11 สิงหาคม
ระลึกถึงนักบุญกลารา พรหมจารี
[ St Clare, Virgin, memorial, (1193 – 1253) ]
เมื่อนักบุญฟรังซิส อัสซีซี ได้เทศน์สอนในวัด St George ที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในช่วงเทศกาลมหาพรต ปี ค.ศ. 1212 ท่านได้เป็นแรงบันดาลใจเด็กหญิงอายุ 18 ปีที่มีนามว่า กลารา (Chiara ซึ่งหมายถึง “แสงสว่าง” หรือ “รุ่งเรือง” ) ซึ่งมาจากครอบครัวขุนนางที่มีชื่อว่า “ฟาวารอนเน” (Favaronne) ให้ตัดสินใจจะติดตาม “ชายผู้ยากจน” (Il Poverello – สมญาของนักบุญฟรังซิส) ผู้ซึ่งมีชีวิตถือคุณธรรมความยากจนตามแบบพระคริสตเจ้า และด้วยคำแนะนำของนักบุญฟรังซิส เธอจึงหลบหนีออกจากปราสาทของพ่อแม่ในคืนวันอาทิตย์ใบลาน โดยมีป้าของเธอที่ชื่อว่า เบียงก้า (Bianca) และผู้ติดตามอีกคนหนึ่งร่วมเดินทางไปด้วย เธอเดินทางผ่านป่าไปยังวัดน้อย the Portiuncula ที่อยู่ในหุบเขา โดยมีนักบุญฟรังซิส และเพื่อนภราดารอเธออยู่ด้วยสัญญาณไฟฉาย และที่นี่เองที่เธอเปลี่ยนจากการสวมเสื้อผ้าราคาแพงมาเป็นเสื้อผ้าเนื้อหยาบ ตัดผมยาวแสนสวยของเธอให้สั้นลง และใช้ผ้าคลุมศีรษะ และเธอก็ทำปฏิญาณมอบถวายชีวิตรับใช้พระคริสตเจ้า
บิดาของเธอผู้ได้วางแผนจะจัดงานแต่งงานให้เธออย่างยิ่งใหญ่งดงามโกรธเธอมาก แต่ก็ไม่สามารถบังคับให้เธอออกมาจากคอนแวนต์ของคณะเบเนดิกติน ซึ่งเป็นสถานที่พักชั่วคราวของเธอได้ หลังจากนั้นไม่นานเธอได้สร้างคอนแวนต์แบบเรียบง่ายขึ้นมาเชื่อมติดกับวัดน้อย San Damiano ซึ่งเป็นวัดที่นักบุญฟรังซิสได้ซ่อมแซมขึ้นใหม่ ณ ที่ใหม่แห่งนี้ภายในเวลาสิบสี่วัน น้องสาวคนเล็กของเธอที่ชื่อ อักแนส ก็มาขออยู่ร่วมอุดมการณ์กับเธอด้วย ต่อมาคณะใหม่ที่มีชื่อว่า “กลาราผู้ยากจน” ( “Poor Clares” ) ก็เริ่มเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และภายในเวลาไม่กี่ปีต่อจากนั้นมารดาของเธอ (บุญราศี) ออร์โตลานา (Blessed) Ortolana และน้องสาวอีกคนหนึ่งของเธอชื่อ เบอาทริซ (Beatrice) และคุณป้าเบียงกา ต่างก็มามอบตนอยู่ใต้การนำของเธอ คณะของเธอนี้ได้แพร่หลายไปทั่วยุโรปในหลายๆประเทศตลอดระยะเวลา 40 ปีที่เธออยู่ในตำแหน่ง งานหลักคือการเอาใจใส่ดูแลและให้การศึกษากับเด็กหญิงทั้งหลายที่ยากจน บ้านแม่ของคณะที่อัสซีซีกลายเป็นสถานที่รับเลี้ยงเด็กของเธอ แทนที่จะเป็นที่พักเมื่อเธอเกษียณ นักบุญกลาราได้ช่วยเผยแพร่อิทธิพลของอุดมคติแบบฟรังซิสกันออกไปอย่างกว้างไกล และท่านนักบุญกลายเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจในการเข้ามาขอคำปรึกษา ซึ่งรวมทั้งพระสันตะปาปา 2 องค์ บรรดาพระคาร์ดินัลและพระสังฆราช และคนอื่นๆอีกจำนวนมาก
แรกทีเดียว สมาชิกของคณะดำรงชีวิตโดยปราศจากระเบียบวินัยที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพียงแต่ดำเนินตามคำแนะนำที่เป็น “รูปแบบชีวิต” (formula of life) สั้นๆ ที่นักบุญฟรังซิสได้แต่งไว้ และทำตามคำแนะนำที่ท่านจะให้อีกเป็นการส่วนตัวเท่านั้น แต่พระคาร์ดินัล Ugolini ซึ่งเป็นผู้ดูแลคณะใหม่นี้ ได้เขียนระเบียบวินัยขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1219 โดยถือตามพื้นฐานเดียวกันกับของคณะเบเนดิกตินและห้ามการถือความยากจนของส่วนกลาง และเขาได้พยายามถึง 9 ปีให้นักบุญกลารายอมรับระเบียบวินัยนี้ แต่ไม่สำเร็จ นักบุญกลารายืนยันอย่างแข็งขันในอุดมคติของนักบุญฟรังซิส ในการถือความยากจนอย่างสูงสุด และให้ขึ้นอยู่กับทานบริจาคเท่านั้น ในที่สุดพระคาร์ดินัลองค์นั้นก็ยอมให้เป็นไปตามนั้น ต่อมาพระคาร์ดินัล Ugolini นี้ได้เป็นพระสันตะปาปาพระนามว่า เกรโกรี ที่ 9 (Pope Gregory IX) พระองค์ได้ออกสมณลิขิตที่มีชื่อเสียงคือ Priviligium Paupertatis ( = เกี่ยวกับเอกสิทธิ์ของการถือความยากจน ) ซึ่งเป็นเอกสารฉบับแรกของเรื่องเกี่ยวกับความยากจนที่ได้ออกมา และต่อมาระเบียบวินัยที่ตราขึ้นมานี้ก็ได้รับการยืนยันอย่างสง่าโดยพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ ที่ 4 (Pope Innocent IV) ซึ่งการประกาศยืนยันนี้ได้ออกมาสองวันก่อนที่นักบุญกลาราจะสิ้นชีพ แท้จริงแล้วพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ได้ไปเยี่ยมนักบุญกลาราที่ใกล้จะสิ้นชีพ (ที่สืบเนื่องมาจากความเจ็บไข้ได้ป่วยหลายปีก่อนหน้านี้) ขณะนั้น ภราดาผู้ร่วมงานกับนักบุญฟรังซิสตั้งแต่สมัยแรกๆ สามท่านกำลังผลัดกันอ่านเสียงดังจากเรื่องพระทรมานของพระเยซูเจ้า ที่เขียนไว้โดยนักบุญยอห์น ผู้นิพนธ์พระวรสาร โดยทำเช่นเดียวกับที่ได้ทำเมื่อ 27 ปีที่แล้วต่อหน้า “ชายผู้ยากจน” ( = Il Poverello ) คนนั้น (คือ นักบุญฟรังซิส อัสซีซี) ผู้กำลังใกล้จะตายที่ Portiuncula ในขณะที่ “ดอกไม้น้อยๆ ของนักบุญฟรังซิส” (the Little Flower of St Francis) หรืออาจเรียกว่า “สุภาพสตรีผู้ยากจน” (Lady Poverty) ได้จากไปอย่างสงบไปสู่รางวัลที่เธอสมจะได้รับเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 1253 เมื่อายุ 59 ปี
พิธีปลงศพของนักบุญกลารามีผู้มาร่วมพิธีคือพระสันตะปาปาและบรรดาเจ้าหน้าที่ของสันตะสำนักด้วย สองปีต่อมาผู้ก่อตั้งคณะหญิงผู้ศักดิ์สิทธิ์นี้ได้รับประกาศแต่งตั้งเป็นนักบุญอย่างสง่าเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1255 และเพื่อความปลอดภัย ร่างกายของท่านถูกฝังไว้อย่างลึกภายใต้พระแท่นหลักในวัดใหม่ที่สร้างขึ้นที่อัสซีซี เพื่อเป็นเกียรติแด่เธอในปี ค.ศ. 1260 และร่างกายของท่านไม่ถูกค้นพบจนกระทั่งปี ค.ศ. 1850 บัดนี้ ร่างกายของท่านนักบุญประดิษฐานอยู่ในวัดน้อยที่อยู่ชั้นใต้ดิน ที่ซึ่งมีนักจาริกแสวงบุญมากมายนับไม่ถ้วนมาเยี่ยมเยียนและแสดงความเคารพ
นักบุญกลารามีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ที่น่าตื่นเต้น เพราะมีสงครามครูเสด (Crusades) และเป็นช่วงที่จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire) กำลังรุ่งเรือง ท่านนักบุญเป็นฟรังซิสกันหญิงคนแรก และรวมทั้งเป็นฟรังซิสกันหญิงคนแรกที่เป็นนักบุญ ภาพวาดของท่านที่เป็นศิลปะทางศาสนามักจะเป็นรูปที่ท่านกำลังถือหรือชูผอบศีล (a ciborium) ความหมายลึกๆที่ซ่อนอยู่คือนักบุญกลารามีความศรัทธาอย่างลึกซึ้งต่อศีลมหาสนิท ซึ่งได้ช่วยให้คอนแวนต์ของท่านและเมืองอัสซีซีได้รอดพ้นจากการปล้นสะดมของพวกแขกซาราเซนส์ของพระเจ้าเฟรเดริค ที่ 2 (Frederick II) ไม่น้อยกว่าสองครั้งด้วยกัน กล่าวคือ ในปี ค.ศ. 1940 และ ค.ศ. 1941 เมื่อท่านอ้อนวอนขอจากองค์พระผู้เป็นเจ้าในศีลมหาสนิท “โอ้องค์พระผู้เป็นเจ้าที่รัก ลูกวอนขอพระองค์ทรงปกป้องพวกเขาเหล่านี้ ซึ่งลูกเองไม่สามารถปกป้องพวกเขาได้” ประวัติเล่าว่า กองทหารที่จะมาปล้นชาวเมืองนั้นกลับหันหลังและหนีไป (บางรูปวาดอาจจะเห็นว่าท่านนักบุญถือรัศมีที่บรรจุศีลมหาสนิทชูขึ้นสูง ก็พบเห็นด้วยเช่นกัน)
ในปี ค.ศ. 1958 นักบุญกลาราได้รับการประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของวงการโทรทัศน์ โดยพระสันตะปาปาปีโอ ที่ 12 อ้างอิงจากเหตุการณ์ที่ท่านนักบุญได้มองเห็นภาพมิสซาคริสต์มาสตอนเที่ยงคืนที่กำลังประกอบพิธีในบาสิลิกานักบุญฟรังซิส (the Basilica of San Francesco) ที่อยู่ห่างไกลไปอีกด้านของเมืองอัสซีซี แม้ว่าขณะนั้นท่านยังนอนอยู่บนเตียงคนป่วยของท่าน
(ถอดความโดย คุณพ่อวิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)