วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568
  

พิธีบูชาขอบพระคุณและการอวยพร “PALLIUM” (เครื่องสมณยศ) สำหรับอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองมหานคร

วันนี้การเป็นประจักษ์พยานอันยิ่งใหญ่ของอัครสาวกเปโตรและเปาโลกลับมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในจารีตพิธีกรรมของพระศาสนจักร เปโตรถูกจำคุกด้วยคำสั่งของกษัตริย์เฮโรดและได้รับแจ้งจากทูตสวรรค์ของพระเจ้า “จงลุกขึ้นเร็ว ๆ” (กจ. 12: 7) ในขณะที่เปาโลเมื่อมองย้อนหลังไปยังชีวิตในอดีตกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ทำการต่อสู้มาเป็นอย่างดี” (2 ทธ. 4: 7) ขอให้พวกเรามาพิจารณากันถึงคำพูดสองประโยคนี้ – “จงลุกขึ้นเร็ว ๆ” และ “การต่อสู้เป็นอย่างดี” – แล้วขอถามพวกท่านว่าจะพูดว่าอย่างไรกับชุมชนคริสตชนของทุกวันนี้ที่กำลังดำเนินการในกระบวนการก้าวเดินไปด้วยกัน

ประการแรก หนังสือกิจการอัครสาวกบอกพวกเราถึงราตรีที่เปโตรได้รับอิสรภาพจากการถูกล่ามโซ่ในคุก ทูตสวรรค์องค์หนึ่งของพระเจ้ามาแตะสีข้างเขาในขณะที่เขากำลังนอนหลับ “เมื่อปลุกเขาตื่นขึ้นมาแล้วจึงกล่าวว่า “จงตื่นขึ้นเร็ว ๆ” (กจ. 12: 7) ทูตสวรรค์ปลุกเปโตรให้ตื่นแล้วบอกให้เขารีบลุกขึ้น ภาพนี้เตือนใจพวกเราให้นึกถึงปัสกา เพราะมีคำกิริยาอยู่สองคำในเรื่องเล่าของการกลับฟื้นคืนชีพ: ตื่นและลุกขึ้น อันที่จริงทูตสวรรค์ปลุกให้เปโตรตื่นจากการหลับแห่งความตายและบอกให้เขาลุกขึ้น ลุกขึ้นแล้วเดินไปหาแสงสว่าง โดยปล่อยให้ตนเองนำทางโดยพระเจ้าด้วยการเดินผ่านประตูต่างๆที่ปิดตาย (เทียบ ข้อ 10)  ภาพนี้มีความหมายยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนจักร พวกเราก็เช่นเดียวกันในฐานะที่พวกเราเป็นศิษย์ของพระเยซูคริสต์และอยู่ในชุมชนคริสตชนต่างถูกเรียกร้องให้ต้องลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะเข้าไปสู่พระธรรมล้ำลึกแห่งการเสด็จกลับฟื้นคืนชีพแล้วขอให้พระเยซูคริสต์นำพาพวกเราไปให้เดินตามเส้นทางที่พระองค์จะทรงชี้ให้พวกเราเดิน

ทว่าพวกเราก็ยังมีประสบการณ์ภายในหลายประการของการดื้อรั้นที่กีดขวางไม่ให้พวกเราเริ่มออกเดิน บางครั้งในฐานะพระศาสนจักรพวกเรายอมให้ความเกียจคร้านเข้ามาครอบงำ พวกเราชอบที่จะนั่งเชยชมกับบางสิ่งที่พวกเรามีอยู่ แทนที่จะลุกขึ้นแล้วมองไปยังขอบฟ้าใหม่ มองไปยังมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ บ่อยครั้งก็เหมือนเปโตรที่ถูกล่ามโซ่ ที่ถูกจำคุกด้วยนิสัยของตัวเราเอง หวั่นกลัวที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และถูกล่ามโช่ในชีวิตประจำวันของพวกเรา สิ่งนี้แหละจะค่อยๆ นำพวกเราไปสู่ชีวิตจิตที่ครึ่งๆกลางๆ พวกเราอยู่ในความเสี่ยงที่จะ “ถือว่าเป็นเรื่องง่าย” ขอให้ชีวิต “ผ่านไปวันๆ หนึ่ง” แม้แต่ในงานอภิบาล ความกระตือรือร้นของพวกเราในงานธรรมทูตจะค่อยๆ จืดจางลงไปแทนที่จะเป็นเครื่องหมายแห่งการมีชีวิตชีวาและความคิดสร้างสรรค์ แต่จะลงเอยด้วยการที่ไม่รู้จักร้อนรู้จักหนาวพร้อมกับรู้สึกกระวนกระวาย แล้วกระแสที่ยิ่งใหญ่แห่งความใหม่และชีวิตที่เป็นพระวรสารที่อยู่ในกำมือของเรา – ขอใช้คำพูดของคุณพ่อ เดอ ลูบัค (de Lubac) – เตือนสติพวกเรา ความเชื่อที่ “ตกไปเป็นทาสของพิธีการและติดเป็นนิสัยประจำไป… เป็นศาสนาแห่งจารีตพิธีและศรัทธา ของเครื่องประดับ และของความบรรเทาฝ่ายโลก… จะกลายเป็นศาสนาของบรรพชิต ที่มีแต่รูปแบบภายนอก ลักษณะโลหิตจาง และแข็งกระด้าง” (The Drama of Atheist Humanism)

กระบวนการซีนอดที่พวกเรากำลังเฉลิมฉลองกันอยู่นี้เรียกร้องให้พวกเราเป็นพระศาสนจักรที่ต้องลุกขึ้นมา เป็นพระศาสนจักรที่ไม่มองเห็นแต่ตนเอง แต่ต้องสามารถที่ก้าวออกไปโดยทิ้งสถานที่จองจำของตนเองไว้เบื้องหลัง แล้วออกไปพบกับชาวโลกพร้อมกับความกล้าหาญที่จะเปิดประตูคุก ในคืนเดียวกันนั้นมีการล่อลวงอีกประการหนึ่ง (เทียบ กจ. 12: 12-17) เด็กสาวคนนั้นหันหลังกลับไป แทนที่จะไปเปิดประตู เธอกลับไปเล่าเรื่องที่คล้ายกับเป็นความฝัน ขอให้พวกเราจงไปเปิดประตู พระเยซูคริสต์ทรงเรียกร้องจากพวกเรา ขอให้พวกเราจงอย่าได้เป็นเช่นโรดา (Rhoda) ที่หันหลังกลับไป

พวกเราต้องเป็นพระศาสนจักรที่ปราศจากทั้งโซ่ตรวนและกำแพง เป็นที่ซึ่งทุกคนรู้สึกว่าได้รับการต้อนรับติดตาม เป็นพระศาสนจักรที่มีการฟัง มีการเสวนา และการมีส่วนร่วมถูกเพาะปลูกภายใต้อำนาจหนึ่งเดียวของพระจิต เป็นพระศาสนจักรที่เป็นอิสระและสุภาพถ่อมตน เป็นพระศาสนจักรที่ ”ลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว” และไม่มัวแต่จะเสียเวลากับการเปลี่ยนแปลงแห่งเวลาของปัจจุบัน เป็นพระศาสนจักรที่ไม่อ้อยอิ่งเชื่องช้าอยู่แต่ในอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ของตน แต่จะต้องถูกผลักดันด้วยความกระตือรือร้นที่จะประกาศพระวรสารและมีความปรารถนาที่จะพบปะและยอมรับทุกคน ขอให้พวกเราอย่าลืมคำว่า: ทุกคน จงไปตามสี่แยกพบกับทุกคน ทั้งคนตาบอด คนหูหนวก คนพิการ คนป่วย คนชอบธรรมและคนบาป: ทุกคน!  คำนี้ของพระเจ้าควรจะต้องดังก้องกังวานในจิตใจของพวกเรา ในพระศาสนจักรมีที่ยืนที่พักพิงสำหรับทุกคน หลายครั้งพวกเราเป็นพระศาสนจักรที่เปิดประตูกว้างก็จริงแต่นั่นเพื่อที่จะส่งคนกลับไปเท่านั้น หรือสำหรับประจารคนอื่น ๆ เมื่อวานนี้คนหนึ่งในพวกท่านกล่าวกับพ่อว่า “นี่ไม่ใช่เวลาที่จะส่งผู้คนออกไป แต่เป็นเวลาที่จะต้องต้อนรับพวกเขา” “พวกเขาไม่สามารถเข้ามาในงานเลี้ยง…” – ดังนั้นจงไปที่สี่แยก นำทุกคนให้เข้ามา “ทว่าพวกเขาเป็นคนบาป…” – โปรดนำทุกคนให้เข้ามา!

ในบทอ่านที่สองพวกเราได้ฟังคำพูดของเปาโลซึ่งเมื่อท่านมองย้อนหลังไปถึงชีวิตของท่านแล้วพูดว่า “ข้าพเจ้าดิ้นรนต่อสู้จนถึงที่สุด” (2 ทธ. 4: 7) อัครสาวกหมายถึงสถานการณ์นับไม่ถ้วน บางเรื่องก็เป็นการเบียดเบียนและเป็นความทุกข์ ซึ่งท่านไม่ยอมว่างเว้นที่จะประกาศพระวรสารของพระเยซูคริสต์ บัดนี้เมื่อถึงปลายชีวิต ท่านมองเห็นว่า “การต่อสู้” ที่ยิ่งใหญ่ก็ยังเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ เพราะว่ายังมีอีกหลายคนที่ไม่อมรับพระเยซูคริสต์ พวกเขาชอบที่จะติดตามแสวงหาผลประโยชน์ของตนและหันไปนับถืออาจารย์อื่นซึ่งเป็นชีวิตที่ง่ายคู่ควรกับความชอบของตน เปาโลต้องสู้รบปรบมือกับสงครามของตน และบัดนี้ท่านได้วิ่งแข่งกับตนเองแล้ว ท่านขอร้องทิโมธี รวมถึงบรรดาพี่น้องและชุมชนให้ดำเนินงานของพวกเขาต่อไปด้วยความระมัดระวัง ทั้งในการเทศน์และการสอน พูดง่ายๆ คือ ใหแต่ละคนทำพันธกิจที่ตนได้รับมาให้สำเร็จไป แต่ละคนต้องทำหน้าที่ของตน

คำเตือนของเปาโลยังเป็นคำพูดแห่งชีวิตสำหรับพวกเราด้วย ทำให้พวกเรารับรูว่าในพระศาสนจักรพวกเราทุกคนถูกเรียกร้องให้เป็นศิษย์ธรรมทูตและทำหน้าที่ที่เป็นของพวกเรา ณ จุดนี้มีสองคำถามผุดขึ้นมาในสมองของพ่อ คำถามแรก: ข้าพเจ้าสามารถทำอะไรได้บ้างสำหรับงพระศาสนจักร? ไม่ใช่บ่นเกี่ยวกับพระศาสนจักร แต่เป็นการปวารณาตนเองให้กับพระศาสนจักร การมีส่วนร่วมในความทุกข์ทรมาน และด้วยความสุภาพถ่อมตน ด้วยความทุกข์เพราะว่าพวกเราต้องไม่เป็นคนที่ยืนดูอยู่เฉย ๆ ด้วยความสุภาพถ่อมตัว เพราะว่าการอุทิศตนให้กับชุมชนต้องไม่หมายถึงการเอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง ต้องไม่ถือว่าตัวเราดีกว่าผู้อื่น นี่หมายถึงพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน ทุกคนมีบทบาทที่ต้องแสดงออก ไม่มีผู้ใดเล่นบทบาทแทนผู้อื่นหรือยู่เหนือผู้อื่นได้ ไม่มีคริสตชนชั้นหนึ่งหรือชั้นสอง ทุกคนต่างถูกเรียกร้องเหมือนกัน

การมีส่วนร่วมยังหมายถึง “การต่อสู้” ดังที่เปาโลกล่าวไว้ เพราะว่านี่คือ “การต่อสู้” เนื่องจากการประกาศพระวรสารไม่เคยเป็นแบบกลาง ๆ – ขอพระเยซูคริสต์โปรดให้พวกเราเป็นไทจากทำให้พระวรสารเป็นแบบกลาง ๆ – พระวรสารไม่เคยเป็นแบบกลาง ๆ การประกาศพระวรสารไม่ยอมปล่อยให้สิ่งต่างๆ เป็นไปอย่างที่เป็น ไม่มีการออมชอมกับความคิดของชาวโลก แต่ต้องจุดประกายไฟแห่งพระอาณาจักรของพระเจ้าท่ามกลางอำนาจบาทใหญ่ของมนุษย์ ความชั่วร้ายต่าง ๆ การใช้ความรุนแรง การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความอยุติธรรม และการปล่อยให้ผู้คนอยู่ตามชายขอบสังคมเผชิญความทุกข์ นับตั้งแต่ที่พระเยซูคริสต์เสด็จกลับฟื้นคืนพระชนม์ชีพและกลายเป็นลุ่มน้ำแห่งประวัติศาสตร์ “จะเริ่มมีการต่อสู้กันระหว่างชีวิตและความตาย ระหว่างความหวังและความสิ้นหวัง ระหว่างการยอมจำนนให้กับความชั่วร้ายและการดิ้นรนต่อสู้จนถึงที่สุด ซึ่งจะเป็นการต่อสู้ที่จะไม่มีวันสงบศึกจนกระทั่งเกิดความพ่ายแพ้ของอำนาจทั้งปวงแห่งความเกลียดชัง การทำลายล้างทุกประเภท (C.M. MARTINI, Easter Homily, 4 April 1999)

ดังนั้นคำถามที่สองจึงเป็น: เราจะพร้อมใจกันทำอย่างไรในฐานะที่เป็นพระศาสนจักรเพื่อที่จะทำให้โลกที่พวกเราอาศัยอยู่มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น มีความยุติธรรม มีความเอื้ออาทร เปิดใจกว้างสู่พระเจ้าและเพื่อนมนุษย์?  แน่นอนว่าพวกเราจะต้องไม่ถอยกลับเข้าสู้แวดวงพระศาสนจักรของพวกเราและนิ่งเฉยกับการโต้เถียงที่ไร้ประโยชน์ของเรา ขอให้พวกเราอย่าได้ตกอยู่กับลัทธิบรรพชิตนิยมหรือลัทธิสมณนิยม เพราะบรรพชิตนิยมเป็นความหลงผิด สมณบริกรที่เป็นบรรพชิตที่มีทัศนคติสมณะต้องเป็นใหญ่ นั่นเป็นผู้ที่เดินในหนทางที่ผิด และที่ร้ายกว่านั้นคือการทำให้ฆราวาสเป็นดุจบรรพชิตหรือสมณะ ขอให้พวกเราเฝ้าระวังกับการหลงผิดนี้ ซึ่งได้แก่ลัทธิบรรพชิตนิยม ขอให้พวกเราช่วยเหลือกันและกันให้พวกเราเป็นเชื้อแป้งของโลก ด้วยความพร้อมใจกันพวกเราสามารถและต้องเอาใจใส่ดูแลชีวิตมนุษย์ต่อไป ต้องปกป้องสิ่งสร้างทั้งมวล สรรพสิ่งสรรพสัตว์ ปกป้องศักดิ์ศรีของการทำงาน ดูแลปัญหาของครอบครัว ดูแลผู้สูงอายุและผู้ที่ถูกทอดทิ้ง ผู้ถูกปฏิเสธ และได้รับการปฏิบัติด้วยการลบหลู่ พูดคำเดียวคือ พวกเราถูกเรียกร้องให้เป็นพระศาสนจักรที่ส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งการเอาใจใส่ดูแลด้วยความอ่อนโยน และเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่มีความเปราะบาง พวกเราจะต้องเป็นพระศาสนจักรที่ต่อสู้กับทุกรูปแบบของการฉ้อราษฎร์บังหลวง และความเสื่อมโทรมรวมถึงผู้คนที่อยู่ในหัวเมืองและในสถานที่ซึ่งพวกเราคุ้นเคย เพื่อในชีวิตของทุกคนจะพบความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสารจะได้เปล่งรัศมีออกมา นี่คือ “การต่อสู้” ของพวกเรา และนี่คือการท้าทายของพวกเรา การล่อลวงที่ทำให้พวกเราอยู่นิ่งเฉยนั้นแย่ยิ่งกว่าการล่อลวงในความฝันร้ายที่เกิดขึ้นบางครั้งบางเวลา ขอให้พวกเราอย่าได้ตกอยู่ในการล่อลวงแห่ง “การมองย้อนหลัง” ซึ่งกลายเป็นแฟชั่นในทุกวันนี้ในพระศาสนจักร

ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก  วันนี้ตามธรรมเนียมที่ดีพ่อจะเสก Pallia สำหรับอาร์ชบิชอปใหม่ประจำเขตศาสนปกครองมหานคร ซึ่งหลายท่านก็อยู่กับเราในวันนี้ ในความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันกับนักบุญเปโตรพวกท่านถูกเรียกร้องให้ “ลุกขึ้นโดยเร็ว” ไม่ใช่ให้นอนหลับทับสิทธิ และให้รับใช้ดุจยามที่ขยันในการเฝ้าดูแลฝูงแกะ เพื่อที่ลุกขึ้นและต่อสู้ได้เป็นอย่างดีจะต้องไม่ทำตามลำพัง คิดเอง ทำเอง แต่จะต้องทำไปพร้อมกับประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์ และซื่อสัตย์ของพระเจ้า และในฐานที่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี พวกท่านจะต้องยืนอยู่ข้างหน้าประชากร ท่ามกลางประชากรและข้างหลังประชากร  แต่พวกท่านจะต้องอยู่กับประชากรผู้ศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของพระเจ้าเสมอ เพราะว่าพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งแห่งประชากรศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของพระเจ้า

ขอต้อนรับคณะผู้แทนที่ส่งมาโดยพระมหาอัยกาบาร์โธโลเมโอ (Bartholomew)  ขอบคุณสำหรับการมาร่วมในพิธีของพวกท่านและสำหรับสาส์นที่ท่านนำมามอบให้จากพระมหาอัยกาบาร์โธโลเมโอ (Bartholomew) ขอบคุณสำหรับการที่เราก้าวเดินไปด้วยกัน เพราะด้วยการก้าวเดินไปด้วยกันเท่านั้นที่จะสามารถเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งพระวรสารและการเป็นประจักษ์พยานถึงการเป็นพี่น้องกัน

ขอให้นักบุญเปโตรและเปาโลวิงวอนเพื่อเรา เพื่อกรุงโรม เพื่อพระศาสนจักร และเพื่อโลกของพวกเรา อาแมน

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทเทศน์พระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)