
ความหมายของตราประจำตำแหน่ง
ตามประเพณีของพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก ตราประจำตำแหน่งของพระสังฆราชประกอบด้วย
โล่กับสัญลักษณ์ประจำตระกูล มีความหมายเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ ศาสนา ประวัติศาสตร์ และ/หรือกับนามชื่อของพระสังฆราช
กางเขนทองสำหรับแห่ ไม้ขวางหมายถึงตำแหน่งของพระสังฆราช ยึดติดกับไม้ตั้งซึ่งอยู่ด้านหลังของตัวโล่
หมวกเขียว มีภู่ห้อยสิบสองช่อ ด้านละหกเรียงกันสามชั้น ชั้นบนหนึ่งช่อ ชั้นสองสองช่อ และชั้นสามสามช่อ
ม้วนหนังสือจารึกคติพจน์ เขียนด้วยสีดำอยู่ล่างสุด
คำบรรยายตราพระสังฆราช
พื้นหลัง เป็นโล่สีทอง เจ็ดแฉก
ส่วนบน มีดวงดาวสีฟ้าห้าแฉกห้าดวง
ส่วนล่าง มีลูกแกะปัสกายืนอยู่บนหนังสือพระคัมภีร์ที่เปิดอยู่โดยเท้าด้านขวาเกี่ยวธงสีขาวตรงกลางมีกางเขนสีแดงไว้
คติพจน์
“A Cruce Salus” หมายความว่า “ความรอดพ้นมาจากกางเขน”
กางเขนไม่เพียงเผยแสดงให้เห็นถึงความรัก (รม 5:8) และปรีชาญาณที่ล้ำเลิศ (1 คร 2:6-9) ของพระเจ้า รวมทั้งความสุภาพถ่อมตนจนถึงที่สุดของพระคริสตเจ้า (ฟป 2:8) เท่านั้น แต่สำหรับผู้มีความเชื่อแล้ว กางเขนยังเผยแสดงให้เห็นถึงความรอดพ้นที่ครอบคลุมไปถึงการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากการเป็นทาสในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างจากการเป็นทาสของธรรมบัญญัติ (กท 2:19-20) และบาป (รม 6:6) อีกด้วย
ความหมายของตราพระสังฆราช
โล่ หมายถึงการปกป้องคุ้มครอง (สดด 3:3) ความโปรดปราน (สดด 5:12) และความซื่อสัตย์ (สดด 91:4) ของพระเจ้า รวมทั้งความเชื่อของคริสตชน (อฟ 6:16) ในเขตสังฆมณฑลอุดรธานีด้วย สีทองเป็นสีแห่งศักดิ์ศรีและเกียรติรุ่งโรจน์ เจ็ดแฉกหมายถึงความครบบริบูรณ์ของสัญลักษณ์ดังกล่าว
ดวงดาวสีฟ้า หมายถึงพระนางพรหมจารีมารีย์ ผู้ทรงเป็นแบบฉบับของบรรดาคริสตชน ทั้งในเรื่องความนบนอบต่อพระประสงค์และการดำเนินชีวิตตามพระวาจาของพระเจ้า (ลก 1:38) ยิ่งกว่านั้น ดวงดาวห้าดวงยังเป็นสัญลักษณ์แทนห้าจังหวัดซึ่งอยู่ในเขตสังฆมณฑลอุดรธานี กล่าวคือ อุดรธานี ขอนแก่น เลย หนองคาย และหนองบัวลำภูอีกด้วย
ลูกแกะปัสกาที่ยืนอยู่ หมายถึงพระเยซูเจ้าผู้ทรงสิ้นพระชนม์และกลับคืนชีพแล้ว พระองค์ทรงเป็นเสมือนลูกแกะที่ถูกฆ่าถวายเป็นเครื่องบูชา (วว 5:6) เพื่อช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากบาปอาศัยพระโลหิตที่ไหลหลั่งบนกางเขนของพระองค์ (วว 7:14) ยิ่งกว่านั้น ลูกแกะปัสกายังเป็นสัญลักษณ์หมายถึงศีลมหาสนิท อันเป็นอาหารเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชนอีกด้วย
ธงสีขาว หมายถึงชัยชนะ ด้ามธงที่เป็นกางเขนสีดำและรูปกางเขนสีแดงหมายความว่าพระเยซูเจ้าทรงได้รับชัยชนะเหนือความตายและบาปโดยผ่านทางการสิ้นพระชนม์ของพระองค์บนกางเขน
หนังสือพระคัมภีร์ ซึ่งเป็นพระวาจาของพระเจ้าที่ตรัสด้วยภาษาของมนุษย์เพื่อความรอดพ้นของเรา เป็นสัญลักษณ์ของงานธรรมทูต เพราะพระคัมภีร์เป็นข่าวดีที่ต้องประกาศและแบ่งปันให้กับคนอื่น อนึ่งพระคัมภีร์ยังหมายถึงหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของคริสตชนทุกคนในเขตสังฆมณฑลอุดรธานีด้วย นั่นคือ การรู้จักพระคริสตเจ้า ทั้งนี้เพราะการไม่รู้จักพระคัมภีร์คือการไม่รู้จักพระคริสตเจ้า (นักบุญเยโรม) ตรงกันข้าม ยิ่งเรารู้จักพระคัมภีร์ เราก็ยิ่งรู้จักพระคริสตเจ้ามากขึ้น แล้วเราก็ยิ่งจะรักและเต็มใจที่จะรับใช้พระองค์มากขึ้นด้วย ยิ่งกว่านั้น หนังสือพระคัมภีร์และลูกแกะปัสการวมกันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพันธกิจสำคัญของประมุขสังฆมณฑอุดรธานี กล่าวคือ การหล่อเลี้ยงชีวิตฝ่ายจิตของคริสตชนด้วยอาหาร “ทั้งจากโต๊ะพระวาจาและจากโต๊ะพระกายพระคริสตเจ้า” (DV 21)
ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์สังฆมณฑลอุดรธาณี