วันพฤหัสบดี, 9 มกราคม 2568
  

ธรรมนูญ “จงประกาศพระวรสาร” การปฏิรูปของโรมันคูเรีย “Praedicate Evangelium”

พระสันตะปาปามฟรังซิสทรงประกาศใช้ธรรมนูญชื่อ “จงประกาศพระวรสาร” (Praedicate Evangelium) ที่ทำให้โครงสร้างพันธกิจด้านธรรมทูตมีพลังมากยิ่งขึ้นสำหรับโรมันคูเรีย เพื่อที่จะบริการรับใช้พระศาสนจักรท้องถิ่นและงานประกาศพระวรสารได้ดียิ่งขึ้น

         ในวันสมโภชนักบุญโยเซฟพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศใช้ธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับโรมันคูเรียที่ชื่อว่า “จงประกาศพระวรสาร” (Praedicate Evangelium) หัวข้อที่สำคัญที่สุดที่ใช้สำหรับการปกครองโรมันคูเรีย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2022 เป็นวันสมโภชพระจิตเจ้า ธรรมนูญเป็นผลแห่งการรับฟังที่ยืดยาวที่เริ่มต้นด้วยสมณกระทรวงทั่วไปที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการประชุมคอนเคล็ฟ (conclave) เมื่อปี ค.ศ. 2013 ธรรมนูญฉบับใหม่จะมาแทนธรรมนูญ “Pastor bonus” ซึ่งพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 ทรงประกาศใช้เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1988 และมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1989 ซึ่งมีทั้งหมด 250 มาตราด้วยกัน

         เมื่อวันจันทร์ที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา เวลา 11.30 น. ได้มีการนำธรรมนูญ “Praedicate Evangelium” ไปมอบให้กับสำนักพิมพ์ของสันตะสำนักโดยพระคาร์ดินัล มาร์แชลโล เซเมราโน (Marcello Semeraro) สมณมนตรีเพื่อการสถาปนาการเป็นนักบุญและคุณพ่อจานฟรังโก กีร์ลานดา (Gianfranco Ghirlanda) นักกฎหมายพระศาสนจักรและอาจารย์กิตติมศักดิ์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งสันตะสำนักเกรโกเรียน (Pontifical Gregorian University)

         ธรรมนูญดังที่กล่าวไว้เป็นผลงานที่ยืดเยื้อของบรรดาพระคาร์ดินัลที่ได้รับแรงจูงใจจากการประชุมที่เกิดก่อนการประชุมคอนเคล็ฟ (conclave) ซึ่งคณะพระคาร์ดินัลมีส่วนร่วมตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 2013 จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022ซึ่งเกิดขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของพระสันตะปาปาฟรานซิสและข้อเสนอต่างๆ จากพระศาสนจักรท้องถิ่นทั่วโลก

คูเรียมุ่งประเด็นไปยังการประกาศพระวรสาร

         พวกเราควรตั้งข้อสังเกตว่าธรรมนูญใหม่เรียกร้องหนทางแห่งการปฏิรูปที่ได้มีการปฏิบัติกันเรื่อยมาในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา ด้วยการรวมแผนกและการปรับเปลี่ยนนำไปสู่การสร้างสมณกระทรวงใหม่ ในธรรมนูญเน้นว่า “โรมันคูเรียประกอบด้วยสำนักเลขาธิการแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน สมณกระทรวง  และสำนักงานต่างๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นจะมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย”

         ในบรรดาการพัฒนาที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้ที่มีอยู่ในธรรมนูญเป็นการผนึกทุกฝ่ายเข้ากับสมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน รวมของสมณกระทรวงเดิมและสมณสภาเพื่อการประกาศพระวรสารยุคใหม่ สมณมนตรีของทั้งสองสำนักงานนี้จะเป็นสมณมนตรีควบคู่ประสานงานกัน เพราะหัวหน้าของทั้งสองสำนักงานนี้ถูกสงวนไว้สำหรับพระสันตะปาปา ความจริงแล้วธรรมนูญระบุว่า “สมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชนจะเป็นหน้าที่กำกับโดยตรงของพระสันตะปาปาเอง”

ศิษย์ธรรมทูตจะมีความรักเมตตาต่อคนยากจนและผู้ที่อยู่ตามชายขอบสังคม

         ส่วนที่เป็นพื้นฐานของธรรมนูญฉบับนี้นี้จะเกี่ยวกับหลักการทั่วไป อารัมภบทระบุว่าคริสตนทุกคนเป็นศิษย์ธรรมทูต ที่เป็นพื้นฐานแห่งหลักการทั่วไปอย่างหนึ่งคือมีการระบุว่าทุกคน – รวมทั้งประชาสัตบุรุษที่เป็นฆราวาส – สามารถได้รับการแต่งตั้งให้มีบทบาทหน้าที่ในการปกครองในโรมันคูเรียด้วยอำนาจแห่งผู้ที่สืบทอดตำแหน่งจากนักบุญเปโตร

         “คริสตชนทุกคนโดยอาศัยพิธีล้างบาปเป็นศิษย์ธรรมทูตในฐานะที่พวกเขาพบกับความรักของพระเจ้าในองค์พระเยซูคริสต์ เราไม่สามารถที่จะละเลยถึงสิ่งนี้ไปในการปรับเปลี่ยนโรมันคูเรีย ซึ่งการปฏิรูปจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้กับบรรดาฆราวาสทั้งชายและหญิง แม้กระทั่งในบทบาทของการปกครองและความรับผิดชอบ

เพื่อการบริการรับใช้พระสันตะปาปาและพระศาสนจักรท้องถิ่น

         ธรรมนูญยังเน้นด้วยว่าคูเรียเป็นเครื่องมือเพื่อบริการรับใช้บิชอปแห่งกรุงโรมและเพื่อคุณประโยชน์ของพระศาสนจักรสากล และเพราะฉะนั้นจึงเพื่อบรรดาบิชอป และพระศาสนจักรท้องถิ่นด้วย

         “โรมันคูเรียจะไม่วางตนเองระหว่างพระสันตะปาปากับบรรดาบิชอป แต่จะวางตนเองเพื่อบริการรับใช้ทั้งสองฝ่ายในลักษณะที่เหมาะสมกับธรรมชาติของแต่ละฝ่าย” ประเด็นที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งจะเกี่ยวกับชีวิตฝ่ายจิต เพราะว่าสมาชิกแห่งโรมันคูเรียก็เป็น “ศิษย์ธรรมทูต” เช่นเดียวกัน

         การก้าวเดินไปด้วยกันจะได้รับการเน้นเป็นพิเศษว่าเป็นหนทางปกติแห่งการทำงานของโรมันคูเรีย เป็นหนทางที่มีอยู่แล้วซึ่งจะต้องได้รับการพัฒนาให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดการทำหน้าที่ของบาดหลวงศาสนบริกรและนักบวช

         มิติอื่นๆที่มีอยู่ในธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการวมถึงการเน้นคำจำกัดความของสำนักเลขาธิการแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกันว่าเป็น ”สำนักเลขาธิการของพระสันตะปาปา” การโยกย้ายบุคคลากรในคูเรียไปยังสำนักงานเลขาธิการเพื่อเศรษฐกิจ (SPE) และการบริหารจัดการมรดกตกทอดแห่งสันตะสำนัก (APSA) จะต้องบริหารไปโดยกิจกรรมอันเป็นเครื่องมือของสถาบันเพื่อพันธกิจของศาสนา

         ธรรมนูญยังตั้งกฎเกณฑ์ด้วยว่าบรรดาบาดหลวงและนักบวชที่รับใช้โรมันคูเรียจะเป็นระยะเวลา 5 ปี และอาจต่ออายุได้อีก 5 ปี เมื่อครบกำหนด 5 ปีในวาระที่สองพวกเขาจะต้องกลับไปยังเขตศาสนปกครองและชุมชนเดิมของตนเอง

         “ตามกฎเกณฑ์เมื่ออยู่ครบ 5 ปีแล้วเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นบาดหลวงหรือสมาชิกของสถาบันผู้ถวายตัวซี่งรับใช้โรมันคูเรียจะต้องกลับไปทำงานอภิบาลในเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล)/วัด หรือในสถาบันที่ตนสังกัด หากผู้ใหญ่แห่งโรมันคูเรียถือว่าเหมาะสมการรับใช้อาจต่ออายุได้อีก 5 ปี

By Andrea Tornielli & Sergio Centofanti

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)