พระสมณลิขิตจากพระสันตะปาปาฟรานซิส

1.“พระองค์ทรงเปิดใจพวกเขาให้เข้าใจพระคัมภีร์” (ลก. 24: 45) นี่คือกิจกรรมท้ายๆประการหนึ่งของพระผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพก่อนที่จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ พระเยซูคริสต์ทรงปรากฏองค์แก่บรรดาศิษย์ที่กำลังชุมนุมกันอยู่ ทรงหักปังพร้อมกับพวกเขา และทรงเปิดใจให้พวกเขาเข้าใจพระคัมภีร์ ท่ามกลางศิษย์ที่มีความกลัวและยังคงตกตะลึงความหมายแห่งพระธรรมล้ำลึกปัสกาที่ว่าตามแผนการนิรันดร์ของพระบิดาเจ้าพระองค์ต้องรับการทรมานและกลับคืนชีพจากความตายเพื่อนำมาซึ่งการยกโทษบาป (เทียบ ลก. 24: 24-25; 46-47) แล้วพระองค์ก็ทรงสัญญาที่จะส่งพระจิตผู้ที่ทรงจะประทานพละกำลังให้พวกเขาเป็นประจักษ์พยานแห่งพระธรรมล้ำลึกที่ช่วยให้เรารอดนี้ (เทียบ ลก. 24:49)

         ความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ ชุมชน และพระคัมภีร์ คือแก่นแห่งอัตลักษณ์ของพวกเราในฐานะที่เป็นคริสตชน หากปราศจากซึ่งพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงเปิดใจพวกเราสู่ความจริงนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเข้าใจพระคัมภีร์ได้อย่างลึกซึ้ง  แต่ในเชิงกลับกันก็เป็นความจริงที่คล้ายๆกัน: หากปราศจากพระคัมภีร์เหตุการณ์ต่างๆในพันธกิจของพระเยซูคริสต์และของพระศาสนจักรในโลกนี้ ก็จะเป็นสิ่งที่เราไม่อาจที่จะเข้าใจได้  ดังนั้นนักบุญเยโรมได้กล่าวไว้อย่างถูกต้องว่า “การไม่รู้จักพระคัมภีร์คือการไม่รู้จักพระเยซูคริสต์” (Commentary on the Book of Isaiah, Prologue: PL 24,17B)

2. ณ ช่วงเวลาปิดปีมหาการุณย์พิเศษแห่งพระเมตตาพ่อได้เสนอให้มี “การจัดวันอาทิตย์พิเศษขึ้นมาวันหนึ่งเพื่ออุทิศอย่างสิ้นเชิงให้กับ พระวาจาของพระเจ้าเพื่อที่พวกเราจะได้ชื่นชมกับความมั่งคั่งอันหาที่สุดมิได้ที่มีอยู่ในการเสวนาอย่างสม่ำเสมอระหว่างพระเจ้ากับประชากรของพระองค์” (Misericordia et Misera, ข้อ 7)  การอุทิศวันอาทิตย์พิเศษวันหนึ่งในปีปฏิทินจารีตพิธีแด่พระวาจาของพระเจ้าสามารถทำให้พระศาสนจักรมีประสบการณ์ใหม่ว่าพระเจ้าทรงเปิดขุมทรัพย์แห่งพระวาจาของพระองค์ซึ่งทำให้พวกเราสามารถประกาศความมั่งคั่งอันคำนวณมิได้ของพระวจนะพระเจ้าต่อชาวโลก  ณ ตรงนี้ที่ต้องทำให้พวกเรานึกถึงคำสอนของนักบุญเอเฟรม “ข้าแต่พระเจ้า ใครจะสามารถเข้าใจความสมบูรณ์มั่งคั่งแม้แต่พระวาจาเพียงคำเดียวของพระองค์?  อันเป็นแรงดลใจพวกเรามากกว่าที่เราจะเข้าใจ พวกเราเป็นเสมือนคนกระหายน้ำที่ได้ดื่มจากน้ำพุ  พระวาจาของพระองค์แฝงไปด้วยหลายแง่มุมมองซึ่งขึ้นอยู่กับผู้ที่ศึกษาพระวจนะเหล่านั้น พระเจ้าทรงใส่หลากสีลงไปในพระวาจาของพระองค์ด้วยความสวยงามในสีสรรต่างๆ เพื่อที่ผู้ศึกษาจะได้สามารถพิศเพ่งสิ่งที่กระตุ้นใจพวกเขา  พระองค์ทรงซ่อนขุมทรัพย์ทั้งมวลไว้ในพระวาจาของพระองค์ เพื่อที่เราแต่ละบุคคลจะได้พบกับความมั่งคั่งสมบูรณ์ในสิ่งที่ผู้นั้นพิศเพ่งไตร่ตรอง” (Commentary on the Diatessaron, 1, 18)

         โดยอาศัยสมณลิขิตฉบับนี้ พ่อมีความประสงค์ที่จะตอบสนองต่อการขอร้องหลายประการที่พระศาสนจักรทั้งมวลทำการเฉลิมฉลองด้วยเป้าประสงค์เดียวกัน นั่นคือ วันอาทิตย์แห่งพระวาจาของพระเจ้า  บัดนี้ต้องกระทำให้เป็นสิ่งปกติสำหรับชุมชนคริสตชนที่จัดเวลาพิเศษไว้เพื่อไตร่ตรองถึงความสำคัญอันยิ่งใหญ่แห่งพระวาจาของพระเจ้าเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน  พระศาสนจักรท้องถิ่นต่างๆพากันหาวิธีที่จะทำให้สัตบุรุษเข้าถึงพระคัมภีร์ได้ง่ายขึ้นเพื่อเพิ่มความกตัญญูของพวกเขาต่อของขวัญอันยิ่งใหญ่นี้และเพื่อที่จะช่วยพวกเขาใช้ความพยายามทุกวันที่จะเป็นประจักษ์พยานถึงคำสอนของพระคัมภีร์

         สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 เตือนใจพวกเราให้ได้พบกับพระวาจาของพระเจ้า ซึ่งต้องขอบใจธรรมนูญว่าด้วยข้อความเชื่อ “Dei Verbum” ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่พวกเราสมควรอ่านและรับมาดำเนินชีวิตใหม่  ในสาระของธรรมนูญดังกล่าวอธิบายธรรมชาติของพระคัมภีร์ไว้อย่างชัดเจน การถ่ายทอดจากชนรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่ง (บทที่ 2) แรงดลใจจากพระเจ้า (บทที่ 3) การยอมรับพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่าและใหม่ (บทที่ 4 และ 5) และความสำคัญของพระคัมภีร์ต่อชีวิตของพระศาสนจักร (บทที่ 6)   เพื่อเผยแพร่คำสอนนี้พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงเรียกให้มีการประชุมซีน็อดบิชอปในปี ค.ศ. 2008 เรื่อง “พระวาจาของพระเจ้าในชีวิตและพันธกิจของพระศาสนจักร” จากนั้นพระองค์ทรงออกสมณสาส์นเตือนใจ ชื่อ “Verbum Domini” ซึ่งในเนื้อหาคำสอนของเอกสารชิ้นนี้ยังคงเป็นพื้นฐานสำหรับชุมชนต่างๆอยู่ [1]  เอกสารนั้นเน้นอย่างเป็นพิเศษถึงคุณค่าแห่งพระวาจาของพระเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของจารีตพิธีกรรม ซึ่งคุณสมบัติแห่งศีลศักดิ์สิทธิ์ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน [2]

         จึงเป็นความเหมาะสมที่ชีวิตแห่งประชากรของเราจะต้องปรากฏชัดเจนเสมอในความสัมพันธ์กับพระวาจาทรงชีวิตที่พระเจ้าไม่ทรงเบื่อหน่ายเลยที่จะตรัสกับพระศาสนจักรเสมือนชายาของพระองค์ เพื่อที่ชายาของพระองค์จะได้เจริญเติบโตขึ้นในความรักและเป็นประจักษ์พยานที่ซื่อสัตย์

3. เพราะฉะนั้นพ่อจึงขอประกาศว่า วันอาทิตย์ที่สามของเทศกาลธรรมดา จะเป็นวันที่อุทิศให้กับการฉลอง การศึกษา และการเผยแผ่พระวาจาของพระเจ้า ดังนั้นวันพระวาจาของพระเจ้าจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีความเหมาะสมในช่วงเวลาของปีที่พวกเราไดรับการสนับสนุนให้สร้างสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องชาวยิวและอธิษฐานภาวนาเพื่อความเป็นเอกภาพของคริสตชน  นี่เป็นอะไรที่มากไปกว่าการบังเอิญ การเฉลิมฉลองวันอาทิตย์พระวาจาแห่งพระเจ้ามีคุณค่าเชิงเอกภาพของคริสตชน เพราะพระคัมภีร์ระบุว่าสำหรับผู้ที่ยอมรับฟังแล้ว เป็นหนทางสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกันที่มั่นคงแท้จริง

         ชุมชนต่างๆจะหาวิธีการของตนเพื่อฉลองวันอาทิตย์นี้ด้วยความสง่าเป็นพิเศษ  แต่ความสำคัญอยู่ที่การเฉลิมฉลองข้อความพระคัมภีร์ที่ใช้ในการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท(พิธีบูชาขอบพระคุณ) เพื่อให้สัตบุรุษมุ่งความสนใจไปยังคุณค่าแห่งพระวาจาของพระเจ้า  ในวันอาทิตย์นี้เองจะมีความเหมาะสมเป็นพิเศษที่จะให้ความสำคัญไปยังการประกาศพระวาจาของพระเจ้าและเน้นให้เกียรติพระวาจาในบทเทศน์  บิชอปอาจทำพิธีแต่งตั้งผู้อ่านหรือจัดอะไรทำนองนี้เพื่อที่จะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการประกาศพระวาจาของพระเจ้าในจารีตพิธี  ในบริบทนี้ควรรื้อฟื้นความพยายามที่จะให้การอบรมสัตบุรุษซึ่งจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้ประกาศพระวาจาที่แท้จริงเฉกเช่นที่มีการปฏิบัติกันในกรณีของผู้ถือเทียนและบริกรพิเศษสำหรับศีลมหาสนิท  นายชุมพาบาล ผู้นำพระศาสนจักรยังสามารถหาวิธีมอบหนังสือพระคัมภีร์ หรือหนังสือศรัทธาสักเล่มหนึ่งแก่บรรดาสัตบุรุษสำหรับการเรียนรู้และการอ่าน เพื่อสร้างความชื่นชอบ ปลุกจิตสำนึกในการสวดภาวนาและอ่านพระคัมภีร์ทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการภาวนาแบบ “lectio divina”

4. การที่ประชากรอิสราเอลได้กลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนหลังจากที่อพยพไปยังอาณาจักรบาบีโลน ได้มีการเฉลิมฉลองกันด้วยการอ่านธรรมบัญญัติในที่สาธารณะ ในหนังสือของประกาศกเนหะมีย์ พระคัมภีร์เล่าให้พวกเราฟังถึงเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นนั้น ประชากรพากันมาชุมนุมกันที่กรุงเยรูซาเล็ม ณ จัตุรัสหน้า ที่เรียกว่า “Water Gate” เพื่อฟังธรรมบัญญัติ พวกเขาอยู่กันอย่างกระจัดกระจายในที่เปลี่ยว แต่บัดนี้พวกเขาสามารถมาอยู่รวมกันได้ “เป็นหนึ่งเดียวกัน” ล้อมรอบพระคัมภีร์ (นหม. 8: 1) ประชากรทุกคน “ตั้งใจฟัง” (นหม. 8: 3)  การอ่านพระคัมภีร์ด้วยการรับรู้ว่าในคำพูดเหล่านั้นพวกเขาจะได้พบกับความหมายกับประสบการณ์ในการดำเนินชีวิตของตน  ปฏิกิริยาต่อการประกาศนั้นเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกทางอารมณ์และน้ำตา หนังสือเลวีนิติซึ่งเป็นธรรมบัญญัติของพระเจ้าได้สร้างอารมณ์เพื่อประชากรจะได้เข้าใจการอ่าน  และเนหะมีย์ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการและเอสราผู้เป็นสมณะ ผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย และเหล่าตระกูลเลวีซึ่งเป็นผู้ช่วยสมณะในโรงสวดซึ่งสอนประชากรนั้นกล่าวกับประชากรว่า “วันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์แห่งพระเจ้าของท่าน จงอย่าได้เศร้าโศกเสียใจหรือร้องไห้” เพราะประชากรทุกคนต่างร่ำไห้เมื่อได้ฟังธรรมบัญญัติของพระเจ้า จากนั้นเขาจึงตรัสว่า “จงไปตามทางของท่าน  จงกินจงดื่มและได้ส่งต่อส่วนหนึ่งไปให้เขาเพราะไม่มีการเตรียมอะไรไว้ให้เขา เพราะว่าวันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์สำหรับพระเจ้าของเรา ดังนั้นจงอย่างเศร้าใจ เพราะความชื่นชมยินดีในพระเจ้านั้นเป็นพลังของท่าน” (ยหม. 8: 8-10)

         คำพูดเหล่านี้บรรจุไว้ซึ่งคำสอนอันยิ่งใหญ่ พระคัมภีร์มิใช่เป็นมรดกของเพียงบางคน ยิ่งกว่านั้นมิใช่เป็นการรวบรวมหนังสือต่างๆไว้เพื่อประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนเพียงบางท่าน  พระคัมภีร์เป็นของคนเหล่านั้นที่ถูกเรียกให้ฟังสาส์นและและยอมรับคำพูดเหล่านั้น บางครั้งอาจมีแนวโน้มที่จะผูกขาดหนังสือศักดิ์สิทธิ์นี้ไว้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นไม่ได้ พระคัมภีร์เป็นหนังสือสำหรับประชากรของพระเจ้าซึ่งในการฟังพระวาจาเหล่านั้นจะขับเคลื่อนจากการที่ต่างคนต่างอยู่และแตกแยกกันสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน  พระวาจาของพระเจ้ารวบรวมผู้ที่มีความเชื่อให้เป็นหนึ่งเดียวกันและทำให้พวกเขาเป็นประชากรหนึ่งเดียว

5. ในความเป็นเอกภาพที่เกิดจากการฟังนี้นายชุมพาบาล ผู้นำพระศาสนจักรเป็นผู้รับผิดชอบคนแรกที่ต้องอธิบายพระคัมภีร์และช่วยให้ทุกคนเข้าใจ เนื่องจากพระคัมภีร์เป็นหนังสือของประชากร ผู้ที่ถูกเรียกให้เป็นศาสนบริกรของพระวาจา ซึ่งต้องรู้สึกว่านี่เป็นความจำเป็นที่เร่งด่วนและต้องทำให้ชุมชนเข้าถึงให้จงได้

         บทเทศน์มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะว่าในบทเทศน์มีคุณสมบัติดุจสิ่งคล้ายศีล “a quasi-sacramental character” (Evangelii Gaudium, ข้อ 142)  การช่วยสัตบุรุษให้เข้าถึงพระวาจาของพระเจ้าได้อย่างล้ำลึกโดยอาศัยคำพูด คำอธิบายที่เรียบง่ายและเหมาะสมซึ่งจะทำให้ตัวของศาสนบริกรเองพบกับ “ความสวยงามแห่งภาพพจน์ที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงใช้ในการส่งเสริมให้ทุกคนกระทำแต่ความดีอันเป็นประโยชน์สุข” (ibid)

         อันที่จริงแล้วสำหรับสัตบุรุษจำนวนมากน่าจะเป็นโอกาสเดียวที่พวกเขามีที่จะได้รับความงดงามแห่งพระวาจาของพระเจ้าเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติประจำวัน  ผลที่ตามมาคือต้องอุทิศเวลาอย่างเพียงพอในการเตรียมบทเทศน์  ไม่ควรละเลยที่จะวิเคราะห์อย่างดีจากบทอ่าน ผู้เทศน์ไม่ควรเทศน์ยาวเกืนไปหรือโอ้อวดความรู้ หรือออกนอกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับพระวรสาร  เมื่อเราใช้เวลาในการสวดและรำพึงจากพระวรสาร พวกเราสามารถที่จะพูดออกจากใจ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าถึงจิตใจของผู้ที่ฟังเราโดยที่เรามอบสิ่งที่สำคัญและสามารถที่จะทำให้บังเกิดผล ขอให้พวกเราจงอย่าได้เบื่อที่จะอุทิศเวลาและการสวดภาวนาต่อพระคัมภีร์ เพื่อที่ทุกคนจะได้ยึดถือพระคัมภีร์ “ไม่ใช่เป็นคำพูดของมนุษย์ แต่เป็นเรื่องจริงซึ่งได้แก่พระวาจาของพระเจ้า” (1 ธส. 2: 13)

         ครูคำสอนก็เช่นเดียวกันในพันธกิจช่วยเหลือผู้คนให้เจริญเติบโตขึ้นในความเชื่อควรที่จะมีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟูตนเองโดยอาศัยความคุ้นเคยและการศึกษาพระคัมภีร์  นี่จะเป็นการช่วยพวกเขาให้ส่งเสริมผู้ฟังมีการเสวนากันอย่างแท้จริงกับพระวาจาของพระเจ้า  

6. ก่อนที่จะพบศิษย์ที่รวมตัวกันอยู่ในห้องที่ลงกลอนและก่อนที่จะเปิดใจพวกเขาให้เข้าใจพระคัมภีร์ (เทียบ ลก. 24: 44-45) พระเยซูคริสต์ผู้เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพได้ปรากฏพระองค์กับศิษย์สองคนที่กำลังเดินทางจากกรุงเยรูซาเล็มไปยังตำบลเอมมาอุส (เทียบ ลก. 24: 13-35)  เรื่องราวของนักบุญลูกาบันทึกไว้ว่า นี่เกิดขึ้นในวันที่พระเยซูคริสต์ทรงเสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพคือวันอาทิตย์  ศิษย์สองคนกำลังถกเถียงกันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้เอง เกี่ยวกับการทรมานและความตายของพระเยซูคริสต์ การเดินทางของพวกเขาเปี่ยมด้วยความเศร้าเสียใจและความผิดหวังในความตายที่ร้ายกาจเช่นนี้  พวกเขาหวังว่าพระองค์จะเป็นพระผู้ไถ่ซึ่งจะทำให้พวกเขาเป็นอิสระ แต่กลับพบว่าตนกำลังเผชิญกับการเป็นที่สะดุดของไม้กางเขน พระผู้เสด็จกลับคืนพระชนม์ทรงดำเนินเข้าไปใกล้พวกเขา แต่พวกเขาก็จำพระองค์ไม่ได้ (เทียบ ลก. 24 ข้อ 16)   พระองค์ทรงถามพวกเขาตลอดเส้นทางและเมื่อเห็นว่าพวกเขาไม่ทราบความหมายแห่งการทรมานและความตายของพระองค์ จึงอุทานว่า “โอ เจ้าคนเขลาเอ๋ย ใจของเจ้าช่างเชื่องช้าเสียเหลือเกิน” (ข้อ 25) จากนั้นพระองค์สาธยาย “เริ่มต้นที่โมเสสและบรรดาประกาศกพระองค์ทรงอธิบายให้เขาทราบถึงสิ่งต่างๆเกี่ยวกับพระองค์ที่มีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์” (ข้อ 27)  พระเยซูคริสต์ทรงเป็นอรรถกถาพระองค์แรก! พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมไม่เพียงแต่จะทำนายถึงสิ่งที่พระองค์จะกระทำให้สำเร็จไปเท่านั้น แต่พระองค์เองทรงปรารถนาที่จะซื่อสัตย์ต่อพระวาจาเหล่านั้นเพื่อที่จะทำให้ประวัติศาสตร์แห่งการไถ่กู้ปรากฏขึ้นซึ่งความสำเร็จนั้นซึ่งพวกเราพบได้ในองค์พระเยซูคริสต์

7. คัมภีร์เป็นหนังสือศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งพูดถึงพระเยซูคริสต์และประกาศว่าพระองค์เป็นผู้ที่จะต้องทนทุกข์ทรมานแล้วจะเสด็จเข้าสู่พระสิริรุ่งโรจน์ (เทียบ ข้อ 26) ไม่ใช่เป็นเพียงบางส่วนแต่พระคัมภีร์ทั้งหมดกล่าวถึงพระเยซูคริสต์  นอกเหนือไปจากพระคัมภีร์แล้ว ความตายและการกลับคืนชีพของพระองค์จะต้องทำให้พวกเราจะเข้าใจได้อย่างถูกต้อง นี่คือเหตุผลที่การประกาศความเชื่อโบราณที่สุดเน้นว่า “พระเยซูคริสตเจ้าทรงสิ้นพระชนม์เพื่อไถ่บาปของเราตามความในพระคัมภีร์ กล่าวคือ พระองค์ถูกฝัง ทรงกลับคืนชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์ และพระองค์ทรงประจักษ์พระองค์แก่เชฟัส” (1 คร. 15: 3-5) เนื่องจากพระคัมภีร์พูดถึงพระเยซูคริสต์ในทุกขั้นทุกตอน ซึ่งสามารถทำให้พวกเราเชื่อได้ว่าความตายและการเสด็จกลับคืนชีพไม่ใช่เป็นเรื่องของความเร้นลับ แต่เป็นประวัติศาสตร์ และเป็นศูนย์กลางแห่งความเชื่อสำหรับศิษย์ของพระองค์

         นอกนั้นยังมีความสัมพันธ์อันล้ำลึกที่เชื่อมโยงพระคัมภีร์กับความเชื่อของผู้ที่มีความเชื่อ  เพราะความเชื่อเกิดจากการฟังและสิ่งที่ได้รับจากการฟังมานั้นมีพื้นฐานอยู่ในพระวาจาของพระเจ้า (เทียบ รม. 10: 17) ผู้มีความเชื่อจึงจำเป็นต้องฟังด้วยความตั้งใจต่อพระวาจาของพระเจ้าทั้งในการเฉลิมฉลองจารีตพิธีกรรมและในการอธิษฐานภาวนาและการรำพึงไตร่ตรองของตน   

8. การเดินทางที่พระผู้เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพไปกับศิษย์แห่งตำบลเอมมาอุสจบลงด้วยการรับประทานอาหาร ผู้เดินทางลึกลับได้รับการขอร้องแบบรบเร้าของเขา “จงพักอยู่กับพวกเราเถิด เพราะใกล้ค่ำและวันก็ล่วงไปมากแล้ว” (ลก. 24: 29) พวกเขานั่งลงที่โต๊ะอาหาร พระเยซูคริสต์ทรงหยิบขนมปังขึ้นมาหัก ถวายพร และส่งไปให้เขาทั้งสอง ณ บัดดลนั้นตาของพวกเขาก็เปิดออก พวกเขาจำพระองค์ได้ทันที (เทียบ ลก. 24 ข้อ 31)

         เหตุการณ์ฉากนี้แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงสายสัมพันธ์ที่ตัดไม่ขาดระหว่างพระคัมภีร์กับศีลมหาสนิท  เฉกเช่นที่สภาพระสังคายนาวาติกัน ที่ 2 สอนไว้ “พระศาสนจักรถวายเกียรติแด่พระคัมภีร์เสมอเฉกเช่นที่ให้เกียรติต่อพระวรกายของพระเยซูคริสต์เองในประเด็นที่ว่าพระศาสนจักรไม่เคยหยุดยั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจารีตพิธีกรรมที่จะรับปังแห่งชีวิตและมอบให้กับสัตบุรุษจากพระแท่นแห่งพระวาจาของพระเจ้าและพระกายของพระเยซูคริสตเจ้า” (Dei Verbum, ข้อ 21)

         การอ่านพระคัมภีร์อย่างสม่ำเสมอและการเฉลิมฉลองศีลมหาสนิท (พิธีบูชาขอบพระคุณ) ทำให้เป็นไปได้สำหรับพวกเราที่จะเห็นว่าพวกเราเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน  ในฐานะคริสตชนพวกเราเป็นประชากรหนึ่งเดียวกัน ต่างเดินทางด้วยกันตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ได้รับการทำนุบำรุงจากพระเยซูคริสตเจ้าผู้ทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา ผู้ทรงตรัสกับพวกเราและหล่อเลี้ยงพวกเรา  การอุทิศเวลาเพียงวันหนึ่งให้กับพระคัมภีร์ไม่ควรถือว่าเป็นเหตุการณ์ประจำปี แต่จะต้องเป็นเหตุการณ์ตลอดปี  เพราะพวกเรามีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเจริญเติบโตขึ้นในความรักและความรักต่อพระคัมภีร์และต่อพระผู้ที่เสด็จกลับคืนพระชนม์ชีพ ผู้ทรงยังคงตรัสพระวาจาต่อไปและทรงหักปังในชุมชนของผู้ที่มีความเชื่อ  ด้วยเหตุนี้พวกเราจำเป็นต้องพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพระคัมภีร์ มิฉะนั้นแล้วหัวใจของพวกเราจะเย็นชาและดวงตาของเราจะปิดลงซึ่งจะทำให้พวกเราต้องเผชิญกับความมืดเหมือนตาบอดในหลากหลายรูปแบบ

         พระคัมภีร์และศีลศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นสิ่งที่จะขาดเสียมิได้  เมื่อมีการประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์จะได้รับแสงสว่างจากพระวาจาของพระเจ้า นี่ต้องกลายเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนยิ่งขึ้นถึงกระบวนการที่พระเยซูคริสต์จะทรงเปิดใจของพวกเราให้ได้ทราบถึงงานไถ่กู้ของพระองค์    พวกเราควรจำไว้เสมอถึงคำสอนทีมีอยู่ในหนังสือวิวรณ์: พระเยซูคริสต์ทรงยืนอยู่ที่หน้าประตูและทรงเคาะเรียก  หากใครได้ยินเสียงและเปิดประตูให้พระองค์ พระองค์จะเสด็จเข้าไปข้างในและจะทรงร่วมรับประทานอาหารกับเขา (เทียบ วว. 3: 20)   พระเยซูคริสต์ทรงเคาะที่ประตูของพวกเราด้วยพระวาจาของพระคัมภีร์  ถ้าพวกเราได้ยินเสียงของพระองค์และเปิดประตูแห่งจิตใจของเรา พระองค์ก็จะทรงเข้ามาในชีวิตของพวกเราและจะทรงประทับอยู่กับพวกเราตลอดไป

9. ในจดหมายฉบับที่สองถึงทิโมธีซึ่งดูเหมือนจะเป็นประจักษ์พยานแห่งชีวิตจิตของตน นักบุญเปาโลขอร้องเพื่อนร่วมงานที่ซื่อสัตย์ของตนให้หันไปพึ่งพระคัมภีร์เสมอ  ท่านอัครสาวกเชื่อมั่นว่า “พระคัมภีร์ทุกข้อความได้รับแรงดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์ในการสอน สำหรับการพิสูจน์ สำหรับการแก้ไข และสำหรับการอบรมในความชอบธรรม” (ทธ.13: 16)  การตักเตือนทิโมธีของเปาโลเป็นพื้นฐานแห่งคำสอนของธรรมนูญ “Dei Verbum”  เกี่ยวกับเรื่องแรงดลใจแห่งพระคัมภีร์ ซึ่งย้ำถึง เป้าหมายแห่งการไถ่กู้ มิติชีวิตจิต และหลักแห่งการประสูติ (incarnation) ที่อยู่ภายในพระคัมภีร์

         ประการแรก พูดถึงคำเตือนใจของเปาโลถึงทิโมธี ในเอกสาร “Dei Verbum” ย้ำว่า “พวกเราต้องยอมรับว่าพระคัมภีร์สอนอย่างมั่นใจ อย่างซื่อสัตย์ และปราศจากซึ่งความหลงผิด ซึ่งความจริงที่พระเจ้าเพื่อเห็นแก่ความรอดของพวกเรา ทรงปรารถนาที่จะมอบทุกสิ่งไว้ในพระคัมภีร์” (ข้อ 11)  เนื่องจากพระคัมภีร์สอนโดยมุ่งไปยังความรอดโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (เทียบ 2 ทธ. 3: 15)  ความจริงในนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อความรอดของพวกเรา พระคัมภีร์มิใช่การรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับ แต่มุ่งไปที่ความรอดอย่างครบถ้วนของบุคคล  การจัดหนังสือพระคัมภีร์ที่ชัดเจนทางประวัติศาสตร์ไม่ควรทำให้พวกเรามองข้ามเป้าหมายสำคัญอันดับแรกคือความรอดของพวกเรา  ทุกสิ่งชี้ไปยังเป้าหมายนี้และเป็นแก่นแห่งธรรมชาติของพระคัมภีร์ซึ่งก่อรูปร่างขึ้นเป็นประวัติศาสตร์แห่งความรอดซึ่งพระเจ้าทรงตรัสและทรงกระทำเพื่อที่จะได้พบกับมนุษย์ทุกคนและเพื่อที่จะช่วยให้พวกเขาพ้นจากความชั่วและความตาย

         เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายแห่งความรอดนี้พระคัมภีร์เดชะพระจิตทรงประทานให้คำพูดมนุษย์ถูกจารึกไปตามภาษามนุษย์นั้นกลายเป็นพระวาจาของพระเจ้า (เทียบ Dei Verbum, ข้อ 12)  บทบาทของพระจิตในพระคัมภีร์มีมาแต่ก่อนสร้างโลก หากปราศจากซึ่งการกระทำของพระจิตจะมีความเสี่ยงเสมอที่จะถูกจำกัดอยู่เพียงแค่บทความที่มีการเขียนไว้เท่านั้น  นี่คงจะเป็นการเปิดหนทางสู่การอ่านขั้นพื้นฐานซึ่งจำต้องหลีกเลี่ยง มิฉะนั้นแล้วพวกเราจะทรยศต่อคุณสมบัติที่เป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลวัต และเป็นจิตวิญญาณของข้อความพระคัมภีร์  ดังที่อัครสาวกเตือนเรา “บัญญัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้นนำไปสู่ความตาย แต่พระจิตเจ้าประทานชีวิต” (2 คร. 3: 6) ดังนั้นพระจิตเจ้าทรงทำให้พระคัมภีร์เป็นพระวาจาทรงชีวิตของพระเจ้าที่พวกเรามีประสบการณ์และสืบทอดต่อกันเรื่อยมาในความเชื่อแห่งประชากรศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์

10. ผลงานและบทบาทของพระจิตเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ใช่เพียงการลิขิตพระคัมภีร์เท่านั้น แต่พระองค์ยังกระทำการในตัวผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจ้าด้วย  คำพูดของบรรดาปิตาจารย์แห่งสภาพระสังคายนาเป็นการแนะนำที่ดี คือ พวกเราต้อง “อ่านพระคัมภีร์และตีความในความสว่างแห่งเจตนารมณ์เดียวกันกับผู้ที่เขียนพระคัมภีร์” (Dei Verbum, ข้อ 12)  การไขแสดงของพระเจ้าสำเร็จบริบูรณ์ในองค์พระเยซูคริสตเจ้า อย่างไรก็ตามพระจิตเจ้ายังไม่หยุดที่จะกระทำการต่างๆ อาจจะเป็นการลดความขลังของพระจิตลงไปให้เหลือเป็นแค่แรงบันดาลใจของพระคัมภีร์และผู้เขียนต่างๆที่เป็นมนุษย์  ดังนั้นพวกเราจำเป็นต้องมีความมั่นใจในการกระทำและผลักดันของพระจิตเพราะพระองค์ยังทรงกระทำด้วยวิถีของพระองค์ต่อไปในการประทาน “แรงบันดาลใจ” ทุกครั้งที่พระศาสนจักรสอนพระคัมภีร์  ทุกครั้งที่อำนาจของพระศาสนจักรตีความ (เทียบ ibid, ข้อ 10)  และทุกครั้งที่ผู้มีความเชื่อแต่ละบุตตลนำพระคัมภีร์มาเป็นบรรทัดฐานแห่งการดำเนินชีวิตจิตของตน  ในความหมายนี้พวกเราสามารถเข้าใจความหมายที่พระเยซูตริสต์ตรัสกับบรรดาศิษย์เมื่อพวกเขาบอกพระองค์ว่าบัดนี้พวกเขาเข้าใจความหมายในนิทานเปรียบเทียบของพระองค์แล้ว “ธรรมาจารย์ทุกคนที่มาเป็นศิษย์แห่งอาณาจักรสวรรค์ก็เหมือนกับเจ้าบ้านที่นำทั้งของใหม่และของเก่าออกจากคลังของตน” (มธ. 13: 52)

11. สุดท้ายในธรรมนูญ “Dei Verbum” ทำให้มีความชัดเจนว่า “พระวาจาของพระเจ้าที่แสดงออกมาเป็นภาษามนุษย์ก็จะเหมือนกับคำพูดของมนุษย์ทุกอย่าง ดุจพระวาจาของพระบิดาเจ้าในการส่งพระบุตรของพระองค์เสด็จมารับเอาความอ่อนแอของมนุษย์ไว้กับตนนั้นก็เป็นเหมือนมนุษย์ด้วย” (ข้อ 13)  พวกเราอาจกล่าวได้ว่าการอวตารของพระวจนาตถ์ประทานรูปร่างและความหมายให้กับความสัมพันธ์ระหว่างพระวาจาของพระเจ้าและภาษามนุษย์ของพวกเราตลอดเวลาแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมปัจจุบัน  เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดธรรมเนียมประเพณีซึ่งก็เป็นพระวาจาของพระเจ้าเช่นกัน (เทียบ ibid., ข้อ 9)  บ่อยครั้งพวกเราเสี่ยงมากที่จะไปแยกพระคัมภีร์ออกจากธรรมเนียมประเพณีโดยไม่เข้าใจว่าทั้งสองสิ่งเป็นบ่อเกิดเดียวกันของการเผยแสดงของพระเจ้า ลักษณะการเขียนแบบเก่าไม่ได้ขาดอะไรจากการเป็น “พระวาจาทรงชีวิต” ในทำนองเดียวกันธรรมประเพณีอันทรงชีวิตของพระศาสนจักรซึ่งถ่ายทอดพระวาจาตลอดมาหลายศตวรรษนั้นมาจากชนรุ่นหนึ่งสู่ชนอีกรุ่นหนึ่งต่างก็มีพระคัมภีร์เป็น “กฎสูงสุดแห่งความเชื่อของตน” (ibid., ข้อ 21)    ยิ่งไปกว่านั้นอีกก่อนที่จะเป็นตัวหนังสือที่ขีดเขียนบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา พระวาจาของพระเจ้าได้ถูกถ่ายทอดมาทางวาจาและเก็บรักษาไว้ด้วยความเชื่อของประชากรซึ่งยอมรับว่านี่เป็นประวัติศาสตร์ของพวกเขาและเป็นแหล่งแห่งอัตลักลักษณ์ของพวกเขา ดังนั้นความเชื่อจากพระคัมภีร์จึงมีรากฐานอยู่ในพระวาจาทรงชีวิตไม่ใช่จากตัวหนังสือ

12. เมื่อพวกเราอ่านพระคัมภีร์ภายใต้แสงสว่างแห่งเจตนารมณ์เดียวกันกับผู้ที่เขียน จึงเป็นของใหม่เสมอ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมจะไม่มีวันเก่าเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ เพราะว่าทุกสิ่งถูกปรับเปลี่ยนไป ซึ่งต้องขอบคุณพระจิตเจ้าผู้ทรงดลใจ เป็นผู้ผลักดันข้อความพระคัมภีร์ โดยทั่วไปแล้วจะทำหน้าที่พยากรณ์ไม่ใช่เรื่องอนาคตแต่เป็นเรื่องปัจจุบันสำหรับใครก็ตามที่ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจานี้  พระเยซูคริสต์เองได้กล่าวถึงประเด็นนี้ไว้อย่างชัดเจนในขณะที่เริ่มต้นพันธกิจของพระองค์ “ในวันนี้ข้อความจากพระคัมภีร์ที่ท่านได้ยินกับหูอยู่นี้เป็นความจริงแล้ว” (ลก. 4: 21) ผู้ที่ได้รับการหล่อเลี้ยงประจำวันจากพระวาจาของพระเจ้าก็เสมือนพระเยซูคริสต์จะกลายเป็นเพื่อนร่วมสมัยของทุกคนที่เขาพบ พวกเขาจะไม่ถูกล่อลวงให้จมปลักอยู่แต่ในฝันร้ายแห่งอดีตหรือฝันถึงสวรรค์บนแผ่นดินที่ยังมาไม่ถึง

         พระคัมภีร์จะสำเร็จลุล่วงไปในงานพยากรณ์ที่สำคัญที่สุดในผู้ที่ฟังพระวาจา  ซึ่งจะเป็นทั้งหวานและขม อันเตือนใจให้พวกเราคิดถึงคำพูดของประกาศกเอเสเคียลเมื่อท่านถูกสั่งให้กลืนกินม้วนคัมภีร์ ท่านประกาศกได้บอกกับพวกเราว่า  “รู้สึกหวานเหมือนน้ำผึ้งในปาก” (อสค. 3: 3)  ยอห์นผู้นิพนธ์พระวรสารก็เช่นเดียวกัน ณ เกาะพัทมอส ท่านมีประสบการณ์เดียวกันกับประกาศกเอเสเคียลในการกลืนกินม้วนคัมภีร์ แต่ท่านกล่าวเพิ่มว่า “พระคัมภีร์หวานดุจน้ำผึ้งในปาก แต่พอตกถึงท้องรสชาดขมจนบอกไม่ถูก” (วว. 10: 10)

         ความหวานแห่งพระวาจาขอพระเจ้าต้องทำให้พวกเรานำไปแบ่งปันกับผู้อื่นที่เราพบในชีวิตนี้แล้วประกาศความหวังที่แน่นอนที่บ่งบอกไว้ในพระคัมภีร์ (เทียบ 1 ปต. 3: 15-16) ในทำนองกลับกันความขมของพระคัมภีร์บ่อยครั้งเกิดจากการที่พวกเรารู้สึกว่านี่เป็นการยากที่จะดำเนินชีวิตตามพระวาจานั้นอย่างสม่ำเสมอ หรือกับประสบการณ์ของพวกเราที่เห็นว่าพระวาจานั้นถูกปฏิเสธว่าไม่มีความหมายสำหรับชีวิต พวกเราไม่ควรถือเอาพระวาจาของพระเจ้าว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่ต้องยอมที่จะรับการหล่อเลี้ยงด้วยพระวาจาเพื่อที่จะยอมรับและเจริญชีวิตอย่างสมบูรณ์ในความสัมพันธ์ของเรากับพระองค์และกับบรรดาพี่น้องชายหญิงของพวกเรา

13. การท้าทายอีกประการหนึ่งจากพระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับความรัก พระวาจาของพระเจ้าเตือนใจพวกเราอยู่เสมอถึงความรักอันทรงเมตตาของพระบิดาเจ้าผู้ทรงเรียกร้องบรรดาลูกๆของพระองค์ให้เจริญชีวิตในความรัก ชีวิตของพระเยซูคริสต์เปี่ยมด้วยการแสดงออกอย่างบริบูรณ์ครบครันถึงความรักของพระเจ้านี้จนไม่เหลืออะไรเลย  แต่ทรงมอบให้กับทุกคนโดยไม่สงวนสิ่งใดไว้อีก ในนิทานเปรียบเทียบเรื่องลาซารัส พวกเราพบคำสอนที่มีคุณค่ามาก เมื่อทั้งลาซารัสและเศรษฐีตายไป เศรษฐีเห็นลาซารัสอยู่ในอ้อมกอดของอับราฮัม จึงขอให้ลาซารัสกลับไปเตือนพี่น้องของตนให้รักเพื่อนบ้าน มิฉะนั้นพวกเขาจะต้องได้รับการทรมานเช่นเดียวกับตน  คำตอบของอับราฮัมนั้นเจ็บปวดใจมาก “พวกเขามีโมเสสและบรรดาประกาศก ให้ไปฟังพวกท่านเหล่านั้น” (ลก. 16: 29) เมื่อฟังพระคัมภีร์แล้วไปต้องปฏิบัติงานเมตตา นี่เป็นการท้าทายที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเราในชีวิต พระวาจาของพระเจ้ามีอำนาจในการเปิดตาของพวกเราและทำให้พวกเราสามารถปฏิเสธปัจเจกนิยมที่ว่างเปล่า แล้วหันกลับไปยังหนทางใหม่ของการแบ่งปันและเอื้ออาทรต่อกัน

14. ช่วงเวลาที่มีความสำคัญมากที่สุดในความสัมพันธ์ของพระเยซูคริสต์กับศิษย์ของพระองค์จะพบได้ในเรื่องราวของการเปลี่ยนแปลงพระวรกายของพระองค์  พระองค์เสด็จขึ้นไปบนเขากับเปโตร ยาก็อบ และยอห์นเพื่อที่จะอธิษฐานภาวนา ผู้ประพันธ์พระวรสารบอกพวกเราว่าในขณะที่พระพักตร์และอาภรณ์ของพระเยซูคริสต์เปลี่ยนเป็นสีขาวสดใส มีชายสองคนมาสนทนากับพระองค์ คือโมเสสและเอลียาห์ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งกฎหมายและประกาศก หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือพระคัมภีร์นั่นเอง ปฏิกิริยาของเปโตรต่อภาพนี้คือความแปลกใจและความชื่นชมยินดี  “โอ พระอาจารย์ ที่นี่แสนสุขสบายน่าอยู่จริงๆ ขอให้เราจงสร้างที่พักขึ้นสามหลังเถิด หลังหนึ่งสำหรับพระองค์ หลังหนึ่งสำหรับโมเสส อีกหลังหนึ่งสำหรับประกาศกเอลียาห์” (ลก. 9: 33) ณ บัดดลนั้นมีเมฆมาปิดบังพวกเขา แล้วบรรดาศิษย์ก็ตกอยู่ในความกลัว

         การเปลี่ยนแปลงพระวรกายของพระองค์เตือนใจพวกเราถึงการเฉลิมฉลองพับพลาเมื่อเอสราและเนหะมีย์อ่านข้อความพระคัมภีร์ให้ประชากรฟังหลังจากที่กลับมาจากที่เปลี่ยว ในขณะเดียวกันเป็นการอำพรางพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเยซูคริสต์ในฐานะที่เป็นวิธีหนึ่งในการเตรียมตัวศิษย์เรื่องการเป็นที่สะดุดของมหาทรมาน ซึ่งพระสิริรุ่งโรจน์ของพระเจ้าก็ถูกปกปิดด้วยเมฆที่ไปปิดบังตาศิษย์ด้วยสัญลักษณ์แห่งการประทับอยู่ของพระเจ้า การเปลี่ยนแปลงตนที่คล้ายกันเกิดขึ้นกับพระคัมภีร์เช่นเดียวกันซึ่งอยู่เหนือพระคัมภีร์เองทุกครั้งที่หล่อเลี้ยงชีวิตของผู้ที่มีความเชื่อ เฉกเช่นที่สมณสาส์น “Verbum Domini” เตือนใจเราว่า “ในการค้นพบปฏิสัมพันธ์ระหว่างความหมายต่างๆของพระคัมภีร์ เป็นความสำคัญที่ต้องเข้าใจข้อความจากตัวอักษรจนถึงเจตนารมณ์อันแท้จริง  นี่ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือเป็นข้อความที่เข้าใจได้โดยทันที ตรงกันข้ามหนังสือที่เป็นตัวอักษรต้องได้รับการยกชูขึ้นเหนือธรรมชาติด้วย” (ข้อ 38)

15. ตามเส้นทางที่ให้การต้อนรับพระวาจาของพระเจ้าสู่ดวงใจของพวกเรา พระมารดาของพระเยซูคริสตเจ้าจะติดตามพวกเราไป พระแม่ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้มีบุญ เพราะพระแม่เชื่อในความสำเร็จของสิ่งที่พระเยซูคริสตเจ้าตรัสไว้กับพระแม่ (เทียบ ลก. 1: 45)  ความสุขแท้ของมารีย์เองซึ่งมีมาก่อนความสุขแท้ใดๆทั้งหลายทั้งปวงที่พระเยซูคริสต์ทรงประกาศเกี่ยวกับผู้ยากจน ผู้ที่เป็นทุกข์ ผู้ที่มีใจสุภาพอ่อนโยน ผู้สร้างสันติสุข และผู้ที่ถูกเบียดเบียน เพราะนี่เป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับการพบความสุขแท้ประการอื่นๆ  คนยากจนไม่ได้มีบุญเพราะเป็นคนยากจน พวกเขามีบุญหากจะเป็นดุจพระแม่มารีย์ คือพวกเขาต้องเชื่อในความสำเร็จแห่งพระวาจาของพระเจ้า  ศิษย์ผู้ยิ่งใหญ่และเจ้านายแห่งพระคัมภีร์อีกท่านหนึ่งคือนักบุญออกัสติน ครั้งหนึ่งท่านเขียนไว้ว่า “ใครบางคนในฝูงชนเกิดกระตือรือร้นขึ้นแล้วตะโกนว่า ‘เป็นความสุขแท้แก่ครรภ์ที่อุ้มท่าน’ แต่แล้วพระเยซูคริสต์ตอบกลับไปว่า ‘ตรงกันข้าม เป็นความสุขแท้จริงแก่ผู้ที่ฟังพระวาจาของพระเจาแล้วนำไปปฏิบัติ’  ราวกับพูดว่า: มารดาของข้าพเจ้าที่ท่านบอกว่าเป็นผู้มีความสุขแท้ ท่านเป็นผู้มีบุญจริง เพราะว่าท่านได้รักษาพระวาจาของพระเจ้า ไม่ใช่เพราะในตัวท่านพระวจนาตถ์ทรงบังเกิดมารับสภาพมนุษย์และทรงประทับอยู่ท่ามกลางเรา แต่เป็นเพราะว่าพระแม่ทรงรักษาพระวาจาของพระเจ้าซึ่งพระแม่ถูกสร้างขึ้นมาและในครรภ์ของพระแม่พระองค์เสด็จมารับสภาพมนุษย์” (Tractates on the Gospel of John, 10, 3)

         ขอให้วันอาทิตย์พระวาจาของพระเจ้าช่วยประชากรของพระองค์ให้เจริญเติบโตขึ้นในความใกล้ชิดทางศาสนากับพระคัมภีร์ เพราะเฉกเช่นที่ผู้ประพันธ์สอนไว้แต่โบราณว่า “พระวาจาอยู่ใกล้ตัวท่านมาก อยู่ในปากของท่านและในใจของท่านเพื่อให้ท่านนำไปปฏิบัติ” (ฉธบ. 30: 14)

         ให้ไว้ ณ กรุงโรมที่มหาวิหารนักบุญยอห์น ลาเตรัน  วันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2019 วันฉลองนักบุญเยโรม โอกาสครบรอบ 1600 ปีแห่งการมรณภาพของท่าน

ฟรานซิส

เชิงอรรถ


[1] Cf. AAS 102 (2010), 692-787.

[2] “The sacramentality of the word can thus be understood by analogy with the real presence of Christ under the appearances of the consecrated bread and wine.  By approaching the altar and partaking in the Eucharistic banquet we truly share in the body and blood of Christ. The proclamation of God’s word at the celebration entails an acknowledgment that Christ himself is present, that he speaks to us, and that he wishes to be heard”(Verbum Domini, 56).