วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567
  

การเข้าเฝ้าพระสันตะปาปาฟรานซิสแบบทั่วไป (General audience) วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2021

การเรียนคำสอนเรื่องจดหมายถึงชาวกาลาเทีย: 4 บัญญัติของโมเสส

อรุณสวัสดิ์ ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก

        “เหตุใดจึงต้องมีบัญญัติของโมเสส?” (กท. 3: 19) นี่เป็นปัญหาที่พวกเราอาจจะสามารถเรียนให้รู้อย่างลึกซึ้งในวันนี้จากนักบุญเปาโลเพื่อที่จะได้รับรู้ถึงความใหม่แห่งชีวิตคริสตชนที่ได้รับการฟื้นฟูโดยพระจิต ทว่าหากพระจิตทรงประทับอยู่ หากพระเยซูคริสต์ พระผู้ไถ่กู้พวกเราประทับอยู่แล้วทำไมจึงต้องมีบทบัญญัติอีกด้วย?  นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องไตร่ตรองกันในวันนี้ อัครธรรมทูตเปาโลเขียนว่า “หากท่านได้รับการชี้นำโดยพระจิต ท่านก็ไม่ต้องอยู่ใต้กฎหมาย” (กท. 5: 18) ตรงกันข้ามพวกที่สอนต่างไปจากเปาโลถือว่าชาวกาลาเทียต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติอย่างเคร่งครัดเพื่อที่จะได้รับความรอด พวกเขาย้อนนับถือสิ่งที่เป็นของเก่าแก่โบราณ พวกเขายังหลงติดอยู่กับช่วงเวลาในอดีตที่ผ่านไปแล้ว ซึ่งเป็นเวลายุคก่อนพระเยซูคริสต์ ส่วนบรรดาอัครธรรมทูตใช่ว่าจะเห็นพ้องต้องกันหมดก็หาไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่อัครธรรมทูตในกรุงเยรูซาเลมไม่เห็นด้วย เปาโลจำได้ถึงคำพูดของเปโตรเป็นอย่างดี ท่านพูดว่า “ทำไมท่านทั้งหลายจึงทดลองพระเจ้านำเอาแอกทั้งที่บรรพบุรุษของพวกเราแบกมาก่อน และพวกเราแบกไม่ไหวมาวางบนคอของบรรดาศิษย์?” (กจ. 15: 10) การจัดเตรียมประชุมที่เกิดขึ้นใน “สภาสังคายนาครั้งแรก” นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกรุงเยรูซาเลม และการอภิปรายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ชัดเจนมาก พวกเขากล่าวว่า “พระจิตและพวกเราตกลงที่จะไม่บังคับให้พวกท่านแบกภาระอื่นอีก นอกจากสิ่งไม่จำเป็นต่อไปนี้ คืองดเว้นการกินเนื้อสัตว์ที่ถวายให้รูปเคารพแล้ว งดเว้นการกินเลือดและเนื้อสัตว์ที่ถูกรัดคอตายรวมถึงสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์” (เทียบ กจ. 15: 28-29) บางสิ่งจะเกี่ยวกับการนมัสการพระจ้าและรูปเคารพ และบางสิ่งจะเกี่ยวกับวิธีเข้าใจชีวิตในยุคสมัยนั้น

        เมื่อเปาโลพูดเกี่ยวกับบทบัญญัติ ปกติท่านจะอ้างถึงบัญญัติของโมเสส อันเป็นบัญญัติที่พระเจ้ามอบให้โมเสส พระบัญญัติสิบประการ ซึ่งมีความสัมพันธ์กัน เป็นการปูทาง เป็นการเตรียมตัวเข้าสู่พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำไว้กับประชากรตามความในพระคัมภีร์เก่า เช่นคัมภีร์โตราห์ ซึ่งคำศัพท์ภาษาฮีบรูหมายถึงกฎหมายนั้นเป็นการรวบรวมข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ชาวอิสราเอลต้องปฏิบัติเพราะนั่นเป็นพันธสัญญากับพระเจ้า ข้อสรุปที่ดีซึ่งปรากฎอยู่ในหนังสือโตราห์จะพบได้ในหนังสือเฉลยธรรมบัญญัติ ได้กล่าวว่า “พระเจ้าทรงพอพระทัยในการทำให้ท่านเจริญเติบโตขึ้น ดังที่พระองค์ทรงพอพระทัยในบรรพบุรุษของท่าน หากท่านฟังเสียงพระเจ้าของท่านที่จะรักษาพระบัญญัติของพระองค์และพระธรรมนูญที่จารึกอยู่ในหนังสือกฎหมาย หากท่านหันกลับไปหาพระเจ้าด้วยสิ้นสุดจิตใจ” (ฉธบ. 30: 9-10) ดังนั้นการปฏิบัติตามพระบัญญัติจึงเป็นการรับรองว่าประชากรจะได้รับประโยชน์สุขแห่งพันธสัญญาและความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับพระเจ้า ประชากรเหล่านี้จะมีการเชื่อมสัมพันธ์กับพระเจ้าและจะทำให้ความเป็นหนึ่งกันกับพระเจ้า เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยการปฏิบัติตามพระบัญญัติ ในการทำพันธสัญญากับชนชาติอิสราเอลพระเจ้าทรงมอบคัมภีร์โตราห์ให้กับพวกเขาซึ่งเป็นธรรมบัญญัติ เพื่อที่พวกเขาจะได้เข้าใจพระประสงค์ของพระองค์และดำเนินชีวิตในความยุติธรรม พวกเราต้องคิดว่าในยุคสมัยนั้น กฎหมายเช่นนี้มีความจำเป็น เป็นพระหรรษทานอันยิ่งใหญ่ที่พระเจ้าทรงประทานให้กับประชากรของพระองค์ เพราะเหตุใดหรือ? เพราะว่าในสมัยนั้นศาสนาแปลก ๆ เทียม ๆ มีอยู่ทั่วไป การกราบไหว้พระเท็จเทียมมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง และพฤติกรรมของมนุษย์ก็เกิดจากการบูชาพระเท็จเทียม บ่อยครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือของประกาศกมีการตั้งข้อสังเกตว่าการไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัตินั้นก่อให้เกิดการทรยศต่อพันธสัญญานั้นผลที่ตามมาก็คือทำให้พระเจ้าทรงพระพิโรธ ความสัมพันธ์ระหว่างพันธสัญญาและธรรมบัญญัติจึงมีความใกล้ชิดกันมากจนว่าความจริงทั้งสองนี้จะแยกออกจากกันไม่ได้ ธรรมบัญญัติเป็นหนทางของบุคคล เป็นการแสดงว่าบุคคลนั้นดำรงอยู่ในพันธสัญญากับพระเจ้า

        ดังนั้นท่ามกลางแสงสว่างแห่งสิ่งเหล่านี้เป็นการง่ายที่จะเข้าใจว่าเหตุใดธรรมทูตเหล่านั้นที่แทรกซึมอยู่ในชาวกาลาเทียจึงพยายามที่จะยึดมั่นอยู่กับพันธสัญญารวมทั้งปฏิบัติตามบัญญัติของโมเสสดังที่เคยปฏิบัติกันในยุคนั้น อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับประเด็นนี้นั้นพวกเราสามารถพบได้กับปัญญาที่เฉลียวฉลาดและความคิดล้ำลึกที่เปาโลแสดงออกมา ซึ่งได้รับการทำนุบำรุงจากพระหรรษทานที่ท่านได้รับเพื่อพันธกิจในการประกาศพระวรสารของท่าน

        อัครธรรมทูตเปาโลอธิบายให้ชาวกาลาเทียฟังว่า ความจริงพันธสัญญาและธรรมบัญญัติไม่ใช่เป็นสิ่งที่เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างเด็ดขาด – พันธสัญญาและกฎหมายของโมเสส  ปัจจัยแรกที่เปาโลอ้างคือพันธสัญญาแรกที่พระเจ้าทรงกระทำนั้นทรงกระทำกับอับราฮัมโดยมีพื้นฐานจากความเชื่อในการที่พันธสัญญานั้นจะสำเร็จลุล่วงไปไม่ใช่ในการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติที่ยังไม่มีตัวตนในขณะนั้น อับราฮัมเริ่มเดินทางหลายศตวรรษก่อนที่จะเกิดธรรมบัญญัติ อัครธรรมทูตเปาโลเขียนไว้ว่า “นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าหมายถึง ธรรมบัญญัติที่มีขึ้น 430 ปี (กับโมเสส) ไม่ได้ทำให้พันธสัญญาที่พระองค์ทรงทำไว้กับอับราฮัมเป็นโมฆียะ” คำนี้มีความสำคัญมาก พวกเราคริสตชนที่เป็นประชากรของพระเจ้าต่างเดินทางทั้งชีวิตสู่พันธสัญญาซึ่งดึงดูดพวกเรา ดึงดูดให้พวกเราก้าวเดินไปข้างหน้าสู่การพบปะกับพระเจ้า “เพราะธรรมบัญญัติที่ตามมาสี่ร้อยสามสิบปีภายหลังไม่อาจทำให้พันธสัญญาที่พระเจ้าทรงรับรองไว้ก่อนแล้วนั้นเป็นโมฆะจนกระทั่งลบล้างพันธสัญญาได้ เพราะถ้ามรดกมาจากธรรมบัญญัติก็มิได้มาจากพระสัญญาอีกต่อไป แต่พระเจ้าทรงแสดงพระกรุณากับอับราฮัมโดยทางพระสัญญา” (กท. 3: 17-18) แล้วธรรมบัญญัติก็มาทีหลังตั้งสี่ร้อยสามสิบปี ด้วยเหตุผลนี้เปาโลจึงบรรลุจุดหมายแรกของท่าน ธรรมบัญญัติไม่ได้เป็นพื้นฐานแห่งพันธสัญญาเพราะมาภายหลัง ทว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและชอบธรรม แต่ก่อนหน้านั้นมีพระสัญญา มีพันธสัญญา

        เหตุผลดังกล่าวทำให้ข้อแย้งที่ถือว่าธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นส่วนหนึ่งแห่งโครงสร้างของพันธสัญญาจึงตกไป พันธสัญญาที่มอบให้กับอับราฮัมนั้นต้องมาก่อน ความจริงคัมภีร์โตราห์ที่เป็นกฎหมายนั้นไม่ได้รวมอยู่ในพระสัญญาที่ทำกับอับราฮัม แต่เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้วจึงอาจมีใครที่จะคิดว่าเปาโลขัดแย้งหรือต่อต้านธรรมบัญญัติของโมเสส เปล่าเลย เปาโลปฏิบัติตามนั้น บ่อยครั้งในจดหมายเปาโลปกป้องความเป็นต้นตอของกฎหมายที่มาจากพระเจ้าโดยกล่าวว่า กฎหมายได้กำหนดบทบาทที่ชัดเจนในประวัติศาสตร์แห่งความรอด ทว่ากฎหมายไม่ได้ประทานชีวิต ไม่ได้ทำให้พระสัญญาสำเร็จไป เพราะกฎหมายไม่สามารถที่จะทำให้พันธสัญญาสำเร็จลงได้  กฎหมายเป็นการเดินทาง เป็นการเดินทางที่นำไปสู่การพบปะกัน เปาโลใช้คำพูดคำหนึ่งซึ่งพ่อเองไม่แน่ใจว่ามีในข้อความนี้หรือไม่ ทว่าเป็นคำที่มีความสำคัญยิ่ง กฎหมายเป็น “ตำรา” ที่นำไปสู่พระเยซูคริสต์ เป็นตำราสู่ความเชื่อในพระเยซูคริสต์ กล่าวคือ เป็นอาจารย์ที่จูงมือพวกเราไปสู่การพบปะ (เทียบ กท. 3: 24) ผู้ที่แสวงหาชีวิตจำเป็นต้องตามหาพระสัญญาและทำให้ชีวิตสำเร็จลุล่วงไปในพระเยซูคริสต์

        ลูก ๆ และพี่น้องชายหญิงที่รัก การอธิบายชี้แจงครั้งแรกของอัครธรรมทูตต่อชาวกาลาเทียทำให้พวกเราเห็นความใหม่แห่งชีวิตคริสตชน ทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซูคริสต์ถูกเรียกร้องให้ต้องดำเนินชีวิตในพระจิต ซึ่งทำให้พวกเราเป็นไทจากกฎหมายและในเวลาเดียวกันก็จะให้พระสัญญาสำเร็จไปตามพระบัญญัติแห่งความรัก นี่เป็นเรื่องสำคัญมาก กฎหมายนำพวกเราไปสู่พระเยซูคริสต์ อาจมีใครบางคนที่จะพูดแย้งกับพ่อว่า “สันตะปาปาครับ เพียงขอถามคำถามเดียว นี่หมายความว่าถ้าผมสวดบทข้าพเจ้าเชื่อฯ ผมไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามพระบัญญัติใช่ไหมครับ?” ไม่ได้เลยนะลูก พระบัญญัตินั้นมีความสำคัญเสมอในความหมายที่ว่านั่นเป็น “อาจารย์” ที่จะนำลูกไปพบกับพระเยซูคริสต์ ถ้าหากลูกตัดการพบปะกับพระเยซูคริสต์ออกไป และอยากที่จะให้ความสำคัญต่อพระบัญญัติมากกว่า นี่แหละคือปัญหาของพวกธรรมทูตลัทธิที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์แบบสุดโต่งที่แทรกซึมท่ามกลางชาวกาลาเทียและทำให้พวกเขาสับสน

        ขอพระเจ้าได้โปรดช่วยให้พวกเราเดินไปตามเส้นทางและพระบัญญัติมุ่งไปสู่ความมรักต่อพระเยซูคริสต์ด้วยการพบปะกับพระองค์โดยทราบดีว่าการพบปะกับพระเยซูคริสต์เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าพระบัญญัติทั้งปวง

_______________________________

พระสันตะปาปากล่าวต้อนรับ

        พ่อขอต้อนรับประชาสัตบุรุษที่พูดภาษาอังกฤษ ในขณะที่พวกเราเตรียมเฉลิมฉลองพระแม่มารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ พ่อขอมอบลูกๆ และครอบครัวของลูกไว้ภายใต้การคุ้มครองของแม่พระ เพื่อที่พระแม่จะได้ชี้นำการเดินทางของพวกเราสู่ความสำเร็จแห่งพระสัญญาของพระเยซูคริสต์ ขอพระเจ้าโปรดอวยพรทุกคน

สรุปคำปราศรัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส

        ลูก ๆ และพี่น้องที่รัก  ในการเรียนคำสอนของพวกเราต่อไปเรื่องจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวกาลาเทีย พวกเราเห็นการที่อัครธรรมทูตเปาโลเน้นถึงความใหม่แห่งชีวิตคริสตชนซึ่งต้องขอบคุณการทำงานของพระจิตในดวงใจของพวกเรา เพื่อต่อต้านผู้ที่เรียกร้องชาวกาลาเทียให้ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสสตามตัวอักษร เปาโลตอบว่ากฎหมายมีไว้เพื่อรับใช้พันธสัญญาของพระเจ้าที่มีต่อประชากรของพระองค์เสมอ พันธสัญญาในตัวเองไม่ได้มีพื้นฐานอยูในการปฏิบัติตามกฎหมาย แต่เป็นความเชื่อในความสำเร็จลุล่วงไปแห่งพันธสัญญาของพระเจ้าที่มีกับประชากรของพระองค์ บัดนี้เมื่อพระเจ้าได้ทำให้พันธสัญญาของพระองค์สำเร็จเรียบร้อยแล้วในพระธรรมล้ำลึกปัสกาแห่งการทรมาน การสิ้นพระชมนม์และการกลับคืนพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์ ผู้ที่เชื่อในพระวรสารก็เป็นไทจากการเรียกร้องของกฎหมาย แล้วความใหม่แห่งชีวิตคริสตชนก็จะบังเกิดขึ้นจากการตอบสนองของพวกเราต่อการเสด็จมาของพระจิตผู้ที่จะทำให้กฎหมายสำเร็จไปในพระบัญญัติใหม่แห่งความรัก

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บการสอนคำสอนของพระสันตะปาปามาแบ่งปันและไตร่ตรอง)