วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568
  

สาส์นของพระสันตะปาปาฟรานซิส สำหรับวันผู้สูงอายุสากล (ครั้งที่สอง) วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 2022

 “ในวัยชราพวกเขายังบังเกิดผล” (สดด. 92: 15)

 เจริญพรมายัง ลูก ๆ และกัลยาณมิตรชายหญิง ที่รักและนับถือ

        “ในวัยชราพวกเขายังบังเกิดผล” (สดด. 92: 15) คำพูดเหล่านี้ของผู้ประพันธ์บทเพลงสดุดีเป็นนิมิตหมายที่ดี นี่เป็น “ข่าวประเสริฐ” ที่แท้จริงที่พวกเราสามารถประกาศได้กับทุกคนในวันผู้ชราสากลครั้งที่สอง นี่เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับชาวโลกที่คิดเกี่ยวกับสภาพชีวิตในขั้นปัจฉิมวัยนี้ ซึ่งยังเกี่ยวกับทัศนคติที่เศร้าหมองในการแสดงออกโดยผู้สูงอายุบางคน ผู้ที่คาดหวังอะไรบางอย่างในอนาคตด้วย

        หลายคนกังวลและกลัวความชรา พวกเขาถือว่านั่นเป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทุกคนควรหลีกเลี่ยงจากการสัมผัส พวกเขาคิดว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ธุระอะไรของเขา และควรแยกออกจากกันไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ มิฉะนั้นแล้วพวกเราต้องจัดการกับปัญหาของพวกเขา นี่เป็นความคิดของบุคคลที่ตกอยู่ในหลุมพลาง “วัฒนธรรมการกินทิ้งกินขว้าง” ซึ่งนำพาให้พวกเราคิดว่าพวกเราเป็นคนที่แตกต่างจากคนยากจน และผู้ที่มีความเปราะบางที่อยู่ท่ามกลางพวกเรา พวกเราต้องไม่ยุ่งกับความอ่อนแอของพวกเขา ต้องแยกตัวออกจากพวกเขา และปัญหาของพวกเขา พระคัมภีร์มองเรื่องนี้ในมุมมองที่ต่างกัน พระคัมภีร์สอนว่าชีวิตที่ยืนยาวเป็นพระพรของพระเจ้า และผู้สูงอายุไม่ใช่พวกตกขอบสังคมที่จำต้องถูกทอดทิ้งไป ทว่าผู้สูงวัยเป็นสัญลักษณ์ทรงชีวิตแห่งคุณงามความดีของพระเจ้าผู้ที่ทรงประทานชีวิตให้อย่างมั่งคั่งเหลือล้น เป็นความสุขแท้ของบ้านที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ เป็นบุญหรือความสุขแท้ของครอบครัวที่ให้เกียรติผู้สูงอายุ

        การมีอายุยืนไม่ใช่เป็นเวลาแห่งชีวิตที่จะเข้าใจกันง่ายๆ แม้จากพวกเราผู้ที่มีประสบการณ์กับภาวะเช่นนี้ แม้ว่าในที่สุดอายุจะมาพร้อมกับกาลเวลา แต่ก็ไม่มีผู้ใดเตรียมตัวเองเพื่อเข้าสู่วัยชรา และเวลาที่ปัจฉิมวัยจะมาก็มาแบบที่พวกเราไม่ทันได้ตั้งตัว ยิ่งสังคมจะพัฒนาขึ้นมากเท่าใดก็ยิ่งจะทุ่มเทเงินมหาศาลสำหรับชีวิตในขั้นตอนนี้โดยที่ไม่ได้ช่วยให้ผู้คนเข้าใจและชื่นชมกับวัยชรามากนัก หลายคนจะวางแผนเพื่อดูแลสุขภาพให้กับผู้สูงอายุ โดยการวางแผนที่จะดำเนินชีวิตในขั้นนี้อย่างบริบูรณ์ [1] นี่เป็นการยากที่จะมองไปยังอนาคตและไตร่ตรองว่าพวกเราจะเดินไปในทิศทางใด ในอีกมุมองหนึ่งพวกเราบางคนเสแสร้งที่จะทำตนเองให้ดูเหมือนไม่ชรา ด้วยการซ่อนรอยเหี่ยวย่นแล้วทำตัวเป็นคนหนุ่มสาวตลอดกาล ในขณะที่อีกมุมมองหนึ่งพวกเราจินตนาการว่า สิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือการซื้อเวลา หรือคิดอย่างไร้ความหวังว่าพวกเราไม่สามารถที่จะ “ทำอะไรให้บังเกิดผลได้อีกแล้ว”

        การเกษียณของพวกเรา และเด็ก ๆ ที่กำลังเจริญเติบโตขึ้นจะทำหลายสิ่งหลายอย่างในยุคที่พวกเรายังหนุ่มสาวเคยกระทำ การยอมรับรู้ว่าเรี่ยวแรงของพวกเรากำลังลดน้อยถอยลงหรือการเจ็บป่วยเริ่มจะมาเยือน พวกเราสามารถทำลายความมั่นใจของพวกเราได้  เวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วของโลก – ซึ่งพวกเราพยายามที่จะให้ทันกับยุคสมัย – ดูเหมือนจะทำให้พวกเราไม่มีทางเลือกนอกจากยอมรับสิ่งนั้นอย่างเงียบๆ ว่าพวกเรานั้นด้อยค่าลงไป พวกเราสามารถเป็นเสียงสะท้อนแห่งคำภาวนาด้วยใจจริงของผู้นิพนธ์บทเพลงสดุดีที่ว่า “โปรดอย่าทอดทิ้งข้าพเจ้าไป ในยามที่ข้าพเจ้าชราลง โปรดอย่าทิ้งข้าพเจ้าในยามที่ข้าพเจ้าหมดเรี่ยวแรง” (สดด. 71: 9)

        ในบทเพลงสดุดีเดียวกันนั้น – ซึ่งรำพึงการประทับยู่ของพระเจ้าในทุกขั้นตอนแห่งชีวิตของพวกเรา – ได้ขอร้องให้พวกเราบำรุงรักษาตนเองไว้ในความหวัง พร้อมกับวัยชราและผมสีขาว พระเจ้ายังคงประทานของขวัญแห่งชีวิตแก่พวกเราและคอยดูแลพวกเรามิให้ยอมแพ้ต่อความชั่วร้ายต่าง ๆ หากพวกเราวางใจในพระองค์พวกเราก็จะมีพลังที่จะสรรเสริญพระองค์ (เทียบ สดด. 71 ข้อ 14-20) พวกเราเห็นว่าการกลายเป็นคนชรานั้นเป็นอะไรที่มากไปกว่าความเสื่อมโทรมของกายภาพไปตามธรรมชาติ หรือการล่วงเลยไปของกาลเวลา ทว่านี่เป็นพระพรของการมีชีวิตที่ยืนยาว การมีอายุยืนมิใช่เป็นการสาปแช่งแต่กลับเป็นพระพร

        ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงควรที่จะดูรักษาสุขภาพของพวกเรา และรักษาความเข้มแข็งของพวกเราไว้ในยามชรา นี่เป็นความจริงเช่นเดียวกันในเรื่องของชีวิตฝ่ายจิต พวกเราควรฝึกชีวิตภายในโยอาศัยการอ่านพระวาจาของพระเจ้าด้วยดวงใจอันเร่าร้อน การสวดภาวนาประจำวัน การรับศีลศักดิ์สิทธิ์และการมีส่วนร่วมในจารีตพิธีกรรม  นอกจากความสัมพันธ์ของพวกเรากับพระเจ้าแล้ว พวกเราต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย พวกเราควรสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการแสดงความรักความห่วงใยกับสมาชิกในครอบครัวของพวกเรา กับบรรดาลูกหลาน กับคนยากจน และกับผู้ที่มีทุกข์โดยพยายามที่จะอยู่ใกล้ชิดกับพวกเขาพร้อมกับความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม และด้วยคำภาวนาของพวกเรา สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้พวกเราไม่รู้สึกว่าพวกเราเป็นเพียงผู้ที่ยืนดูอยู่เฉยๆ นั่งดูอยู่บนม้านั่ง หรือมองออกไปทางหน้าต่างในขณะที่ชีวิตชุลมุนอยู่รอบตัวพวกเรา ตรงกันข้าม พวกเราควรเรียนรู้ที่จะไตร่ตรองถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าในทุกหนทุกแห่ง [2] เฉกเช่นต้นมะกอกสีเขียวในบ้านของพระเจ้า” (เทียบ สดด. 52: 10) พวกเราจะกลายเป็นพระพรสำหรับผู้ที่มีบ้านใกล้เรือนเคียงกับพวกเรา

        วัยชราไม่ใช่เวลาที่พวกเราจะยอมแพ้แล้วลดใบเรือลง แต่วัยชราเป็นเวลาแห่งการบังเกิดผลที่ถาวร พันธกิจใหม่รอพวกเราอยู่และสั่งสอนให้พวกเรามองไปยังอนาคต “ความรู้สึกอันละเอียดอ่อนเป็นพิเศษของพวกเรา ผู้ชราบางคนมีความห่วงใย มีความคิด มีความรักควรเป็นกระแสเรียกของหลายคนอีกครั้งหนึ่ง นี่จะเป็นเครื่องหมายแห่งความรักของพวกเราให้กับชนรุ่นหลัง” [3] นี่จะเป็นสิ่งที่พวกเรามอบให้กับการปฏิรูปแห่งความสุภาพอ่อนโยน [4] เป็นการปฏิรูปชีวิตฝ่ายจิตที่ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งพ่อเองขอให้การสนับสนุน ผู้สูงอายุที่รัก ขอให้พวกท่านรับบทบาทนี้ก้าวไปสู่ความเข้มแข็ง

โลกของพวกเรากำลังผ่านไป เวลาแห่งการถูกทดลองด้วยโรคระบาดที่รุนแรง และเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วตามมาด้วยสงครามที่เป็นอันตรายต่อสันติภาพและการพัฒนาในระดับโลก นั่นไม่ใช่เหตุบังเอิญที่สงครามกำลังหวนกลับไปยังทวีปยุโรปในเวลาที่ชนรุ่นที่มีประสบการณ์กับความโหดร้ายจากสงครามในศตวรรษที่แล้วกำลังเสียชีวิตไปจนแทบจะหมดสิ้น วิกฤตที่ยิ่งใหญ่ครั้งนี้เสี่ยงที่จะทำให้เราเย็นชาต่อความจริงแห่ง “โรคระบาด” และการระบาดอื่น ๆ เช่นการใช้ความรุนแรงที่คุกคามต่อครอบครัวมนุษย์ และต่อบ้านส่วนรวมของพวกเรา

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน ต้องเปลี่ยนใจทีจะนำไปสู่การมองเห็นผู้อื่น และบรรดาพี่น้องชายหญิงของพวกเรา พวกเราผู้สูงอายุต้องมีความรับผิดชอบ ต้องสอนบุรุษและสตรีในยุคของพวกเราให้ใส่ใจต่อผู้อื่นดุจความเข้าใจเดียวกัน และการเพ่งพินิจด้วยความรักที่พวกเรามีต่อลูกหลานของพวกเรา พวกเราเจริญเติบโตในความเป็นมนุษย์ด้วยการเอาใจใส่ดูแลผู้อื่น บัดนี้พวกเราสามารถสอนวิถีชีวิตที่มีสันติสุขและใส่ใจต่อผู้อื่นที่มีความเดือดร้อน  ทัศนคตินี้อาจถูกเข้าใจผิดว่าเป็นความอ่อนแอหรือการยอมจำนน แต่นี่จะเป็นความอ่อนโยนไม่ใช่เป็นการกร้าวร้าวหรือใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เขาผู้นั้นจะได้รับแผ่นดินเป็นมรดก (เทียบ มธ. 5: 5)

ผลอย่างหนึ่งที่พวกเราถูกเรียกร้องให้เกิดขึ้นคือการปกป้องคุ้มครองโลก “บรรพบุรุษของพวกเราอุ้มชูพวกเราไว้ในอ้อมแขนและคุกเข่าสวมกอดพวกเราไว้” [5] บัดนี้ถึงเวลาของพวกเราที่จะต้องอุ้มกันต่อไปด้วยการคุกเข่าลง – ด้วยการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมหรือด้วยการอธิษฐานภาวนา – ไม่ใช่เพียงแต่ลูกหลานของพวกเราเท่านั้น แต่ต้องทำกับเด็ก ๆ ที่มีความกลัวมากมายที่พวกเราไม่เคยพบ และผู้ที่อาจต้องหนีจากสงครามหรือที่รับทุกข์จากผลแห่งสงคราม ขอให้พวกเรารำลึกไว้ในใจเสมอ – ดุจดังนักบุญโยเซฟผู้ทรงเป็นบิดาที่รักและเอาใจใส่ดูแล – เด็กๆ ในประเทศยูเครน ในประเทศอัฟกานิสถาน ในประเทศซูดานใต้…

พวกเราหลายคนบรรลุถึงความเป็นผู้มีปรีชาญาณและรับรู้ด้วยความสุภาพถึงสิ่งที่โลกของพวกเรามีความต้องการ คือรับรู้อย่างดีว่าพวกเราจะเอาตัวรอดคนเดียวไม่ได้ และความสุขในการเป็นขนมปังที่พวกเราจะต้องหักด้วยกัน ขอให้พวกเราเป็นประจักษ์พยานในประเด็นนี้ กับผู้ที่คิดอย่างผิดๆ ว่าพวกเขาสามารถหาความสุขส่วนตัวและความสำเร็จได้ในความขัดแย้ง กับทุกคนแม้กับบุคคลที่อ่อนแอเปราะบางที่สุดในท่ามกลางพวกเราก็สามารถกระทำสิ่งนี้ได้ ความจริงที่พวกเรายอมให้ตัวเองเป็นผู้ที่ได้รับการดูแล – บ่อยครั้งจากบุคคลที่มาจากต่างประเทศ – ในตัวเองคือหนทางในการดำเนินชีวิตอยู่ด้วยกันในสันติสุข ซึ่งไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่เป็นความจำเป็นด้วย

พี่น้องผู้สูงอายุที่รัก พวกเราถูกเรียกร้องให้เป็นปฏิมากรในการปฏิรูปของความอ่อนโยนในโลกของพวกเรา  ขอให้พวกเรากระทำดังกล่าวด้วยการเรียนรู้ที่จะใช้เครื่องมือที่พวกเรามีอยู่บ่อยๆ และให้ดีกว่า และอันที่จริงเครื่องมือที่เหมาะสมที่สุดในยุคสมัยของเราคือการอธิษฐานภาวนา “ขอให้พวกเราเป็นนักกวีเอกแห่งการสวดภาวนา: ขอให้พวกเราสรรหาคำพูดจากใจของพวกเราเอง ขอให้พวกเรายึดมั่นในพระวาจาของพระเจ้า” [6]  การอธิษฐานภาวนาด้วยความไว้วางใจของพวกเราจะสามารถก่อให้เกิดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ จะสามารถติดตามเสียงร้องด้วยความเจ็บปวดของผู้ที่เป็นทุกข์  จะสามารถเปลี่ยนแปลงหัวใจได้ พวกเราจะสามารถเป็น “กลุ่มนักขับร้องที่ยืนหยัดแห่งพระแท่นฝ่ายจิตที่ยิ่งใหญ่ ณ ที่ซึ่งการภาวนาวิงวอน และการขับร้องบทเพลงสรรเสริญ ซึ่งจะหล่อเลี้ยงชุมชนที่ทำงานหนักและดิ้นรนต่อสู้ในบริบทแห่งชีวิต” [7]

วันผู้สูงอายุสากลเป็นโอกาสดีที่จะประกาศอีกครั้งหนี่งด้วยความชื่นชมยินดีว่าพระศาสนจักรต้องการที่จะทำการเฉลิมฉลองพร้อมกับทุกคนผู้ที่พระเจ้าทำให้ทุกวันแห่งชีวิตมีความบริบูรณ์ ซึ่งเป็นคำพูดจากพระคัมภีร์ ขอให้พวกเราทำการฉลองร่วมกัน  พ่อใคร่ขอร้องพวกท่านทำให้วันนี้เป็นวันที่ได้รับรู้รับทราบกันในวัด และชุมชนของพวกท่าน เพื่อที่จะหาบุคคลผู้สูงอายุที่ถูกปล่อยให้อยู่ตามลำพังไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่บ้านพักคนชรา ขอให้พวกเราแน่ใจว่าจะไม่มีผู้ใดที่อยู่ตามลำพังในวันนั้น การหวังที่จะมีผู้คนมาเยี่ยมสามารถเปลี่ยนวันเหล่านั้น เมื่อพวกเราคิดว่าพวกเราไม่มีอะไรที่จะต้องหวัง จากการพบปะกันครั้งแรกมิตรภาพอาจเกิดขึ้นได้ การเยี่ยมผู้สูงอายุเป็นกิจกุศลที่พึงกระทำแห่งความเมตตาในยุคสมัยของพวกเรา

ขอให้พวกเราวิงวอนพระแม่มารีย์มารดาแห่งความรักที่อ่อนโยน เพื่อที่เราทุกคนจะได้กลายเป็นปฏิมากรแห่งบการปฏิรูปความอ่อนโยน เพื่อที่พวกเราจะสามารถทำให้โลกเป็นอิสระพร้อมกันพ้นจากความเบื่อหน่ายและจากภัยปิศาจของสงคราม

พ่อขอมอบพระพรความใกล้ชิดและความรักมายังท่านและบุคคลที่ท่านรัก พ่อใคร่ขอร้องให้พวกท่านได้โปรดคิดถึงพ่อในคำภาวนาด้วย

        ให้ไว้ที่กรุงโรม ณ มหาวิหารนักบุญจอห์น ลาเตรัน วันฉลองอัครสาวกฟิลิป และยากอบ (องค์เล็ก)

ฟรานซิส

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บสาส์นนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)


เชิงอรรถ

[1] Catechesis on Old Age – 1. The Grace of Time and the Covenant of the Ages of Life (23 February 2022).

[2] Catechesis on Old Age – 5. Fidelity to God’s Visitation for the Next Generation (30 March 2022).

[3] Catechesis on Old Age – 3. Old Age, A Resource for Lighthearted Youth (16 March 2022).

[4] Catechesis on Saint Joseph – 8. Saint Joseph, Father of Tenderness (19 January 2022).

[5] Homily at the Mass for the World Day for Grandparents and the Elderly (25 July 2021).

[6] Catechesis on the Family – 7. Grandparents (11 March 2015).

[7] Ibid.