วันเสาร์, 21 ธันวาคม 2567
  

การก้าวเดินไปด้วยกัน และชีวิตผู้ถวายตัว โดย พระคาร์ดินัล เจา บราซ เดอ อาวีซ

            ชีวิตผู้ถวายตัว คือการเดินตามพระเยซูคริสต์ พวกเราเป็นศิษย์พระเยซูคริสต์ และพวกเราเรียนรู้จากพระองค์ แน่นอนว่า พวกเราเป็นศิษย์ที่มีเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งคณะฯ ทว่าการทำให้เจตนารมณ์สะอาดบริสุทธิ์ตรงตามจุดประสงค์หรือเป้าหมายเป็นสิ่งจำเป็น พระพรในเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งคณะของพวกเราเป็นแสงสว่างที่มาจากเบื้องบนสวรรค์ อย่างไรก็ตาม เวลาใหม่ได้มาถึง ในขณะที่เครื่องหมายต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลง (the signs of time) ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องใส่ใจกับช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน

            ช่วงเวลาของพระศาสนจักร คือ ช่วงเวลาแห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality) ซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้ถวายตัว โดยการก้าวเดินไปด้วยกันนั้น ทุกคนต้องมีส่วนร่วม และต้องระมัดระวังที่จะรวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เนื่องจากในบางครั้ง ความโดดเดี่ยวได้เข้าไปภายในอาราม นอกจากนี้โดยอาศัยศีลล้างบาป ประชากรของพระเจ้า ซึ่งรวมตัวกันท่ามกลางบรรยากาศการก้าวเดินไปด้วยกัน ไม่มีวันที่จะผิดพลาด แก่นแท้ของความเชื่ออยู่กับประชากรของพระเจ้าทุกคน พวกเราไม่สามารถแยกระหว่าง ‘พระศาสนจักรที่ต้องสอน’ และ ‘พระศาสนจักรที่ถูกสอน’ ซึ่งในพระจิตเจ้านั้น ไม่มีความแตกต่าง

            เจตนารมรมณ์ต่าง ๆ ไม่ได้มาจากมนุษย์แต่มาจากพระเจ้า พวกเราไม่สามารถทำลายสิ่งที่พระเจ้าทรงสร้าง พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากการฟังเสียงกันและกัน ทำให้แต่ละคนได้เรียนรู้ซึ่งกัน ไม่ว่าจะเป็นบรรดาบิชอป พระสันตะปาปา ทุก ๆ คนที่เป็นคริสตชน อย่างไรตาม พวกเราก็ต้องฟังเสียงพระสันตะปาปา ผู้นำสูงสุดของพระศาสนจักร ในฐานะที่พระองค์เป็นประจักษ์พยานของความเชื่อของพระศาสนจักร การก้าวเดินไปด้วยกันไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร และ “บรรดาศาสนบริกร” (Minister) ก็หมายถึงผู้ที่ต่ำต้อยที่สุดในบรรดาทุกคน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบ

            “คนต่างชาติที่คิดว่าตนเป็นหัวหน้าย่อมเป็นเจ้านายเหนือผู้อื่น แต่ท่านทั้งหลายไม่ควรเป็นเช่นนั้น ผู้ใดที่ปรารถนาจะเป็นใหญ่จะต้องทำตนเป็นผู้รับใช้ผู้อื่น” (เทียบ มก. 10,42-43) พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเกี่ยวข้องกับสมาชิกที่อยู่ส่วนฐาน ซึ่งเริ่มต้นจากปัญหาที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน

            ทั้งนี้พระเจ้าคือองค์ความรัก พระองค์ทรงมีสามพระบุคคล พระองค์ทรงเป็นหนึ่งเดียวในความหลากหลาย ขอให้พวกเราใช้ชีวิตแบบพระองค์เช่นกัน เนื่องจากพวกเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน พวกเราจึงต้องพยายามเป็นหนึ่งเดียวกันท่ามกลางความแตกต่างของแต่ละคน ซึ่งล้วนมีความสำคัญต่อตัวเรา นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องเห็นคุณค่าสิ่งที่อีกฝ่ายแบ่งปันกับเรา

            อย่างไรก็ตาม หลายคนละทิ้งชีวิตผู้ถวายตัว เนื่องจากชีวิตหมู่คณะนั้นทำให้รู้สึกเหนื่อยยาก และสมาชิกในคณะไม่สามารถเปิดใจรับฟัง อารามจึงกลายเป็นเพียงแค่เรื่องทางวัตถุเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น พวกเราจำเป็นต้องความเป็นพี่น้องกลับขึ้นมาใหม่ในอารามอีกครั้ง

            ในชีวิตผู้ถวายตัว พวกเราค้นพบปมต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขใหม่  นักบุญ ยอห์น เบอร์ชแมนส์ (Jean Berchmans) เคยกล่าวไว้ว่าชีวิตหมู่คณะเป็นการสำนึกบาปที่ยิ่งใหญ่ อันที่จริง ชีวิตหมู่คณะเป็นการผสมรวมทุกอย่าง บางทีเหมือนเป็นตะกร้าใส่ปู !  เพราะฉะนั้น ต้องมีการพูดคุยแบบฉันพี่น้อง อธิบายถึงปัญหาต่าง ๆ และอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม วัฒนธรรมของพี่น้องชายหญิงของพวกเรามีค่าเท่ากับวัฒนธรรมของพวกเรา ขอให้พวกเราอย่าคิดว่าตนเป็นตัวเอกในละคร เก่งคนเดียว เด่นคนเดียว!

            หากกล่าวถึงการเชื่อฟังแล้ว การเชื่อฟังและอำนาจหน้าที่ต่างเกี่ยวข้องกัน โดยอำนาจหน้าที่ (authority) จะต้องแยกออกจากอำนาจ (power) อำนาจหน้าที่มาจากพระวรสาร แต่อำนาจไม่ใช่ อำนาจหน้าที่นับเป็นการรับใช้อย่างหนึ่ง ถึงกระนั้น พวกเราจำเป็นต้องเชื่อฟังเหมือนอย่างที่พระเยซูคริสต์ทรงเชื่อฟังพระบิดา แต่ทว่าพระองค์กลับทรงถามพระบิดา เพื่อไขความข้องใจว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า ทำไมพระองค์จึงทรงทอดทิ้งข้าพเจ้าเล่า” แน่นอนว่าการเชื่อฟังไม่ได้เป็นการเชื่อฟังมืดบอด หรือไม่ตั้งคำถาม ยอมทำตามๆ กันต่อๆ ไปโดยไม่พูดอะไรเลย

แปลและเรียบเรียงจากสรุปของ Jean-Pierre Delville : https://www.evechedeliege.be/article/note-de-j-p-delville-sur-la-conference-synodalite-et-vie-consacree-du-cardinal-joao-braz-de-aviz/

(วิษณุ ธัญญอนันต์ และธัญภรณ์ ลีกำเนิดไทย เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรอง)