วันอังคาร, 7 มกราคม 2568
  

สาส์นจากการประชุมสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียถึงบรรดาประชากรแห่งเอเชีย

สาส์นจากการประชุมสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชียถึงบรรดาประชากรแห่งเอเชีย

บ้านผู้หว่าน กรุงเทพ 12-30 ตุลาคม 2022

          พวกเราเหล่าผู้อภิบาลแห่งพระศาสนจักรคาทอทอลิกในเอเชียร่วมแบ่งปันสาส์นแห่งความชื่นชมยินดี ความหวัง และการเป็นหนึ่งเดียวกันกับพวกท่านบรรดาประชากรแห่งเอเชีย พวกเราขอบพระคุณสำหรับพระพรที่พระเจ้าโปรยปรายในเอเชียผ่านทางสหพันธ์สภาบิชอปแห่งเอเชีย (FABC) ของพวกเรา ที่รวบรวมจากสภาบิชอปคาทอลิกทั้ง 17 แห่ง และสภาซีนอดแห่งพระศาสนจักรตะวันออกอีก 2 แห่ง หัวข้อการประชุมของเราในครั้งนี้ คือ

“การเดินไปด้วยกันในฐานะประชาชาติแห่งเอเชีย (Journeying together as Peoples of Asia)” เพื่อที่พวกเราจะยืนยันถึงการเดินทางร่วมกันตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อเสริมพลังใหม่เพื่อการฟื้นฟูพระศาสนจักร และเพื่อแสวงหาหนทางใหม่แห่งการรับใช้

          พวกเราขอขอบพระคุณอย่างสุดซึ้งต่อคณะรัฐบาลไทยสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น และเป็นเกียรติต่อการประชุมของเราที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้มาอยู่ท่ามกลางเราในช่วงพิธีเปิดการประชุม พวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่อสภาบิชอปคาทอลิกแห่งประเทศไทย เป็นพิเศษต่ออัครสังฆมณฑลกรุงเทพที่ได้เป็นเจ้าบ้านในการประชุม FABC ครั้งนี้ พวกเรามีความยินดีที่ได้มีผู้แทนจากสันตะสำนักและสภาบิชอบจากต่างทวีปที่ได้มาเข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการอธิษฐานภาวนา การรับฟัง การไตร่ตรองแยกแยะ และการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเยียวยารักษาความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย

          ผ่านทางการสนทนาพูดคุยและจากการปรึกษาหารือในการประชุมของพวกเรา พวกเราได้สัมผัสจิตวิญญาณของเอเชีย ในขณะเดียวกันพวกเราได้รับแรงบันดาลใจจากความหวัง ความมั่นใจ และความมุ่งมั่นที่แสดงออกโดยพระศาสนจักรแต่ละที่ในเอเชียที่ก้าวไปกันและทำงานร่วมกันเพื่อทวีปเอเชียที่ดียิ่งขึ้น

          พวกเราถูกท้าทายด้วยเสียงอันแตกต่างจากหลากหลายแง่มุมของทวีปที่พวกเราได้รับฟังเสียงร้องขอความช่วยเหลือและความยุติธรรม

  • ความทุกข์ยากลำบากของคนยากจน ผู้ถูกกีดกัน รวมทั้งคนชายขอบที่รอคอยชีวิตที่จะได้รับเกียรติและศักดิ์ศรี
  • ความปวดร้าวของผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ผู้ถูกขับไล่ และกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังแสวงหาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และพื้นที่อันปลอดภัยอย่างแท้จริง
  • เสียงคร่ำครวญจากธรรมชาติ จากบาดแผลที่เกิดจากการแสวงหาแต่ผลประโยชน์ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อน ที่ร้องขอการดูแลรักษาอย่างเพียงพอยิ่งขึ้น
  • ความไฝ่ฝันของบรรดาเยาวชนที่กำลังแสวงหาบทบาทหน้าที่ที่มีความสำคัญในพระศาสนจักรและสังคมมากขึ้น
  • เสียงของบรรดาสตรีที่ถามถึงการเปิดกว้างของพระศาสนจักรที่จะเคารพศักดิ์ศรีของพวกเธอและเห็นคุณค่าในสถานะที่ถูกต้องของพวกเธอ
  • ความปรารถนาของครอบครัวที่กำลังมองหาความมั่นคงที่ดีกว่าเดิม และได้รับการสนับสนุนจากทุกคน
  • ความเจ็บปวดและความยากลำบาของพระศาสนจักรบางพื้นที่ ที่ต้องการความช่วยเหลือผ่านทางการเห็นอกเห็นใจและการเป็นหนึ่งกันของพวกเรา
  • เสียงเรียกร้องของกลุ่มใช้ความรุนแรงที่จำเป็นจะต้องตอบสนองอย่างปรีชาฉลาด
  • ความจำเป็นอย่างเร่งด้วนในการให้ความเคารพต่อชีวิตมากขึ้นแก่บรรดาผู้พิการทุพลภาพในสังคม
  • ปัญหาความรุนแรงและความขัดแย้งที่มีเพิ่มขึ้นในทวีปของเราที่เรียกร้องให้มีการเสวนาพูดคุยและการคืนดีกัน
  • สังคมที่ถูกท้าทายด้วยการปฏิวัติทางเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ

          ผ่านทางการอธิษฐานภาวนา และในการร่วมจิตใจแห่งความร่วมมือกัน พวกเราปรารถนาตอบสนองต่อความท้าทายเหล่านี้ โดยการพึ่งพลังแห่งความรัก ความเข้าอกเข้าใจ ความยุติธรรม และการให้อภัยกัน พวกเราเชื่อมั่นว่าสันติภาพและการคืนดีกันเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะก้าวไปข้างหน้า พวกเราได้พิจารณาเห็นถึงหนทางใหม่ของการอภิบาลของพวกเราภายใต้พื้นฐานของการรับฟังอย่างจริงใจและการไตร่ตรองแยกแยะอย่างแท้จริง

          โดยได้รับแรงบันดาลใจจากพระวรสารและจากคำสั่งสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส

  • พวกเราขออุทิศตนเองในการออกไปยังพื้นที่ชายขอบ พวกเราถูกเรียกมาเพื่อรับใช้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดด้วยความชื่นชมยินดี
  • พวกเราถูกเรียกร้องเพื่อกลับใจในการดูแลอภิบาลและดูแลรักษาเพื่อตอบสนองในด้านบวกต่อ “ทั้งเสียงร้องเรียกจากโลกและเสียงเรียกร้องของคนยากจน”
  • พวกเราปรารถนาที่จะดำเนินชีวิตด้วยจิตตารมณ์แห่งความชื่นชมและความปรองดองกันโดยรับฟังผู้อื่นในการเสวนาพูดคุยกันอย่างแท้จริง
  • พวกเราแสวงหาการส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งสันติภาพและความปรองดองในการการร่วมมือกันกับบรรดาพี่น้องชายหญิง พี่น้องต่างศาสนาและต่างขนบธรรมเนียมประเพณี
  • พวกเราขออุทิศตนเองในการสร้างสะพานเชื่อมโยงไม่ใช่แค่ในองค์กรทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่รวมไปถึงบรรดาองค์อิสระ องค์กรทางบ้านเมืองในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การขัดความยากจน การค้ามนุษย์ การดูแลรักษาโลก และปัญหาต่างๆ ทั่วไป
  • พวกเราจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยการส่งเสริม “การรับฟังซึ่งกันและกัน” ทั้งในการรับฟังซึ่งกันและกันและในการรับฟังเสียงของพระเจ้า
  • ดังนั้นพวกเราตั้งใจที่จะพัฒนาหนทางที่จะหล่อหลอมพวกเราเองในความเชื่อและการร่วมเดินเคียงข้างไปกับบรรดาครอบครัวและชุมชนของพวกเรา โดยเฉพาะกับบรรดาผู้ที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบาก

          โดยการเดินร่วมทางไปด้วยกันในแนวทางเหล่านี้ พวกเราจะรับใช้สังคมโลกด้วยการอุทิศตัว ให้มากขึ้น พวกเราให้คำมั่นสัญญาแก่บรรดาประชากรในภาคพื้นทวีปนี้ว่า พระศาสนจักรคาทอลิกในเอเชีย จะทำงานเพื่อทวีปเอเชียที่ดียิ่งขึ้นและเพื่อความดีของประชากรทุกคนของพวกเราอยู่เสมอ ดังที่พวกเราได้ให้คำมั่นสัญญาแก่พวกท่านผ่านทางคำภาวนาของพวกเรา เราวอนขอพวกท่านโปรดระลึกถึงพวกเราผ่านทาง คำภาวนาของพวกท่านเช่นกัน และโดยทั้งหมดนี้พวกเราได้เดินทางร่วมกันเพื่อรับใช้ครอบครัวมนุษยชาติและสิ่งสร้างทั้งมวล

ให้ไว้ ณ กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย วันที่ 30 ตุลาคม 2022

พระคาร์ดินัลชาลส์ โบ, SDB พระคาร์ดินัล ออสวอลด์ กราเซียส์
ประธาน FABC ประธานจัดการประชุม FABC 50

พระคาร์ดินัล ฟรังซิสเซเวียร์ เกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช
อาร์ชบิชอบแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ (ประเทศไทย)

อาร์ชบิชอป ทาร์ชิซิโอะ อิซาโอะ กิกูชิ, SVD
เลขาธิการ FABC

ที่มา : https://www.licas.news/2022/10/30/fabc-50-final-message-from-the-fabc-general-conference-to-the-peoples-of-asia/