วันพฤหัสบดี, 2 มกราคม 2568
  

วันที่ 10 สิงหาคม ฉลองนักบุญลอเรนซ์ สังฆานุกร และมรณสักขี (St Lawrence, Deacon & Martyr, feast)

วันที่ 10 สิงหาคม
ฉลองนักบุญลอเรนซ์ สังฆานุกร และมรณสักขี
(St Lawrence, Deacon & Martyr, feast)

            นักบุญลอเรนซ์เป็นหนึ่งในบรรดานักบุญ ซึ่งในการยอมตายเป็นมรณสักขีของพวกท่าน ได้ก่อให้เกิดความประทับใจอย่างลึกซึ้งต่อพระศาสนจักรในสมัยแรกๆ ตามที่นักบุญอัมโบรสได้เล่าไว้ จากที่เล่าต่อๆกันมาด้วยปากเปล่าว่าการเป็นมรณสักขีของท่านเป็นการถูกย่างทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงแก่ความตาย

            โดยคำสั่งของจักรพรรดิวาเลเรียน (Emperor Valerian) ในปี ค.ศ. 258 ให้ประหารชีวิตผู้เป็นคริสตชนทุกคน และให้ยึดทรัพย์สินทั้งหมดด้วย ทำให้พระสันตะปาปาซิสตุส ที่ 2 (Pope Sixtus II) ถูกจับพร้อมกับสังฆานุกรของพระองค์จำนวน 4 คนจากทั้งหมด 7 คน และกำลังจะถูกนำไปฆ่าทิ้ง ลอเรนซ์เป็นทุกข์ใจที่ท่านไม่ได้ถูกจับกุมไปด้วย พระสันตะปาปาได้ทรงปลอบใจท่านว่า “ลูกเอ๋ย อย่าร้องไห้ไปเลย ในอีก 3 วันต่อจากนี้ ลูกจะได้ตามพ่อไป” และก็เกิดขึ้นจริง ด้วยว่าลอเรนซ์ซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินและการเงินของพระศาสนจักรในขณะนั้น ได้ถูกเรียกตัวมาอยู่ต่อหน้าผู้สำเร็จราชการของกรุงโรม และเขาคิดว่าพวกคริสตชนต้องมีทรัพย์สินมากมาย จึงออกคำสั่งยึดทรัพย์เพื่อเอามาเข้าคลังของจักรพรรดิ

            ลอเรนซ์ตอบตกลง และขอเวลาสามวันในการรวบรวมทรัพย์สิน แต่ท่านกลับแจกจ่ายทรัพย์สินทั้งหมดที่มีออกไปจนหมดเกลี้ยง สามวันต่อมาท่านรวบรวมคนฝูงใหญ่มา ประกอบไปด้วยคนตาบอด คนใบ้ คนง่อยเปลี้ยเสียขา คนโรคเรื้อน บรรดาหญิงหม้าย และลูกกำพร้า และคนยากคนจนอื่นๆอีกมาก มายืนอยู่ต่อหน้าผู้สำเร็จราชการ แล้วประกาศอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “พวกผู้คนเหล่านี้คือทรัพย์สมบัติของพระศาสนจักร” ผู้สำเร็จราชการโกรธมากที่ถูกซ้อนกลเช่นนี้ จึงสั่งให้นำท่านไปเผาให้ตายอย่างช้าๆ เพื่อให้ทรมานมากๆ ขณะที่อยู่บนตะแกงเผาที่ลุกร้อน ท่านยังมีอารมณ์ขันโดยได้พูดกับผู้พิพากษาและพวกที่จับท่านประหารเป็นภาษาลาตินว่า : “Assum est; versa, et manduca!” แปลว่า “สุกพอดีแล้ว จงหันมันขึ้นมา และกินซะ”

            นักบุญลอเรนซ์ได้สิ้นชีพในขณะที่กำลังภาวนาให้กับกรุงโรม ท่านได้รับชัยชนะสมกับความหมายของชื่อท่านว่าเป็น “เกียรติที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระศาสนจักร” (great “laurels” for the Church – “laurel” = พืชเขียวชอุ่มขนาดเล็ก ใบของพืชดังกล่าวใช้ประดับเป็นสัญลักษณ์แห่งเกียรติยศ)

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)