วันที่ 20 สิงหาคม ระลึกถึงนักบุญเบอร์นาร์ด ฤษีและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร (St Bernard, Abbot and Doctor, memorial, 1091-1153)

วันที่ 20 สิงหาคม

ระลึกถึงนักบุญเบอร์นาร์ด ฤษีและนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักร

(St Bernard, Abbot and Doctor, memorial, 1091-1153)

นักบุญเบอร์นาร์ดมาจากหนึ่งในครอบครัวขุนนางที่เป็นผู้นำของแคว้น Burgundy ประเทศฝรั่งเศส เติบโตมาอย่างศรัทธาโดยมารดาเป็นผู้ปลูกฝัง อายุ 22 ปีตัดสินใจเลิกจากการเป็นอัศวินเพื่อไปเป็นฤษี ท่านมีพลังดึงดูดที่ทำให้ผู้คนเห็นคล้อยตาม เห็นได้ชัดตั้งแต่แรกที่ท่านขอเข้าอารามฤษีคณะ Cistercian ที่เมือง Citeaux ท่านได้มีผู้ติดตามที่มีใจตรงกันขอตามเข้าไปเป็นฤษีด้วยถึง 30 คน ในจำนวนนี้รวมถึงบิดาของท่านซึ่งเป็นหม้าย ลุงอีกหนึ่งคน และพี่น้องผู้ชายอีก 4 คน

ความก้าวหน้าทางชีวิตจิตของเบอร์นาร์ดในอารามฤษีเป็นไปอย่างรวดเร็ว หลังจากผ่านไปเพียงสามปีกว่าเล็กน้อย ท่านก็ได้เป็นหัวหน้ากลุ่มฤษีจำนวน 12 คน ที่จะไปตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ Clairvaux ที่แปลว่า “หุบเขาแห่งแสงสว่าง” และ ณ ที่แห่งใหม่นี้ แสงสว่างใหม่ก็ค่อยๆส่องออกมาจากพลังส่วนบุคคลของท่านที่ชวนให้น่าติดตาม ความรักมากมายที่ท่านมีต่อพระเจ้า รวมทั้งความอ่อนโยนและความบริสุทธิ์ ผนวกไปด้วยความมุ่งมั่นอย่างกล้าหาญ ทำให้ผู้ชายจำนวนมาก ซึ่งมาจากทุกสาขาอาชีพ รวมถึงพระโอรสของกษัตริย์ มาติดตามท่านเพื่อไปดำเนินชีวิตอย่างเข้มงวดในอารามฤษี

กล่าวกันว่าในช่วงที่ท่านเป็นอธิการฤษีอยู่ที่ Chairvaux 37 ปีนั้น ท่านได้สร้างอารามฤษีอื่นๆอีก 136 แห่ง และบรรดาฤษีของท่านได้ไปถึงประเทศ เยอรมนี สวีเดน ไอร์แลนด์ อังกฤษ ปอร์ตุเกส อีตาลี และสวิสเซอร์แลนด์ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าท่านเป็นผู้ก่อตั้งลำดับที่สองในเรื่องการถือตามกฎระเบียบที่เข้มงวดแบบดั้งเดิมของนักบุญเบเนดิกต์ และได้ทำให้ชีวิตจิตมีชีวิตชีวาขึ้นเป็นอย่างมากในทุกคณะที่ดำเนินชีวิตแบบฤษี ทุกวันนี้สาขาของคณะ Cistercians ที่รู้จักกันดีก็คือ ฤษีคณะ Trappists

โดยแท้จริงแล้ว นักบุญเบอร์นาร์ดชอบอยู่ในห้องเงียบๆ คนเดียวมากกว่า แต่เพราะความโดดเด่นในทางความรู้ที่สูงส่งของท่าน และเพราะพลังในการทำให้คนคล้อยตามของท่าน จึงทำให้ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องเมื่อมีความขัดแย้งทุกเรื่องในพระศาสนจักร ซึ่งท่านก็สามารถชี้ให้เห็นถึงความผิดหลงในการสอนของ Abelard ที่ยกย่องเหตุผลของมนุษย์ว่าสูงส่งและเป็นนักเหตุผลนิยม และโดยคำร้องขอของพระสันตะปาปา Eugene ที่ 3 ซึ่งเคยเป็นศิษย์ของท่าน ทำให้ท่านได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงขึ้นมาชื่อ “Book of Considerations” ที่เน้นถึงความจำเป็นของความศักดิ์สิทธิ์ในตัวบุคคลที่เป็นหัวหน้าของพระศาสนจักรที่มองเห็นได้ ส่วนเรื่องทางโลกอื่นๆ ทั้งหมดเป็นลำดับที่สองรองลงไป

เมื่อกรุงเยรูซาเล็มและกรุงอันทิโอกถูกข่มขู่ โดยที่เมือง Edessa ถูกตีแตกในปี ค.ศ. 1144 (Edessa ปัจจุบันอยู่ในประเทศตุรกี เป็นเมืองของพวกครูเสด ที่ตั้งขึ้นในช่วงปลายและหลังจากสงครามครูเสดครั้งที่ 1 = ผู้แปล) พระสันตะปาปาได้ตรัสสั่งให้นักบุญเบอร์นาร์ดเป็นผู้เทศน์สำหรับพวกครูเสด ซึ่งท่านได้เทศน์อย่างประสบความสำเร็จ และมีชื่อเสียงมากทั่วทั้งดินแดนของฝรั่งเศสและเยอรมนี ทั่วทั้งทวีปตื่นตัวขึ้นมา ธุรกิจในชีวิตประจำวันหยุดชะงัก หรือไม่ก็มอบให้บรรดาสตรีไปทำแทน ในขณะที่ผู้ชายยกไม้กางเขนขึ้น มีความมหัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายในแต่ละขั้นตอน แต่น่าเสียดาย ที่สงครามครูเสดครั้งที่ 2 นี้ก็ไม่ประสบความสำเร็จ อาจเป็นเพราะหลายสาเหตุ เช่น การขาดระเบียบวินัย มั่นใจในตนเองมากไป กลอุบายบางอย่าง และการทรยศ ทั้งหมดนี้รวมๆ กันทำให้การสงครามนี้ล้มเหลว นักบุญเบอร์นาร์ดจึงถูกทำให้เป็นแพะรับบาปและถูกตำหนิในความพินาศครั้งนี้

นอกเหนือจากนี้ ท่านเป็นผู้รักการภาวนาเป็นชีวิตจิตใจ ท่านได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจทางเทววิทยาที่ลึกซึ้งถึงบทบาทของพระแม่มารีย์ในข้อความเชื่อของคาทอลิก โดยเฉพาะการมีส่วนเป็นพิเศษในงานของการไถ่ให้รอด (นักบุญองค์นี้เป็นผู้แต่งบทภาวนาของแม่พระบทหนึ่ง ที่ “ผู้หว่าน” หรือพระอัครสังฆราช ยวง นิตโย ได้แปลไว้ คือบท “โปรดระลึกเถิด โอ้พรหมจารีมารีย์ ผู้โอบอ้อมอารี…” – เครดิต : พ่อสุเทพ พงษ์วิรัชไชย เล่าให้ฟัง) นอกจากนี้ยังมีงานเขียนเกี่ยวกับธรรมล้ำลึกอื่นๆอีกที่ท่านได้มอบไว้ให้ ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในความคิดทางเทววิทยาโดยรวมที่งดงามมากที่สุด เราอาจจะสรุปหลักการทางเทววิทยาของท่านสั้นๆได้ดังนี้ ตัวอย่างเช่น องค์พระผู้เป็นเจ้า ในด้านของความรัก ได้ทางสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยความรัก และโดยความรักนั้นเองได้ทรงไถ่เขาให้รอดพ้น ข้อพิสูจน์สูงสุดของความรักนั้น คือการเสด็จลงมาบังเกิดเป็นมนุษย์ของพระวจนาตถ์ (The Incarnation of the Word) และการไถ่ให้รอด (Redemption) (cfr. New Catholic Encyclopedia Vol 2)

นักบุญเบอร์นาร์ดได้สิ้นชีพ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1153 ได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญ เมื่อวันที่ 18 มกราคม ค.ศ. 1174 โดยพระสันตะปาปา อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (Pope Alexander III) และได้รับการประกาศเป็นนักปราชญ์แห่งพระศาสนจักรในปี ค.ศ. 1830 โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 8 (Pope Pius VIII) พระธาตุส่วนศีรษะของท่านถูกเก็บรักษาไว้ใน The Cathedral of Troyes ในขณะที่พระธาตุส่วนอื่นๆถูกเคลื่อนย้ายจาก Clairvaux ไปอยู่ที่วัดของ Ville – sous- la – Ferte

ในโอกาสครบรอบ 800 ปีแห่งการตายของนักบุญเบอร์นาร์ด พระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 (Pope Pius XII)ได้ยกย่องท่านว่าเป็นนักปราชญ์ที่เขียนได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ( = “Mellifluous Doctor” ) ในสมณสาส์นชื่อเดียวกันนี้

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)