วันอังคาร, 29 เมษายน 2568

การสัมภาษณ์พิเศษพระสันตะปาปาฟรานซิสหลังการผ่าตัด “พ่อไม่เคยคิดที่จะลาเกษียณ”

พระสันตะปาปาฟรานซิสให้สัมภาษณ์กับนายคาร์ลอส แฮร์รารา (Carlos Herrera) ทางสถานีวิทยุโคป (Cope)

            พระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับการสัมภาษณ์โดยนายคาร์ลอส แฮร์ราร่า (Carlos Herrera) แห่งสถานีวิทยุโคเป (COPE) นี่เป็นครั้งแรกที่พระองค์ตรัสเกี่ยวกับการผ่าตัดในเดือนกรกฎาคม 2021 และทรงแสดงความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์อัฟกานิสถาน จีน การุญฆาต และการปฏิรูปโรมันคูเรีย

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ ก่อนอื่นขอถามพระองค์ว่ารู้สึกอย่างไรบ้างหลังการผ่าตัด?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อก็ยังมีชีวิตอยู่นะ [หัวเราะ]

คาร์ลอส: การผ่าตัดใหญ่ของพระองค์เมื่อเร็วๆ นี้ทำให้พวกเราเป็นห่วง…

สันตะปาปาฟรานซิส: ขอบคุณนะ แน่นอนเรื่องนี้เกิดจากโรคกระเปาะที่ลำไส้ใหญ่… ใครจะไปรู้…  กระเพาะเกิดเน่าเป็นพิษ… แต่ถูกผ่าตัดออกทันเวลา พ่อจึงยังคงมีชีวิตอยู่

คาร์ลอส: กระผมเข้าใจว่านี่เป็นการกระทำของพยาบาลคนหนึ่งที่เตือนพระองค์เป็นคนแรก

สันตะปาปาฟรานซิส: เขาช่วยชีวิตพ่อไว้ เขาบอกพ่อว่า “พระองค์ต้องผ่าตัด” บางคนมีความคิดเห็นอย่างอื่นเหมือนกัน “ทานยาฆ่าเชื้อดีกว่า…” แต่พยาบาลคนนั้นอธิบายให้พ่อฟังเป็นอย่างดี เขาเป็นพยาบาลที่นี่จากโรงพยาบาลวาติกัน เขาผ่านงานมา 30 ปีแล้ว เขาเป็นคนที่มีประสบการณ์สูงมาก นี่เป็นครั้งที่สองที่พยาบาลช่วยชีวิตพ่อไว้

คาร์ลอส: ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อไรครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: เมื่อปี ค.ศ. 1957 เมื่อเขาพากันคิดว่าพ่อเป็นไข้หวัดใหญ่ซึ่งระบาดในบ้านเณร พยาบาลให้ยาแอสไพรินกับพ่อ คนอื่นๆ อาการหายกันหมด แต่ของพ่อกลับไม่ได้ผล เขาจึงนำพ่อส่งโรงพยาบาลซึ่งเขาดูดเอาน้ำออกจากปอดของพ่อ แพทย์บอกว่าข้าพเจ้าควรที่จะรับยาพิเศษ… พ่อไม่ทราบว่ามากน้อยแค่ไหน เอาอย่างนี้ก็แล้วกันเพนินซีลินหนึ่งล้านหน่วยและสเตร็บโตไมซินอีกจำนวนหนึ่ง ตอนนั้นยาประเภทนี้เป็นยาปฏิชีวนะ เมื่อพ่อออกจากโรงพยาบาล พยาบาลคนหนึ่งบอกพ่อว่าพ่อได้รับยาเหล่านั้นเป็นสองเท่า

คาร์ลอส: และนั่นช่วยชีวิตของพระองค์ไว้?

สันตะปาปาฟรานซิส: ใช่ ถ้าไม่ได้ยาเหล่านั้น พ่อก็คงจะ…

คาร์ลอส: กระผมขอบอกว่าความลับประการหนึ่งที่นครวาติกันเก็บไว้ได้ดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมากที่สุด นั่นคือเรื่องสุขภาพของพระสันตะปาปา

สันตะปาปาฟรานซิส: อ๋อ แน่นอนเลย

คาร์ลอส: กระผมไม่น่าแปลกใจเลย วาติกันวางแผนกันไว้เรียบร้อยแล้วอย่างรัดกุม

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อมีกำหนดการมีการวางแผนกันแล้ว… หลังจากสวดบททูตสวรรค์แจ้งข่าวพ่อก็รีบไปโรงพยาบาลทันที นั่นเกือบบ่ายโมงแล้ว และได้ประกาศเรื่องนี้บ่ายสามโมงครึ่ง ซึ่งพ่อกำลังเตรียมตัวผ่าตัดขั้นต้น

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ พระองค์เคยตรัสว่า “ต้นหญ้าจะไม่มีวันตาย”

สันตะปาปาฟรานซิส: ถูกต้อง แล้วนั่นหมายถึงพ่อด้วย และหมายถึงทุกคน

คาร์ลอส: เจ้าหน้าที่สื่อประกาศว่าไม่ให้พระองค์ทำอะไรทั้งสิ้น มีการสั่งเด็ดขาดไหม มีสิ่งใดบ้างที่พระองค์ไม่สามารถทำได้ หรือที่พระองค์ไม่อยากที่จะทำไหมครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อไม่เข้าใจคำถาม ท่านหมายถึงอะไร

คาร์ลอส: คณะแพทย์มีการสั่งให้พระองค์มิให้ทำอะไรเลยหรือไม่ครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: คณะแพทย์หรือ ขอโทษ พ่อเข้าใจว่าเป็น “สื่อ”

คาร์ลอส: [หัวเราะ] ท่านก็ทราบแล้วว่าสื่อชอบมีการหลอกลวง แต่ในกรณีนี้เป็นคณะแพทย์ [ภาษาสเปนิช: “medios” (สื่อ) และ “medicos” (แพทย์)

สันตะปาปาฟรานซิส: ตอนนี้พ่อรับประทานได้ทุกอย่าง ซึ่งกระทำไม่ได้ตอนที่มีกระเปาะที่ลำไส้ ขณะนี้พ่อรับประทานได้ทุกอย่าง พ่อยังต้องทานยาหลังการผ่าตัดเพราะแพทย์ตัดลำไส้ออกไป 33 เซนติเมตร ทุกอย่างต้องใช้สมอง สมองบริหารสั่งการทั่วร่างกาย และคงต้องใช้เวลาหน่อย นอกจากนี้แล้วร่างกายของพ่อก็เป็นปกติทุกอย่าง

คาร์ลอส: พระองค์ทรงทานทุกสิ่งได้ที่อยากจะทาน… พระองค์ทรงดำเนิน ทรงออกกำลังกายทุกเช้า…

สันตะปาปาฟรานซิส: วันนี้ทั้งเช้าเลย คือต้องฟังตลอดเช้า

คาร์ลอส: ขณะนี้พระองค์กำลังจะเสด็จไปยังประเทศสโลวาเกียและประเทศฮังการี กระผมเข้าใจว่าเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งที่ 34 ในสมณสมัยของพระองค์

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อจำจำนวนครั้งไม่ได้ แต่คิดว่าคงเป็นเช่นนั้น

คาร์ลอส: โปรแกรมจะเข้มข้นไหมครับ? กระผมพิศวงใจเสมอว่าพระสันตะปาปาคงจะต้องเป็นนักแข่งกับเวลา ทำไมพระสันตะปาปาจึงไม่เพิ่มเวลาอีกสักสองวันเพื่อขยายเวลาในการเยือน เพราะพระองค์ต้องเร่งรัดใช้เวลา 18 ชั่วโมงจาก 24 ชั่วโมงเพื่อทำสิ่งต่างๆ พระองค์คงจะต้องเอาใจใส่ดูและสุขภาพของพระองค์หลังการผ่าตัดมิใช่หรือ?

สันตะปาปาฟรานซิส: การเดินทางครั้งแรกหลังการผ่าตัดนี้พ่อคงต้องระวังตัวหน่อย เพราะตามปกติคนป่วยจะต้องพักฟื้นให้เต็มที่เสียก่อน แต่ในที่สุดก็คงจะเหมือนกับทุกครั้งนั่นแหละ แล้วท่านคอยดูเอาเองก็แล้วกัน [หัวเราะ]

คาร์ลอส: พระองค์ทรงกลัวสิ่งหนึ่ง คือสื่ออิตาเลียนมักจะชอบตีข่าวกันเสมอว่า เมื่อสุขภาพของพระสันตะปาปาไม่ดีความคิดเก่าๆ ก็มักจะพูดถึงการลาออก “โป๊ปจะกลับบ้าน โป๊ปรับสถานการณ์ไม่ไหวแล้ว…”? ในชีวิตของพระสันตะปาปา กระผมคิดว่าข่าวเป็นเช่นนี้วนไปเวียนมาเสมอไม่ใช่หรือ?

สันตะปาปาฟรานซิส: ใช่แล้ว เมื่ออาทิตย์ที่แล้วพวกเขาตีข่าวเกี่ยวกับพ่อ ซี่งเป็นข่าวที่ดังมาก นักข่าว Eva Fernandez ก็บอกกับพ่อเช่นนั้น เธอพูดแม้กระทั่งการแสดงออกแบบชาวอาร์เจนตีเนียนอย่างเนียน ๆ และพ่อก็บอกเธอไปว่าพ่อยังไม่คิดถึงอนาคตเพราะพ่ออ่านหนังสือเพิมพ์ตอนเช้าเพียงฉบับเดียว ซี่งเป็นหนังสือพิมพ์ของชาวโรม พ่อชอบการพาดหัวข่าว แต่พ่อก็รีบอ่านผ่านตาอย่างรวดเร็ว พ่อไม่ตกอยู่ในเกมของการเล่นข่าวประเภทนี้ พ่อไม่ดูโทรทัศน์ พ่อรับรายงานเกี่ยวกับข่าวประจำวัน ทว่าพ่อจะพบข่าวค่อนข้างช้าสองสามวันต่อมา นั่นเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการพูดถึงลาออกจากตำแหน่งสันตะปาปาของพ่อ เมื่อใดที่พระสันตะปาปาป่วยมักจะมีกระแสลมแรงหรือแบบเฮอรีเคนของการประชุมคอนเคล็ฟ (conclave) เสมอ [หัวเราะ]

คาร์ลอส: การถูกกักตัวของพระสันตะปาปาเป็นอย่างไรบ้าง? เวลาที่พระองค์ถูกกักตัว ณ ที่พำนัก พระองค์ทรงกระทำอะไรในขณะที่ถูกกักตัว?

สันตะปาปาฟรานซิส: ประการแรกพ่อต้องยอมรับสภาพของตนเองซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ทว่านี่เป็นศาสตร์ที่พ่อยังจะต้องเรียนรู้ แม้ว่าเป็นเรื่องยากที่จะยอมรับสภาพตนเอง

คาร์ลอส: พระองค์เคยปฏิบัติเช่นนี้มานานนับหลายปี…

สันตะปาปาฟรานซิส: ก็ใช่ แต่นี่เป็นเรื่องยาก บางครั้งคนเราก็มักชอบจะทำตามใจตนเองแล้วต้องการให้สภาพที่อึดอัดสิ้นสุดไปโดยอัตโนมัติ แล้วพ่อก็ค่อยๆ ดีวันดีคืนทีละเล็กทีละน้อยจนพ่อปรับตัวเป็นปกติในทุกวันนี้ เมื่อเช้านี้ตลอดทั้งภาคเช้าไปนั่งฟังการประชุม แล้วบ่ายสามโมงครึ่งก็จะกลับไปนั่งฟังต่ออีก

คาร์ลอส: แม้เป้าหมายของพระองค์ในการเดินทางครั้งต่อไปจะเป็นประเทศสโลวาเกีย หลายคนก็ยังต้องการเห็นพระองค์ไปพบกับนายกรัฐมนตรีประเทศฮังการี นายวิคเตอร์ ออร์บัน (Victor Orban) ซึ่งพระองค์ไม่ทรงเห็นชอบกับโครงการแห่งรัฐบาลของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปิดพรมแดน พระองค์ทรงต้องการที่จะบอกอะไรเขาหากพระองค์มีโอกาสที่จะพบกับเขาตามลำพัง?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อยังไม่ทราบว่าจะได้พบกับเขาหรือเปล่า พ่อทราบเพียงว่าจะมีเจ้าหน้าที่มาต้อนรับพ่อ พ่อเองจะไม่ไปที่ใจกลางเมืองบูดาเปสต์ แต่จะไปยังสถานที่ที่จัดงานเคารพศีลมหาสนิทนานาชาติ  ที่นั่นมีห้องประชุมใหญ่ที่พ่อจะพบกับบรรดาบิชอปชาวฮังกาเรียน ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่บ้านเมืองด้วย พ่อไม่ทราบว่าเขาจะมาด้วยหรือไม่ พ่อรู้จักประธานาธิบดีเพราะเขาเคยไปร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณที่ทรานส์ซิลวาเนีย (Transylvania) ในภูมิภาคแห่งประเทศโรมาเนีย บริเวณที่ประชาชนพูดภาษาฮังกาเรียน เขามาพร้อมกับรัฐมนตรีคนหนึ่ง พ่อคิดว่าเป็นนายออร์บัน เพราะเมื่อจบพิธีมิสซาเรามีการต้อนรับกันอย่างเป็นทางการ… พ่อเองก็ไม่ทราบว่าจะมีใครมาบ้าง…

        วิธีการหนึ่งของพ่อก็คือพ่อไม่ชอบไปไหนมาไหนพร้อมกับคำปราศรัยที่เตรียมไว้ล่วงหน้า เมื่อพ่ออยู่ต่อหน้าใครสักคน พ่อจะมองบุคคลนั้นด้วยสายตาแล้วพ่อก็ปล่อยให้ให้การสนทนาเป็นไปตามเรื่องราวแบบธรรมชาติ ไม่ต้องจัดฉากต่อเติมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับพ่อเลยว่า พ่อจะต้องพูดเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคตที่เป็นไปได้ที่ท่านมัวพะวงจะต้องจัดการ  นี่ไม่ดีสำหรับตัวท่านด้วย

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ พระองค์ติดตามอย่างใกล้ชิดกับเรื่องการเมืองในประเทศอัฟกานิสถานที่กำลังร้อนระอุอยู่ ประเทศนี้ถูกปล่อยให้ตกอยู่ในชะตากรรมของตนเองมาหลายปีแล้วตั้งแต่ที่ถูกยึดครองโดยทหาร ดังนั้นวาติกันจะใช้ความสามารถเชิงการทูตเพื่อช่วยประชาชนหรือเรื่องอื่นๆ อีกได้ไหม?

สันตะปาปาฟรานซิส: ได้แน่นอน ความจริงพ่อมั่นใจว่าเลขาธิการแห่งสันตะสำนัก นครรัฐวาติกัน กำลังกระทำเช่นนั้น เพราะระดับการทูตของเลขาธิการแห่งรัฐและทีมงานของท่านนั้นสูงมาก ซึ่งก็รวมไปถึงกับนานาชาติด้วย พระคาร์ดินัลปิเอโตร ปาโรลิน (Parolin) เป็นนักการทูตที่ดีที่สุดเท่าที่พ่อเคยพบมา ท่านเป็นนักการทูตที่ส่งเสริม ไม่ใช่ที่คอยบั่นทอน ท่านเป็นคนที่คอยเสวงหาวิธีที่จะให้มีการตกลงกัน พ่อเชื่อมั่นว่าท่านกำลังช่วยหรืออย่างน้อยก็เสนอให้ความช่วยเหลือ นี่เป็นสถานการณ์ที่ยุ่งซับซ้อนมาก พ่อคิดว่าในฐานะที่เป็นผู้เลี้ยงแกะที่ดี พ่อต้องขอร้องคริสตชนให้สวดภาวนาเป็นพิเศษในช่วงเวลานี้ เป็นความจริงว่าพวกเรากำลังดำเนินชีวิตในโลกแห่งสงคราม (เช่นที่ประเทศเยเมน) นี่เป็นอะไรที่พิเศษ มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง  และพ่อพยายามที่จะขอร้องสิ่งที่พระศาสนจักรเคยขอร้องอยู่เสมอในยามที่เกิดความยุ่งยากลำบากและวิกฤติ ขอให้มีการสวดภาวนามากขึ้นและจำศีลอดอาหาร การสวดภาวนา การทำพลีกรรมใช้โทษบาป และการจำศีลซึ่งเป็นสิ่งที่พ่อขอร้องลูก ๆ ของพระศาสนจักรกระทำในยามวิกฤติ และเกี่ยวกับการยึดครองประเทศมานาน 20 ปีแล้วก็จากไป พ่อยังจำได้ดีถึงประวัติศาสตร์อื่นๆ อีก แต่พ่อรู้สึกประทับใจในสิ่งที่นายกรัฐมนตรีมาร์เคล (Merkel) ซึ่งเป็นนักการเมืองที่ยอดเยี่ยมที่สุดคนหนึ่งในโลกที่เธอกล่าวไว้ที่กรุงมอสโคว เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่แล้ว ท่านกล่าวว่า พ่อหวังจะเป็นการแปลที่ถูกต้อง “จำเป็นต้องยุตินโยบายที่ขาดความรับผิดชอบของการแทรกแซงจากภายนอก แล้วสร้างประชาธิปไตยในประเทศอื่นโดยมองข้ามขนบธรรมเนียมของประชาชน” สั้นกระทัดรัดและตรงไปตรงมา พ่อคิดว่านี่มีความหมายมากมายทีเดียว และทุกคนสามารถที่จะตีความได้ตามที่ตนปรารถนา แต่พ่อรู้สึกว่านี่เป็นปรีชาญาณที่ได้ยินสตรีผู้นี้กล่าว

คาร์ลอส: ความจริงที่ว่าโลกตะวันตกกำลังถอนตัวออกไปจากอาฟกานิสถานรวมถึงสหพันธ์ที่นำโดยปร้เทศสหรัฐอเมริกาและยุโรป นี่ทำให้พระองค์รู้สึกท้อแท้หรือไม่ หรือว่าพระองค์คิดว่านี่เป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว? พวกเราควรที่จะปล่อยให้ขาวอาฟกานิสถานตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนั้นหรือ?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อเห็นว่ามีสามสิ่งที่แตกต่างกัน  1) ความจริงการถอนตัวออกไปนั้นเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย 2) สิ่งที่สะท้อนในตัวพ่อนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และ3) การปล่อยให้พวกเขาเป็นไปตามชะตากรรม พ่อขอกล่าวว่านั่นเป็นวิธีการถอนตัวออกไปและเป็นวิธีการเจรจาหาวิถีทางออกมิใช่หรือ? เท่าที่พ่อมองเห็น ไม่ได้มีการพิจารณากันถึงเหตุการณ์ที่เป็นจริงทุกอย่าง… หรือดูเหมือนว่าเป็นจริง พ่อไม่ต้องการที่จะตัดสินผู้ใด พ่อไม่ทราบว่าจะมีการพิจารณากันใหม่หรือไม่ แต่แน่นอนว่าบางทีจะมีความเท็จอยู่ในด้านของอำนาจใหม่ พ่อขอกล่าวว่ามีความเท็จหรือความไร้เดียงสาอยู่มากมาย พ่อไม่เข้าใจในเชิงลึก แต่พ่อมองว่าสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และพ่อคิดว่าสิ่งที่ นางมาร์เคล (Mrs. Merkel) กล่าวนั้นเน้นถึงประเด็นนี้

คาร์ลอส:   กระผมคิดว่าพระสันตะปาปาเองก็อาจรู้สึกผิดหวังได้เช่นเดียวกับบรรดาคริสตชน ในฐานะที่เป็นประมุขสูงสุดของพระศาสนจักรสากลพระองค์คิดว่าสิ่งใดบ้างเป็นความผิดหวังมากที่สุดที่พระองค์ทรงมี?

สันตะปาปาฟรานซิส: มีมากมาย พ่อมีความผิดหวังหลายประการในชีวิตและนั่นเป็นสิ่งที่ดี เพราะว่าความผิดหวังเหมือนกับการจอดลงอย่างฉุกเฉิน เหมือนกับการจอดฉุกเฉินในชีวิต ความสำคัญนั้นอยู่ที่การต้องลุกขึ้น ยังมีเพลงบทหนึ่งที่ให้ความหมายกับพ่ออย่างมาก “ในศิลปะแห่งการไต่ขึ้นที่สูง สิ่งที่สำคัญคือต้องไม่หล่นลงมา ทว่าต้องไต่โดยไม่มีการตกลงมา”  เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับความผิดหวัง ณ ที่นั้นยังมีทางเลือกสองทางด้วยกัน คือท่านต้องอยู่ที่นั่นโดยกล่าวว่านี่ไม่คงจะไม่ได้เรื่องได้ราว – อย่างที่เพลงจังหวะแทงโก้กล่าวว่า “Dale que va, que todo es igual, que alla en del horno nos vamos a encontrar”  [เนื้อเพลงเป็นคำสะแลงของชาวอาร์เยนตีเนียน ของเพลงจังหวะแทงโก้จากปี ค.ศ. 1930: “จงทำต่อไปเถอะ นั่นก็คงจะไม่มีอะไรแตกต่าง แล้วพวกเราจะรวมตัวกันใหม่ในนรก”] – หรือว่าฉันจะลุกขึ้นแล้วเริ่มต้นกันใหม่ และพ่อเองก็เชื่อว่าท่ามกลางสงคราม ท่ามกลางความปราชัย แม้ท่ามกลางความผิดหวังในความล้มเหลวของตนหรือในบาปของตน พวกเราต้องลุกขึ้นและต้องไม่ปล่อยให้ล้มอยู่อย่างนั้น

คาร์ลอส: ยังมีการกล่าวกันอยู่เสมอว่าปิศาจมันชอบใจที่มนุษย์เชื่อว่ามันไม่มีตัวตนจริง ปิศาจมันวิ่งอยู่แถวๆ วาติกันด้วย จริงหรือไม่ครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: [หัวเราะ] ปิศาจมันวิ่งไปทั่ว แต่พ่อกลัวพวกปิศาจที่แกล้งทำตัวสุภาพ เช่นคนที่มาเคาะประตูบ้านท่าน คนที่ขออนุญาตท่าน คนที่เข้ามาในบ้านท่าน คนที่ทำตัวเป็นมิตรกับท่าน… แต่พระเยซูคริสต์ไม่เคยกล่าวถึงเรื่องนี้เลยหรือ? ใช่แล้ว พระองค์เคยกล่าว! เมื่อพระองค์กล่าวว่า เมื่อจิตชั่วออกจากชายคนหนึ่ง เมื่อใครบางคนกลับใจหรือเปลี่ยนแปลงชีวิต เมื่อนั้นแหละมันจะหาพรรคพวกอีกเจ็ดคนที่ร้ายกว่ามันแล้วจะเข้าไปสิงในอีกในรูปแบบทัศนคติที่แตกต่าง นี่คือเหตุผลที่พ่อกล่าวว่าปิศาจที่แฝงตัวแบบสุภาพแต่นั่นเป็นการแสดงมากกว่า มันคือพวกที่มาเคาะประตูบ้านของพวกเรา ความโง่เขลาของบางคนคือปล่อยให้มันเข้ามา และในที่สุดคนนั้นก็จร้ายยิ่งกว่าเดิม พ่อกลัวปิศาจที่ทำตัวเสแสร้งแบบสุภาพถ่อมตัว ทว่ามันร้ายกาจที่สุด และมันหลอกลวงเก่งที่สุด เพราะมันเป็นนักแสดงดูภายนอกดูเหมือนว่าจะดีแต่มันแฝงความชั่วร้าย

คาร์ลอส: เดือนมีนาคม 2022 จะเป็นปีที่เก้าแห่งสมณสมัยของพระองค์ ซึ่งไม่ใช่สมณสมัยสั้นๆ แบบ 4-5 ปีดังที่พระองค์เคยตรัสไว้ พระองค์ทรงพอพระทัยกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหรือไม่ ยังมีอะไรอีกบ้างไหมที่พระองค์มีพระประสงค์จะจัดการให้เสร็จสิ้นไปในเร็ววัน? กล่าวคือ พระองค์มีความรู้สึกไหมว่าพระเจ้าทรงประทานเวลาเพิ่มขึ้นให้กับพระองค์เพื่อที่จะทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง?

สันตะปาปาฟรานซิส: อันที่จริงการเลือกตั้งนั้นทำให้พ่อประหลาดใจมาก เพราะพ่อมาวาติกันมาพร้อมกับเสื้อผ้ากระเป๋าเล็กๆ เพราะพ่อมีเสื้อชุดยาวที่นี่ พ่อได้รับเสื้อยาวตัวหนึ่งเป็นของขวัญเมื่อพ่อเป็นคาร์ดินัล พ่อก็ฝากไว้ที่บ้านของซิสเตอร์คณะหนึ่งเพื่อที่จะไม่ต้องเตรียมมาในกระเป๋า พ่อพักอยู่กับห้าหกคณะที่นี่และพ่อต้องเดินทาง ดังนั้นพ่อไม่จำเป็นต้องนำเสื้อผ้ามามากมาย พ่อเดินทางมาตามปกติ  และพ่อก็เตรียมบทเทศน์สำหรับสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ที่นี่ที่บ้านพักบิชอป ดังนั้นเมื่อถูกเลือกจึงทำให้พ่อตกใจมาก พ่อไม่ได้คิดค้นที่จะทำอะไรใหม่  สิ่งที่พ่อทำในช่วงแรกคือ ต้องนำสิ่งที่บรรดาพระคาร์ดินัลกล่าวและมีมติก่อนเข้าประชุมคอนเคล็ฟ (conclave) สำหรับพระสันตะปาปาองค์ใหม่มาปฏิบัติ พระสันตะพปาปาองค์ใหม่ต้องทำนี่ ทำนั่น ทำโน่น นี่คือสิ่งที่พ่อเริ่มทำ พ่อคิดว่ามีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำ แต่ไม่มีสิ่งใดที่พ่อคิดขึ้นเอง  พ่อนบนอบสิ่งที่กำหนดไว้แล้วในเวลานั้น  อาจเป็นได้ว่าบางคนไม่รับรู้ว่าสิ่งที่พวกเขาเคยพูดหรือคิดไม่ค่อยมีความสำคัญ แต่มีบางเรื่องที่สร้างความเจ็บปวด นี่เป็นความจริง  ยังไม่มีอะไรที่เป็นของใหม่ในแผนของพ่อ นโยบายบนเส้นทาง (โรดแมป) ในการทำงานของพ่อคือความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร (Evangelii Gaudium) ซึ่งพ่อพยายามที่จะสรุปสิ่งที่บรรดาพระคาร์ดินัลกล่าวถึงกันในช่วงนั้น

คาร์ลอส: เมื่อพระองค์ออกจากกรุงบัวโนสโอเรส (Buenos Aires) พระองค์เคยคิดถึงความเป็นไปได้บ้างไหมว่าพระองค์อาจไม่มีโอกาสที่จะกลับไปอีกเลย?

สันตะปาปาฟรานซิส: ไม่เลย กระทั่งพ่อต้องชะงักหลายสิ่งไว้เพราะอายุของพ่อมากแล้ว เรื่องนี้ไม่เกิดในสมองของพ่อ แต่สิ่งเดียวที่พ่อพยายามทำคือการสรุปการประชุมทุกสิ่ง พ่อขอรายงานการประชุมที่พ่อร่วมด้วย เพื่อที่จะไม่ลืมเนื้อหาสาระก็เท่านั้นเอง

คาร์ลอส: เหตุการณ์สะท้านสะเทือนดุจแผ่นผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุดในวาติกันอย่างน้อยก็ในแวดวงสื่อ นั่นคือกระบวนการคอรัปชั่นที่พระคาร์ดินัลเบ็คกีอู (Becciu) เป็นผู้ถูกกล่าวหา ท่านบอกว่าความบริสุทธิ์ของท่านจะมีการพิสูจน์ จากโลกภายนอกผู้คนคิดว่าการปฏิรูปเรื่องการเงินของวาติกันเหมือนกับหอยทากไต่ขึ้นจากบ่อ ทุกครั้งที่มันไต่ขึ้นได้หนึ่งเมตรมันก็ลื่นถอยหลังกลับไปสองเมตร พรองค์จะมีความหวังในเรื่องนี้ไหม? พระองค์คิดว่าเรื่องนี้จะลงเอยกันอย่างไร? คอรัปชั่นเป็นบาปภายในที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในทุกองค์กร แต่มีวิธีใดบ้างที่พวกเราจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ในนครรัฐวาติกัน?

สันตะปาปาฟรานซิส: เราต้องทำทุกอย่างที่เราสามารถเพื่อที่จะหลีกเลี่ยง แต่นั่นเป็นเรื่องเก่า เมื่อเรามองย้อนหลังกลับไปเรามีเรื่องของ มาร์ชิงกุส (Marcinkus) เรื่องราวของดานซี่ (Danzi) เรื่องราวของโซก้า (Szoka) ซึ่งเป็นเชื้อโรคระบาดที่เราติดขึ้นมาใหม่ พ่อเชื่อว่าทุกวันนี้มีการพัฒนาขึ้นในเรื่องของความยุติธรรมในนครรัฐวาติกัน ในช่วงสามปีที่แล้วมีการพัฒนากันมากจนกระทั่งความยุติธรรมเป็นองค์กรอิสระพร้อมกับเทคนิคต่างๆ แม้แต่การบันทึกคำให้การของพยาน การใช้เทคนิคสมัยใหม่ การแต่งตั้งตุลาการ มีสำนักงานอัยการ… ซึ่งสามมรถช่วยให้เรื่องราวเดินต่อไปได้ โครงสร้างช่วยให้พวกเราเผชิญกับเหตุการณ์เหล่านี้ได้ และก็เริ่มต้นการรายงาน 2 ฉบับจากบุคคลสองคนที่ทำงานอยู่ในนครรัฐวาติกัน ซึ่งพวกเขาเห็นความไม่ชอบมาพากลในการปฏิบัติหน้าที่ พวกเขาเริ่มบ่นและถามพ่อว่าพวกเขาจะต้องทำอย่างไร พ่อบอกพวกเขาว่า หากพวกท่านจะเดินเรื่องต่อไป พวกท่านจะต้องส่งเรื่องต่อไปให้อัยการ นี่เป็นการท้าทายเหมือนกัน  ทว่ามีบุคคลดีอยู่สองคน ตอนแรกก็ขี้ขลาดเหมือนกัน และเพื่อที่จะสนับสนุนพวกเขา พ่อจึงลงชื่อกำกับใต้ชื่อของพวกเขา  เพื่อที่จะบอกว่า นี่คือวิธีการที่ถูกต้อง พ่อไม่กลัวความโปร่งใสหรือการเผชิญความจริง บางครั้งความจริงก็ทำให้พวกเราบาดเจ็บแล้วก็เจ็บมากด้วย แต่ความจริงจะทำให้พวกเราเป็นไท  ดังนั้นนี่จึงเป็นเรื่องง่าย หากอีกสองสามปีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นอีก… ขอให้พวกเราหวังว่าขั้นตอนที่พวกเรานำมาใช้สำหรับความยุติธรรมในนครรัฐวาติกันจะช่วยให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นน้อยลงไปเรื่อยๆ… ท่านใช้คำว่าคอรัปชั่น และในกรณีนี้แน่นอนว่าอย่างน้อยเมื่อมองไปครั้งแรกก็ดูเหมือนว่าเป็นการคอรัปชั่นจริง ๆ

คาร์ลอส: พระองค์ทรงรู้สึกกลัวสิ่งใดมากกว่า? กล่าวคือคาร์ดินัลเบ็กกีอู (Becciu) จะผิดหรือไม่ผิดโดยที่พระองค์เองทรงอนุญาตให้นำเขาขึ้นสู่ศาล?

สันตะปาปาฟรานซิส: คาร์ดินัลเบ็กกีอูขึ้นศาลตามกฎหมายของนครรัฐวาติกัน ก่อนนั้นผู้พิพากษาเป็นพระคาร์ดินัล ซึ่งไม่ใช่ผู้พิพากษาของรัฐเฉกเช่นทุกวันนี้ แต่กลับเป็นผู้นำสูงสุดของรัฐ พ่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากนี้แล้วเขายังเป็นผู้ร่วมงานของพ่อและช่วยเหลือพ่อได้มาก เขาเป็นคนที่พ่อให้ความชื่นชมในฐานะที่เป็นบุคคลหนึ่ง นั่นคือพ่อปรารถนาที่จะให้เขาปลอดภัย แต่นี่เป็นรูปแบบของความรักที่ปรารถนาให้เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ นอกจากจะคิดว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์แล้วพ่ออยากให้ทุกสิ่งทุกอย่างลงเอยด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นเช่นใดความยุติธรรมจะเป็นผู้ตัดสิน

คาร์ลอส: กระผมไม่ทราบว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสเป็นผู้ที่ชอบเอากำปั้นทุบโต๊ะหรือไม่ เป็นไปได้ไหมที่กำปั้นทุบโต๊ะครั้งสุดท้ายเป็นเอกสารของพระสันตะปาปาที่ห้ามการทำมิสซาแบบโบราณ ‘Tridentine’? และกระผมปรารถนาที่จะขอให้พระองค์ทรงอธิบายให้พี่น้องทราบว่ามิสซาแบบโบราณ ‘Tridentine Mass’ นั้นเป็นอย่างไร และ Tridentine Mass ลักษณะใดที่ไม่เป็นการบังคับ

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อไม่ใช่คนที่ชอบทุกโต๊ะ พ่อไม่เข้าใจที่ได้กล่าวมา พ่อเป็นคนที่ค่อนข้างขี้อาย ประวัติศาสตร์ของ Traditionis custodes นั้นยืดยาว ครั้งแรกเมื่อนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 – และต่อมาพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่ 16 ซึ่งให้ความชัดเจนมากขึ้นในสมณอัตตาณัติ “Summorum Pontificum” – ได้มอบความเป็นไปได้ที่จะทำพิธีมิสซาด้วยคู่มือมิสซาของ ยอห์นที่ 23 (ก่อนเปาโลที่ 6 ซึ่งมาหลังการประชุมสภาสังคายนาวาติกันที่ 2) สำหรับผู้ที่รู้สึกไม่สบายใจกับจารีตพิธีกรรมในปัจจุบัน ซึ่งบางคนยังติดอยู่กับพิธีกรรมแบบเก่า… ดูเหมือนว่าเรื่องที่สวยงามเชิงอภิบาลของพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าใจจิตใจมนุษย์ดี ดังนั้นจึงมีการเริ่มต้น นี่คือเหตุผล หลังจากนั้นสามปีพระองค์ตรัสว่าต้องมีการประเมิน แล้วก็มีการประเมินกันจริง ๆ และดูเหมือนว่าทุกสิ่งดำเนินไปด้วยดี หลังการประเมินนั้นไปอีก 10 ปีจนถึงปัจจุบัน (นั่นคือ 13 ปีตั้งแต่การออกเอกสาร “Summorum Pontificum” และในปีที่แล้วพวกเราเห็นด้วยกับผู้ที่รับผิดชอบสำหรับการนมัสการ และข้อความเชื่อว่า นี่สมควรที่จะต้องทำการประเมินกันอีกครั้งหนึ่งของบรรดาบิชอปทั่วโลก  แล้วก็มีการกระทำกันดังกล่าว ต้องใช้เวลากันถึงหนึ่งปีเต็ม แล้วก็มีการศึกษาวิเคราะห์เรื่องราวกัน ความกังวลมากที่สุดอยู่ที่เรื่องที่เกี่ยวกับการอภิบาลสำหรับผู้ที่เคยมีประสบการณ์กับสิ่งเดิมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอุดมการณ์ กล่าวคือจากการอภิบาลเป็นอุดมการณ์ ดังนั้นเราจึงต้องมีการตอบโต้ด้วยแนวปฏิบัติที่ถูกต้องที่จำต้องจำกัดผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว เพราะดูเหมือนว่าจะเป็นแฟชั่นไปแล้วในบางพื้นที่ ซึ่งบรรดาบาดหลวงหนุ่มจะพูดว่า โอ้ ไม่ใช่เช่นนั้น ดังที่ฉันต้องการ…” และอาจเป็นได้ว่าพวกเขาไม่เข้าใจภาษาลาติน พวกเขาไม่รู้ว่าเนื้อแท้แปลว่าอะไร และในอีกมุมมองหนึ่งเพื่อที่จะสนับสนุนและผนึกให้เรื่องนี้เข้ากับ Sumorum Pontificum พ่อเพียงยกร่างดูก่อน พ่อบัญชาให้มีการศึกษาวิเคราะห์และพ่อก็ร่วมมือด้วยเป็นอย่างมากกับกลุ่มที่นับถือประเพณีดั้งเดิมที่มีความเข้าใจดี  ผลที่ได้มาคือการดูแลเรื่องการอภิบาลที่ต้องทำอย่างมีขอบเขตจำกัด เช่นการประกาศพระวาจาเป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจ มิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นการหัวเราะเยาะพระวาจาของพระเจ้า ทว่านี่เป็นสิ่งเล็กน้อย แต่ว่าข้อจำกัดนั้นชัดเจน หลังจากสมณอัตตาณัตฉบับนี้ บาทหลวงบางท่านที่ต้องการทำพิธีที่ไม่อยู่ในเงื่อนไขเดียวกันเช่นแต่ก่อน จะต้องขออนุญาตจากกรุงโรม อย่างเช่นบาดหลวงที่ทำพิธีทั้งจารีตตะวันออกและจารีตตะวันตก เขาเป็นคนที่ทำได้สองจารีตพิธีแต่ต้องมีอนุญาตจากกรุงโรม เป็นอนุญาตที่ให้ทำได้ทั้งสองพิธี นั่นคือจนถึงวันนี้พิธีเดิมยังทำได้ต่อไป แต่ต้องมีการแก้ไขกันเล็กน้อย นอกจากนี้แล้วขอให้มีบาดหลวงที่รับผิดชอบไม่เพียงแต่จารีตพิธีกรรมแต่ต้องดูแลเรื่องชีวิตจิตของชุมชนด้วย หากท่านอ่านจดหมายและกฤษฎีกาอย่างดี ท่านจะเห็นว่านั่นเป็นแค่การจัดระเบียบใหม่โดยเน้นถึงเรื่องของการอภิบาลและหลีกเลี่ยงการสุดโต่งของผู้ที่ไม่อยากเชื่อฟัง

คาร์ลอส: พระองค์ทรงมีบางคืนที่นอนไม่หลับไหม เนื่องจากการประชุมซีนอดที่พระศาสนจักรคาทอลิกประเทศเยอรมนีที่ได้เกิดปฏิกิริยาขึ้น?

สันตะปาปาฟรานซิส: เกี่ยวกับเรื่องนี้พ่อได้ส่งจดหมายไปฉบับหนึ่ง เป็นจดหมายที่พ่อเขียนเป็นภาษาสเปนิช พ่อต้องใช้เวลาหนึ่งเดือนเพื่อที่จะเขียนจดหมายฉบับนี้ขึ้นมาระหว่างการสวดภาวนา และการไตร่ตรอง พ่อส่งไปทันเวลาพอดี ต้นฉบับเป็นภาษาสเปนิชพร้อมคำแปลเป็นภาษาเยอรมัน พ่ออธิบายทุกสิ่งทุกอย่างที่พ่อรู้สึกเกี่ยวกับการประชุมซีนอดในประเทศเยอรมนี เนื้อหาทุกอย่างมีในจดหมายนั้น

คาร์ลอส: การประท้วงเกี่ยวกับกระบวนการซีนอดในประเทศเยอรมนีไม่ใช่เรื่องใหม่… ประวัติศาสตร์เกิดซ้ำรอย…

สันตะปาปาฟรานซิส: ใช่แล้ว แต่พ่อไม่ถือว่านี่เป็นเรื่องถึงขนาดคอขาดบาดตาย นี่ไม่การมีเจตนาร้ายในบรรดาบิชอปจำนวนมากที่พ่อได้สนทนาด้วย ถือว่านี่เป็นความปรารถนาเชิงอภิบาล แต่บางทีเขาเหล่านั้นไม่ได้พิจารณากันถึงบางสิ่งบางอย่างที่พ่อได้อธิบายไปในจดหมาย ซึ่งจำเป็นต้องนำมาพิจารณาด้วย

คาร์ลอส: ในการจินตนาการแบบประชานิยม ยังมีบางสิ่งบางอย่างที่ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน ประเด็นหนึ่งที่มีการพูดกันมากคือวิกฤติของเวทีการแสดงออก อีกประเด็นหนึ่งคือการปฏิรูปโรมันคูเรีย ซึ่งมีการพูดกันอยู่เสมอว่า “ต้องมีการปฏิรูปคูเรีย”  แต่คูเรียดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ปฏิรูปไม่ได้ เสมือนกับป่าหนามที่เป็นไปไม่ได้ที่จะแหวกทะลุเข้าไป หรือมีการพูดเช่นนั้นข้างนอก พระสันตะปาปายังคงฝันถึงพระศาสนจักรที่จะมีความแตกต่างจากพระศาสนจักรที่พระองค์ทรงเห็นอยู่ในขณะนี้หรือไม่?

สันตะปาปาฟรานซิส: หากท่านจะมองในประเด็นนี้ตั้งแต่แรก สิ่งที่พระคาร์ดินัลพูดกันก่อนประชุมคอนเคล็ฟ (conclave) ได้มีการนำมาปฏิบัติจนกระทั่งถึงเวลานี้ การปฏิรูปนั้นกำลังดำเนินไปที่ละขั้นทีละตอนและดำเนินไปด้วยดีเสียด้วย เอกสารชิ้นแรกที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ที่บรรดาพระคาร์ดินัพูดกันคือ สมณสาส์นเตือนใจ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” (Evangelii Gaudium) และก็มีปัญหาในสมณสาส์นดังกล่าวดังที่พ่อได้ชี้ให้เห็น ซึ่งได้แก่ปัญหาของการเทศน์  ในสมณสาส์นเตือนใจ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” (Evangelii Gaudium) พ่อขอร้องให้ปฏิรูปการเทศน์อย่างจริงจัง บางคนก็ปฏิบัติตาม แต่บางคนก็ไม่ยอมเข้าใจ… แต่สมณสาส์นเตือนใจ “ความชื่นชมยินดีแห่งพระวรสาร” พยายามสรุปแบบทั่ว ๆ ไป ถึงทัศนคติของบรรดาพระคาร์ดินัลก่อนการประชุมคอนเคล็ฟ และเกี่ยวกับพระธรรมนูญ “จงประกาศพระวรสาร” (Praedicate Evangelium) ประเด็นนี้ได้มีการพูดถึงกันแล้ว ขั้นสุดท้ายของพ่อก็คือต้องไปอ่านเนื้อหาสาระ พ่อต้องค่อย ๆ อ่าน เพราะพ่อต้องลงนาม ดังนั้นพ่อจึงต้องอ่านแบบไตร่ตรองอย่างดีทีละคำก็ว่าได้ และจะต้องไม่มีอะไรใหม่ในสิ่งที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้ที่อาจเป็นรายละเอียด ยังคงมีการปรับปรุงแก้ไขบ้างจากสมณกระทรวงต่าง ๆ ที่รวมตัวกันสองสามสมณกระทรวง แต่ก็ได้มีการประกาศออกไปแล้ว เช่นสมณกระทรวงการศึกษาจะไปรวมกับสมณสภาเพื่อวัฒนธรรม สมณกระทรวงเพื่อการประกาศข่าวดีสู่ปวงชน จะรวมสมสภาเพื่อการประกาศพระวรสารใหม่ ซึ่งเรื่องนี้พ่อได้เคยประกาศออกไปแล้ว  ดังนั้นจะไม่มีสิ่งใดใหม่เกี่ยวกับสิ่งได้สัญญารับปากไปแล้ว บางท่านเอ่ยกับพ่อว่า “เมื่อไรธรรมนูญเรื่องการปฏิรูปพระศาสนจักรจะประกาศออกมา เพื่อจะได้ดูซิว่ามีสิ่งใดใหม่บ้าง?”  ไม่เลย จะไม่มีสิ่งใดใหม่ หากมีสิ่งใดใหม่นั่นก็คงจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ของการปรับปรุงภาษา นี่ก็เกือบจะจบแล้ว สาเหตุที่ล่าช้าก็เพราะเกิดจากการเจ็บป่วยของตัวพ่อเอง พ่อกำลังขะมักเขม้นในการทำงานอย่างหนักในเรื่องนี้ ดังนั้นขอให้พิจารณาประเด็นนี้ด้วย ขอให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งว่าการปฏิรูปคูเรียและพระศาสนจักรจะไม่เป็นอะไรที่นอกเหนือไปจากสิ่งที่บรรดาพระคาร์ดินัลได้มีการพูดคุยกันก่อนที่จะเข้าประชุมคอนเคล็ฟ และพวกเรากำลังเห็นผลพวง ขณะที่พวกเราเห็นผลกันไปบ้างแล้ว

คาร์ลอส: ในการเยี่ยมแผนกสื่อสารสังคมของวาติกันครั้งแรก พระองค์แสดงความห่วงใยว่าข่าวสารไปไม่ถึงผู้คนอย่างที่ควรจะเป็น จำนวนสมาชิกนั้นน้อยมาก นั่นเป็นการตำหนิที่ค่อนข้างหนักหรือไม่?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อรู้สึกขัน ๆ ในปฏิกิริยาที่เกิดขึ้น พ่อได้พูดสองอย่าง อย่างแรก ถามว่ามีกี่คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ “ลอสแซวาตอเร โรมาโน” (L’Osservatore Romano)? พ่อไม่ได้พูดว่ามีคนมากหรือน้อยที่อ่านหนังสือพิมพ์ของวาติกัน นี่เป็นแค่คำถาม พ่อคิดว่าไม่ผิดที่จะถามมิใช่หรือ? แล้วอย่างที่สองซึ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ เมื่อเห็นงานต่างๆ แล้ว พ่อก็ถามถึงเรื่องแผนผังขององค์กรและหน้าที่การงานของเจ้าหน้าที่พนักงาน พ่อพูดถึงอาการเจ็บป่วยของแผนผังองค์กรที่แสดงถึงความเป็นจริงถึงหน้าที่การงานแทนที่จะพูดถึงคุณค่าขององค์กร แล้วพ่อก็พูดว่า ด้วยการทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านี้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อที่จะให้งานเดินไปได้ด้วยดี พวกเราต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของทฤษฎีหน้าที่นิยม ทฤษฎีหน้าที่นิยมเป็นลัทธิของแผนองค์กรโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง ดูเหมือนว่าหลายคนไม่ค่อยจะเข้าใจสองสิ่งนี้ที่พ่อพูด หรืออาจเป็นได้ว่ามีบางคนที่ไม่ชอบสิ่งที่พ่อพูด แล้วไปตีความเอาว่าพ่อตำหนิ แต่ว่านั่นเป็นเพียงคำถามและเป็นการเตือนสติ ใช่.. อาจเป็นไปได้ว่าบางคนเล่นแบบล้ำหน้า พ่อคิดว่าสมณกระทรวงนี้มีความเป็นไปได้สูงเพราะมีงบประมาณมากที่สุดในโรมันคูเรีย ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานนี้นำโดยฆราวาส – ซึ่งกำลังมีการปฏิรูปกันใหม่เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ ลอสแซวาตอเร โรมาโน  (L’Osservatore Romano) ซึ่งพ่อเรียกว่าเป็น “หนังสือพิมพ์ของพรรค” มีการพัฒนาขึ้นมาก และน่าแปลกใจที่เขาใช้ความพยายามเชิงวัฒนธรรมมากเท่าใดในการปฏิรูป

คาร์ลอส: หลายปีมาแล้วกระผมรู้สึกประทับใจในเรื่องที่พระองค์ทรงเล่า ณ ถนนในกรุงบัวนอสไอเรส ได้มีผู้ปกครองบางคนตะโกนใส่ลูกของตนไม่ให้เข้าใกล้พระองค์เพราะพระองค์แต่งกายเป็นสมณะ ซึ่งอาจเป็นพวกเพศทางเลือก

สันตะปาปาฟรานซิส: ใช่แล้ว เขาตะโกนเช่นนั้นจริง

คาร์ลอส: กระผมยังมีความสงสัยอยู่เกี่ยวกับบรรดาบาทหลวง ซึ่งในช่วงที่เกิดการแพร่โรคระบาดนี้ได้แสดงให้เห็นว่าพวกเขาทำงานกันจนหามรุ่งหามค่ำกับผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด บรรดาบิชอปจากทุกประเทศได้ปฏิบัติตามในสิ่งที่พระองค์ทรงมอบหมายให้ ในช่วงที่พระองค์เรียกให้มาที่กรุงโรมเพื่อชี้ประเด็นว่าบุคคลเพศทางเลือกจะต้องไม่มีในหมู่สมณะอีกต่อไป จริงหรือไม่?

สันตะปาปาฟรานซิส: ก่อนที่จะตอบคำถามของท่าน  พ่อใคร่ที่จะพูดถึงสุภาพบุรุษท่านหนึ่งที่เริ่มพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความกล้าหาญ แม้ว่าท่านจะถูกผลักใสไล่ส่งออกไปจากสำนักงานในเมืองของท่านก่อนที่จะมีการจัดตั้งเป็นองค์กรเกี่ยวกับประเด็นนี้ ผู้นั้นคือพระคาร์ดินัล โอ มัลลี่ (O’Malley) สุดท้ายกลายเป็นหน้าที่ของท่านที่ต้องไปจัดการเรื่องราวเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่เมืองบอสตันซึ่งไม่ใช่ของง่าย ซึ่งมีขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับเรื่องนี้มิใช่หรือ? คณะกรรมาธิการปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์ซึ่งพระคาร์ดินัล โอ มัลลี่ (O’Malley) แต่งตั้งขึ้นมากำลังทำงานกันอย่างหนักในขณะนี้ บัดนี้พ่อต้องเปลี่ยนตัวเจ้าหน้าที่ประมาณครึ่งหนึ่งเพราะทุกสามปีต้องมีการสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ ผู้หลักผู้ใหญ่จากหลากหลายประเทศต่างก็เผชิญกับปัญหานี้ด้วยกันทั้งนั้น และพ่อคิดว่าพวกเขาก็ทำหน้าที่ได้ดี พ่อคิดถึงสถิติที่พ่อได้มอบให้กับนักข่าวในการประชุมประธานสภาบิชอปและในคำปราศรัยสุดท้ายพ่อมอบสถิติในการประชุมหลังพิธีมิสซา คำปราศรัยทั้งสองครั้งเป็นกุญแจดอกสำคัญสำหรับเรื่องนี้ บางคนกล่าวว่า “เมื่อจบวันพระสันตะปาปามักกล่าวว่านี่เป็นปัญหาของปิศาจ พระองค์โทษปิศาจแล้วพระองค์ก็ล้างมือไป” นั่นเป็นการวิจารณ์ของสื่อว่าพ่อชอบโทษปิศาจ ก็ใช่ ในฐานะที่มันเป็นตัวการยุแหย่ แต่พ่อโทษมันเมื่อข้าพเจ้าพูดถึงการเก็บสะสมรูปเปลือยกายของเด็กชาย พ่อพูดว่าการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยการถ่ายทำภาพเปลือยกายเป็นการกระทำของปิศาจ ซึ่งไม่สามารถที่จะอธิบายได้โดยไม่มีปิศาจเข้ามาเกี่ยวข้อง พ่อพูดเช่นนั้น และในคำปราศรัยนั้นพ่อพูดเกี่ยวกับทุกเรื่องพร้อมด้วยสถิติ พ่อคิดว่าสิ่งต่างๆ กำลังดำเนินไปด้วยดี ความจริงมีความก้าวหน้าขึ้นมากและกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทว่านี่เป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก บางครั้งพ่อแปลกใจว่าบางรัฐปล่อยให้มีการถ่ายทำภาพเปลือยกายเด็กได้อย่างไร อย่ามาบอกนะว่าเขาไม่รู้ ทุกวันนี้พวกเรามีหน่วยสืบราชการลับต้องรู้ทุกอย่าง รัฐจะรู้ว่าใครเป็นผู้ผลิตภาพเปลือยกายของเด็ก สำหรับพ่อแล้วนี่คือสิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่พ่อเคยพบเคยเห็น

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ นานมาแล้วพระองค์ทรงยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมาพระองค์ไม่ได้เน้นเรื่องระบบนิเวศมากเท่าที่ควร บัดนี้พระองค์ทรงเปลี่ยนไป เพราะพระองค์เป็นหนึ่งในผู้นำโลกที่พูดมากที่สุดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดต่อแผ่นดินโลก การที่พระองค์ทรงเลือกประเด็นในการปกป้องระบบนิเวศสร้างศัตรูให้กับพระองค์หรือไม่? พระองค์จะไปร่วมปรุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว (Glasgow) สกอตแลนด์ หรือไม่? สองคำถามในหนึ่งคำถาม

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อเคยสร้างประวัติศาสตร์: การประชุม CELAM ที่เมืองอาปาเรชิดา ประเทศบราซิล (Aparecida) ในปี ค.ศ. 2007 หากพ่อจำไม่ผิด พ่อจำวันเดือนปีไม่ค่อยได้ ที่เมืองอาปาเรชิดา (Aparecida) พ่อได้ฟังบรรดาบิชอปแห่งประเทศบราซิลพูดกันเกี่ยวกับการดำรงรักษาธรรมชาติ ปัญหาระบบนิเวศ อเมซอน… พวกเขาพากันยืนหยัด แล้วก็ยืนยัน และพ่อก็นึกในใจว่าแล้วนี่เกี่ยวอะไรกันกับการประกาศพระวรสาร นั่นคือสิ่งที่พ่อรู้สึก ช่วงนั้นพ่อแทบจะไม่มีความคิดอะไรเลย พ่อกำลังพูดถึงปี ค.ศ. 2007  นั่นทำให้พ่อรู้สึกตกใจและแปลกใจ  เมื่อพ่อกลับไปยังกรุงบัวนอสไอเรส พ่อรู้สึกสนใจขึ้นมา และทีละเล็กทีละน้อยพ่อจึงค่อยๆ เรียนรู้มากยิ่งขึ้น พ่อเป็นคนที่กลับใจปรับเปลี่ยนทัศนะคติในประเด็นนี้ แล้วพ่อก็เข้าใจมากยิ่งขึ้น พ่อรับรู้ว่าพ่อต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วพ่อก็เกิดความคิดที่จะเขียนอะไรบางอย่างในฐานะที่ที่มีอำนาจสั่งสอนเพราะว่าพระศาสนจักรต้องเป็นแนวหน้าในเรื่องนี้… เฉกเช่นที่พ่อเป็น “ซาลามี่ – salami” อย่างที่พูดกันเป็นภาษาสเปน ซึ่งเป็นคนโง่เขลาที่ไม่รู้ประสาในเรื่องนี้ มีคนที่มีน้ำใจดีมากมายที่ไม่เข้าใจ… ดังนั้นเพื่อที่จะสอนในเรื่องนี้ พ่อจึงเรียกประชุมนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งให้มาอธิบายปัญหาที่แท้จริงให้พ่อฟังเกี่ยวกับปัญหาที่แท้จริงซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ทฤษฎี พวกเขาทำรายการยืดยาวมาให้พ่อ แล้วพ่อก็ส่งต่อไปให้นักเทววิทยาไตร่ตรองเกี่ยวกับระบบนิเวศน์ ซึ่งผลที่ได้มาคือสมณสาส์นเวียนชื่อ “Laodato si’”

นี่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ: เมื่อพ่อไปที่เมือง Strasbourg ประธานาธิบดีประเทศฮอลเเลนด์ ส่งรัฐมนตรีธรรมชาติสิ่งแวดล้อมซึ่งในขณะนั้นคือ Mrs. Segolene Royal ให้มาต้อนรับและส่งพ่อ ในการสนทนาส่วนตัวกับเธอ รัฐมนตรีหญิงท่านนี้บอกพ่อว่า “เป็นความจริงหรือที่พระองค์กำลังลิขิตบางสิ่งบางอย่าง?” รัฐมนตรีกระทรวงธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเข้าใจดังนั้น พ่อจึงกล่าวว่า “ใช่แล้ว พ่อกำลังเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้” เธอกล่าวต่อว่า “โปรดพิมพ์หนังสือนี้ออกมาก่อนการประชุมสุดยอด ณ กรุงปารีส เพราะพวกเราต้องการความเห็นชอบ เมื่อพ่อกลับจากเมือง Strasbourg จึงเร่งทำงาน แล้วก็ออกมาก่อนการประชุมสุดยอด ณ กรุงปารีส สำหรับพ่อแล้วการประชุมที่ปารีสเป็นสุดยอดที่ทำให้โลกตื่นตัว แล้วอะไรเกิดขึ้นบ้าง?  ความกลัวก็ย่างก้าวเข้ามาทีเล็กทีละน้อยในการประชุมครั้งต่อมาพวกเขาก็ถอยหลังกลับไปอีก พ่อจึงหวังเป็นย่างยิ่งว่าที่เมืองกลาสโกว จะยกสายตาขึ้นสักนิดและนำพวกเราให้เข้ามาอยู่เส้นทางที่ถูกต้อง

คาร์ลอส: แล้วพระองค์จะไปร่วมประชุมด้วยไหม?

สันตะปาปาฟรานซิส: ตั้งใจจะไปแน่นอน ในหลักการตามโปรแกรมแล้ว พ่อตั้งใจจะไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าพ่อรู้สึกอย่างไรในเวลานั้น แต่ความจริงคำปราศรัยของพ่อกำลังมีการเตรียมการกันอยู่ และแผนก็คือพ่อปรารถนาจะไป

คาร์ลอส: กระผมขออนุญาตพูดถึงประเทศจีนหากพระองค์ไม่รังเกียจ… ในบรรดาสมณผู้ใหญ่มีหลายท่านที่ยืนยันว่าพระองค์ไม่ควรต่อสัญญาที่วาติกันได้ทำกับประเทศจีนเพราะนั่นไม่เหมาะสมกับอำนาจทางจริยธรรมของพระองค์ พระองค์มีความรู้สึกไหมว่ามีหลายคนที่ต้องการจะกำหนดเส้นทางเดินของพระองค์ ฐานะพระสันตะปาปา?

สันตะปาปาฟรานซิส: แม้ว่าเมื่อพ่อยังเป็นฆราวาสและบาทหลวง พ่อก็อยากแสดงความคิดเสนอเส้นทางเดินให้กับบิชอป นั่นเป็นการล่อลวงที่พ่ออยากที่จะพูดว่าเป็นสิ่งชอบธรรมหากกระทำไปด้วยเจตนาดี ประเทศจีนไม่ใช่เรื่องง่ายแต่พ่อเชื่อมั่นว่าพวกเราไม่ควรที่จะเลิกการเสวนา ท่านอาจถูกหลอกในการเสวนา  ท่านอาจทำพลาด อะไรต่างๆนานา… แต่ นี่คือหนทาง  การปิดกั้นความคิดไม่ใช่หนทาง  สิ่งที่ประสบกับความสำเร็จในประเทศจีนจนถึงขณะนี้อย่างน้อยก็คือการเสวนา… มีบางสิ่งที่เป็นรูปธรรมเช่นการแต่งตั้งบิชอปใหม่ ที่ต้องค่อยเป็นค่อยไป… แต่นี่ก็เป็นขั้นตอนที่อาจตั้งเป็นคำถามได้และผลดีสำหรับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับพ่อผู้ที่เป็นกุญแจดอกสำคัญในเรื่องเหล่านี้และเป็นผู้ที่ช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้พ่อคือพระคาร์ดินัลคาซาโรลี่ (Casaroli) ท่านเป็นสะพานสำคัญที่พระสันตะปาปายอห์นที่ 23 ใช้ให้เป็นผู้สร้างสะพานเชื่อมกับยุโรปกลาง  มีหนังสือที่ดีมากเล่มหนึ่งชื่อ “The Martyrdom of Patience” ซึ่งท่านบอกเราเล็กน้อยเกี่ยวกัประสบการณ์ของท่านที่นั่น แต่ประสบการณ์ของท่านมีการเล่าโดยอีกผู้หนึ่งที่รวบรวมทุกสิ่งเกี่ยวกับท่าน อันเป็นขั้นตอนเล็กๆ ทีละขั้นในการสร้างสะพาน บางครั้งก็ต้องพูดในที่กลางแจ้งหรือเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ในเวลาที่มีความยุ่งยากลำบาก ค่อยๆ ไป ค่อยๆ ไป ในที่สุดท่านก็ประสบกับความสำเร็จในเรื่องของการแต่งตั้งบิชอปใหม่เพื่อดูแลสัตบุรุษของพระเจ้า ทุกวันนี้พวกเราก็กำลังเกินเดินไปในหนทางแห่งการเสวนาทีละขั้นทีละตอนในสถานการณ์ที่มีคามขัดแย้งกันมากที่สุด ประสบการณ์ของพ่อกับผู้นำศาสนาอิสลาม มหาอีหม่าม อัล-ตาเยบ (Great Imam al-Tayyeb) มีผลบวกมาก ในประเด็นนี้ซึ่งพ่อรู้สึกขอบคุณต่อท่านมาก ต่อมาความสัมพันธ์เหมือนกับเป็นเชื้อแห่งภราดรภาพ (Fratelli tutti) เพื่อการเสวนาต้องมีการเสวนาเสมอ นี่เป็นสิ่งที่สวยงามมาก ครั้งสุดท้ายที่นักบุญยอห์น ปอที่ 2 พบกับพระคาร์ดินัลคาซาโรลี่ (Casaroli) ท่านถามพระคาร์ดันัลว่าเรื่องราวไปถึงไหนแล้ว… (Casaroli ไปเยี่ยมคุกเยาวชนทุกสุดสัปดาห์  พ่อคิดว่าเป็นเรือนจำคาซาล เดล มาร์โม (Casal del Marmo) พ่อไม่แน่ใจ ท่านอยู่กับเด็ก ๆ เยาวชน และสวมเสื้อคลุมยาว ๆ เหมือนบาทหลวงธรรมดา ๆ ไม่มีใครทราบ… บางคนไม่ทราบด้วยซ้ำไปว่าท่านเป็นใคร) และเมื่อสันตะปาปาจอห์น พอล ที่ 2 และคาร์ดินัลคาซาโรลี่จะกล่าวลากัน  ขณะที่คาซาโรลี่เดินไปถึงประตูแล้ว นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ทรงเรียกท่านอีกครั้งแล้วตรัสว่า “พระคุณเจ้ายังไปพบเด็กพวกนั้นอยู่หรือเปล่า?”  “ไปครับ” “อย่าทิ้งพวกเขานะ” ประจักษ์พยานของพระสันตะปาปานักบุญจอห์น พอล ที่ 2 กับนักการทูตผู้ทีความสามารถ ดังนั้นขอให้พวกเราเดินไปในหนทางแห่งการทูต แต่อย่าลืมว่าท่านเป็นบาดหลวงในขณะที่ท่านทำงานในตำแหน่งสูงส่ง นี่เป็นแรงบันดาลใจสำหรับพ่ออย่างมาก

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ ในประเทศสเปนการุญฆาตถูกทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายบนหลักการที่พวกเขาเรียกกันว่า “สิทธิในการตายอย่างมีเกียรติ” แต่นั้นเป็นการอ้างเหตุผลที่ผิดเพราะพระศาสนจักรไม่ได้ปกป้องความทุกข์ที่เกิดจากภายในแต่จะปกป้องศักดิ์ศรีบั้นปลายแห่งชีวิต  มนุษย์มีอำนาจที่แท้จริงถึงขั้นไหนต่อชีวิตของตน? พระสันตะปาปาทรงมีความเชื่ออย่างไร?

สันตะปาปาฟรานซิส: ขอให้พวกเรามานึกถึงสภาพของตัวเราเอง พวกเรากำลังดำเนินชีวิตอยู่ในวัฒนธรรมแห่งการกินทิ้งกินขว้าง สิ่งใดที่ไม่เป็นประโยชน์พวกเราก็จะทิ้งมันไป คนชราเป็นวัตถุที่สามารถขจัดทิ้งไปได้ คนแก่เป็นพวกกวนใจ ไม่ใช่ทุกคนแต่เป็นจิตสำนึกส่วนใหญ่ของวัฒนธรรมกินทิ้งกินขว้าง คนชรา…คนที่ป่วยขั้นสุดท้าย  เด็กที่พ่อแม่ไม่ต้องการ พวกเขาจะถูกส่งกลับไปหาผู้ที่ส่งเขามาก่อนที่เขาจะเกิด… พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ปัจจุบันโลกของเรามีวัฒนธรรมชนิดนี้

        ถ้าเช่นนั้นให้พวกเรามองไปที่ไกลๆ ที่ห่างจากสังคมมนุษย์ ให้พวกเราคิดถึงถิ่นไกลๆ ของภาคพื้นทวีปเอเชีย ไปให้ไกลและไม่คิดว่าพวกเรากำลังพูดกันถึงสิ่งที่อยู่แถวบ้านเรา การไม่สนใจผู้ที่ไม่มีผู้ใดเหลียวแลทั้งสิ้น คิดถึงชาวโรฮิงญา พวกที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่ตามลำพัง พวกเร่ร่อนที่มีอยู่ทั่วโลก พวกเขาไม่มีประโยชน์  พวกเขาไม่คู่ควรที่เราจะไปคบค้าสมาคม พวกเขาเป็นคนไม่ดี

วัฒนธรรมกินทิ้งกินขว้างนี้เป็นเครื่องหมายของพวกเรา เป็นทั้งสำหรับเยาวชนและคนชรา มีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมของยุโรปในทุกวันนี้ ในประเทศอิตาลีอายุถัวเฉลี่ยของคนอยู่ที่ 47 ปี ที่ประเทศสปนคิดว่าสูงกว่านิดหน่อย นี่หมายความว่าปิรามิดกำลังกลับหัวกลับหาง เหมือนกับฤดูหนาวในการเกิดของมนุษย์ซึ่งมีการทำแท้งกันมาก วัฒนธรรมการเกิดของมนุษย์กำลังสูญหายไปเพราะพวกเราเล็งแต่จะเห็นแก่ประโยชน์ มองกันแต่สิ่งที่อยู่ข้างหน้า… บางที่ก็ใช้ความคิดของการเห็นอกเห็นใจ “เพื่อที่เขาจะไม่ต้องทนทรมานในกรณีของ…” สิ่งที่พระศาสนจักรขอร้องคือช่วยให้ผู้คนตายอย่างมีศักดิ์ศรี พระศาสนจักรจะทำเช่นนี้เสมอ

และที่เกี่ยวกับกรณีของการทำแท้ง พ่อไม่อยากที่จะเข้าไปอภิปรายกันเรื่องนี้ว่าเป็นไปไม่ในขณะนี้หรือว่ามันไปไม่ได้ในขณะนั้น แต่พ่อขอพูดว่าคู่มือแพทย์เรื่องตัวอ่อนที่มอบให้กับนักศึกษาแพทย์บอกอย่างชัดเจนว่าในสัปดาห์ที่สามแห่งการจุติ บางทีก่อนที่คุณแม่จะทราบด้วยซ้ำว่าตนเองตั้งครรภ์ อวัยวะทุกอย่างในตัวอ่อนนั้นเริ่มเป็นรูปเป็นร่างแล้วแม้กระทั่ง DNA ก็เป็นชีวิตแล้ว เป็นชีวิตมนุษย์ บางคนบอกว่า “นั่นไม่ใช่บุคคล”  แต่ในความจริงนั่นเป็นชีวิตมนุษย์! ดังนั้นเมื่อเผชิญกับชีวิตมนุษย์พ่อถามตัวพ่อเองสองคำถาม: นี่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ที่จะทำลายชีวิตเพื่อแก้ปัญหา นี่ยุติธรรมแล้วหรือที่จะกำจัดชีวิตมนุษย์เพื่อแก้ปัญหา? คำถามที่สอง: นี่ยุติธรรมแล้วหรือที่จะจ้างวานนักฆ่าให้ช่วยแก้ปัญหา? พร้อมกับสองคำถามนี้แล้วกรณีที่กำจัดชีวิตผู้อื่นล่ะ – ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด – เพราะเป็นภาระของสังคมกระนั้นหรือ?

พ่อใคร่ที่จะทบทวนบางสิ่งที่มีคนเคยบอกพ่อที่บ้านเกี่ยวกับครอบครัวหนึ่งที่มีลูกหลายคนและมีคุณตาที่ยังมีชีวิตอยู่ร่วมกัน แต่คุณตาที่ชรามากแล้วมักจะน้ำลายไหลที่โต๊ะอาหาร ผู้ที่เป็นบิดาไม่สามารถที่จะเชิญเพื่อนฝูงมารับประทานอาหารด้วยกันเพราะเขาอายบิดาของตน ดังนั้นเขาจึงคิดสร้างโต๊ะขึ้นมาตัวหนึ่งในห้องครัวแล้วอธิบายให้คนในครอบครัวทราบว่าตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไปคุณตาจะรับประทานอาหารในห้องครัวเพื่อที่ตนจะได้สามารถเชิญเพื่อนฝูงให้มารับประทานอาหารที่บ้านได้ แล้วก็เป็นเช่นนั้น หลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์เขากลับจากที่ทำงานมาบ้านเห็นลูกชายคนเล็กอายุ 8 หรือ 9 ขวบกำลังง่วนอยู่กับไม้ ตะปู ค้อน เขาจึงถามว่า “กำลังทำอะไรลูก?” ผมกำลังทำโต๊ะตัวเล็กๆ ครับพ่อ” ทำไปทำไม?” “สำหรับพ่อครับตอนที่พ่อแก่” พูดอีกอย่างหนึ่งคือสิ่งใดก็ตามที่หว่านไว้ในการทิ้งขว้าง เราจะเก็บเกี่ยวผลในภายหลัง”

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ กระผมขออนุญาตเคลื่อนไปยังอีกฉากหนึ่ง ในสังคมของประเทศสเปน พระองค์ทราบว่ามีการแตกแยกบางอย่างและมีสิ่งหักพังที่เป็นรูปธรรม ประชามติที่แคว้นกาตาโลเนีย (Catalonia) ก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ละเอียดอ่อนเป็นพิเศษ แล้วพระองค์กล่าวว่า “sovereignism” [Sp. “soberanism’] (จักรพรรดินิยม) เป็นสิ่งที่เกินไปที่มักจะลงท้ายไม่สวยเสมอ พระองค์คิดว่าพวกเราควรมีทัศนคติอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์ในการยุติปัญหาที่ใกล้เข้ามา?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อใคร่ที่จะเสนอให้ดูประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มีหลายกรณีที่เกิดอิสรภาพ เป็นประเทศในยุโรปที่แม้ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในกระบวนการแห่งความเป็นอิสรภาพ เช่น ที่โคโซโว และภูมิภาคแถบนั้นทั้งหมดที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาใหม่ นี่เป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะแตกต่างกันไปในรายละเอียด ในกรณีของประเทศสเปน และตัวท่านนั่นแหละที่เป็นชาวสเปนที่จะต้องตัดสินโดยพิจารณาถึงทัศนคติของท่าน แต่สำหรับพ่อสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานี้ไม่ว่าประเทศใดที่มีปัญหาประเภทนี้ก็คือต้องถามตัวเองว่าได้มีการคืนดีกันกับประวัติศาสตร์ของตนแล้วหรือยัง พ่อไม่ทราบว่าประเทศสเปนมีการคืนดีกับประวัติศาสตร์ของตนแล้วหรือยัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ของช่วงคริสต์ศตวรรษที่แล้ว หากว่ายังพ่อคิดว่าต้องก้าวไปข้างหน้าสักก้าวหนึ่งเพื่อที่จะคืนดีกันกับประวัติศาสตร์ของตนเอง ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าต้องยกเลิกจุดยืนของตน แต่จะเข้าไปสู่กระบวนการแห่งการเสวนาและการคืนดีกัน และที่สำคัญ ต้องหลีกเลี่ยงให้พ้นจากอุดมการณ์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อกระบวนการของการคืนดีกัน เพราะว่าอุดมการณ์เป็นตัวทำลาย “เอกภาพของชาติ” เป็นการแสดงออกที่น่าทึ่ง ทว่าเป็นความจริงที่ชาติต้องมีเอกภาพ จะต้องไม่มีการให้คุณค่าหากปราศจากซึ่งการคืนดีกันระหว่างประชากร และพ่อเชื่อว่าในประเด็นนี้ไม่ว่ารัฐบาลใดไม่ว่าจะเป็นเครื่องหมายใดจะต้องรับผิดชอบในการคืนดีกันและดูว่าพวกเขารักษาประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน ไม่ใช่ศัตรูกันหรืออย่างน้อยก็ด้วยมโนธรรมที่เข้าใจผิดจนทำให้ตัวฉันถือว่าผู้อื่นเป็นศัตรูในประวัติศาสตร์

คาร์ลอส: ประเทศสเปนได้มีกระบวนการคืนดีกันอย่างเข้มข้นและน่าชื่นชมไปทั่วโลกในช่วงของศตวรรษหนึ่งและในศตวรรษที่แล้ว ปัญหาอยู่ที่หวนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์แล้วก็พยายามที่จะมีการคืนดีกันที่ไร้ประโยชน์ แต่ก็น่าพิศวงในโลกที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศสเปน ซึ่งกระผมคิดว่าพระองค์คงเข้าใจดีในประเทศอาร์เยนตีน่าว่าน่าจะเป็นสิ่งแปลกสำหรับพระสันตะปาปา ชาตินิยมและจักรพรรดินิยมได้หว่านความตายและการอพยพย้ายถิ่นมากมายในยุโรป และนี่ทำให้กระผมต้องถามพระองค์ว่า ท่ามกลางการอพยพ ณ ปัจจุบันที่เกิดจากปรากฏการณ์หลายอย่างที่พวกเรากำลังเผชิญกันอยู่ พวกเราจะต้องทำประการใด? อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อจำนวนผู้อพยพนั้นเกินความสามารถของพวกเราที่จะรองรับ? ไม่ควรที่จะมีเขตแดนประเทศไหม? ไม่ว่าผู้ใด ที่ไหน เมื่อใดที่เราต้องการและไม่ว่าจะต้องการอะไร? รัฐมีสิทธิที่จะตั้งกฎที่เข้มงวดหรือที่ยืดหยุ่น?

สันตะปาปาฟรานซิส: คำตอบของพ่อจะเป็นดังนี้: ประการแรกเกี่ยวกับผู้อพยพพวกเราจะต้องมีทัศนคตติสี่ประการ: ต้อนรับ คุ้มครอง ส่งเสริม และผนึกให้เข้ากับสังคม และสำหรับประเด็นสุดท้าย หากท่านต้อนรับเขาแล้วปล่อยให้เขาอยู่อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่ช่วยให้เขากลืนเข้าในสังคมพวกเขาก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม เพราะพวกเขาจะรู้สึกว่าตนเป็นคนแปลกหน้า ขอให้คิดถึงภัยพิบัติที่ Zaventem  ผู้ที่เป็นคนก่อการร้ายเป็นชาวเบลเยี่ยม เป็นลูกหลานของผู้อพยพที่ไม่ได้ถูกยอมรับให้เข้าในสังคม พวกเขาก็เลยหันกลับไปเป็นซ่องโจรก่อการร้าย พ่อต้องพยายามทำให้ผู้อพยพเข้าได้กับสังคม พ่อต้องใช้มาตรการที่ไม่เพียงแต่ให้การต้อนรับ แต่จะต้องคุ้มครองและส่งเสริมพวกเขา ให้การศึกษาพวกเขา ฯลฯ ประการที่สองซึ่งจะตรงกับคำถามของท่านมากกว่า: ประเทศต่างๆ ต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองและดูว่าตนสามารถรับผู้อพยพได้เท่าไร และไม่เกินจำนวนเท่าไร ตรงนี้การเสวนาระหว่างพวกเขาจึงมีความสำคัญมาก ทุกวันนี้ปัญหาผู้อพยพไม่อาจที่แก้ได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่งโดยลำพัง และเป็นความสำคัญที่ต้องมีการเสวนากันและดูว่า “ข้าพเจ้าสามารถทำได้แค่นี้…” “ข้าพเจ้ามีความเป็นไปได้มากกว่า” หรือไม่ “โครงสร้างสำหรับผู้อพยพดีหรือไม่ดี” ฯลฯ  พ่อกำลังคิดถึงประเทศซึ่งหลังจากที่ผู้อพยพมาถึงเพียงไม่กี่วัน ผู้อพยพก็ได้รับเงินเพื่อไปโรงเรียเพื่อเรียนภาษาแล้ว และเขาก็มีงานทำ และถูกกลืนเข้าไปในสังคม นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่มีการผนึกผู้อพยพเข้าในสังคมโดยเผด็จการทหารที่อเมริกาใต้ ประเทศอาร์เยนตีน่า ชิลี อุรุกวัย พ่อกำลังพูดถึงประเทศสวีเดน สวีเดนเป็นต้นแบบในสี่ขั้นตอนนี้ของการต้อนรับ การคุ้มครอง การส่งเสริม และการผนึกให้เข้ากับสังคม

และแล้วยังมีความจริงอีกว่าท่ามกลางผู้อพยพเหล่านี้ พ่อได้พูดถึงแล้ว แต่ขอย้ำอีกครั้ง ในฤดูหนาวและจำนวนประชากร หมู่บ้านในประเทศอิตาลีแทบจะว่างเปล่าแล้ว

คาร์ลอส: ประเทศสเปนก็เช่นเดียวกัน

สันตะปาปาฟรานซิส: “เรามีความพร้อมแล้ว” ท่านจะรออะไรอีก รอที่จะไม่ให้เหลือผู้ใดเลยหรือ? นี่เป็นความจริง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การอพยพเป็นการช่วยตราบเท่าที่ขั้นตอนของการผนึกพวกเขาให้เข้ากับสังคมของเราครบบริบูรณ์ นี่คือจุดยืนของพ่อ แต่แน่นอนว่าแต่ละประเทศต้องมีความซื่อสัตย์และกล่าวว่า “นี่เป็นสิ่งที่ข้าพเจ้าสามารถทำได้เพียงเท่านี้”

คาร์ลอส: ปีหน้าจะครบปีที่ 40 แห่งคำปราศรัยของนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 เรื่องอัตลักษณ์ของยุโรป กระผมใคร่ที่จะถามพระองค์เกี่ยวกับสถานที่ซึ่งพระสันตะปาปาสามารถเดินทางไปเยือนตราบเท่าที่สุขภาพจะอนุญาต อาจจะเป็นไฮติ หรืออาจเป็นประเทศของพระองค์เอง อาจเป็นซางติอาโก (Santiago de Campostella ที่เป็นสถานที่นี้ที่นักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ตรัสว่า “จงพบตัวท่านเอง จงเป็นตัวท่านเอง จงพบกับต้นกำเนิดของท่าน นี่คงจะเป็นความทรงจำที่เลอเลิศที่ข้าพเจ้าจะจดจำสิ่งนี้พร้อมกับท่านโดยยึดเอาโอกาสปีศักดิ์สิทธิ์ของนักบุญยากอบ…

สันตะปาปาฟรานซิส:  พ่อบอกประธานาธิบดีแห่ง Xunta de Galicia ว่าพ่อจะคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือพ่อยังไม่ได้ถอนออกจากกำหนดการ สำหรับพ่อแล้วยุโรปในขณะนี้เป็นความท้าทาย ยุโรปจะมีความสมบูรณ์ต่อไป และพัฒนาสหภาพยุโรปหรือจะปล่อยให้ยุโรปมลายไป สหภาพยุโรปเป็นวิสัยทัศน์ของมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่ – Schumann, Adenauer – ที่มองเห็นกาลใกล คิดว่าพ่อได้มอบคำปราศรัย 6 ครั้งในเรื่องของความเป็นเอกภาพของยุโรป สองครั้งที่เมือง Strasbourg หนึ่งครั้งเมื่อพ่อได้รับรางวัล Charlemagne ที่นั่น พ่อแนะนำคำปราศรัยที่กล่าวโดยนายกเทศมนตรีแห่ง Aachen เพราะเป็นการวิจารณ์ปัญหาของสหภาพยุโรปที่เลิศมาก แต่พวกเราจะยอมแพ้ไม่ได้ เวลาที่พ่อมีความสุขที่สุดเป็นเวลาที่พ่อกล่าวคำปราศรัยครั้งหนึ่งเมื่อบรรดาประมุขรัฐจากหสภาพยุโรปมารวมตัวกัน ไม่มีผู้ใดขาดและเรามีการถ่ายรูปร่วมกันที่วัดน้อยซิสตีน(Sistine) พ่อจะไม่มีวันลืมมัน  พวกเราไม่อาจที่จะก้าวถอยหลัง เป็นยามวิกฤติและสหภาพยุโรปก็ตอบสนองต่อวิกฤติได้เป็นอย่างดี แม้จะมีการอภิปรายที่ขัดแย้งกันบ้างแต่ก็ลงเอยด้วยดี เราต้องทำสิ่งที่พวกเราสามารถเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งมรดกของพวกเรา ซึ่งเป็นทั้งมรดกและเป็นหน้าที่

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ หากกระผมไม่ถามพระองค์ว่าพระสันตะปาปาจะเสด็จไปเยือนประเทศสเปนเมื่อไร ประชาชนชาวสเปนก็จะตำหนิกระผมว่า “ทำไมท่านไม่ถามพระสันตะปาปา…” กระผมจึงบังอาจที่จะเสนอให้พระองค์ทราบว่าพระองค์จะไม่รู้จักกับสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จนกระทั่งพระองค์จะไปเห็นวันอังคารศักดิ์สิทธิ์ที่ซาวิลล์ (Seville) เพื่อพบกับพระแม่พรหมจารีแห่ง Candelaria พระองค์ไม่ทรงสนพระทัยบ้างหรือครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: สนใจมาก แต่จนถึงบัดนี้การเยือนยุโรปของพ่อจะเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศแรกจะเป็นประเทศอัลบาเนีย (Albania) และประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศเล็ก ขณะนี่โปรแกรมอยู่ที่สโลวาเกีย (Slovakia) จากนั้นก็จะเป็นไซปรัส (Cyprus), กรีซ (Greece) และ มัลตา (Malta) พ่อขอเลือกที่จะไปเยือนประเทศเล็กก่อน พ่อจะไปที่ Strasbourg แต่พ่อจะไม่ไปประเทศฝรั่งเศส พ่อไปที่เมือง Strasbourg เพราะสหภาพยุโรป แล้วพ่อก็จะไปยังเมืองซานดิเอโก (Sandiago) และถ้าพ่อไปที่ ซานดิเอโก (Sandiago) พ่อก็จะไปที่นั่นเท่านั้นแต่จะไม่ไปที่สเปน ขอให้เราเข้าใจตามนี้

คาร์ลอส: เป็นการเดินทางไปทั่วยุโรป [Sp.: a; Camino de Europa]

สันตะปาปาฟรานซิส: เป็นการเดินทางไปทั่วยุโรป ยุโรปหนึ่งเดียว แต่นั่นยังจะต้องตัดสินใจกันอีกครั้ง

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ มีอะไรไหมที่ทำให้พระองค์ต้องกรรแสงเกี่ยวกับสถานการณ์ปีที่แล้วนอกเหนือไปจากโรคระบาด หรือพระสันตะปาปากรรแสงง่ายๆ หรือไม่?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อไม่ใช่คนที่จะหลั่งน้ำตาง่ายๆ แต่บางครั้งพ่อรู้สึกเศร้าใจในบางสิ่งบางอย่าง และพ่อก็ระวังที่จะไม่สับสนกับความเศร้าแบบPaul Verlaine “Les sanglots longs, de lautomne, lbessent mon Coeur” [การสะอื้นนานๆ / ของเสียงไวโอลิน / ของฤดูใบไม้ร่วง / ทำให้หัวใจของฉันเป็นบาดแผล] ไม่ใช่เช่นนั้น พ่อไม่ต้องการให้เกิดความสับสนไปกับสิ่งนั้น บางครั้งเมื่อเห็นอะไรบางอย่างทำให้สะเทือนใจพ่อและ… นั่นเกิดขึ้นกับพ่อเป็นบางครั้ง…

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ มีคนตั้งสมญานามพระองค์ว่าเป็น “pop Pope” หรือ “Superman Pope” ซึ่งกระผมทราบว่าพระองค์ไม่ทรงโปรด ที่จริงแล้วฟรานซิสเป็นใครกันแน่? พระองค์อยากให้ประชาชนคิดอย่างไรกับพระองค์?

สันตะปาปาฟรานซิส: สิ่งที่พ่อเป็น: พ่อเป็นคนบาปที่พยายามจะทำความดี

คาร์ลอส: ถ้าเช่นนั้นเราสองคนก็เป็นคนบาปที่นั่งอยู่ที่โต๊ะนี้…

สันตะปาปาฟรานซิส: ใช่ เราทั้งสองคน

คาร์ลอส: แต่พระองค์มีคนยกมือให้เยอะ [หัวเราะ] กระผมรู้สึกพิศวงเสมอในความสัมพันธ์ของพระองค์กับนักเขียน Jorge Luis Borges เพราะเหตุใดพระองค์จึงให้ความสนใจกับเยซุอิตหนุ่มคนนั้น?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเพราะเหตุใดอาจเป็นเพราะพ่อใกล้ชิดกับเลขาของเขา แล้วมิตรภาพก็เกิดขึ้น… พ่อยังไม่ได้บวชเป็นบาดหลวงตอนที่พบเขา ขณะนั้นพ่ออายุ 25 หรือ 26 ปีตอนที่พบเขาและพ่อกำลังสอนอยู่ที่ซางตา เฟ (Santa Fe) ในฐานะที่เป็นเยซุอิต พวกเราชาวเยซุอิตสอนที่นั้น 3 ปี พ่อเชิญเขาให้มาพูดกับนักศึกษาคณะวรรณคดี เขามาตามคำเชิญแล้วเขาก็สอน… พ่อไม่ทราบว่าทำไมประทับใจ แต่เขาเป็นคนดีมาก ดีมากจริงๆ

คาร์ลอส: เราทราบว่าพระองค์พูดถึงคุณยายโรซา (Rosa) บ่อยๆ แต่ทรงพูดน้อยมากถึงคุณแม่ของพระองค์เอง หรืออาจเป็นไปได้ว่า เราไม่เคยได้ยินพระองค์พูดถึงคุณแม่…

สันตะปาปาฟรานซิส: ตรงนี้มีสองปัจจัย เรามีพี่น้อง 5 คน ทุกคนสนิทสนมกับคุณตาคุณยายจนกระทั่งพวกเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ พระเจ้าได้ดูแลคุณตาคุณยายจนกระทั่งพวกเราเติบโต พ่อเองเสียคุณตาไปซึ่งเป็นคนที่ห่างไกลจากพวกเรามากที่สุดตอนที่พ่ออายุได้ 16 ปี แล้วเสียคุณยายไปตอนที่พ่อเป็นเจ้าคณะเยซุอิต  ดังนั้นปู่ย่าตายายจะอยู่กับพวกเราเสมอ พวกเรามีธรรมเนียมที่บ้านคือ พวกพี่ๆ สี่คนเนื่องจากน้องสุดท้องเกิดทีหลัง 6 ปี พวกพี่ๆ     มักจะใช้เวลาหยุดเรียนไปอยู่กับปู่ย่าตายายเพื่อที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พักผ่อนเล็กน้อย ก็สนุกดี มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับปู่ย่าตายายมากมาย ที่เกี่ยวกับคุณยาย โรซา (Rosa) นั้นสิ่งที่พ่อนำมาเล่ามักจะเป็นเหตุการณ์เดียวกันเสมอ  บางเรื่องก็เป็นเรื่องน่าขำ สำหรับคุณย่านั้นพ่อก็เล่าถึงเหตุการณ์เหมือนกัน เช่นบทเรียนที่ท่านให้กับพ่อในวันตายของ Prokofiev เกี่ยวกับความพยามยามในชีวิตว่าชายคนนั้นทำอย่างไร ตอนนั้นพ่อยังเป็นวัยรุ่น พ่อจำได้หลายเรื่องเกี่ยวกับมารดาของพ่อ ซึ่งพ่อก็นำมาเล่าเช่นเดียวกัน… แต่บางทีอาจจะน่าสนใจมากกว่าเกี่ยวกับคุณยาย เพราะพ่อเล่าซ้ำบ่อยๆเกี่ยวกับท่าน บางเรื่องที่เขียนเป็นจดหมาย รายการวิทยุ ก็นำมาเล่าไม่ได้… คำพูดบางอย่างสอนพ่อได้เยอะมาก แต่นอกเหนือไปจากการที่พวกเรารักปู่ย่าตายายมาก ความจริงแล้วในวันอาทิตย์พวกเรามักจะไปบ้านของตา/ยายแล้วก็ไปที่สนามฟุตบอล San Lorenzo คุณตาคุณยายมีอิทธิพลต่อชีวิตของพวกเรามาก

คาร์ลอส: พระองค์ไม่ได้ชมฟุตบอลที่ San Lorenzo และไม่ได้ดูโทรทัศน์มานานแล้วหลายปี…

สันตะปาปาฟรานซิส: ถูกต้อง พ่อได้สัญญาในวันที่ 16 กรกฎาคม 1990 พ่อรู้สึกว่าพระเจ้าทรงขอร้องให้พ่อทำเช่นนั้น เพราะพวกเราที่เป็นหมู่คณะดูอะไรที่จบลงแบบน้ำเน่า และทำให้เกิดไม่สบายใจ นั่นเป็นคืนวันที่ 15 กรกฎาคม และในวันรุ่งขึ้นในขณะที่สวดภาวนาพ่อสัญญากับพระเจ้าว่าพ่อจะไม่ดูโทรทัศน์อีก แน่นอนว่าเมื่อประธานาธิบดีสาบานเข้ารับตำแหน่งพ่อจะดู เมื่อเครื่องบินตกพ่อก็จะดู หรืออะไรทำนองนี้… แต่พ่อไม่ติดโทรทัศน์

คาร์ลอส: พระองค์ไม่ดูฟุตบอล Copa America ด้วยใช่ไหม?

สันตะปาปาฟรานซิส: ไม่เลย

คาร์ลอส: มีนิยายปรัมปราที่เล่าว่าพระสันตะบางองค์หลบหนีออกจากวาติกัน จนถึงวันนี้พระองค์เคยหนีออกไปบ้างไหมโดยที่ไม่มีผู้ใดทราบ?

สันตะปาปาฟรานซิส: ไม่เคย คนที่มักจะไปเล่นสกีคือนักบุญยอห์น ปอลที่ 2 ใช้เวลากว่าหนึ่งชั่วโมงเล็กน้อยจะมีลานสกี และพระองค์ก็ชอบเล่นสกีจนเป็นชีวิตจิตใจ พระองค์จึงแอบหลบออกจากวาติกัน แต่พระองค์ก็ถูกจับได้ วันหนึ่งขณะที่พระองค์กำลังเข้าแถวรอคิวมีเด็คนหนึ่งทักว่า “พระสันตะปาปา” พ่อก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเขารู้ได้อย่างไร แล้วพระองค์ก็รีบกลับทันที จากนั้นพระองค์ก็ระวังตัวมากขึ้น สำหรับครอบครัวที่พ่อไปเยี่ยมเท่าที่พ่อจำได้มีอยู่สามครอบครัวด้วยกัน หนึ่งนั้นเป็นกึ่งอารามของซิสเตอร์คณะเทเรเซี่ยน ซึ่งพ่อต้องการไปเยี่ยม ศจ. Mara อายุ 90 ปี เธอเป็นสตรีผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัย La Sapienza และมหาวิทยาลัย Augustinianum พ่อต้องการไปทำมิสซาเพื่อเธอ ถัดจากนั้นพ่อก็ไปแสดงความเสียใจกับผู้หนึ่งที่บ้านของเขาซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นมิตรสหายที่ดีที่สุดคนหนึ่งของพ่อ เขาเป็นนักข่าวชาวอิตาเลียน  แล้วบ้านที่สามที่พ่อไปเยี่ยมเป็นบ้านของ Edith Bruck สุภาพสตรีอายุ 90 ปีที่เคยอยู่ในค่ายกักกันนาซี เธอเป็นชาวฮังกาเรียนเชื้อสายยิว นี่น่าจะเป็นปลายปีที่แล้วหรือต้นปีนี้พ่อจำไม่ได้ นี่เป็นสามบ้านที่พ่อไปเยี่ยมแบบลับๆ แล้วก็เป็นข่าวออกมา พ่อชอบที่จะเดินไปตามถนน พ่ออยากทำเช่นนั้น แต่พ่อต้องยุติเพราะพ่อไม่สามารถเดินได้ไกลกว่า 10 เมตร

คาร์ลอส: พระองค์เคยนึกอยากที่จะสวมชุดฆราวาสบ้างไหม?

สันตะปาปาฟรานซิส: ไม่เคยแม้แต่น้อย

คาร์ลอส: …สวมหมวกใส่แว่นตาดำ?

สันตะปาปาฟรานซิส: [หัวเราะ] ไม่เคยเลย

คาร์ลอส: พระสันตะปาปาฟรานซิสต่อสู้กับความเหงาอย่างไร ใครทำ los palitos de anis ให้พระองค์ หรือพระองค์รับประทานอาหารเช้าอย่างไรที่ La Puerto Rico?

สันตะปาปาฟรานซิส: พ่อพยายามไม่ทำให้ความเหงาของพ่อเป็นเรื่องเศร้า เป็นฤดูใบไม้ร่วง แม้ว่าสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งเกี่ยวกับฤดูใบไม้ร่วงที่ประเทศอาร์เยนตน่า ที่กรุงบัวนอสไอเรสจะมีเมฆหมอกจัดซึ่งท่านไม่อาจที่จะมองได้ไกลกว่า 10 เมตรจากหน้าต่าง พ่อจะฟัง Piazzola พ่อคิดถึงบรรยากาศนั้นเหมือนกัน แต่กรุงโรมก็มีวันที่มีหมอกจัดเหมือนกัน แต่พ่อไม่เคยรู้สึกเหงา พ่อชอบที่จะเดินจากวัดหนึ่งไปยังอีกวัดหนึ่ง แต่พ่อไม่มีความเหงาเลย

คาร์ลอส: วันที่ทำให้พระองค์ปวดศีรษะเพราะคำพูดที่ค่อนข้างจะเกินความจริง และมีผลที่พระองค์ไม่ถือสาสิ้นสุดลงแล้วหรือยัง?

สันตะปาปาฟรานซิส: อันตรายมีอยู่เสมอ คำพูดอาจตีความเป็นอย่างนี้หรืออย่างนั้นมิใช่หรือ? นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วพ่อจะรู้ได้อย่างไร… พ่อไม่ทราบว่าพวกเขารู้มาจากไหนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าพ่อจะลาเกษียณ คำพูดคำไหนที่ทำให้ผู้คนในประเทศของพ่อเข้าใจเช่นนั้น? นั่นคือแหล่งที่เป็นต้นข่าว  พวกเขาบอกว่านั่นเป็นข่าวลือซึ่งพ่อไม่ได้แม้แต่จะคิด เมื่อมีการตีความที่บิดเบี้ยวนิดหน่อยเกี่ยวกับคำพูดบางคำของพ่อ พ่อจะปิดปากเงียบ เพราะยิ่งจะพยายามอธิบายก็จะยิ่งลุกลามไปกันใหญ่

คาร์ลอส: ประชาชนมีการพูดกันมากไหมครับเกี่ยวกับฟุตบอลที่ Santa Marta?

สันตะปาปาฟรานซิส: มีเยอะเหมือนกันเรื่องฟุตบอลอิตาลี พ่อก็รู้อยู่บ้างนิดหน่อย มีการพูดคุยกันมากเกี่ยวกับฟุตบอล ใช่…

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ  พระองค์ทรงเล่นฟุตบอลตำแหน่งอะไรครับ?

สันตะปาปาฟรานซิส: พวกเพื่อนเรียกพ่อว่า “el pata dura” นั่นคือเหตุผลที่พวกเขาจับพ่อเป็นคนเฝ้าประตูเสมอ นี่เป็นตำแหน่งที่พ่อพอที่จะทำได้ดีพอสมควร

คาร์ลอส: ในโปรแกรมกีฬา Tiempo de juego เมื่อกระผมบอกพรรคพวกว่าผมจะไปพบพระสันตะปาปา พวกเขาบอกกระผมว่า “โปรดถามพระสันตะปาปาว่าพระองค์ทรงคิดอย่างไรเกี่ยวกับสัญญาที่ Messi ลงนามว่าจะไปเล่นกับทีมฝรั่งเศส” พระองค์ทรงชอบฟุตบอลโลกไหม? พระองค์ทรงติดตามอย่างใกล้ชิดไหม?

สันตะปาปาฟรานซิส:  พ่อเขียนจดหมายเรื่องการอภิบาลฉบับหนึ่งเกี่ยวกับการกีฬา เป็นจดหมายอภิบาลที่ไม่ใช่เป็นการอภิบาล มีสองขั้นตอนด้วยกัน ขั้นแรกมีบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Gazzetta dello Sport ของวันที่ 2 มกราคมปีนี้โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกีฬา – พ่อแก้ไขมัน – เปลี่ยนเป็นจดหมายอภิบาล เป็นบทความเกี่ยวกับการสัมภาษณ์  พ่อเพียงแค่กล่าวว่า การจะเป็นนักฟุตบอลที่ดีท่านต้องมีคุณสมบัติสองประการ: ต้องรู้ว่าจะต้องเล่นเป็นทีมอย่างไรและไม่เป็นทีมอย่างไร อย่างที่เราพูดกันที่กรุงบัวนอสไอเรสเป็นคำแสลงว่า เป็นนัก ‘กัด’ ฟุตบอล’ แต่ต้องเล่นเป็นทีมเสมอ ขั้นที่สอง ต้องไม่สูญเสียเจตนารมณ์ของนักกีฬาสมัครเล่น เมื่อกีฬาขาดเจตนารมณ์นักสมัครเล่นก็จะเริ่มกลายเป็นกีฬาพาณิชย์ และก็มีคนที่ทราบว่าจะไม่ปล่อยให้ตนมีมลทินเช่นนี้อย่างไรโดยมอบสิ่งที่ตนได้มาให้กับการกุศลหรือมูลนิธิ แต่ที่สำคัญที่สุดต้องทำงานเป็นทีม ต้องเป้นโรงเรียนของการเล่นกีฬาที่เป็นทีมแล้วต้องไม่สูญเสียเจตนารมณ์แห่งกีฬาสมัครเล่น

คาร์ลอส: สันตะบิดรครับ ขอขอบพระคุณพระองค์มากสำหรับชั่วโมงอันน่าจดจำนี้ที่พระองค์ทรงมอบให้กับผู้ที่ติดตามสถานีวิทยุ COPE

สันตะปาปาฟรานซิส: ขอต้อนรับผู้ที่กำลังฟังและพ่อขอให้ท่านช่วยภาวนาสำหรับพ่อด้วยเพื่อที่พระเจ้าจะทรงคุ้มครองและดูแลพ่อ เพราะหากพระองค์ปล่อยพ่อไว้ตามลำพังชีวิตของพ่อก็คงจะยุ่งเหยิง

คาร์ลอส: โดยปกติจะเป็นพระองค์ที่กล่าวกับพวกเรา แต่วันนี้เป็นเราที่จะกล่าวกับพระองค์ว่า ขอพระเจ้าโปรดอวยพรพระองค์

สันตะปาปาฟรานซิส: และอวยพรท่านทุกคน ขอให้พระเจ้าอวยพรท่าน  ขอขอบคุณ

คาร์ลอส: ขอบคุณพระองค์ครับ

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทสัมภาษณ์มาแบ่งปันและไตร่ตรอง  Cr. Carlos Herrera ผู้สัมภาษณ์)