วันศุกร์, 10 มกราคม 2568
  

17 พฤศจิกายน ระลึกถึงนักบุญ เอลีซาเบ็ธ แห่งฮังการี นักบวช (1207 – 1231) ( St Elizabeth of Hungary, Religious, memorial )

17 พฤศจิกายน
ระลึกถึงนักบุญ เอลีซาเบ็ธ แห่งฮังการี นักบวช (1207 – 1231)
( St Elizabeth of Hungary, Religious, memorial )

นักบุญเอลีซาเบ็ธ เป็นพระธิดาของกษัตริย์อันดรูว์ที่ 2 (King Andrew II) แห่งฮังการี กับพระนาง Gertrude of Andechs – Meran (และเป็นหลานของนักบุญเฮดวิก = St Hedwig) ทรงถูกหมั้นหมายไว้ตั้งแต่เด็กกับหลุยส์ที่ 14 พระโอรสของ Hermann I, Landgrave of Thuringia ดังนั้นตั้งแต่อายุ 4 ขวบก็ได้รับการเลี้ยงดูที่ปราสาท Wartburg และได้รับการศึกษาที่สำนักแห่ง Thuringia ซึ่งเป็นสำนักที่โดดเด่นและเจริญรุ่งเรืองมากในเยอรมันสมัยนั้น นอกจากจะมีความศรัทธามากมาตั้งแต่เยาว์วัยแล้ว ทำให้ต่อมาเธออุทิศตนทำงานสังคมสงเคราะห์และด้วยความสุภาพ เธอจึงปฏิเสธที่จะสวมมงกุฎที่ทำด้วยเพชรและทองเข้าวัด – “ฉันจะทำเช่นนั้นได้อย่างไร ในเมื่อองค์พระผู้เป็นเจ้าที่ฉันรักทรงสวมเพียงแค่มงกุฎหนาม”

และเมื่อถึงอายุ 14 ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกในสมัยนั้น เอลีซาเบ็ธก็ได้อภิเษกสมรสกับหลุยส์ที่ 14 และได้มีพระโอรสและพระธิดารวม 3 พระองค์ การทำพลีกรรม การจำศีลอดอาหาร การทรมานตน และการภาวนา เป็นสิ่งที่เธอปฏิบัติเพราะเป็นหนทางที่นำไปสู่ความครบครัน และหลุยส์พระสวามีก็ทรงสนับสนุนให้เธอทำงานช่วยเหลือบรรดาคนยากจน และอีกสิ่งที่เธอรัก คือการแสดงความรักและความเอาใจใส่ต่อบรรดาคนเจ็บไข้ได้ป่วย ในช่วงปีแรกของการแต่งงานที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข บรรดาภราดาคณะฟรังซิสกันได้เดินทางมาถึงประเทศเยอรมัน และเอลีซาเบ็ธก็ได้กลายเป็นฟรังซิสกันชั้นที่สามเป็นคนแรก – ซึ่งเรื่องนี้นำความยินดีใหญ่หลวงให้แก่นักบุญฟรังซิส อัสซีซี จะเห็นได้จากการที่นักบุญฟรังซิสได้เขียนจดหมายพร้อมทั้งส่งเสื้อคลุม(แบบนักบวช)ของท่านมาให้เอลีซาเบ็ธด้วย ที่นักบุญฟรังซิสได้ทำเช่นนั้น ก็เพราะพระคาร์ดินัลผู้ปกป้องท่าน (his Cardinal – protector) ได้แนะนำให้ทำ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสองสามปีก่อนที่นักบุญฟรังซิสจะสิ้นชีพ

ในปี ค.ศ. 1227 พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้สวรรคตในระหว่างเดินทางไปทำสงครามครูเสดครั้งที่ 6 ด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ ( “Typhus” ) ต่อมามีผู้นำพระศพกลับมาโดยพวกทหารที่ไปรบในสงคราม เหตุการณ์นี้ทำให้พระนางเอลีซาเบ็ธที่เพิ่งมีพระชนมายุ 20 พรรษา ต้องโศกเศร้าและหมดที่พึ่งพิง กษัตริย์องค์ใหม่คือพระเจ้าเฮนรี (ซึ่งเป็นพระอนุชาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14) ได้ขึ้นครองราชย์แทน พระนางเอลีซาเธ็ธไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทรงไปลี้หลบภัยอยู่กับท่านลุงของเธอที่ชื่อว่า Eckbert ซึ่งเป็นพระสังฆราชของเมือง Bamberg ผู้ซึ่งพร้อมกับ Mechtilde แม่อธิการแห่ง Kitzinger ได้ช่วยกันทวงสิทธิอันชอบธรรมให้กับเอลีซาเบ็ธ หลังจากนั้นไม่นาน เอลีซาเบ็ธ ได้แจกจ่ายทรัพย์สมบัติที่มั่งคั่งของเธอให้บรรดาคนจน และหลังจากได้ปกป้องสิทธิต่างๆ ของพระโอรสและพระธิดา รวมทั้งได้จัดวางอนาคตให้พวกเขาเรียบร้อยแล้ว เธอก็เกษียณตัวเองไปอยู่ที่เมือง Marburg ที่นี่เธอได้สร้างโรงพยาบาลเป็นเกียรติแด่นักบุญฟรังซิส โดยที่เธอลงไปดูแลพวกที่เป็นโรคเรื้อนด้วยตัวเอง มีอัศจรรย์มากมายเกิดขึ้นในการเยียวยารักษาทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งเกิดจากคำภาวนาของเธอ ปังและเหล้าองุ่นก็ทวีขึ้นอย่างอัศจรรย์เมื่อเธอภาวนาวอนขอ พระเยซูเจ้าและพระแม่มารีย์ทรงโปรดปรานเธอด้วยการประจักษ์มาหลายครั้ง เช่นในภาพนิมิตครั้งหนึ่งพระแม่มารีย์ได้ทรงเผยให้กับนักบุญเอลีซาเบ็ธว่า “พระนางได้ทรงตัดสินพระทัยที่จะมีองค์พระผู้เป็นเจ้าเป็นพระบิดาแต่ผู้เดียว และตั้งพระทัยตลอดว่าจะทำให้พระองค์พอพระทัยมากที่สุด”

เมื่อได้ทำตามคำของ Konrad von Marburg คุณพ่อผู้นำวิญญาณ ที่แนะนำให้เธอมอบทรัพย์สินทั้งหมดให้กับคนยากจนแล้ว (ยกเว้นชุดนักบวชเก่าๆ หนึ่งตัวที่เธออยากให้ฝังไปพร้อมกับเธอ) เอลีซาเบ็ธก็ลาจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1231 อายุเพียง 24 ปีเท่านั้น หลังจากนั้นมีอัศจรรย์เกิดขึ้นมากมายที่หลุมศพของเธอ ทำให้เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1235 โดยพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 9 บรรดาผู้ที่มาจาริกแสวงบุญที่สักการสถานของเธอมีจำนวนมากเกือบเท่าที่ Compostela (ของสเปน) เลยทีเดียว แต่ในปี ค.ศ. 1539 ผู้นำที่ชื่อ Landgrave of Hess ซึ่งเป็นโปรเตสตันท์ ออกคำสั่งห้าม และย้ายพระธาตุของเธอไปที่อื่น นักบุญเอลีซาเบ็ธได้รับการยกย่องให้เป็นผู้อุปถัมภ์คณะฟรังซิสกันชั้นสาม และนักการธนาคาร

ข้อรำพึง : “เราควรให้ทุกสิ่งที่เราสามารถให้ได้ ด้วยความยินดี และด้วยความกรุณา”

  • St Elizabeth of Hungary

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)