การมอบหมายหน้าที่บางอย่างให้กับผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมาย ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะปกป้องความเป็นเอกภาพแห่งระเบียบวินัยในพระศาสนจักรสากลและอำนาจบริหารจัดการในพระศาสนจักรท้องถิ่น และสถาบันของพระศาสนจักรให้สอดคล้องกับพลวัตแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันของพระศาสนจักรพร้อมทั้งสนับสนุนให้มีความใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น การกระจายอำนาจสามารถส่งเสริมพลวัตได้เป็นอย่างดีโดยมิลำเอียงต่อมิติของฐานันดรของบรรดาสมณะ
ดังนั้นด้วยความเคารพต่อวัฒนธรรมของพระศาสนจักรและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ข้าพเจ้าถือว่าเป็นการเหมาะสมที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ปัจจุบันในบางเรื่องโดยการกำหนดให้มีความเชี่ยวชาญในแต่ละประเด็น ที่สำคัญคือเรามุ่งหมายที่จะส่งเสริมไม่เพียงแค่เจตนารมณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกัน และความรับผิดชอบเชิงอภิบาลของบรรดาบิชอปที่รวมตัวกันอยู่ในสภาบิชอป หรือตามโครงสร้างแห่งพระศาสนจักรจารีตตะวันออก และอธิการเจ้าคณะนักบวชเท่านั้น แต่ยังให้ความเคารพต่อหลักการแห่งการมีเหตุผล ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลด้วย
การชำระกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นถึงความเป็นสากลที่หลากหลายและที่มีการแบ่งปันกันของพระศาสนจักร ซึ่งยอมรับความแตกต่างโดยที่ไม่ทำให้สิ่งต่าง ๆ เท่าเทียมกัน ให้การประกันในการให้ความเคารพต่อความเป็นเอกภาพกับพันธกิจของบิชอปแห่งกรุงโรม ในขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการอภิบาลของผู้ที่มีอำนาจในท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญก็คือเอื้ออำนวยให้กับการอยู่ใกล้ชิดกับปัจเจกบุคคลและสถานการณ์ที่เรียกร้อง
ดังนั้นข้าพเจ้าจึงมีบัญชาดังต่อไปนี้:
ข้อ 1
มาตรา 237 §2 CIC ว่าด้วยการตั้งสถานฝึกอบรมผู้ที่จะเป็นสมณะระหว่างเขตศาสนปกครอง ในธรรมนูญจะใช้คำว่า “ยืนยัน” แทนคำว่า “อนุมัติ” และบัดนี้จะระบุว่าว่า:
§2 จะต้องไม่มีสถานฝึกอบรม (สามเณราลัย) ระหว่างเขตศาสนปกครอง หากเป็นสถานฝึกอบรมสำหรับทั้งภูมิภาค นอกจากว่าสภาบิชอปหรือบรรดาบิชอปที่เกี่ยวข้องได้รับการยืนยันจากจากสันตะสำนักทั้งการตั้งสถานอบรมและธรรมนูญของสถานฝึกอบรม
ข้อ 2
มาตรา 242 §1 CIC เกี่ยวกับโปรแกรมการฝึกอบรมผู้ที่จะเป็นสมณะที่ทำขึ้นโดยสภาบิชอป ซึ่งมาแทนคำว่า “อนุมัติ” ด้วยคำว่า “ยืนยัน” และบัดนี้มีการะบุว่า
§1 แต่ละประเทศต้องมีโปรแกรมการฝึกอบรมผู้ที่จะเป็นสมณะ ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาบิชอปโดยคำนึงถึงมาตรการที่ออกโดยผู้มีอำนาจสูงสุดของพระศาสนจักร และที่ต้องได้รับการยืนยันจากสันตะสำนัก โปรแกรมต้องมีการปรับปรุงให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ และรับการยืนยันจากสันตะสำนัก และต้องกำหนดหลักการใหญ่ของการฝึกอบรมในสถานฝึกอบรมพร้อมทั้งมาตรการทั่วไปที่ปรับให้เข้ากับความต้องการแห่งการอภิบาลในแต่ละภูมิภาค
ข้อ 3
มาตรา 265 CIC มีการเพิ่มโครงสร้างที่สามารถนำนักบวชและสมาพันธ์นักบวชเข้ามาอยู่ในสังกัดได้ ซึ่งได้รับการอนุญาตจากสันตะสำนัก ดังนั้นจึงเป็นการผนึก ข้อ 357 §1 CCEO เข้ามาอยู่รวมกัน บัดนี้กฎหมายดังกล่าวมีดังนี้:
สมณะทุกคนต้องมีสังกัดในพระศาสนจักรใดพระศาสนจักรหนึ่ง หรือในสถาบันชีวิตผู้ถวายตัว หรือในสมาคมที่ได้รับอนุญาตจากสันตะสำนักในลักษณะที่ว่าจะไม่มีการอนุญาตให้มีนักบวชที่ไม่มีสังกัด หรือนักบวชที่ได้ผ่านชีวิตการเป็นนักบวชแบบชั่วคราวแล้วแต่ไม่มีสังกัดก็ไม่ได้รับการอนุญาต
ข้อ 4
มาตรา 604 CIC สำหรับคณะสตรีและสิทธิของพวกเขาที่เข้าสังกัด มีวรรคใหม่ที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้:
§3 บิชอปประมุขของเขตศาสนปกครองมีอำนาจที่จะรับและตั้งสมาพันธ์ขึ้นในระดับของเขตศาสนปกครอง และสภาบิชอปมีอำนาจดังกล่าวในระดับชาติภายใต้เขตการปกครองของตน
ข้อ 5
มาตรา 686 §1 CIC และ มาตรา 489 §2 CCEO ในประเด็นของอำนาจพิเศษที่จะขอให้สมาชิกที่ถวายตัวตลอดชีวิตแล้วออกจากคณะในสังกัด เขาสามารถยืดเวลาออกไปได้ 5 ปี หลังจากนั้นถ้ามีการยืดเวลาต่อไปนั้นเป็นอำนาจที่สงวนไว้ของสันตะสำนักหรือบิชอปประมุขแห่งเขตศาสนปกครอง กฎหมายดังกล่าว บัดนี้มีระบุไว้ดังนี้:
CIC (จารีตลาติน) – มาตรา 686 §1 ด้วยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาผู้ดูแลคดีร้ายแรงสามารถอนุโลมการขอให้ออกจากการเป็นนักบวชของสมาชิกที่ถวายตัวตลอดชีวิตแล้วได้ แต่ต้องไม่เกิน 5 ปี และเฉพาะกับนักบวชที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าแล้วจากบิชอปประมุขแห่งเขตศาสนปกครอง ถ้าหากสิ่งนี้เกี่ยวกับสิทธิของสถาบันชีวิตผู้ถวายตัว
CCEO (จารีตตะวันออก) – มาตรา 489 § 2 พระอัยกาแห่งพระศาสนจักรจารีตตะวันออกสามารถให้ข้อยกเว้นนี้ได้ไม่เกิน 5 ปี
ข้อ 6
มาตรา 688 §2 CIC และ มาตรา 496 §§1-2 และ 546 §2 CCEO ว่าด้วยผู้ถวายตัวแบบชั่วคราวที่ขอลาออกจากสถาบันเพราะความผิดร้ายแรงจะแต่งตั้งผู้ที่มีอำนาจเพื่ออนุญาตให้กับผู้ที่ดูแลเรื่องนี้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะที่ปรึกษา สำหรับประมวลกฎหมายจารีตลาติน ซึ่งหมายถึงทั้งสถาบันที่ขึ้นกับสิทธิของพระสันตะปาปาและสถาบันที่ขึ้นกับสิทธิของบิชอปรวมถึงอารามที่มีอำนาจในการปกครองตนเองด้วย สำหรับประมวลกฎหมายของพระศาสนจักรจารีตตะวันออก หมายถึงอารามที่มีอำนาจในการปกครองตนเอง หรือคณะนักบวช
ผลที่ตามมาคือ มาตรา 496 §2 CCEO ถูกยกเลิก ส่วนการแก้ไขใหม่มีระบุความว่าดังนี้:
มาตรา 688 §2 CIC ในช่วงเวลาแห่งการถวายตัวแบบชั่วคราวบุคคลที่ขอลาออกจากสถาบันด้วยเหตุผลสำคัญสามารถได้รับการอนุญาตให้ออกจากสถาบันได้จากผู้ที่มีอำนาจดูแลเรื่องนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะที่ปรึกษา แต่ในกรณีของอารามที่มีอำนาจในการปกครองตนเองดังที่มีกล่าวไว้ใน มาตรา 615 บิชอปผู้ดูแลคณะต้องมีการยืนยันว่าการอนุญาตนั้นถูกต้อง
มาตรา 496 CCEO ในช่วงของการถวายตัวแบบชั่วคราว ผู้ที่ต้องการออกจากอารามกลับไปใช้ชีวิตแบบฆราวาสด้วยเหตุผลที่สำคัญ จะต้องยื่นคำร้องไปยังอธิการของอารามที่มีอำนาจในการปกครองตนเอง ด้วยการเห็นชอบของคณะที่ปรึกษา อธิการจึงจะให้อนุญาต นอกจากว่ากฎหมายสงวนสิทธินี้ไว้ให้กับบิชอปของสถานที่ซึ่งอารามตั้งอยู่ภายในเขตศาสนปกครองของท่าน
มาตรา 546 §2 CCEO ขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการถวายตัวแบบชั่วคราวผู้ที่ต้องการออกจากคณะด้วยเหตุผลสำคัญสามารถได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะโดยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาในการออกจากคณะอย่างถาวร และกลับไปดำเนินชีวิตแบบฆราวาสพร้อมกับผลดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 493
ข้อ 7
มาตรา 699 §2 และ 700 CIC และ มาตรา 499, 501 §2 และมาตรา 552 §1 CCEO มีการปรับปรุงเพื่อที่คำสั่งปลดออกจากสถาบันด้วยเหตุผลสำคัญของผู้ถวายตัวแบบชั่วคราวหรือแบบถาวรมีผลบังคับด้วยคำสั่งซึ่งออกโดยผู้มีอำนาจสูงสุดพร้อมด้วยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษา สมาชิกผู้นั้นจะได้รับการแจ้งให้ทราบ ซึ่งเขาผู้นั้นมีสิทธิที่จะอุทธรณ์ ข้อความของกฎหมายจึงมีการปรับปรุงชำระขึ้นมาใหม่ดังนี้:
มาตรา 699 §2 CIC สำหรับอารามที่มีอำนาจปกครองตนเองดังที่ระบุไว้ใน มาตรา 615 เป็นอำนาจของอธิการเจ้าคณะพร้อมด้วยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาที่จะตัดสินใจขอให้ออกจากคณะ
มาตรา 700 CIC คำสังปลดผู้ถวายตัวมีผลบังคับนับตั้งแต่เวลาที่สมาชิกผู้นั้นได้รับคำสั่งปลด แต่เพื่อที่จะให้ถูกต้องตามกฎหมายคำสั่งดังกล่าวต้องระบุสิทธิซึ่งผู้ที่ถูกสั่งปลดมีในการอุทธรณ์ต่อผู้ที่มีอำนาจภายใน 10 วันจากวันที่ได้รับแจ้ง การอุทธรณ์มีผลของการถูกพักพันธกิจหรือถูกระงับมิให้ปฏิบัติหน้าที่
มาตรา 499 CCEO สมาชิกสมารถถูกขอให้ออกในระหว่างการถวายตัวแบบชั่วคราวโดยอธิการอารามที่มีอำนาจปกครองตนเองโดยได้รับความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษาตามข้อ 552 §§2 และ 3 แต่เพื่อความถูกต้องต้องได้รับการยืนยันจากพระอัยกา หากมีการกำหนดด้วยกฎหมายสำหรับอารามที่ตั้งอยู่ภายใต้เขตการปกครองของพระอัยกา
มาตรา 501 §2 CCEO ทว่าภายในเวลา 15 วัน สมาชิกผู้นั้นสามารถอุทธรณ์คำสั่งปลดหรือขอร้องให้มีการดำเนินคดีทางศาล
มาตรา 552 §1CCEO สมาชิกที่ถวายตัวแบบชั่วคราวสามารถถูกขอให้ออกโดยอธิการเจ้าคณะด้วยความเห็นชอบของคณะที่ปรึกษา
ข้อ 8
มาตรา 775 §2 CIC ในการพิมพ์หนังสือคำสอนโดยสภาบิชอปเพื่อเขตปกครองของตนให้ใช้คำว่า “ยืนยัน” แทนคำว่า “อนุมัติ” ซึ่งเนื้อหาสาระใหม่ระบุไว้ดังนี้:
§2 หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ เป็นหน้าที่ของสภาบิชอปที่จะต้องดูแลว่าหนังสือคำสอนนี้ออกมาเพื่อเขตปกครองของตนโดยได้รับการยืนยันจากสันตะสำนัก
ข้อ 9
มาตรา 1308 CIC และ มาตรา 1052 CCEO มีการปรับปรุงข้อบังคับสำหรับการถวายบูชาขอบพระคุณโดยมีข้อความใหม่ดังต่อไปนี้
มาตรา 1308 §1 CIC ในการลดจำนวนการถวายบูชาขอบพระคุณจะทำได้ก็เฉพาะแต่กรณีที่ชอบธรรมและจำเป็นเท่านั้น และการอนุญาตสงวนไว้สำหรับบิชอปประมุขของเขตศาสนปกครอง อธิการเจ้าคณะสถาบันชีวิตผู้ถวายตัวและสมาคมเพื่อชีวิตการแพร่ธรรม
§2 เกี่ยวกับพิธีบูชาขอบพระคุณที่มีการขอกันมาอย่างเสรีนั้นบิชอปประมุขของเขตศษสนปกครองมีอำนาจที่จะลดระดับของการถวายเงินทำบุญ ซึ่งมีการตั้งไว้อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์ภายในเขตศาสนปกครอง และไม่ต้องมีผู้ใดถูกบังคับให้ถวายเงินทำบุญเพิ่มแม้ว่าผู้นั้นจะสามารถทำได้โดยไม่เดือดร้อนก็ตาม
§3 บิชอปประมุขแห่งเขตศาสนปกครองยังมีอำนาจที่จะลดข้อผูกพันการประกอบพิธีบูชาขอบพระคุณที่ผูกมัดสถาบันพระศาสนจักร หากมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการตามเป้าหมายของสถาบันได้อย่างเหมาะสม
§4: ผู้มีอำนาจสูงสุดของสถาบันนักบวชชีวิตผู้ถวายตัวหรือสมาคมเพื่อชีวิตการประกาศพระวรสารก็มีอำนาจเช่นเดียวกันดังที่ระบุไว้ใน §§2 and 3
มาตรา 1052 §1 CCEO การลดข้อผูกมัดของการทำวัตรถูกสงวนไว้สำหรับพระอัยกาจารีตตะวันออกและอธิการเจ้าคณะของสถาบันนักบวชหรือสมาคมแห่งการดำเนินชีวิตร่วมกันตามวิถีชีวิตของนักบวชที่เป็นสมณะ
§2: พระอัยกาของจารีตตะวันออกมีอำนาจเนื่องจากรายได้ลดลง และในขณะที่อยู่ในสถานภาพเช่นนี้สามารถที่จะลดการทำวัตรในการถวายปัจจัยทำบุญที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเขตการปกครองของตน เพียงแต่ว่าจะไม่มีผู้ใดที่ถูกบังคับให้ต้องถวายปัจจัยทำบุญเพิ่มเติม
§3 พระอัยกาของจารีตตะวันออกยังมีอำนาจลดข้อบังคับในการทำวจนพิธีกรรม ซี่งเป็นภาระสำหรับสถาบันของพระศาสนจักร ถ้าหากรายได้ไม่เพียงพอที่จะทำสิ่งใดตามเป้าหมายซึ่งบางครั้งการน้อมรับข้อผูกมัดดังกล่าวอาจเป็นที่ยอมรับก็ตาม
§4 อธิการเจ้าคณะของสถาบันนักบวชหรือสมาคมที่ดำเนินชีวิตร่วมกันตามวิถีของนักบวชก็มีอำนาจเฉกเช่นที่ระบุไว้ในข้อ §§2 และ 3 ด้วย
§5 พระอัยกาของจารีตตะวันออกสามารถมอบอำนาจดังที่ระบุไว้ใน §§2 และ 3 ให้กับพระอัยกาผู้ช่วยหรือรองพระอัยกา ยกเว้นการมอบอำนาจต่อ
ข้อ 10
มาตรา 1310 CIC และ มาตรา 1054 CCEO ที่เกี่ยวกับกิจศรัทธาและมูลนิธิศรัทธามีการปรับเปลี่ยนดังต่อไปนี้
มาตรา 1310 §1 CIC ด้วยเหตุที่ชอบธรรมและจำเป็นเท่านั้นที่บิชอปสามารถลด ปรับเปลี่ยน หรือตามเจตนาของสัตบุรุษเพราะเห็นแก่ความศรัทธา หลังจากที่ได้รับฟังผู้ที่เกี่ยวข้อง และคณะที่ปรึกษาฝ่ายการเงินพร้อมกับเจตนาของผู้ก่อตั้งที่ต้องดำรงรักษาไว้เท่าที่จะทำได้
§2 ในกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับประเด็นนี้ ต้องพึ่งสันตะสำนักหรือสภาของสมเด็จพระอัยกา พระอัยกาต้องปฏิบัติไปตามความเห็นชอบของสภาสมัชชาถาวร
ทุกสิ่งที่ข้าพเจ้ากำหนดไว้ในสมณลิขิตนี้ที่ออกในรูปแบบ “สมณอัตตาณัติ – กฤษฎีกา” ข้าพเจ้ามีบัญชาให้มีผลบังคับอย่างสมบูรณ์ถาวรโดยมิต้องคำนึงถึงกฎหมายที่ขัดแย้ง แม้สมควรจะกล่าวถึง และข้าพเจ้ามีบัญชาให้มีการประกาศใช้ด้วยการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ “ลอส แซร์วาตอเร่ โรมาโน (L’Osservatore Romano)” และขอให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2022 อีกทั้งให้มีการตีพิมพ์ลงในพระสมณกิจจานุเบกษาด้วย
ประกาศไว้ที่กรุงโรม ณ มหาวิหารนักบุญเปโตร วันที่ 11 กุมภาพันธ์ วันรำลึกถึงพระแม่มารีย์แห่งลูร์ดในปี ค.ศ. 2022 อันเป็นปีที่เก้าแห่งสมณสมัยของข้าพเจ้า
ฟรานซิส
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บเอกสารสำคัญนี้มาแบ่งปัน)