วันศุกร์, 10 มกราคม 2568
  

4 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี [St. Francis of Assisi (C. 1181 – 1226)]

4 ตุลาคม ระลึกถึงนักบุญฟรังซิส แห่งอัสซีซี
[St. Francis of Assisi (C. 1181 – 1226)]

นักบุญฟรังซิส เกิดที่เมืองอัสซีซี ประเทศอิตาลี ในปี ค.ศ.1181 (หรือ 1182) ครอบครัวมีฐานะมั่งคั่ง และเจริญชีวิตอย่างหรูหรา จึงได้รับความสะดวกสบายทุกอย่าง แรกเกิดได้รับชื่อทางคริสตชนว่า โจวานนี (Giovanni) โดยแม่ซึ่งชื่อว่า โจวานนา (Giovanna) เป็นผู้ตั้งให้ แต่ได้รับการตั้งชื่อใหม่เป็น ฟรานเชสโก (Francesco) โดยพ่อที่ร่ำรวยของท่านที่ชื่อว่า ปิเอโตร ดิ แบร์นาร์โดเน (Pietro di Bernardone) ผู้ซึ่งในเวลาที่ฟรังซิสเกิดมา เขากำลังเดินทางไปทำธุรกิจอยู่ที่อื่น

เหมือนกับหนุ่มๆ ทั่วไปในสมัยนั้น ฟรังซิสเป็นหนุ่มเจ้าสำราญที่มีชื่อเสียง แต่ขณะเดียวกันพวกหนุ่มๆ ก็อยากเป็นอัศวินตามความนิยมของคนในสมัยนั้น และฟรังซิสก็ได้เป็นสมใจ คือในปี ค.ศ. 1202 เมืองอัสซีซีทำสงครามกับเมืองเปรูจา (Perugia) ที่อยู่ใกล้เคียง ท่านได้สวมชุดอัศวินและไปทำสงครามในครั้งนี้ ผลคือท่านถูกจับ และถูกนำตัวไปขังคุกไว้เป็นเวลา 1 ปี หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา และหลังจากที่ท่านหายจากการเจ็บป่วยขั้นรุนแรง ท่านพยายามจะเข้าร่วมรบอีกในปลายปี ค.ศ.1205 โดยเข้าร่วมกับกองกำลังของพระสันตะปาปาต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าเฟรเดริคที่ 2 (Frederick II) ที่เมือง Apulia แต่ก็เป็นความพยายามที่สูญเปล่าเมื่อภาพนิมิตที่เมือง Spoleto ได้บอกให้ท่านกลับไปยังเมืองอัสซีซี และจากที่นั่น ให้รอคอยกระแสเรียกของการเป็นอัศวินชนิดใหม่ ซึ่งจะทำให้ท่าน “ได้รับใช้พระอาจารย์เจ้ามากกว่ามนุษย์” – นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการกลับใจ

  • ในการปลีกวิเวกและภาวนา ท่านแสวงหาที่จะพบพระประสงค์ของพระเจ้าที่มีสำหรับตัวท่าน การค้นพบใหม่เรื่องของคนยากจนและเจ็บป่วยมาถึงจุดสูงสุดตอนที่ท่านลงจากหลังม้าแล้วให้ทานกับคนโรคเรื้อนตามทาง และมหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้น ท่านดึงคนโรคเรื้อนที่น่ารังเกียจเข้ามาโอบกอด เหตุการณ์นั้น จากคำของท่านเองได้เปลี่ยนจาก “ความขมขื่นไปสู่ความอ่อนหวาน”
  • ต่อมาได้รับคำสั่งที่ออกมาจากกางเขนวัดซานดามิอาโนให้ซ่อมแซมวัดที่เหลือแต่ซากปรักหักพัง แรกๆ ท่านใช้เงินทุนจากทางบ้านมาซ่อมแซม แต่พ่อของท่านไม่พอใจ ท่านจึงสละทุกสิ่ง และคืนทุกอย่างให้กับผู้เป็นพ่อ จากหนุ่มร่ำรวยกลายเป็นขอทานชั่วข้ามคืน ท่านทำเช่นนี้เพื่อเห็นแก่พระอาจารย์เจ้าผู้ยิ่งใหญ่ของท่านนั่นเอง
  • ต่อมา แม้ท่านเป็นเพียงฆราวาส แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากพระวรสาร มธ 10 : 5-14 จึงเริ่มเดินทางประกาศพระวาจาแก่ทุกคน การดำรงชีวิตเรียบง่าย และคำสอนของท่านดึงดูดชายหนุ่มมากมายให้มาติดตาม วันที่ 16 เมษายน ค.ศ. 1209 ท่านก็ตั้งเป็นคณะนักบวช “ภราดาน้อย” ขึ้นมา มีคติพจน์คือ “ติดตามคำสั่งสอนขององค์พระเยซูคริสตเจ้าของเรา และเดินตามรอยพระบาทของพระองค์” โดยมีพระนางมารีย์ ราชินีแห่งนิกรเทวดาเป็นผู้นำทางและปกป้อง ต่อมาพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 3 ทรงรับรองคณะที่ตั้งใหม่นี้
  • บรรดาภราดา แต่งชุดสีน้ำตาล เดินทางจากเหนือสู่ใต้ของอิตาลีและนอกดินแดนอิตาลีด้วย ได้ทำการเทศน์สอนด้วยความร้อนรนและศรัทธาเข้มแข็ง จึงมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากมาย ในปี ค.ศ.1219 ซึ่งมีการประชุมของคณะ ปรากฏว่ามีภราดาราว 5,000 คนเข้าร่วม
  • ฟรังซิส ปฏิเสธอย่างสุภาพไม่รับศีลบวชเป็นพระสงฆ์ ด้วยความเคารพต่อความเป็นสงฆ์ ซึ่งเป็นศักดิ์ศรีที่ท่านถือว่าตนเองไม่คู่ควร
  • ฟรังซิส เป็นคนแรกที่คิดและทำถ้ำพระกุมารขึ้นมาเป็นครั้งแรก ในการเฉลิมฉลองวันคริสต์มาสในปี ค.ศ.1223
  • ในปี ค.ศ.1224 ในวันฉลองเทิดทูนกางเขน ในขณะที่ท่านรำพึงถึงเรื่องพระทรมานของพระคริสตเจ้า ท่านได้รับพระพรให้เกิดตราประทับเป็นรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ทั้งห้าขององค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงถูกตรึงกางเขนบนตัวของท่าน นี่ถือว่าเป็นการบันทึกครั้งแรกเกี่ยวกับเรื่องรอยประทับของรอยแผลศักดิ์สิทธิ์
  • ฟรังซิสพิจารณาว่า ธรรมชาติเป็นกระจกส่องของพระเจ้า จึงเขียนบทเพลงสดุดีขึ้นมา ชื่อว่า Brother Sun และกลายเป็นบทเพลงสดุดีที่มีชื่อเสียงของท่าน
  • ท่านได้รับความยากลำบากจากโรคภัยเกี่ยวกับตา และร่างของท่านมีอาการบวมน้ำ แต่ท่านสวดด้วยความอดทนว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าขอบพระคุณพระองค์สำหรับความเจ็บปวดที่ข้าพเจ้าได้รับ”
  • ความหมายของความยากจน ซึ่งเป็นพื้นฐานคุณธรรมของฟรังซิสไม่เพียงปรากฏแต่เพียงภายนอกว่ายากจนเท่านั้น แต่ท่านสละตัวตนจนหมดสิ้นเหมือนพระคริสตเจ้าที่ท่านได้ค้นพบใน ฟป 2 : 7 และจะเห็นชัดเจนมากขึ้น ตอนกำลังจะตายท่านได้ขอและได้รับอนุญาตจากอธิการของท่านให้ตายอย่างเปลือยเปล่าบนพื้นดินว่างเปล่า ในแบบเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าและพระอาจารย์เจ้าของท่าน คือพระเยซูคริสตเจ้าที่ท่านรักนั่นเอง
  • (จากประวัติของนักบุญกลารา พรหมจารี ที่เราระลึกถึงวันที่ 11 สิงหาคม ซึ่งเป็นผู้ติดตามนักบุญฟรังซิสและจิตตารมณ์ของท่านอย่างใกล้ชิด ได้เล่าว่าก่อนที่นักบุญกลาราจะสิ้นใจ เพื่อนรุ่นแรกๆสามคนของนักบุญฟรังซิส ได้อ่านบทพระทรมานของพระเยซูเจ้าตามคำบอกเล่าของนักบุญยอห์นดังๆให้ท่านได้ฟัง เหมือนที่พวกเขาได้เคยทำเช่นนี้เมื่อ 27 ปีก่อนหน้านั้นให้นักบุญฟรังซิสได้ฟังก่อนสิ้นชีพที่ Portiuncula ที่เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า ก่อนที่นักบุญฟรังซิสจะสิ้นชีพ ท่านได้ขอให้เพื่อนๆสามคนแรกที่ติดตามท่านอ่านพระทรมานของพระเยซูเจ้าที่เล่าโดยนักบุญยอห์นให้ฟังก่อนจากโลกนี้ไป)
  • วันที่ 3 ตุลาคม ค.ศ. 1226 ฟรังซิสสิ้นลมหายใจที่ Portiuncula (=”little portion” อยู่ในวัดที่ชื่อ พระนางมารีย์แห่งนิกรเทวดา) ซึ่งเป็นที่ที่ท่านได้รับการเผยแสดงถึงพันธกิจของท่าน และเป็นที่กำเนิดของคณะภราดาของท่าน ร่างของท่านแต่แรกฝังไว้ที่วัด ซาน จอร์โจ ที่อัสซีซี เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม แต่ต่อมาเคลื่อนมาไว้ที่บาสิลิกาที่ตั้งเป็นเกียรติแก่ท่าน เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 1230
  • ได้รับการประกาศเป็นนักบุญวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ.1228 โดยพระสันตะปาปา เกรโกรี ที่ 9
  • พระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ 15 เรียกท่านว่า “เป็นภาพพจน์ที่ครบสมบูรณ์ที่สุดของพระคริสต์ที่เคยมีมา” (the “most perfect image of Christ” that ever lived!)
  • ในปี ค.ศ.1916 ท่านได้ถูกประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของกิจการคาทอลิก
  • ในปี ค.ศ.1926 พระสันตะปาปา ปีโอ ที่ 11 ขนานนามท่านว่าเป็น “พระคริสตเจ้าอีกองค์หนึ่ง” (alter Christus = another Christ)
  • ใน Encyclopaedia Britannica กล่าวเกี่ยวกับท่านว่า “บางทีไม่มีใครเลยในประวัติศาสตร์ที่จะปฏิบัติตนเองอย่างจริงจังเช่นนี้ เช่นที่ฟรังซิสได้ทำ คือเลียนแบบชีวิตของพระคริสตเจ้า และปฏิบัติงานของพระคริสต์จนสำเร็จในแบบที่พระคริสต์เองทรงกระทำ นี่คือกุญแจแห่งคุณลักษณะและจิตตารมณ์ของนักบุญ ฟรังซิส ถ้าละทิ้งแง่มุมนี้จะทำให้ไม่พบดุลภาพของนักบุญที่เป็นผู้รักธรรมชาติ นักสังคมสงเคราะห์ นักเทศน์ที่เดินทางไปทั่ว และเป็นผู้รักความยากจน”
  • ในปี ค.ศ.1939 นักบุญที่น่ารักองค์นี้ได้รับการประกาศเป็นองค์อุปถัมภ์ของประเทศอิตาลี

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)