มุ่งสู่การประชุมซีนอดเพื่อการก้าวเดินไปด้วยกัน ปี ค.ศ. 2021- ค.ศ. 2023 “ขอให้ธำรงการอธิษฐานภาวนาอย่างลึกซึ้ง”

เลขาธิการแห่งสำนักเลขาธิการซีนอด กรุงโรมส่งจดหมายถึงสมาชิกคณะนักพรต ฤษี นักบวช และผู้ดำเนินชีวิตเพ่งพิศให้เป็นผู้พิทักษ์และธำรง “การอธิษฐานภาวนาอย่างล้ำลึก” สำหรับพระศาสนจักรในขณะที่ประชากรของพระเจ้าเริ่มออกเดินทางเพื่อการก้าวเดินไปด้วยกัน (Synodality)

        พระคาร์ดินัลมารีโอ เกรซ (Mario Grech) เลขาธิการของซีนอดแห่งบรรดาบิชอปได้มีหนังสือถึงบรรดานักบวชชายหญิง นักพรต ฤษี ผู้ดำรงชีวิตเพ่งพิศทุกคณะ ในขณะที่ประชากรของพระเจ้ากำลังเริ่มออกเดินทางในกระบวนการก้าวเดินไปด้วยกันในพระศาสนจักรท้องถิ่น แต่ละเขตศาสนปกครอง (สังฆมณฑล) ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 ซึ่งจะสรุปด้วยการเฉลิมฉลองการประชุมใหญ่ของซีนอดแห่งบรรดาบิชอป ณ กรุงโรมในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2023 ในหนังสือนั้นพระคาร์ดินัลเกรซกล่าวย้ำว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเตือนใจหลายครั้งว่าพระศาสนจักรทุกแห่งพึงรับรู้ถึงความจำเป็นที่พวกเราจะต้องก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งรวมถึง “ประชากรของพระเจ้าคือบุคคลทุกระดับในชีวิตของพระศาสนจักร” เพราะว่า “มีเพียงหนทางนี้เท่านั้นที่พระเจ้าทรงคาดหวังจากพระศาสนจักรในสหัสวรรษที่สาม”

        พระคาร์ดินัลมาริโอ เกรซ กล่าวเสริมอีกว่า “พี่น้องที่รัก ณ ธรณีแห่งการก้าวเดินที่สำคัญสำหรับพระศาสนจักรในยุคของพวกเรา ข้าพเจ้าหันมาหาท่าน บรรดาสมาชิกนักพรต นักบวช เพราะกระแสเรียกอันล้ำค่าของพวกท่านทำให้ชุมชนพระศาสนจักรทั้งปวงมีความมั่งคั่งสมบูรณ์ เพราะพวกท่านเป็นผู้พิทักษ์และเป็นประจักษ์พยานแห่งความจริงพื้นฐานสำหรับกระบวนการก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเชื้อเชิญให้พวกเราจต้องรับรู้อย่างลึกซึ้งในเรื่องนี้” พระคาร์ดินัลเกรซได้ใช้สามคำซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตนักพรต นักบวช และชีวิตเพ่งพิศเพ่ง ทั้งบรรดาสมาชิกอารามฤษี และซิสเตอร์ของอรามนักบวช เป็นผู้ธำรงพิทักษ์ชีวิตของพระศาสนจักร กล่าวคือ การฟัง การกลับใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน

การฟัง

        พระคาร์ดินัลมารีโอ เกรซ ตั้งข้อสังเกตว่าประสบการณ์ของการฟัง “เป็นศูนย์กลางแห่งชีวิตของนักพรต นักบวชและชีวิตเพ่งพิศเสมอ จนกระทั่งบ่อยครั้งพระวินัยของอารามจากธรรมประเพณีต่างๆ ได้กลายเป็นการรวบรวมข้อความแห่งพระคัมภีร์และพระวรสารด้วยการยืนยันว่าชีวิตที่ถวายตัวในฐานะนักพรต นักบวช และชีวิตแบบเพ่งพิศเป็นการอวตารแห่งพระวจนาตถ์ที่พวกเขาได้รับฟัง รำพึง ไตร่ตรองและทำให้เกิดเป็นชีวิตภายใน” ยิ่งไปกว่านั้นพระสันตะปาปาฟรานซิสยืนยันว่า “พระศาสนจักรที่ก้าวเดินไปด้วยกันเป็นพระศาสนจักรที่รับฟังโดยการรับรู้อย่างดีว่า “การฟังเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการได้ยิน”

        พระสันตะปาปาตรัสต่อไป “การฟังจะค่อย ๆ ซึมซาบเข้าไปในชีวิตของนักบวชชายหญิง โดยเฉพาะผู้ที่ดำเนินชีวิตแบบเพ่งพิศ จากการฟังพระวาจาของพระเจ้าในพระคัมภีร์ การฟังพี่น้องชายหญิงในคณะรวมถึงทุกคนในยุคสมัยของพวกเรา  ความจริง ระเบียบวินัยของนักบุญเบเนดิกต์ บิดาของชีวิตพรตยุโรป เริ่มต้นด้วยคำว่า ลูกรัก จงฟังด้วยความตั้งใจ

        เพราะฉะนั้นการฟังสำคัญเกินเลยไปกว่าการได้ยินทางกายภาพจึง “นี่เป็นการเรียนรู้” เพราะชีวิตในการไตร่ตรองอย่างลุ่มลึกเป็นเสมือน “โรงยิม” ที่การฟังด้วยความตั้งใจจากพระคัมภีร์ พระวจนะของพระเจ้าที่จะสอนให้ผู้นั้นให้รู้จัก “การฟังอย่างลึกซึ้งทั้งกับตนเอง กับผู้อื่น และกับพระเจ้า” นี่เป็นสิ่งที่มองเห็นได้ในการให้การต้อนรับพระเยซูคริสต์ในอารามคณะนักพรต นักบวช และชีวิตเพ่งพิศ ซึ่งเป็นประสบการณ์แห่งการให้การต้อนรับพระเจ้าอันมีต้นตออยู่ในพระคัมภีร์ “lectio divina” และวิธีการอย่างอื่นในการเข้าถึงพระวาจาของพระเจ้า

การกลับใจ

        พระคาร์ดินัลเกรซกล่าวย้ำอีกว่า “การเดินทางไปด้วยกันไม่อาจที่จะละเลยความพร้อมเสมอในการกลับใจจากการฟังพระวาจาของพระเจ้า และจากพระจิตที่ประทับอยู่ในชีวิตของพวกเรา” เกี่ยวกับประเด็นนี้พระสันตะปาปาฟรานซิสก็ตรัสเน้นด้วยว่าการก้าวเดินไปด้วยกันเป็น “การง่ายที่จะพูด ทว่าไม่ง่ายที่จะนำไปปฏิบัติ”

        พระคาร์ดินัลมารีโอ เกรซ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าชีวิตของนักพรต นักบวช และชีวิตแบบเพ่งพิศเตือนใจพระศาสนจักรว่าการเชิญให้กลับใจคือหัวใจแห่งการประกาศข่าวดีของพระเยซูคริสต์ในขณะที่พระองค์เดินทางไปทั่วหมู่บ้านแห่งแคว้นกาลิลี (มธ. 4: 17) ในบริบทนี้เครื่องหมายการล้างบาป – กระแสเรียกพื้นฐานสำหรับศิษย์ทุกคนของพระคริสตเจ้า – “เป็นการกลับใจแรกที่กระทำโดยพระจิตภายในดวงใจของพวกเรา” ซึ่งชีวิตคริสตชนต้องเปิดกว้างในการเดินทางแห่งการกลับใจในพระเจ้าและในพระวาจาของพระองค์ ยิ่งไปกว่านั้นอีก การฟังที่แท้จริงเรียกร้องให้มีการกลับใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งเชื้อเชิญให้พวกเราละทิ้งสภาวะอันตรายไว้เบื้องหลัง เพื่อที่จะเข้าสู่สายสัมพันธ์ในการเสวนาที่อาจจะเผชิญความลำบากทว่านี่เป็นสิ่งจำเป็นและขาดเสียมิได้”

        พระคาร์ดินัลเลขาธิการแห่งสำนักเลขาธิการซีนอดได้ตั้งข้อสังเกตว่าการเรียนรู้และเลียนแบบชีวิตของนักพรต จากในประสบการณ์แห่งชีวิตที่เป็นหมู่คณะในการก้าวเดินไปด้วยกันอันเป็นพื้นฐานพวกเขาจะทราบถึง “ความสวยงาม” แห่งการก้าวเดินไปด้วยกัน ซึ่งรวมถึง “ความยากลำบากที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และบาดแผลที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเวลา” ด้วยเหตุนี้พระคาร์ดินัลเกรซจึงกล่าวว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสเสนอว่าชุมชนแห่งชีวิตนักพรตและชีวิตแบบเพ่งพิศเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ในศักดิ์ศรีแห่งการกลับใจทั้งในยามสุขสบายดีและในยามที่เผชิญความทุกข์ยาก – เป็นประเด็นที่ไม่ควรทำให้พวกเราหมดกำลังใจ แต่ควรที่จะทำให้พวกเรา “ดำเนินชีวิตในเจตนารมณ์แห่งความเชื่อและความหวัง”

ความเป็นหนึ่งเดียวกัน

        พระคาร์ดินัลเกรซได้ให้ข้อคิดว่า “เป้าหมายแห่งการฟังและการกลับใจคือความเป็นหนึ่งเดียวกัน” ท่านยืนยันโดยก้าวไปสัมผัสกับมิติที่สามซึ่งบรรดานักพรตและชีวิตแบบเพ่งพิศเป็นผู้พิทักษ์และธำรงการเจริญชีวิตในคณะเหล่านี้ “ความเป็นหนึ่งเดียวกันเป็นมาตรการสูงสุดสำหรับการไตร่ตรองสำหรับการก้าวเดินไปด้วยกันจักต้องทำให้เป็นจริง” ในบริบทนี้พระสันตะปาปาฟรานซิส เมื่ออ้างถึงการรับใช้ของพระองค์ในฐานะที่เป็นบิชอปแห่งกรุงโรม พระองค์ทรงยังยืนยันว่าการก้าวเดินไปด้วยกันในการกระทำของตน “ไม่ได้เป็นการจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นการสร้างหลักประกันแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกัน” เมื่อเอ่ยถึงเรื่องการเดินทางของศิษย์สองคนที่ตำบลเอมมาอุส ในพระวรสารที่บันทึกโดยลูกา 24: 13-35 พระคาร์ดินัลเกรซชี้ให้เห็นถึงความเป็นจริงของพระศาสนจักรนั้นเป็นศูนย์กลางของเรื่องราวเมื่อพวกเขากลับไปถึงกรุงเยรูซาเล็มและพบกับอัครธรรมทูตทั้ง 11 คนพร้อมกับคนอื่นๆ ที่พากันกล่าวว่า “พระเยซูคริสต์ทรงกลับคืนพระชนม์ชีพและได้ประจักษ์ให้ซีมอนเห็น” (ลก. 24: 33-34)

        พระคาร์ดินัลเกรซยืนยันว่า “การก้าวเดินไปด้วยกันเป็นการยืนยันว่าความเป็นหนึ่งเดียวของพระศาสนจักรเป็นการประทับตราที่แท้จริงลงบนการไตร่ตรอง” ท่านกล่าวเพิ่มเติมว่าโดยอาศัยการดำเนินชีวิตในหมู่คณะที่เป็นหนึ่งเดียวกันตามรูปแบบอารามของบรรดานักพรต นักบวช “เป็นประจักษ์พยานถึงความจริงของการยืนยันนี้ว่าพวกเราได้เก็บเกี่ยวผลจากเรื่องราวของการเดินทางที่ตำบลเอมมาอุส” เพราะพวกเขายังได้รับประสบการณ์ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งไม่เหมือนกับการทำสิ่งใด ๆ ที่เหมือนกันทว่าการมีส่วนร่วมในการเดินทางพร้อมกับความเชื่ออย่างไร”

ความสำคัญของการอธิษฐานภาวนา

        พระคาร์ดินัลมารีโอ เกรซ ยังถือโอกาสชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสวดภาวนาซึ่งเป็น “มิติที่ล้ำลึกที่สุด” แห่งกระแสเรียกของการเป็นนักพรต นักบวช และชีวิตแบบเพ่งพิศ อันมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งกับเนื้อหาสาระทั้งสามประการที่กล่าวไปแล้ว คือ การฟัง การกลับใจ และความเป็นหนึ่งเดียวกัน

        ท่านยังขอร้องชุมชนหมู่คณะของบรรดานักพรต นักบวช ผู้ชีวิตแบบเพ่งพิศ ขอให้ “อธิษฐานภาวนาสำหรับการก้าวเดินไปด้วยกัน” ในขณะที่กระบวนการก้าวไปด้วยกันจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2021 เพราะว่า “หนทางแห่งก้าวเดินไปด้วยกันเป็นการเดินทางของพระศาสนจักรสู่พระบิดาเจ้า” การสวดภาวนา เป็นการพบปะกับความรักที่มีพลวัตในพระตรีเอกภาพ ในความเป็นเอกภาพแห่งความหลากหลายที่เรียกร้องให้พวกเราต้องดำเนินชิวิตเป็นประจักษ์พยานต่อความรักนี้”

        เมื่อกล่าวถึงคณะนักพรตแบบเฉพาะ พระคาร์ดินัลเกรซตั้งข้อสังเกตว่าท่านเหล่านั้นมีพันธกิจแห่งการสรรเสริญและการอธิษฐานภาวนา ซึ่งพวกเขาเป็นเครื่องหมายทรงชีวิตในพระศาสนจักรด้วย “พวกท่านมีหน้าที่ในคณะที่จะต้องปฏิบัติพันธกิจแห่งการอธิษฐานภาวนา การวอนขอ และการอวยพร” พระคาร์ดินัลขอร้องสมาชิกในคณะนักพรต “แต่ละบุคคลร่วมมือจริงจังพร้อมกับบรรดาพี่น้อง” ในช่วงแห่งกระบวนการก้าวเดินไปด้วยกันที่พวกเรากำลังกระทำกันอยู่ เพื่อที่จะทราบถึงการกระทำของพระเจ้าในชีวิตของพระศาสนจักรสากล และในพระศาสนจักรท้องถิ่นแต่ละแห่ง”

        เลขาธิการแห่งสำนักเลขาธิการซีนอดกล่าวอีกว่า “พวกท่านเป็นของทุกคนเฉกเช่นพวกชนเผ่าเลวี (Levites) และบรรดาสมณะในบทเพลงสดุดี พวกท่านเป็นบริกรแห่งการสวดภาวนา ผู้ซึ่งอาศัยการสรรเสริญและการวิงวอนเตือนใจทุกคนว่า หากปราศจากซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวกันกับพระเจ้าก็จะไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกันในหมู่พวกเราด้วย”

        สุดท้ายพระคาร์ดินัลเกรซ ขอร้องบรรดานักพรต นักบวช และผู้ดำเนินชีวิตแบบเพ่งพิศทั้งชายหญิง ขอให้เป็นผู้พิทักษ์ธำรงไว้ใน “การอธิษฐานภาวนาอย่างล้ำลึก” ในขณะที่พระศาสนจักรกำลังดำเนินกระบวนการในการก้าวเดินไปด้วยกัน หรือ ซีโนดาลิตี้ (Synodality)

        ท่านกล่าวย้ำว่าการช่วยเหลือของสมาชิกของบรรดานักพรต นักบวช และชีวิตแบบเพ่งพิศ ในขั้นตอนต่างๆ ของการเดินทางจะต้องไม่ตกหล่นไปในมิติอื่น แต่จะช่วยพระศาสนจักรอย่างเต็มเปี่ยม หากพวกท่านจะมาพร้อมหน้ากันเพื่อที่จะเป็นพระศาสนจักร “ซึ่งฟังพระวาจา สามารถที่จะยอมให้พระจิตกลับใจตนเอง พร้อมกับยืนหยัดอยู่ในชีวิตที่เป็นหมู่คณะ […] และมีการสวดภาวนา”

(วิษณุ ธัญญอนันต์ – เก็บบทความนี้มาแบ่งปันและไตร่ตรองเพื่อการก้าวเดินไปด้วยกัน)

Cr. Benedict Mayaki, SJ