิน” เป็นเวลา 40 วันหลังการให้กำเนิดบุตร และเธอจะต้องมาแสดงตนต่อพระสงฆ์ที่พระวิหารเพื่อถวายบูชาเป็นการชำระมลทินให้บริสุทธิ์ และทำการไถ่บุตรของเธอคืนมา ถ้าไม่ทำเช่นนี้บุคคลนั้นจะถูกขับออกจากการกราบไหว้นมัสการแบบชาวยิวโดยอัตโนมัติ ที่น่าสังเกต พระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าผู้ทรงสรรพานุภาพ กฎหมายนี้ย่อมจะไม่ต้องผูกมัดพระนางมารีย์ แต่ด้วยความนอบน้อมให้สอดคล้องกับกฎหมาย พระนางมารีย์จึงทรงยอมรับพิธีกรรมนี้อย่างสุภาพ และได้ถวายบุตรชายคนแรกแด่พระเจ้า โดยถวายเครื่องบูชาคือนกเขาหนึ่งคู่ หรือนกพิราบสองตัว (เพื่อไถ่บุตรคืนมา) ทั้งนี้ทำตามสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว ซึ่งถือว่าเป็นการถวายของคนจน (ถ้าเป็นคนรวยจะถวายลูกแกะ)
เมื่อเสร็จพิธีชำระมลทินแล้ว ก็ปรากฏเหตุการณ์ที่เรียกว่าเป็นฉากของการพยากรณ์เกิดขึ้น ท่านผู้เฒ่าสิเมโอนผู้น่าเกรงขามได้รับพระกุมารมาอุ้มไว้ และกล่าวถวายพระพรแด่พระเจ้า ด้วยคำกล่าวขึ้นต้นภาษาลาตินที่มีชื่อเสียงว่า “Nunc Dimittis” – “บัดนี้ พระองค์ทรงปล่อยผู้รับใช้ของพระองค์ไปเป็นสุขตามพระดำรัสของพระองค์ เพราะนัยน์ตาของข้าพเจ้าได้เห็นองค์พระผู้ช่วยให้รอดพ้น… เป็นแสงสว่างเปิดเผยให้คนต่างชาติรู้จักพระองค์ และเป็นสิริรุ่งโรจน์สำหรับอิสราเอลประชากรของพระองค์” นอกจากนี้แล้ว ยังมีอันนา ประกาศกหญิงที่ชรามากแล้ว นางเป็นม่ายมานาน และอยู่แต่ในพระวิหาร ก็ได้กล่าวถึงพระกุมารให้ทุกคนที่กำลังรอคอยการไถ่กู้กรุงเยรูซาเล็มฟัง (ลก 2:29-32, 38)
จะว่าไปแล้ว พิธีกรรมโบราณของชาวยิวในเรื่องนี้ไม่อาจเทียบกับพิธีใดๆทางความเชื่อแบบคริสตชนเลย พระศาสนจักรคาทอลิกยึดถือว่าไม่มีมลทินใดๆ ที่เรียกร้องให้มีการชำระมลทินในเรื่องที่แม่จะให้กำเนิดบุตร
วันฉลองการถวายพระกุมารในพระวิหารเป็นวันฉลองเก่าแก่ มีบันทึกครั้งแรกย้อนไปถึงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 4 และได้ถูกนำเข้ามาฉลองทั่วจักรวรรดิตะวันออกโดยจัสติเนียนที่ 1 (Justinian I) ในปี ค.ศ. 526 เพื่อแสดงความรู้คุณต่อการจบสิ้นไปของโรคระบาด (= อาจจะเป็นกาฬโรค) ครั้งใหญ่ของเมืองคอนสแตนติโนเปิล กำหนดวันฉลองคือ 40 วันหลังคริสต์มาส ต่อมาในศตวรรษที่ 8 วันฉลองนี้ถูกเรียกว่า “วันแห่เทียน” เมื่อพระสันตะปาปา แซร์จิอุส (Pope Sergius) ทรงริเริ่มให้มีขบวนแห่อย่างสง่าสำหรับบรรดาสมณะและฆราวาส โดยถือเทียนที่จุดอยู่เพื่อเข้าไปในวัด เพื่อบอกเป็นนัยๆ ว่าระลึกถึง “แสงสว่างแก่คนต่างชาติ” และ “การเสด็จเข้าไปในพระวิหารของพระบุตรพระเจ้า” ซึ่งเป็นชื่อวันฉลองที่นำมาจากศาสนจักรอาร์มาเนียน (Armenian Church)
– สำหรับสถาบันแสงธรรม ซึ่งมีต้นกำเนิดเพื่อเป็นสามเณราลัยใหญ่แห่งประเทศไทย มีชื่อภาษาลาตินว่า “Lux Mundi” ซึ่งแปลว่า “แสงสว่างส่องโลก” แต่ใช้ชื่อภาษาไทยเป็นทางการว่า “แสงธรรม” ก็ถือว่าวันนี้เป็นวันฉลองของสถาบันแสงธรรม – (ผู้แปล)
ในแง่มุมของความเชื่อและการปฏิบัติของคริสตชนถือว่า วันฉลองนี้มุ่งเน้นเพื่อสอนเราในเรื่องต่างๆ ดังนี้ :
(1) ความเงียบแต่เต็มไปด้วยความรักที่อ่อนโยนของนักบุญโยเซฟผู้ปกป้อง
(2) ความเชื่อที่มั่นคงและเข้มแข็งของผู้เฒ่าสิเมโอน
(3) ความซื่อสัตย์ในการภาวนาอย่างไม่สิ้นสุดของนางอันนาผู้ชรา
…และเหนืออื่นใด………
(4) ความพร้อมที่ครบสมบูรณ์และเด็ดเดี่ยวของพระแม่มารีย์ ผู้ทรงรับบทเด่นพร้อมกับพระบุตรของพระนางในธรรมล้ำลึกแห่งความรอดพ้นนี้
(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)