“การรักษาความเชื่อ” (2 ทธ. 4: 7) เป็นพันธกิจหลักและมาตรการสูงสุดที่ต้องปฏิบัติในชีวิตของพระศาสนจักร สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมรับหน้าที่สำคัญนี้ทั้งในเรื่องความเชื่อและเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของการออกกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยดังที่เคยปฏิบัติติดต่อกันเรื่อยมาโดยสมณมนตรีองค์ก่อนๆ
โครงสร้างงปัจจุบันของสมณกระทรวงฯ ได้ถูกสถาปนาขึ้นโดยนักบุญพระสันตะปาปาเปาโลที่ 6 จากสมณสาส์นเตือนใจชื่อ “Integrae Servandae” (7 ธันวาคม 1965) ได้เปลี่ยนชื่อหน่วยงานนี้เป็น “สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม” และจากนักบุญจอห์น พอลที่ 2 ซึ่งในธรรมนูญ “Pastor Bonus” ระบุความเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างเฉพาะของสมณกระทรวง
บัดนี้เมื่อเล็งเห็นถึงประสบการณ์ของสมณกระทรวงฯ ที่พัฒนาเรื่อยมาตลอดเวลาในงานหลายๆ ด้านและความจำเป็นที่ต้องมอบอำนาจอันเหมาะสมเพิ่มขึ้น เพื่อที่สมณกระทรวงนี้จะได้ทำงานคล่องขึ้นในงานที่ตนรับผิดชอบ ข้าพเจ้าจึงถือว่าเป็นการเหมาะสมที่จะสถาปนาสิ่งต่อไปนี้
1. สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมประกอบด้วยสองแผนก กล่าวคือ เรื่องความเชื่อและเรื่องกฎเกณฑ์ระเบียบวินัย ในแต่ละแผนกประสานงานโดยเลขาธิการ ซึ่งช่วยสมณมนตรีแห่งสมณกระทรวงในงานที่ตนถนัดด้วยความร่วมมือของผู้ช่วยเลขาธิการ และหัวหน้าสำนักงานต่างๆ
2. แผนกความเชื่อจะบริหารเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและการปกป้องข้อความเชื่อ และจริยธรรม จะส่งเสริมการศึกษาที่มุ่งไปในการเพิ่มความเข้าใจและการสานต่อความเชื่อในการรับใช้การประกาศพระวรสาร เพื่อที่แสงสว่างแห่งพระวรสารจะได้เป็นมาตรการในการเข้าใจความหมายของการที่มนุษย์มีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่ามกลางปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และสังคมที่พัฒนาขึ้น
เกี่ยวกับทางฝ่ายความเชื่อและจริยธรรมจะบริหารจัดการให้มีการสำรวจตรวจสอบเอกสารต่างๆ ที่จะออกจากสมณกระทรวงอื่นของโรมันคูเรีย รวมทั้งข้อเขียนต่าง ๆ และความคิดเห็นที่ปรากฏว่าจะเป็นปัญหาขัดแย้งกับข้อความเชื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ส่งเสริมการเสวนากับผู้เขียนพร้อมกับเสนอทางแก้ไขที่เหมาะสมตามมาตรการแห่ง “Agendi ratio in doctrinarum examine” (กฎเกณฑ์ในการตรวจสอบข้อความเชื่อ)
ฝ่ายนี้ได้รับมอบหมายหน้าที่ศึกษาเรื่องที่เกี่ยวกับบุคลากรที่สถาปนาขึ้นโดยธรรมนูญชื่อ “Anglicanorum Coetibus”
ฝ่ายข้อความเชื่อจะมีสำนักงานเกี่ยวกับการสมรส ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อทีจะสำรวจตรวจสอบทั้งประเด็นของกฎหมายและประเด็นของความจริง รวมถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับสิทธิจากความเชื่อ “privilegium fidei”
3. ฝ่ายของกฎเกณฑ์ระเบียบวินัยจะบริหารจัดการความผิดที่สงวนไว้สำหรับสมณกระทรวงฯ และดำเนินการผ่านทางศาลปกครองสูงสุดของพระสันตะปาปาที่ตั้งอยู่ในสมณกระทรวงนี้ หน้าที่คือการเตรียมกระบวนการที่ระบุไว้ในมาตรการแห่งกฎหมายเพื่อที่สมณกระทรวงในกรณีต่างๆ (สมณมนตรี เลขาธิการ ผู้ส่งเสริมความยุติธรรม การประชุมสมัชชา การประชุมสมัยสามัญ คณะผู้สอบสวนการอุทธรณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดทางอาญาอันหนักหน่วง (delicta graviora) เพื่อจะได้ส่งเสริมการบริหารจัดการความยุติธรรมได้อย่างถูกต้อง
เพื่อเป้าหมายดังกล่าวฝ่ายนี้จะส่งเสริมการอบรมที่เหมาะสมสำหรับเจ้าหน้าที่ของสมณกระทรวงและผู้ที่ปฏิบัติใช้กฎหมายในการส่งเสริมความเข้าใจที่ถูกต้องและดำเนินปฏิบัติตามมาตรการของกฎหมายที่เกี่ยวกับบริบทแห่งหน้าที่ของตน
4. สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมจะมีคลังเก็บเอกสารต่างๆ รวมถึงเอกสารที่เป็นประวัติศาสตร์ของสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ในอดีตของสักนักงานและดัชนีของเอกสารประเภทต่าง ๆ
ข้าพเจ้าจึงมีบัญชาให้ออกสมณลิขิตในรูปของสมณอัตตาณัติ (กฤษฎีกา) ฉบับนี้ขอให้มีผลบังคับอย่างมั่นคงถาวร โดยมิคำนึงถึงกฎหมายข้อใดที่ตรงกันข้าม แม้สมควรที่จะมีการอ้างถึง และให้มีการออกประกาศในหนังสือพิมพ์ “ลอส แซร์วาตอเร่ โรมาโน – L’Osservatore Romano” และขอให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 และต่อจากนั้นให้มีการพิมพ์ลงในพระสมณกิจจานุเบกษาด้วย
ให้ไว้ ณ กรุงโรม มหาวิหารนักบุญเปโตร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 อันเป็นวันที่รำลึกถึงการประจักษ์ของพระแม่มารีย์แห่งเมืองลูร์ด
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเอกสารสำคัญนี้มาแบ่งปัน)
_______________________________
Bulletin of the Holy See Press Office, 14 February 2022