พระสันตะปาปาฟรานซิสได้เปิดการประชุมซีนอดเรื่อง “การก้าวเดินไปด้วยกัน” โดยอาศัยการฟังเสียงของพระจิตเจ้า อันเป็นแกนกลางของการดำเนินงานของพระสันตะปาปาฟรานซิส พระองค์ทรงเรียกคริสตชนทุกคนให้นำเรื่องการก้าวเดินไปด้วยกันมาปฏิบัติใช้ ให้เป็นดั่ง “รูปแบบหรือสไตล์ธรรมทูต” ของพระศาสนจักร เพื่อที่จะได้มองเห็นความท้าทายต่าง ๆ ในโลกปัจจุบัน อย่างที่พระองค์ทรงย้ำแก่บรรดาบิชอปชาวฝรั่งเศส ในการประชุม ณ กรุงโรม : “การก้าวเดินไปด้วยกัน คือ ลักษณะของการเป็นพระศาสนจักรตามพระประสงค์ของพระเจ้า โดยผ่านการฟังและการไตร่ตรองแยกแยะโดยอาศัยพระจิตเจ้า” “การก้าวเดินไปด้วยกัน คือ ลักษณะการเป็นพระศาสนจักรยุคแรก” (กจ 15) และการก้าวเดินไปด้วยกันจะต้องเป็นลักษณะของพวกเรา” ซึ่งข้อความดังกล่าวได้ปรากฎอยู่ในเอกสารสุดท้ายของการประชุมซีนอดว่าด้วยภูมิภาคอเมซอน (§ 87)
การประชุมซีนอด ซึ่งมีหัวข้อทางการ คือ “เพื่อพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน : เอกภาพ – การมีส่วนร่วม – พันธกิจ” ได้เริ่มขึ้นในวันที่ 9-10 ตุลาคม ค.ศ. 2021 ที่กรุงโรม โดยพระสันตะปาปาฟรานซิส จุดประสงค์ของการประชุมซีนอดนั้นชัดเจน อันได้แก่ การกลับใจของพระศาสนจักรภายใต้การก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งอาศัยกระบวนการที่ประชากรของพระเจ้าในทุกสังฆมณฑลท้องถิ่นทั่วโลกมีส่วนร่วม
ชีวิตนักบวช คือ รูปแบบหนึ่งของการก้าวเดินไปด้วยกัน
บรรดานักบวชชายหญิงต่างมีบทบาทสำคัญเฉพาะในการสนับสนุนการก้าวเดินไปด้วยกันภายในศาสนจักร อีกทั้งยังมีบทบาทในการช่วยพระศาสนจักรให้กลับใจภายใต้การก้าวเดินไปด้วยกัน อันเป็นกระแสเรียกของพระเจ้าสำหรับพระศาสนจักรในยุคสหัสวรรษที่ 3 อันที่จริงแล้ว ชีวิตนักบวชนั้นประกอบไปด้วยประสบการณ์ “การก้าวเดินไปด้วยกัน“ ซึ่งเป็นประสบการณ์แบบรูปธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน โดยประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นผ่านกระบวนการทางจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็น ประสบการณ์จากชีวิตหมู่คณะ (community life) การไตร่ตรองแยะแยะร่วมกัน (communal discernment) หรือการประชุมเพื่อพิจารณาไตร่ตรอง และตัดสินใจ เช่น การประชุมสมัชชาของคณะนักบวช (chapter) หรือการประชุมคณะที่ปรึกษา (councils) เป็นต้น ดังนี้แล้ว เหล่านักบวชชายหญิงจำเป็นต้องแบ่งปันประสบการณ์เหล่านี้ให้แก่พระศาสนจักร และมีส่วนร่วมในการอบรมเรื่องการไตร่ตรองแยกแยะในระดับบุคคล (personal) และหมู่คณะ (community) ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการก้าวเดินไปด้วยกันในทุกระดับ
นอกจากนี้ อย่างที่พวกเราได้เน้นย้ำในเอกสารเพื่อเตรียมกระบวนการซีนอดและในคู่มือ ที่เราเรียกว่า “Vademecum” การก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งจำเป็นต้องฟังเสียงของทุก ๆ คน และเชื้อเชิญผู้ที่บทบาทต่าง ๆ ให้ใส่ใจบุคคลที่ยากจนที่สุด ผู้ที่ต่ำต้อยที่สุด และใครก็ตามที่อยู่ตามชายขอบสังคมเป็นพิเศษ การก้าวเดินไปด้วยกันจะต้องผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเปิดโอกาสให้กับผู้ที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงให้สามารถแสดงออกได้ แนวทางที่ได้นำเสนอในช่วงการปรึกษาหารือนั้น (synodal consultation) ชวนให้ตั้งคำถามว่า “เสียงของชนกลุ่มน้อย คนชายขอบ คนที่ถูกทอดทิ้ง มีความสำคัญมากน้อยเพียงใด ?” ชีวิตนักบวช อย่างที่พวกเราทราบกันนี้ การอยู่ใกล้ชิดกับคนยากจนที่สุดอยู่ใน DNA ของชีวิตนักบวช […]
ขอให้พวกเราพร้อมด้วยคนอื่น ๆ สามารถค้นหาวิธี “การก้าวเดินไปด้วยกัน” และไตร่ตรองแยกแยะสิ่งพระจิตทรงเรียกพวกเรา ซึ่งเป็นคำถามหลักของการประชุมซีนอดครั้งนี้ : “ณ ปัจจุบัน พวกเราจะ ‘ก้าวเดินไปด้วยกัน’ ในแต่ละระดับ (ระดับท้องถิ่น และระดับสากล) ได้อย่างไร เพื่อให้พระศาสนจักรสามารถประกาศพระวรสาร ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจที่พระศาสนจักรได้รับ; และอะไรคือสิ่งที่พระจิตทรงแนะนำพวกเราให้ทำมากขึ้น เพื่อให้พระศาสนจักรเติบโตเป็นพระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกัน” (เอกสารเตรียมกระบวนการซีนอด 2)
เรียบเรืองและแปลจาก : https://www.jesuites.com/faire-eglise-vie-religieuse-et-synodalite/
(วิษณุ ธัญญอนันต์ และธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)