วันอังคาร, 21 มกราคม 2568
  

22 กรกฎาคม ฉลองนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา (St Mary Magdalene, feast)

22 กรกฎาคม
ฉลองนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา
(St Mary Magdalene, feast)

พระวรสารทั้งหมดต่างเห็นคล้องต้องกันถึงบทบาทสำคัญของนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ที่ไม่มีใครเหมือนในบรรดาผู้ติดตามพระเยซูเจ้าทั้งหลาย ชื่อ “มักดาลา” อาจมีที่มาจากสถานที่เกิดของท่าน คือมีเมืองชื่อ มักดาลา ตั้งอยู่ใกล้ทิเบเรียส บนชายฝั่งทะเลสาบกาลิลี ตามธรรมประเพณีโบราณของพระศาสนจักรลาตินเชื่อว่า มารีย์ ผู้เป็นคนบาป เป็นคนเดียวกับมารีย์ แห่งเบธานี ซึ่งเป็นน้องสาวของมารธาและลาซารัส และเป็นคนเดียวกับ มารีย์ ชาวมักดาลา มารีย์คนนี้ที่ถูกเรียกว่า “ชาวมักดาลา” เป็นผู้ที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงขับไล่ผีเจ็ดตนออกไปจากนาง คนบาปผู้นี้ได้ชโลมพระบาทของพระองค์ด้วยความรัก และตามพระวรสารของนักบุญยอห์น ที่เล่าว่าคือ มารีย์ แห่งเบธานี (ดังนั้นก็เป็นน้องสาวของมารธา) ผู้ซึ่ง “นั่งแทบพระบาทขององค์พระผู้เป็นเจ้า และคอยฟังพระวาจาของพระองค์” แต่อย่างไรก็ตาม พระศาสนจักรตะวันออก ให้ความเคารพนับถือมารีย์โดยแยกแยะเป็นสามบุคคลที่ต่างกัน นักพระคัมภีร์ และนักวิชาการต่างๆในปัจจุบันส่วนใหญ่ ก็เชื่อว่าเป็นสามบุคคลแตกต่างกัน

มารีย์ชาวมักดาลาซึ่งเป็นผู้ติดตามที่รักพระองค์อย่างเหลือล้นผู้นี้ ได้ยืนอยู่กับพระมารดาผู้เป็นที่รักของพระองค์แทบเชิงกางเขนของพระเยซูเจ้า ท่านยังเป็นพยานในการฝังพระองค์ในพระคูหา และเป็นคนแรกที่ได้เห็นทั้งพระคูหาที่ว่างเปล่า และได้เห็นพระอาจารย์เจ้าผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพ (the risen “Rabboni”) ในเช้าตรู่ของวันปัสกา โดยแท้จริงแล้ว เป็นท่านเองที่ถูกส่งไปโดยพระผู้ทรงกลับฟื้นคืนพระชนมชีพให้นำข่าวดีไปแจ้งให้อัครสาวกคนอื่นๆทราบ ภารกิจนี้ทำให้ท่านได้รับขนานนามว่าเป็น “อัครสาวกของบรรดาอัครสาวก” (= Apostle to the Apostles) ในสมัยพระศาสนจักรแรกเริ่ม

ชาวคาทอลิกนับถือนักบุญมารีย์ ชาวมักดาลา ว่าเป็นแบบอย่างของชีวิตรำพึงภาวนา และของการเป็นทุกข์กลับใจ ท่านอาจสิ้นชีพที่เมืองเอเฟซัส

(ถอดความโดย คุณพ่อ วิชา หิรัญญการ จากหนังสือ Saint Companions For Each Day ; เขียนโดย A.J.M. Mausolfe และ J.K. Mausolfe)