กรุงโรม – วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2022 พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงปฏิรูปศูนย์กลางบริหารงานของนครรัฐวาติกันเป็นครั้งแรกในเวลากว่า 30 ปี ด้วยการเพิ่มจำนวนบทบาทผู้นำที่เป็นฆราวาสให้มากยิ่งขึ้นทั้งชายและหญิงพร้อมกับปรับสำนักงานใหม่โดยให้ความสำคัญอันดับแรกกับการประกาศพระวรสาร
ข้อความจำนวน 54 หน้า ในธรรมนูญที่ประกาศออกมาเมื่อวันเสาร์ที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 2022 – ซึ่งเป็นระยะเวลา 9 ปีนับจากวันที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้รับการเลือกขึ้นเป็นพระประมุขสูงสุดของพระศาสนจักรคาทอลิกตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 – ซึ่งพระองค์ตรัสอย่างชัดเจนถึงความปรารถนาของพระองค์ที่จะพัฒนาและกระจายอำนาจในการปกครองพระศาสนจักร เมื่อบรรดาพระคาร์ดินัลพากันมาประชุมกันที่กรุงโรมเพื่อแต่งตั้งผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งอ้ครสาวกเปโตร องค์ที่ 266 ถัดจากพระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ที่ได้ทรงลาออกไปจากตำแหน่ง
ภายใต้หัวข้อ จงประกาศพระวรสาร(Praedicate Evangelium) อันเป็นธรรมนูญฉบับใหม่ เน้นว่า การประกาศพระวรสารเป็นศูนย์กลางของพระศาสนจักร
“การปฏิรูปโรมันคูเรียยังถูกกำหนดขึ้นภายใต้บริบทในธรรมชาติที่เป็นธรรมทูตของพระศาสนจักร” นี่คือการเน้นของอารัมภบทของธรรมนูญนี้
ธรรมนูญฉบับใหม่ ณ ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นเพียงภาษาอิตาเลียน (ส่วนภาษาอื่น ๆ กำลังพิมพ์ออกมา) จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน ค.ศ. 2022 ซึ่งจะมาแทนธรรมนูญที่ออกมาเมื่อปี ค.ศ. 1988 ของพระสันตะปาปาจอห์น พอลที่ 2 ชื่อ “Pastor Bonus” (ผู้เลี้ยงแกะที่ดี)
การฟื้นฟูสำนักงานวาติกันทั้งเก่าและปัจจุบัน
ภายใต้ธรรมนูญใหม่เลขาธิการของสันตะสำนัก นครรัฐวติกัน – ซึ่งรับผิดชอบอย่างกว้างๆ ในการช่วยพระสันตะปาปาในการบริหารนครรัฐวาติกันและดำเนินงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับนานาชาติกับสันตะสำนัก – จะยังคงเป็นสำนักงานสูงสุดที่ดูแลหน่วยงานต่างๆ ของนครรัฐวาติกันอีก 16 สมณกระทรวง (Dicasteries ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษคือ Ministries หรือ กระทรวง)
โครงสร้างใหม่จะยกเลิกความแตกต่างระหว่างคำว่า “Congregations” และ “Pontifical Councils” (สมณสภาฯ) โดยการใช้คำใหม่ที่เป็นคำรวมว่า “dicastery” หรือแปลเป็นภาษาไทย “สมณกระทรวง”
สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือธรรมนูญได้แถลงว่า “ไม่ว่าสมาชิกที่เป็นฆราวาสผู้ใดก็สามารถเป็นประธานหรือมุขมนตรีของสมณกระทรวงได้” ซึ่งเปลี่ยนแปลงจากธรรมนูญของปี ค.ศ. 1988 ซึ่งกำหนดเป็นพิเศษไว้ว่า สมณกระทรวงแห่งวาติกันจะมีประธานหือสมณมนตรี โดยมีสมณศักดิ์ “พระคาร์ดินัลหรืออาร์ชบิชอป”
ในท่ามกลาง 16 สมณกระทรวง สมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชนจัดอยู่ในอันดับต้นเหนือสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ซึ่งเป็นสมณกระทรวงเก่าแก่นานนับด้วยศตวรรษ ที่เคยถือกันว่าเป็นสมณกระทรวงที่มีอำนาจมากที่สุดแห่งโรมันคูเรีย
เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำคัญของ สมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน พระสันตะปาปาจะเป็นสมณมนตรีโดยตรง – เหมือนดังที่พระสันตะปาปาเคยเป็นสมณมนตรีกำกับโดยตรง ณ สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมจนถึงปี ค.ศ. 1968
สมณกระทรวงใหม่จะรับผิดชอบด้วยความมุ่งมั่นของพระศาสนจักรในการประกาศพระวรสารทั่วโลกรวมทั้งสนับสนุนพระศาสนจักรที่ตั้งขึ้นใหม่ และแบ่งออกเป็น 2 แผนก กล่าวคือ แผนกแรกจะรับผิดชอบเรื่องปัญหาพื้นฐานที่เกี่ยวกับการประกาศพระวรสาร และแผนกที่สองดูแลพื้นที่ต่างๆ ที่มี “การประกาศพระวรสารเป็นครั้งแรก”
แผนกที่รับผิดชอบเกี่ยวกับปัญหาพื้นฐานจะดูแลเป็นพิเศษเกี่ยวกับ “การไตร่ตรองเรื่องประวัติศาสตร์แห่งการประกาศพระวรสารและพันธกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เป็นประเด็นสำคัญและเป็นเงื่อนไขแห่งพระวรสาร”
นอกจากนี้แล้วแผนกที่สองถูกคาดหวังว่าจะรับผิดชอบต่อพระศาสนจักรท้องถิ่นใน “กระบวนการปรับข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในกลุ่มที่มีวัฒนธรรม และชาติพันธุ์ที่แตกต่างกัน และช่วยการประกาศพระวรสารของพวกเขาโดยใส่ใจเป็นพิเศษถึงการแสดงออกซึ่งศรัทธาประชานิยม”
หลังจากการปฏิรูปสมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม ที่จัดอยู่ในอันดับสองในบรรดาสมณกระทรวงต่างๆ จะปฏิบัติตามการปรับโครงสร้างใหม่ของสมณกระทรวงที่ปรากฏในพระบัญชาของพระสันตะปาปาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ทรงแบ่งแผนกความเชื่อและพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะมีการประสานงานกับเลขาธิการต่างหาก ซึ่งทั้งสองแผนกจะรายงานตรงไปยังสมณมนตรีกระทรวงฯ
บัดนี้ธรรมนูญยังย้ายคณะกรรมการที่บริหารจัดการเรื่องการละเมิดทางเพศที่กระทำโดยสมณะ/นักบวช ซึ่งเดิมขึ้นกับสมณสภาเพื่อปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์ จากนี้ขอให้ขึ้นตรงอยู่ภายใต้สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรมด้วย การปรับโครงสร้างใหม่จากร่างเดิมของธรรมนูญซึ่งยืนยันว่าคณะกรรมการชุดนี้เป็น “สถาบันอิสระที่เชื่อมโยงกับสันตะสำนักโดยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาเพื่อรับใช้สันตะสำนัก”
ธรรมนูญใหม่ระบุว่าคณะกรรมการดังกล่าวจะยังคงประกอบด้วยประธานเลขาธิการ และสมาชิกที่แต่งตั้งโดยพระสันตะปาปา และจะยังคงดำเนินการต่อไปตามธรรมนูญของตนเอง
ประธานคนปัจจุบันของคณะกรรมการชุดนี้คือพระคาร์ดินัลฌอน โอมัลเลย์ (Sean O’Malley) อาร์บิชอปแห่งบอสตัน ซึ่งชื่นชมกับโครงสร้างใหม่โดยกล่าวในแถลงการณ์ของท่านว่า “เป็นครั้งแรกที่พระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทำให้การปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์เป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งแห่งโครงสร้างของศูนย์กลางการบริหารของพระศาสนสจักร ซึ่งได้แก่โรมันคูเรีย”
ในขณะเดียวกันพระคาร์ดินัลโอมัลเลย์ (O’Malley) กล่าวว่าการปรับโครงสร้างใหม่เป็นการสร้างหลักประกันในเรื่องของการปกป้องคุ้มครองผู้เยาว์ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมาก่อนสำหรับคูเรีย ซึ่งสมาชิกของคณะกรรมการเดิม นางแมรี่ คอลลินส์ (Marie Collins) ชาวไอริชผู้เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อเป็นผู้เยาว์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ลาออกจากจากคณะกรรมการในปี ค.ศ. 2017 เพราะด้วยความผิดหวังพร้อมกับใช้สื่อแสดงความห่วงใยโดยกล่าวว่าเธอได้สูญเสียความเป็นอิสระในการทำงานไป
ธรรมนูญใหม่ยังผนวกสมณสภาเดิมเข้ากับสมณกระทรวง ปรากฎในโครงสร้างใหม่ดังต่อไปนี้
- สมณสภาเพื่อวัฒนธรรมและสมณกระทรวงเพื่อการศึกษาคาทอลิกถูกรวมเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นสมณกระทรวงเพื่อวัฒนธรรมและการศึกษา
- สำนักงานการทำบุญให้ทานปัจจุบันที่รับผิดชอบงานกุศลแทนพระสันตะปาปาในกรณีที่เกิดวิบัติภัยทั่วโลกถูกรวมเข้าไปเป็น สมณกระทรวงเพื่อการรับใช้งานกุศลเมตตาจิต
- สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าและระเบียบเกี่ยวกับศีลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการปฏิรูปหลายอย่างได้รับพระบัญชาพิเศษให้ส่งเสริม พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ตามการฟื้นฟูของสภาสังคายนาวาติกันที่ 2
รายชื่อ 16 สมณกระทรวงที่มีการปฏิรูปใหม่ได้แก่
- สมณกระทรวงเพื่อการประกาศพระวรสารสู่ปวงชน
- สมณกระทรวงเพื่อพระสัจธรรม
- สนมณกระทรวงเพื่อรับใช้งานกุศล
- สมณกระทรวงเพื่อพระศาสนจักรจารีตตะวันออก
- สมณกระทรวงเพื่อการนมัสการพระเจ้าและระเบียบศีลศักดิ์สิทธิ์
- สมณกระทรวงเพื่อการสถาปนานักบุญ
- สมณกระทรวงเพื่อบรรดาบิชอป
- สมณกระทรวงเพื่อนักบวช
- สมณกระทรงเพื่อสถาบันชีวิตผู้ถวายตัวและสมาคมเพื่อชีวิตการแพร่ธรรม
- สมณกระทรวงเพื่อฆราวาส ครอบครัว และชีวิต
- สนมณกระทรวงเพื่อเอกภาพของบรรดาคริสตชน
- สมณกระทรวงเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา
- สนมณกระทรวงเพื่อวัฒนธรรมและการศึกษา
- สมณกระทรวงเพื่อการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม
- สมณกระทรวงเพื่อประมวลกฎหมายพระศาสนจักร
- สมณกระทรวงเพื่อการสื่อสารสังคม
สมณมนตรีของแต่ละสมณกระทรวงภายใต้ธรรมนูญใหม่จะทำหน้าที่ 5 ปี และต่อวาระการทำงานได้หนึ่งครั้ง จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงบุคลากรเมื่อมีการพิมพ์ธรรมนูญนี้ออกใช้ แต่มีการคาดหวังกันอย่างกว้างขวางในหลายเดือนข้างหน้านี้สำหรับสมณมนตรีปัจจุบันหลายท่านที่จะทำหน้าที่เกินกว่าที่จำกัดไว้ 5 ปี
นี่เป็นหนทางอันยืดยาวในการปฏิรูปและในการรับผิดชอบร่วมกัน
ตลอดเวลา 9 ปีแห่งสมณสมัยของพระสันตะปาปาฟรานซิส พระคาร์ดินัลที่ปรึกษาพิเศษกลุ่มหนึ่งของพระองค์จากทั่วโลกได้มีการพบปะกันอย่างสม่ำเสมอที่กรุงโรมโดยปกติแล้วจะเป็นปีละ 4 ครั้ง หน้าที่หลักคือการร่างธรรมนูญใหม่
ตามเนื้อหาใหม่ในธรรมนูญมุ่งที่จะส่งเสริม “เจคนารมณ์แห่งการบริหารงานแบบกระจายอำนาจ” ที่จะเพิ่มบทบาทให้มากที่สุดกับเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) และสภาบิชอปคาทอลิกเพื่อที่จะได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยการ “รับผิดชอบร่วมกัน” กับศูนย์กลางบริหารของพระศาสนจักร ณ กรุงโรม
บุคลากรทุกคนในโรมันคูเรียตามธรรมนูญ หน้าที่ที่สำคัญที่สุดก่อนสิ่งใดคือการบริการรับใช้ที่จะส่งเสริม “พันธกิจของพระสันตะปาปาและของบรรดาบิชอปในความรับผิดชอบต่างๆ ต่อพระศาสนจักรสากล”
“การรับใช้นี้ต้องได้รับแรงบันดาลใจและปฏิบัติไปด้วยจิตสำนึกสูงสุดแห่งการร่วมมือกัน รับผิดชอบร่วมกัน และให้ความเคารพต่อความเชี่ยวชาญของผู้อื่น”
by Christopher White Vatican
(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทตวามนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)